เมื่อเดือนที่แล้วผมมีโอกาสได้เข้าไปสัมภาษณ์กสทช.สุภิญญา กลางณรงค์ ที่เป็นกสทช. ในฝั่งของกิจการโทรทัศน์วิทยุร่วมกับ @iPattt และ @warong ได้พูดคุยกันหลายเรื่องตั้งแต่ประเด็นจอดำของฟุตบอลยูโร จนถึงการกำกับเนื้อหาของโทรทัศน์ในกรณี Thailand Got Talent
การพูดคุยค่อนข้างยาว (มาก) เพราะการพูดคุยจริงๆ กินเวลาหลายชั่วโมง ผมเลือกที่จะนำบทถอดเทปทั้งหมดมาลงตรงให้สมาชิกทุกท่านได้อ่านกัน อาจจะใช้เวลามากสักหน่อยครับ
คำถาม: เรื่องบอลยูโร (2012) เท่าที่ฟังมามีหลายประเด็น ประเด็นหนึ่งคือ มีคนเสนอว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณี “จอดำ” ของฟุตบอลยูโรครั้งนี้เป็นปัญหาของระบบลิขสิทธิ์ จริงๆ แล้วนี่เป็นปัญหาเดิมๆ ของเรื่องนี้ แต่แฟนบอลที่ผ่านมาอยู่ในด้านที่ถูกเอาใจมาตลอด
ทีนี้ การเรียกร้องปัญหาในส่วนนี้ ถ้าไม่สนใจถึงปัญหาจริงๆ ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการตั้งคำถามกับระบบลิขสิทธิ์ ก็จะยังเป็นแค่การเรียกร้องบนฐานที่ว่าเป็นลูกค้าก็ต้องได้อย่างที่อยากได้ วันหนึ่งข้างหน้า ก็จะไปเรียกร้องในกรณีอื่นอีก โดยไม่ได้ไปแตะหลักการเลย นี่คือประเด็นหนึ่งที่มีคนเสนอมา
สุภิญญา: เรื่องแบบนี้เมื่อก่อนไม่มีปัญหาเพราะผู้แข่งน้อยราย ฟรีทีวีก็ใช้วิธีทีวีพูล รวมตัวกันประมูลมาได้ในราคาที่ถูกกว่าแข่งกันซื้อ ทุกคนก็ได้ดู แต่เดี๋ยวนี้ผู้แข่งมากขึ้น ผู้แข่งก็ต้องหาตลาดเฉพาะ (niche market) ซึ่งถ้าทำให้เฉพาะไปเลยคือขายแต่กล่องและช่องที่มากับกล่องอย่างเดียว แบบนั้นก็จะไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาขึ้นมาก็เพราะไปผูกเอาฟรีทีวีมากับกล่องด้วย แล้วอย่างกรณีนี้ก็ไม่ได้มีการให้ข้อมูลกันก่อน ว่าฟรีทีวีในช่วงเวลาที่มีการถ่ายทอดนี่ดูได้เฉพาะผ่านการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก ได้เฉพาะผ่านเสาก้างปลา เสาหนวดกุ้ง แต่ทีนี้ ปัญหามันก็ไปตกอยู่กับคนที่ดูทีวีโดยรับสัญญาณผ่านจานดำ PSI ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ไม่ได้ดูไปด้วย ซึ่งตอนซื้อจานก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ในเมื่อเดี๋ยวนี้การซื้อเสาก้างปลาติดหลังคากับซื้อจานมันราคาพอๆ กัน ไม่ต้องจ่ายค่ารายเดือนเหมือนกัน แต่ติดจานแล้วมีช่องให้ดูมากกว่า ซื้อมาก็ดูได้ปรกติ ใครๆ ก็คงอยากติดจานมากกว่า แต่พอวันหนึ่งเกิดมีเงื่อนไขที่ทำให้ดูไม่ได้ขึ้นมา ตรงนี้เป็นความผิดของใคร คือ คนรับฟรีทีวีก็ไม่เคยรู้มาก่อน ว่ามีการถ่ายทอดสัญญาณสองระบบ คือ ดิจิทัลกับอนาล็อก ถ้ามีการให้ข้อมูลกันก่อนหน้านี้ก็คงไม่มีปัญหาแบบนี้ ในขณะที่ทางด้านทรูเอง ลูกค้าทรูควรจะต้องรู้สิทธิ์ ว่าที่จ่ายเงินไปแล้วจะได้หรือไม่ได้อะไร
คำถาม: ตรงนี้ควรเป็นหน้าที่ของฟรีทีวีหรือทางผู้ขายจาน ที่จะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ
สุภิญญา: ก็สองส่วนนะ เพราะที่ผ่านมาฟรีทีวีก็ยอมให้คนขายจานใช้สิทธิ์ไป ฟรีทีวีส่งสัญญาณขึ้นสู่ดาวเทียมเพื่อกระจายสู่สถานีฐานของตัวเอง จานดำก็ “สอย” เอาสัญญาณนั่นไปออกอากาศ ซึ่งฟรีทีวีก็ไม่ได้มีการปิดกั้นการกระทำตรงนั้น ไม่ได้มีการทำสัญญาอะไรต่อกัน ทั้งที่ถ้าคิดว่าไม่ถูกต้องก็ควรแย้งแต่แรก แต่นี่สมยอมเพราะได้ประโยชน์จากโฆษณาที่จะเข้ามา และจำนวนผู้ชมผ่านจานก็สามารถเอาไปรวมให้เห็นว่ามียอดผู้ชมขนาดนี้ ก็เป็นประโยชน์ต่อการขายเวลาโฆษณา ตรงนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้บริโภคถึงโวยขึ้นมา คือตอนขายเวลาโฆษณา คุณเอายอดผู้ชมผ่านดาวเทียมไปขายด้วย แต่พอเป็นเรื่องบอลยูโร คุณทอดทิ้งผู้ชมผ่านดาวเทียม
แต่ในอนาคต ถ้าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกกฎให้ผู้ขายจาน PSI ต้องมาขึ้นทะเบียนกับ กสทช. ผู้ขายก็ต้องชี้แจงรายละเอียดเรื่องสิทธิ์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับ เช่น การซื้อจานไปแล้วไม่ได้หมายความว่าจะดูได้ทุกอย่าง แต่ตอนนี้คนขายจาน PSI ลอยตัวเพราะไม่มีกฎหมายจะไปถึงได้ การกำกับของ กสทช. ยังไปไม่ถึง มันมีสภาพเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดทั่วไป PSI ตอนนี้ก็เหมือน Grammy ที่ขายกล่อง GMMZ คือยังไม่มีกฎระเบียบรองรับให้ กสทช. ไปออกคำสั่งกับเขาได้ ต่างจากฟรีทีวีซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานไป ที่เรามีคำสั่งไปถึงได้
สภาพทุกวันนี้คือ ถ้าจะเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม เช่น กรณีของไทยคม แบบนี้ต้องมาขออนุญาตกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพราะบอร์ด กทค. จะดูแลกิจการดาวเทียมและโทรคมนาคมทั้งหมด ซึ่งหากอนุญาตก็จะได้ทั้งใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบประกอบกิจการ แต่สถานีรายการต่างๆ ที่จะออกอากาศในช่องสัญญาณดาวเทียมที่เช่าไปต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการกับ กสทช. ซึ่งตอนนี้เรายังร่างเกณฑ์ไม่เสร็จ ทำให้ช่องสถานีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ASTV, Asia Update, Bluesky Channel อะไรก็ตามที่ออกอากาศอยู่ยังไม่มีใบอนุญาต แต่จะไปบอกว่าเถื่อนก็ไม่ได้ เพราะเรายังทำเกณฑ์ในการอนุญาตไม่เสร็จ เขาก็อยากขออนุญาตกัน ก็รอเราไปอนุญาตอยู่ แต่เรายังร่างไม่เสร็จ ซึ่งตามแผนแม่บทจะต้องเสร็จสิ้นในปีนี้
แต่ทีนี้ ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ อย่างกรณีของไทยคม ในเมื่อไทยคมขอใบอนุญาตทำกิจการดาวเทียม แล้วเอาโครงข่ายนั้นไปให้คนอื่นเช่าต่อเพื่อทำช่องสถานีต่างๆ แบบนี้ควรจะต้องให้ไทยคมมาขออนุญาตกับ กสทช. ในฐานะ “ผู้ให้บริการโครงข่าย (platform provider)” ด้วยหรือไม่ เพราะในส่วนร่างประกาศใบอนุญาตของ กสทช. ก็มีประเภทผู้ให้บริการโครงข่ายด้วย เนื่องจากในอนาคต เมื่อเราจะปูทางให้กับการส่งคลื่นสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล เรามีแนวจะเปิดให้มีคนเข้ามาประมูล โดยคิดว่าจะให้มีผู้วางโครงข่ายเพียงไม่กี่ราย อาจจะ 2-3 ราย ซึ่งผู้ประมูลเหล่านี้จะต้องเป็นผู้วางโครงข่าย ถือใบอนุญาตในฐานะผู้วางโครงข่าย แล้วให้ผู้อื่นมาเช่าทำสถานีอีกทอดหนึ่ง ซึ่งการประมูลนี้ก็ต้องออกแบบให้ดี ผู้ที่ได้ใบอนุญาตในการวางโครงข่ายไปก็ต้องมีพันธกิจเชิงสาธารณะด้วย คือจะวางแต่เมืองใหญ่ๆ ไม่ลงไปในเมืองเล็กหรือในตรอกซอกซอยโดยอ้างว่าไม่คุ้มก็ไม่ได้ นี่จะเป็นโจทย์ที่ต้องกำกับดูแลในการให้ใบอนุญาต รัฐให้คุณทำ แต่คุณก็ต้องคำนึงถึงพื้นที่ห่างไกลด้วย ไม่ใช่แบบ 3G ที่เงื่อนไขไม่เข้ม ห้าปีแล้วยังบอกว่าเพิ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ คนในบางพื้นที่ยังเข้าไม่ถึง เพราะฉะนั้น นอกจากราคาประมูล นี่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องดู
กลับมาที่เรื่องบอลยูโร มันก็คือประเด็นแบบนี้ คู่สัญญาสัมปทานของฟรีทีวีไม่เคยจี้ผู้มาเช่า ว่าต้องวางโครงข่าย เพราะระบบสัมปทานเป็นระบบต่างตอบแทน ตราบใดที่ยังจ่ายกันก็จบ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล แต่ถ้า กสทช. มาแล้วยังไม่ทำตรงนี้อีก คนก็จะมองว่าไม่มีประโยชน์อะไร
คำถาม: ปัจจุบันมีแต่ตัวเลขปริมาณการใช้งาน ไม่มีตัวเลขการเข้าถึง
สุภิญญา: ข้อมูลที่แท้จริงยังไม่มี นี่คือหน้าที่ที่เราต้องทำ ตอนนี้ยังไม่มี จากนี้ต้องสำรวจเอง มีอยู่ในแผนแม่บท เพราะจะเกี่ยวพันกับแผน “ยูโซ่ (USO: Universal Service Obligation - แผนการจัดให้มีบริการสาธารณะพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อบริการสังคม)” ซึ่งก่อนจะทำให้ทุกคนเข้าถึงเราก็ต้องรู้ก่อนว่าใครยังเข้าไม่ถึง ซึ่งแผนแม่บทกำหนดไว้ด้วยว่าภายใน 5 ปีคน 99 เปอร์เซ็นต์จะต้องเข้าถึงได้ จำนวนการเข้าถึงตรงนี้คือรวมทุกโครงข่าย ไม่แยก
คำถาม: ประเด็นยูโร ที่ กสทช. ต้องเข้าไปเกี่ยวเพราะทรูมีภาระผูกพันต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกตามกฎหมายตามสัญญาใช้บริการ ส่วนในด้านฟรีทีวีก็ต้องเกี่ยวข้องในแง่ของบริการสาธารณะ คือ เมื่อผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงฟรีทีวีได้ดีพอแล้วใครจะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องอื่นด้วยไหม
สุภิญญา: ก็จะมีเรื่องลิขสิทธิ์ ว่า กสทช. มีสิทธิ์กำหนดให้ไปร่วมกันประมูลไหม มีคนเสนอว่า ถ้าให้เอกชนไปรวมกันประมูล ทุกคนได้ดูหมด แต่จะไม่เกิดการแข่งขันหรือเปล่า เพราะรายใหม่ๆ อาจจะเจาะตลาดไม่ได้ ตรงนี้ กสทช. ก็ต้องคิด ว่าเราจะไปไกลแค่ไหน ต้องคิดว่าอะไรที่คนไทยทุกคนควรได้ดู คือมันคงไม่ได้ทุกอย่าง แต่อย่างฟุตบอลโลกหรือกีฬาโอลิมปิกก็คงได้ เพราะเป็นกีฬาโลก อย่างในอังกฤษก็ไม่ปิดกั้นกีฬาโอลิมปิก ในขณะที่ทางยุโรปก็จะไม่ปิดกั้นบอลยูโร แต่ถ้าเอเชียนเกม ซีเกม เขาก็อาจจะปิดกั้น อยากดูก็ต้องจ่าย ในขณะที่อย่างของเรา ยูโรนี่ยังตีความลำบาก เพราะมันไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้แข่ง ก็น่าจะปิดกั้นได้ อยากดูก็ซื้อกล่อง แต่มันก็มาติดตรงที่ผ่านฟรีทีวี เลยมีปัญหา
คำถาม: ในแง่ของคุณสุภิญญานี่คือแกรมมี่ไม่ผิด เพราะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิ์เต็มที่อยู่แล้ว
สุภิญญา: ก็อาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ในแง่ของการแข่งขันในตลาด การทุ่มตลาดรายเดียวแบบนี้มันก็รุนแรงเหมือนกัน แล้วเคยคุยกับยุ้ย (สฤณี อาชวานันทกุล - นักเขียน นักวิชาการอิสระ) ยุ้ยมองว่านอกจากทุ่มตลาดหวังให้คนมาซื้อกล่องแล้ว GMM ก็ยังอยากได้โฆษณาด้วย ก็เป็นการหวังรายได้ 2 ทาง
คำถาม: หรือเป็นความผิดตรงความสัมพันธ์ระหว่างโทรทัศน์ธรรมดากับดาวเทียม
สุภิญญา: จริงๆ ตอนนี้มันคงไม่มีใครผิด เพราะยังไม่มีกติกา แต่ในเมื่อปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว มันก็อยู่ที่ว่าใครจะช่วยกันรับผิดชอบ
คำถาม: แม้จะมีการตัดสินปรับทรูวันละ 20,000 บาทไปจนกว่าจะทำให้ผู้บริการรับชมฟรีทีวีได้ดังเดิม1 แต่ก็ยังไม่เห็นแนวทางในระยะยาว ที่ทรูจะจัดการกับการปิดกั้นตรงนี้ได้อีก
สุภิญญา: ก็ถ้ามีการออกกฎ Must Carry2 บังคับให้ฟรีทีวีสามารถออกอากาศได้ในทุกช่องทาง ซึ่งหมายความว่าซื้อลิขสิทธิ์อะไรมาก็ต้องออกอากาศได้ทุกช่อง แกรมมี่ก็อาจจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพิ่มให้ทาง UEFA เพราะมีคนดูจำนวนมากขึ้น หรือไม่ก็เลือกไม่ออกอากาศผ่านช่องฟรีทีวีไปเลย แล้วขายกล่องอย่างเดียว เพราะเป็นกีฬาที่ต้องจ่ายเงินถึงได้ดู แต่แบบนี้ก็จะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์อยู่ดี เกิดฟรีทีวีไปซื้อลิขสิทธิ์รายการอื่นๆ จากเมืองนอกเข้ามา แล้วลิขสิทธิ์กำหนดว่าห้ามออกอากาศผ่านจานดำ ก็จะมีปัญหาอีก
แต่กฎ Must Carry นี่เมืองนอกก็ไม่ได้กำหนดให้ใช้กับทุกช่อง บางที่ก็กำหนดแค่กับช่องที่เป็นทีวีสาธารณะ ช่องการศึกษา
จริงๆ แล้ว Must Carry นี่ สำหรับฟรีทีวีแล้ว ถึงจะทำให้อาจไม่ได้ถ่ายทอดกีฬาที่คนดูเฉพาะเลยเพราะติดเรื่องลิขสิทธิ์ แต่น่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว เพราะจะทำให้ขายเวลาโฆษณาได้
คำถาม: ทำไมฟรีทีวีถึงมีพันธกิจทางสาธารณะมากกว่าทีวีอื่น
สุภิญญา: เพราะแม้จะนำคลื่นไปใช้เพื่อการทำการค้า แต่สิทธิที่ฟรีทีวีได้ไปคือสิทธิในการใช้คลื่นสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญระบุว่าทุกคนควรเข้าถึงได้ เป็นทรัพยากรสาธารณะ
คำถาม: กรณี Thailand's Got Talent3 นี่ช่องสามผิดกฎหมายอะไร และบางคนบอกว่า กสทช. ล้ำเส้น
สุภิญญา: อย่างที่บอกว่า กสทช. กำกับในส่วนผู้ได้รับใบอนุญาต เราไม่ใช่ตำรวจหรือกระทรวงวัฒนธรรม เราก็ต้องไปที่ผู้ได้รับใบอนุญาต เมื่อมีการร้องเรียนกรณีรายการ Thailand's Got Talent เข้ามา เราก็ต้องเรียกช่องสามมา ซึ่งช่องสามไม่แก้ต่างอะไรเลย เหมือนมายอมจำนน ยอมรับว่าใช้ดุลยพินิจผิดพลาด มันก็เหมือนการรับสารภาพกับตำรวจ เหมือนรับสารภาพในชั้นศาล เราจะไม่ลงโทษแล้วปล่อยไปก็ไม่ได้ ก็ต้องปรับไปตามกฎ ก็พิจารณาตามดุลพินิจบนฐานต่างๆ ผู้ชมจำนวนมาก ออกอากาศในเวลาไพรม์ไทม์ ห้าโมงเย็น เด็กเยาวชนได้ดู ถ้าไปออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียมตอนดึกๆ ก็อาจปรับในอีกอัตราหนึ่ง ต่างจากทรูซึ่งตั้งทนายมาสู้ กสทช. แบบนั้นก็ต้องหาช่องกฎหมายมาสู้กันไป
ถามว่ากรณี Thailand's Got Talent นี่ กสทช. ไปเกี่ยวอะไร ล้ำเส้นหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ เพราะมีคนร้องเรียนเข้ามา และเป็นการไปตรวจสอบรายการที่ออกอากาศไปแล้ว ซึ่งเป็นการออกอากาศโดยผ่านดุลยพินิจของผู้ได้รับใบอนุญาต แต่ถ้ามีคนร้องเรียนว่าช่องสามกำลังจะออกอากาศเทปหนึ่ง เราไปตรวจสอบเนื้อหาก่อนออก แล้วเราห้ามฉาย แบบนี้จะถือว่าล้ำเส้น เพราะหน้าที่ในการเซ็นเซอร์ตรงนั้นเป็นของช่อง
หน้าที่ของ กสทช. ก็จะสิ้นสุดแค่การปรับผู้ได้รับใบอนุญาต ส่วนกรณีที่ไปขุดกันต่อ ว่าผู้เข้าแข่งขันถูกจ้างมา นี่ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องไปดูในข้อกฎหมาย ว่าเป็นอย่างไร จะเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเราหรือไม่ ก็ต้องเรียกช่องสามมาอยู่ดี ซึ่งกรณีการจ้างนี้ ในส่วนของบริษัทเวิร์คพอยท์เราก็เรียกมาได้ โดยไม่ใช่เรียกมาคุยในแง่การปกครอง แต่เป็นการพูดคุยในเรื่องจริยธรรม ซึ่งจริยธรรมไม่มีโทษทางกฎหมาย เป็นโทษทางสังคม
เรามีความคิดที่จะเชิญผู้จัดเกมโชว์ต่างๆ มาคุยเรื่องมาตรฐานจรรยาบรรณ หน้าที่ของ กสทช. คือทำให้เกิดเกณฑ์จรรยาบรรณ แล้วให้เขาไปกำกับกันเอง ตรงนี้เราเชิญบริษัทผู้จัดรายการต่างๆ มาคุยได้ เพราะเป็นวิชาชีพของเขา ต้องมีจรรยาบรรณ แต่เราออกคำสั่งทางปกครองไปถึงเขาไม่ได้ เพราะคำสั่งทางปกครองของ กสทช. จำกัดแค่ผู้ได้รับใบอนุญาต
ตรงนี้เป็นอย่างหนึ่งที่ต่างจากอินเทอร์เน็ต กรณีอินเทอร์เน็ต เราจะไม่ผลักภาระไปให้ตัวกลางอย่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP-Internet Service Provider) ผู้สร้างเว็บไซต์ (webmaster) หรือเจ้าของเว็บไซต์ เพราะอินเทอร์เน็ตนั้นใครจะเผยแพร่อะไรเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ใช่ทุกอย่างที่ต้องผ่านการตรวจสอบตัวกลาง และด้วยความกว้างขวางรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้ทุกคนสามารถผลิตเนื้อหาออกมาในตอนไหนก็ได้ ตัวกลางเหล่านั้นย่อมไม่สามารถไปตรวจสอบตลอดเวลา ว่าใครจะเผยแพร่เนื้อหาอะไรออกมาในเวลาไหน การเอาผิดกับตัวกลางมากเกินไปจะเป็นภาระกับตัวกลาง แต่กรณีการออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ ทางสถานีจะต้องมีการตรวจสอบเนื้อหาของสิ่งต่างๆ ที่จะออกอากาศก่อนอยู่แล้ว
คำถาม: แต่ถ้าเป็นรายการสด สมมติไปออกรายการเรื่องเล่าเช้านี้ คุยๆ กันอยู่ผู้ร่วมรายการก็ควักรูปโป๊ออกมาโชว์
สุภิญญา: ก็ต้องพิจารณาในฐานะรายการสดและต้องตามที่เจ้าของสถานีผู้รับอนุญาตแต่ส่วนใหญ่แทบจะไม่มีรายการสดร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ต่อให้เป็น live concert ก็ไม่ live จริง มันเอามาตัดต่อกันได้อยู่แล้ว ต่างจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งมันสดจริง นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราเอาผิดเวิร์คพอยท์ไม่ได้ ต้องเอาผิดกับช่องสามแทน เพราะช่องสามใช้ดุลยพินิจก่อนปล่อยออกอากาศแล้ว
คำถาม: ทำไมหลายฝ่ายดูจะมาฝากความคาดหวังกับ กสทช. อะไรๆ ก็เอามาลงที่ กสทช.
สุภิญญา: อาจเพราะเป็นองค์กรใหม่ ใครๆ ก็เลยอยากมาลองของบ้าง เห่อบ้าง คาดหวังบ้าง ผสมๆ กัน เรื่องไหนอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ทำได้เราก็ทำ เรื่องไหนไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่เราก็บอกว่าทำไม่ได้
คำถาม: กรณีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานไหม
สุภิญญา: ก็คงเป็น แต่มันก็ต้องเปรียบเทียบกันนะ เช่น ถ้าไพรม์ไทม์เหมือนกัน มาตรฐานระหว่างทีวีทั่วไปกับทีวีที่รับชมผ่านดาวเทียมมันก็ต้องต่างกัน เพราะระดับของการเข้าถึงมันต่างกัน
คำถาม: หลายคนไม่เข้าใจ ว่ากรณีนี้ กสทช. ได้รับการร้องเรียนมาเลยต้องเข้าไปยุ่ง เข้าใจว่าอยู่ๆ ก็เข้าไปจัดการเอง ทำให้มองต่อไปว่า ทีวีดาวเทียมมีเนื้อหาที่ยิ่งกว่านี้อีก ทำไมไม่ไปจัดการ
สุภิญญา: อย่างที่บอกว่าเรายังไม่ได้กำกับทีวีดาวเทียม เขายังไม่ได้มีสถานะเป็นผู้รับใบอนุญาต และทางเราก็ยังไม่มีเกณฑ์ออกมา เราก็เลยยังไม่ไปยุ่งกับใครเลย รอให้มีเกณฑ์ก่อนถึงจะเข้าไปจัดการให้เข้าสู่กติกาเดียวกัน แต่การจะไปกำกับทีวีดาวเทียมกำกับเคเบิลก็ต้องดูเป็นพิเศษด้วย เพราะมันเป็นตลาดเฉพาะ ต่างจากฟรีทีวีที่คนดูทุกเพศทุกวัย ทำให้เราต้องหาสมดุลระหว่างเด็ก ผู้ใหญ่ อนุรักษนิยม เสรีนิยม แต่เคเบิลหรือดาวเทียมคงต้องผ่อนคลายกว่า เพราะผู้ใช้เขาก็ได้พยายามจะไปหาช่องทางรับชมของเขาเองแล้ว โดยเฉพาะช่องรายการพิเศษเฉพาะด้านมากมาย เช่น ช่องแฟชั่น ช่องขายของ
อย่างทีวีดาวเทียมหรือวิทยุชุมชน ก็มีคนร้องเรียนมามากในเรื่องอาหารและยา ซึ่งก็อย่างที่บอกไปว่าด้วยความที่ยังไม่มีเกณฑ์และยังไม่มีการจดทะเบียนกับเรา เราก็เลยยังจัดการเองไม่ได้ แต่จะปล่อยไปก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องสุขภาพประชาชน เราก็เลยไปกระตุ้นทาง อย. ให้เขาไปจัดการตามเกณฑ์ของเขาอีกต่อหนึ่ง ในขณะที่ทาง อย. ก็ต้องพึ่งเรามาก เพราะหาช่องที่ผลิตเนื้อหาพวกนี้ไม่เจอ ซึ่งข้อมูลพวกนี้อยู่กับไทยคม เราก็ต้องไปกดดันทางไทยคม ไทยคมก็บอกเดี๋ยวจะส่งให้ ก็ยื้อกันไปมาอยู่อย่างนี้ แต่ต่อไป ถ้ามาลงทะเบียนกับเราแล้วเราก็จะมีข้อมูลตรงนี้ในมือ
หน้าที่ของ กสทช. คือการจัดสรรและกำกับ ซึ่งการกำกับก็มีสองแบบ คือจะกำกับตลาดยังไง จะแบบเสรีคือไม่กำกับมาก หรือจะออกกติกามากำกับเยอะ และยังมีเรื่องของการกำกับการให้บริหารบริการเนื้อหาอีก แต่ในเรื่องเนื้อหา ต่อไปนี้รัฐธรรมนูญบอกแล้วว่าห้ามเซ็นเซอร์ เราไม่มี กบว. แล้ว กสทช. ก็ไม่มีสิทธิ์ไปเซ็นเซอร์อะไรใคร แต่พอเนื้อหาถูกเผยแพร่ออกไปแล้วมีผลตามมา เราก็เข้ามาจัดการตามกรอบของหน้าที่และกฎหมาย เรียกมาชี้แจง ถ้าจะสู้ก็สู้กัน
และคำตัดสินของ กสทช. ก็ไม่สิ้นสุดในตัวมันเอง ถ้าไปดูในภาคของโทรคมนาคม ยังไม่เคยปรับใครได้ เพราะทางนั้นเขาสู้ตายจนถึงศาลสูงสุด แต่อย่างภาคกระจายเสียงอย่างช่องสามนี่อาจจะใหม่ เขาไม่เคยถูกกำกับมาก่อน อาจจะอยากให้จบๆ ไป เพราะมีผลทางสังคมเยอะกว่าภาคโทรคมนาคม เพราะโทรคมนาคมเป็นเรื่องของการใช้บริการ ซึ่งการปรับจะโยงต่อไปถึงเรื่องการชดเชยเยียวยา เม็ดเงินจะเยอะ นั่นคงเป็นเหตุผลที่สู้ทุกเม็ด
หลายกรณีที่ กสทช. ตัดสินไปก็ยังไม่จบ มันขึ้นอยู่กับคำสั่งของศาลสุดท้าย ยังไม่เป็นผลจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีมติ อย่างเรื่องโทรศัพท์เติมเงิน กสทช. มีมติไปแล้วว่าไม่ควรจำกัดวันหมดอายุ แต่ก็ยังยื้อกันไปยื้อกันมา ไม่จบ ถ้า กสทช. เข้มแข็ง ก็คือต้องหาจุดสมดุลให้เอกชนคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคตรงนี้หน่อย
อย่างภาคกระจายเสียง จริงๆ ถ้าเป็นประเด็นเรื่องสัมปทานเขาก็คงสู้ยิบตา เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของเขา เหมือนที่ภาคโทรคมนาคมสู้ แต่กรณีช่องสามกับ Thailand's Got Talent นี่มันเป็นเรื่องผลกระทบทางสังคม มันมีต้นทุนทางสังคมที่ทางช่องแบกไว้ คงทำให้คิดว่ายอมดีกว่า ไม่สู้ดีกว่า จะได้จบเร็ว เพราะถ้าสู้ในศาลมันก็ไม่จบ ประเด็นมันก็จะกลับมาเรื่อยๆ ในขณะที่ถ้าจบเลยเขาก็ไม่เสียอะไรมากไปกว่านี้ แต่ในอนาคต ถ้าเรามีมติอะไรที่ส่งผลต่อธุรกิจสัมปทานของเขา เขาก็คงสู้ยิบตา
คำถาม: ด้วยงานที่มากมาย ทำให้ดูเหมือน กสทช. จัดระเบียบเรื่องงานไม่ได้ ดูเหมือนงานเยอะไป
สุภิญญา: ก็แบ่งกัน ถ้าเรื่องสังคมผู้บริโภคก็จะมาทางนี้ (สุภิญญา) เยอะ เพราะเป็น กสทช. ด้านนี้ ทุกเรื่องเรารับหมด ทำได้แค่ไหนแค่นั้น อย่าง ดร.นที (พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ - รองประธาน กสทช.) ก็จะไม่รับเรื่องนี้ เขาก็จะดูเรื่องโทรทัศน์ดิจิทัลเรื่องอะไรของเขาไป เรามีห้าคนก็แบ่งๆ กันไป แต่จะเห็นหน้าสุภิญญาเยอะหน่อย เพราะเราอยู่ในทวิตเตอร์ อย่างเรื่อง Thailand's Got Talent เป็นเรื่องกำกับเนื้อหา ซึ่งตัวเองไม่ได้ดูในส่วนนั้น งานที่รับผิดชอบโดยตรงคือเรื่องผู้บริโภค ก็จะดูเรื่องสัญญาการบริการ หรือภาพรวมโฆษณา แต่ถ้าเรื่องเนื้อหา เช่น ละคร ข่าว ก็จะอยู่อีกชุดหนึ่ง ซึ่ง กสทช.พีระพงษ์ รับผิดชอบ(พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ) เราแบ่งงานกันทำ ใครทำส่วนไหนก็ทุ่มเทกับส่วนนั้น
เรื่องการออกใบอนุญาตก็เป็นเรื่องที่สำนักงานชงลูกมา ซึ่งจะออกเกณฑ์ก็ไม่ใช่มีกันแต่บอร์ดนะ ทำกันเป็นสำนักงาน ค้นคว้าด้านต่างๆ แล้วร่างมา ผ่านการปรึกษาอนุกรรมการ สุดท้ายจะมาถึงเราก่อนที่จะผ่าน แต่ก่อนจะมาถึงเราๆ ก็ต้องศึกษาไปเองด้วย เพราะเมื่อเขาส่งมาถึงเราแล้วเราจะได้ใช้ดุลยพินิจได้ ว่ามีอะไรขาดตกหล่นหายไปหรือไม่ ซึ่งส่วนของการประกาศก็จะเป็นหน้าที่ของบอร์ด เลยดูเหมือนทำหน้าที่เยอะ งานที่ต้องรับเรื่องร้องเรียนรายวันก็มี ก็รับบ้างตีกลับบ้าง แต่งานแต่ละวันจริงๆ เป็นงานสำนักงาน ก็ทำกันไปในทุกประเด็นที่ต้องทำ
ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่สำนักงานราว 200 คน แบ่งเป็นสำนักต่างๆ เช่น สำนักออกใบอนุญาต, สำนักเรื่องดิจิทัล, สำนักเรื่องจัดสรรคลื่นความถี่, สำนักเทคนิค, สำนักผู้บริโภค สำนักไหนมีหน้าที่อะไรก็ทำไป เราทำงานขั้นสุดท้าย ก็มีหน้าที่รู้ให้เท่าทันเขา อันไหนเห็นด้วย อันไหนไม่เห็นด้วย อันไหนมีอะไรเสริม บอร์ด 5 คนก็ต่างมีความคิดของตัวเอง ทุกคนสามารถมีทีมงานหน้าห้องได้ เป็นที่ปรึกษา ช่วยหาข้อมูล ช่วยประสานงาน เป็นทีมงานของเรา มาพร้อมเราไปพร้อมเรา งานไหนที่เราริเริ่มเองทีมงานหน้าห้องก็เข้ามาเสริมในส่วนนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่สำนักงานเป็นผู้ปฏิบัติงานหลัก เช่น การจัดเวทีเสวนา สัมมนา หรืออะไรที่เข้าสู่ระบบ อันนี้ต้องให้สำนักงานจัดการ เพราะเป็นเรื่องจัดซื้อจัดจ้างเชิงบุคคล ซึ่งปรกติสำนักงานจะทำในเรื่องที่ผ่านมติของบอร์ดแล้ว
งานหลักตอนนี้คือร่างประกาศ เป็นตั้งๆ เลย ตอนบังคับใช้จริงได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่มีหน้าที่ต้องร่างตามกฎหมาย เพื่อเป็นฐานการใช้ในอนาคต แม้ กสทช.ชุดนี้จะจบไป ชุดอื่นมาต่อก็ต้องใช้ที่ร่างอยู่นี่ เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็อยู่ในรูปโรงงานผลิตนโยบาย แต่ตอนใช้จริงนโยบายอาจอยู่ไม่ทน เพราะอาจทำอะไรไม่ได้สักอย่างก็ได้
คำถาม: แล้วบรรยากาศการทำงานเป็นยังไง
สุภิญญา: ก็ต่างคนต่างที่มา ต่างคนมีจุดยืนของตัวเอง่การทำงานแบบนี้ เจอกันก็เห็นไม่ตรงกันบ้าง ก็เถียงกันวิจารณ์กัน คือเราทำงานเป็นทีมนะ แต่แบบฝรั่ง ก็เถียงกันแรง ในเรื่องงาน ไม่ใช่ส่วนตัว
คำถาม: มีความพยายามสนิทกัน โน้มน้าวกันนอกรอบไหม
สุภิญญา: มันก็ต้องคุยกันเป็นการเป็นงาน จะมาสนิทส่วนตัวก็ไม่มีมาก ก็เป็นเพื่อนร่วมงาน อาจมีคนที่สนิทกันเองเป็นบางกลุ่มใน 11 คน แต่จะมาเป็นกลุ่มหวานแหววกันทั้ง 11 คนคงไม่ได้อยู่แล้ว จริง ๆ ก็ควรจะสัมพันธ์กันไว้ อย่างตัวเองถ้าวางตัวเป็นฝ่ายค้านตลอด การขอความรวมมือหรือขอความช่วยเหลือในบางประเด็นก็อาจจะยาก มันก็ต้องหาจุดที่สมดุล การประนีประนอมก็ต้องตั้งอยู่บนหลักการที่เรารับได้
คำถาม: รู้สึกว่าเป็นเอ็นจีโอจะวิจารณ์ได้เต็มที่กว่าไหม
สุภิญญา: เป็นเอ็นจีโอวิจารณ์เสร็จเราก็กลับมาทำงานอยู่กับพวกเรา ไม่ต้องเจอกับคนที่เราวิจารณ์ แต่นี่เราเป็นทีมเดียวกัน มุมหนึ่งเราก็ต้องฟังผู้บริโภค อีกมุมเราก็เป็น กสทช. การที่เราออกมาวิจารณ์ กสทช. บ้างมันก็จะเข้าทำนองหยิกเล็บเจ็บเนื้อ ก็เหมือนด่าตัวเองด้วย แต่ถ้าเราพิทักษ์องค์กรตลอด คนที่คอยวิจารณ์เราเขาก็จะไม่รู้จุดยืนเราเหมือนกัน ตรงนี้มันก็ลำบาก การเป็นคนนอกไปเลยมันก็วิจารณ์ได้ดีกว่า แต่ที่ตัดสินใจมาทำเพราะเห็นว่า กสทช. ทำอะไรได้อีกมาก แล้วตอนนี้อยู่ในช่วงร่างนโยบาย มันสนุก เรามีส่วนที่จะถกเถียงในเกณฑ์กติกา เรื่องใหญ่ๆ อย่างแผนแม่บทเราอาจจะแพ้ เช่น แต่หลายเรื่อง เราก็สามารถผลักดันคีย์เวิร์ดบางอย่างเข้าไปได้
คือมันก็จะดูเทคโนแครตหน่อย เป็นการร่างนโยบาย แต่พอบังคับใช้ก็ไม่รู้จะได้แค่ไหน ซึ่งตอนนี้ที่ยังไม่เริ่มก็เพราะเกณฑ์การประกาศยังอยู่ในช่วงของประชาพิจารณ์ การจะขอคืนคลื่นได้ต้องมีเกณฑ์ก่อน ว่าทำไมต้องขอคืน อะไรคือความจำเป็น คลื่นแรกอาจจะเริ่มปีหน้า
คำถาม: มีรายชื่อเจ้าของคลื่นครบหรือยังครับ
สุภิญญา: ครบแล้ว แต่เรากำลังจะทำด้วยการออกร่างประกาศให้ทุกคนเปิดเผยข้อมูลกับเราอย่างเป็นทางการ เป็นการบังคับให้เขาเขียนออกมาเอง ว่ามีอะไรอยู่ในครอบครองเท่าไหร่ ใครถืออยู่กี่คลื่น คลื่นไหนติดสัญญา คลื่นไหนไม่ติดสัญญา ที่ติดสัญญานี่ติดกี่ปี มีอะไรผูกพันบ้าง ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้เราก็ต้องอาศัยตัวประกาศที่ว่า ซึ่งตัวประกาศนี่เอาขึ้นเว็บไซต์แล้ว มันช้าก็เพราะต้องทำตามขั้นตอน ต้องโฟกัสกรุ๊ปก่อน เอาขึ้นเว็บไซต์ 30 วันเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปรับแก้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้มันก็ไม่มีมิติ การออกคำสั่งทางการปกครองจะไม่ทำเรื่องอย่างการเชิญมาสัมมนา เชิญมาขอกันปากเปล่า ไม่ทำแบบนั้น เพราะแบบนั้นบังคับกันไม่ได้ แบบที่ทำอยู่นี้คือการใช้อำนาจของ กสทช. เพราะฉะนั้น รวมทุกขั้นตอนมันก็จะใช้เวลารวมประมาณ 3-4 เดือน แต่ตัวร่างประกาศก็ค่อนข้างยืดหยุ่นนะ ค่อนข้างให้เวลาในการมาเปิดเผยกับเรา ต้องลองไปอ่านดู4
คำถาม: ในความคิดคุณสุภิญญา เท่าที่ทำงานมานี่ แนวโน้มความคิดโดยรวมของทั้ง 11 คนเป็นไปในทางไหน หมายถึงอนุรักษนิยม เสรีนิยม หรือแบบไหน
สุภิญญา: ก็ไปตัดสินยากนะ แต่เท่าที่เห็น ส่วนใหญ่ก็คลุกคลีกับเทคโนโลยี ถ้าจะมองเรื่องอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม คิดว่าก็น่าจะมาในทางเปิดมากกว่า คือเท่าที่เห็นก็ไม่ถึงกับอนุรักษนิยมนะ แต่จะถึงกับหัวก้าวหน้า (progressive) หรือไม่นี่ก็คงอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องนี้ ถ้าถามเพราะคิดถึงกรณี Thailand's Got Talent นี่จริงๆ ต้องบอกว่ามันก็ไม่ใช่งานหลักเรานะ งานของ กสทช. ไม่ใช่เรื่องควบคุมเนื้อหา แต่เป็นเรื่องจัดสรรกำกับคลื่น แต่พอมีเรื่องมาใหญ่ขนาดนี้เราก็ปฏิเสธไม่ได้ ก็ต้องมีมติไป
คำถาม: กลัวว่าสักวันการควบคุมจะกลายเป็นงานหลักไป เพราะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าฟ้องร้องได้ แล้วต่อไปอะไรๆ ทำนองนี้ก็จะมาลงที่ กสทช. เช่น มันก็จะลามไปถึงเรื่องดาราแต่งตัวโป๊ เรื่องเนื้อหาละคร อะไรทำนองนั้น
สุภิญญา: จริงๆ มันมีแล้วนะ มีเรื่องร้องเรียนพวกนั้นอยู่เป็นร้อยเลย เรื่องอ่านภาษาไทยไม่ชัดยังมีเลย แต่เราไม่ได้เอามาทำทุกเรื่อง เราทำแต่เรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะ ซึ่งก็คิดว่าสมเหตุสมผลอยู่นะ เพราะมันก็กระทบคนในวงกว้าง แต่ที่ร้องเรียนมา บางเรื่องมันไม่เข้ากรอบกฎหมาย เป็นเรื่องการกำกับกันเองทางจริยธรรม เราก็ให้เขาไปปรับจริยธรรมกันเอง เตือนกันอะไรกันก็ว่าไป
อย่างเรื่องภาษาไทย เราก็มีโครงการสอบใบผู้ประกาศอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ ไม่ได้บังคับตามกฎหมายนะ แต่ใครอยากมาฝึกฝนเพื่อสอบให้ได้เป็นเครดิตตัวเอง กสทช. ก็ทำให้ ก็เป็นงานเรียบๆ ที่ทำไป พูดไม่ชัดก็ให้เข้ากระบวนการฝึกอบรมไป ไม่ใช่ไปออกคำสั่งทางปกครอง
ตามแผนทั้งหมดและตามกฎหมายแล้วงานของ กสทช. มีหลายแผนก มีแม้กระทั่งการส่งเสริมวิชาชีพให้เกิดการรวมตัวกัน กองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์อะไรก็อยู่ในกฎหมายที่กำกับเราหมด
คำถาม: ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะไหม
สุภิญญา: ก่อนหน้านี้ก็ยุ่งอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยุ่งอย่างเป็นระบบเลย ทุกวันนี้ชีวิตไม่ได้กำหนดตารางเอง เพราะมีทั้งงานประจำที่ต้องทำตลอดเวลา แถมยังมีงานเฉพาะหน้าที่เข้ามาทั้งวัน เราก็ต้องใช้เวลากับมัน แล้วเราก็ต้องออกไปพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งก็ชอบนะ ทำให้ได้เข้าใจปัญหา แล้วตัวเองทำเรื่องภัยพิบัติ เรื่องผู้บริโภค เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ 3 เรื่องนี้ต้องเกี่ยวกับคนเยอะ
นี่คืองานเฉพาะที่ตัวเองรับผิดชอบ แต่งานภาพรวมเช่นเรื่องประกาศรายวันก็ต้องทำอยู่แล้ว เป็นงานหลัก แล้วก็งานเฉพาะส่วนที่แบ่งกัน งานที่เข้ามารายวัน บางทีมีงานโทรคมนาคมเข้ามาด้วย เราก็ต้องไปตามว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว มันก็จะเยอะมาก
คำถาม: เรื่องวิทยุชุมชน ที่เคยบอกว่ามีปัญหา อย่างเรื่องที่ว่าไปรบกวนวิทยุการบิน มันก็เป็นลักษณะเดียวกับปัญหาฟรีทีวีกับทีวีดาวเทียมหรือเปล่า คือพอไม่มีกฎ ก็เลยไม่มีใครถูกใครผิด
สุภิญญา: แต่อย่างที่ไปรบกวนวิทยุการบินนี่เป็นข้อยกเว้นนะ คือพอทางวิทยุการบินร้องมา ว่ามันมีเสียงวิทยุแทรกเข้ามาในการสื่อสารของนักบิน แบบนี้เราก็ต้องเตือนไป ปัญหาคือคลื่นวิทยุในไทยใช้กันหลายช่อง เต็มคลื่นความถี่มาก เพราะใครทำก็ได้ ไม่ต้องขออนุญาต แล้วเวลากระจายคลื่นนี่ตัวเครื่องส่งมันไม่ได้มีตัวกรอง คลื่นมันก็จะฟุ้งกระจายไปรบกวนเวลานักบินสื่อสารกับศูนย์บังคับการบินภาคพื้นดินได้ ทำให้มีเสียงเพลงแทรกเข้ามาขณะติดต่อกัน อะไรแบบนั้น คือเรื่องวิทยุนี่เราก็พยายามเกลี่ยให้กำลังส่งเหลือ 200 วัตต์ แต่ก็ทำยาก เพราะเขาจะไม่ยอมกัน มันทำให้ส่งสัญญาณออกไปได้ไม่ไกลเท่าเดิม
คำถาม: การส่งสัญญาณคลื่นวิทยุนี่จะเป็นดิจิทัลพร้อมกับทีวีเลยไหม
สุภิญญา: คงจะช้ากว่าทีวีนิดหนึ่ง จริงๆ วิทยุประเทศไทยเหมาะจะทำเป็นดิจิทัลที่สุดแล้ว เพราะคลื่นความถี่มันเยอะมาก สมควรจะเป็นระบบดิจิทัลนานแล้ว แต่มันยากตรงที่ในระดับสากลแล้วเทคโนโลยียังไม่เสถียร ไม่รู้จะใช้มาตรฐานอะไร และคนรับก็ต้องซื้อเครื่องรับวิทยุกันใหม่ ซึ่งในช่วงต้นก็อาจจะแพง
สุภิญญา: มันก็หนักขึ้น มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ีเพราะเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะที่มีความคิดแตกต่างหลากหลาย
คำถาม: แล้วเอ็นจีโอเขามองคุณสุภิญญาว่าอย่างไร
สุภิญญา: ส่วนใหญ่ก็ยังให้กำลังใจนะ เพราะเราก็พยายามแสดงจุดยืนที่มันสอดคล้องกัน แต่ก็อย่างที่บอกว่ามีหลายกลุ่ม ก็หลากหลาย ถ้ากลุ่มที่เราทำงานมาเดิมเราก็ยังทำกับเขาอยู่ พวกเครือข่ายผู้บริโภค เขาก็ยังไว้ใจเราอยู่ แต่เอ็นจีโอสายอื่นเขาอาจคิดว่าเราทำอะไรอยู่ไม่รู้ก็ได้
คำถาม: เรื่องเงินเดือนที่ว่าสี่แสน เขาก็ว่าไม่ควรเสนอไปตั้งแต่เริ่ม
สุภิญญา: ตั้งแต่เข้ามาทำงานจนถึงขณะนี้ได้แสนเดียวนะ ความเป็นมาของเรื่องนี้คือสำนักงานเสนอไปตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เคยได้ ไม่ได้ถามบอร์ด ไม่มีมติบอร์ด บอร์ดไม่ได้โหวต ถ้าบอร์ดได้โหวตตัวเองก็คงยั้งไว้ แต่มันไม่ได้มีการเข้าบอร์ดเป็นเรื่องเป็นราว เขาเสนอไปตอนไหนก็ไม่รู้ คือพอมีบอร์ดใหม่เข้ามา สำนักงานก็ทำหน้าที่เสนอเงินเดือนให้บอร์ดชุดใหม่ โดยให้เท่ากับที่บอร์ดเดิมเคยได้ ความจริงมันก็มีแค่นั้น
ตอนเสนอสำนักงานเขาก็เสนอเงินเดือนบวกโบนัสอะไรไป มันก็เลยออกมาสี่แสน สมัย กทช. ก็ได้กันหนึ่งแสนพร้อมบวกโบนัสบวกอะไรไป แต่กฎหมายใหม่ห้ามไม่ให้มีโบนัส ตอนเสนอเขาก็เลยเอาส่วนที่เคยเป็นโบนัสมารวมเป็นฐานเงินเดือน ซึ่งมันกว้างมากจนเป็นไปไม่ได้ เราก็พูดนอกรอบแล้ว แต่สำนักงานเขาก็ไม่รู้จะทำยังไง
ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา มันอาจจะเกี่ยวกับเงินเดือนเลขาธิการด้วย เพราะสมัยที่เป็น กทช. เลขาธิการก็ได้สามแสน ถ้าพอมาเป็น กสทช. แล้วมันลดลงมามันก็ไม่ได้ แล้วถ้าถามว่าทำไมเลขาธิการได้สามแสน อันนี้ก็ไม่รู้ เพราะเขาก็ออกแบบกันมา
ทีนี้ พอเขาตีกลับมา ถ้าสำนักงานไม่คิดใหม่ มันก็ตีกลับไปกลับมา ก็ไม่ได้เงินเดือนกันพอดี ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เงินเดือนกันนะ เป็นเงินยืม ยืมจากสำนักงานของตัวเอง ทุกคนต้องเซ็นยืม เกิดเปลี่ยนแปลงอะไรแล้วองค์กรยุบไปนี่ต้องเอาเงินมาคืนนะ เพราะถือว่ายังไม่ได้เงินเดือนเป็นทางการ เงินเดินเป็นทางการนี่ออกได้โดยกฤษฎีกาเงินเดือนเท่านั้น ถ้ายังไม่มีมา ก็เบิกเงินเดือนไม่ได้
กทช. ในยุคแรกยังไม่มีคนตรวจสอบ เกณฑ์อะไรก็เลยกำหนดแบบนี้มาแต่แรก แต่พอมาเป็น กสทช. เราก็อยากให้ลดลงนะ แต่เขาก็มาแบบนี้อยู่แล้ว จริงๆ ถ้ารัฐบาลจะลดก็ใช้โอกาสนี้ลดได้ แต่โดยส่วนคิดว่ามันไม่มีทางได้ถึงสี่แสนหรอก คงประมาณสองแสน เท่ากับบอร์ดกำกับดูแลพลังงาน ไม่อย่างนั้นฐานเงินเดือนมันก็ต้องปรับกันหมด ศาล, ส.ส., ส.ว. มันต้องปรับหมดหรือเปล่า?
คำถาม: งานพวกนี้เงินเยอะเพราะเป็นค่าชดเชยการไม่เข้าสังคม คือทำงานแบบนี้ไม่ควรเข้าสังคม ต้องเว้นระยะห่าง
สุภิญญา: โดยส่วนตัวรักษาระยะห่างจากตัวแทนธุรกิจของบริษัทเอกชน คือเขาก็คงไม่ค่อยเข้าหาเราด้วยถ้าไม่จำเป็น อย่างเรื่องไอโฟนที่เป็นประเด็น5 เขาเอามาให้ ซึ่งเราก็ไม่รับ เพราะมันเกิน 3,000 บาท ทีนี้นักข่าวมาถามเราก็ต้องพูด ก็เลยส่งผลกระทบกับคนอื่นไปด้วย บางคนก็อาจจะคิดว่าพูดทำไม บางคนก็บอกว่าพูดไปก็ดีแล้ว
คำถาม: ความที่เป็นผู้หญิงนี่เป็นประเด็นอะไรไหม
สุภิญญา: ก็มีบ้างนะ ทั้งเป็นผู้หญิง ทั้งอายุน้อย ในเรื่องการเดินทางก็อาจมีบ้าง เช่น กลับดึก หรือไปต่างจังหวัด หรืออย่างเวลาเถียงกัน ด้วยความเป็นผู้หญิง ก็อาจทำให้ดูลดความแรงลง ที่ผ่านมายังไม่มีประเด็นอะไรใหญ่โตขึ้นมา
คำถาม: มีสังสรรค์กันบ้างไหม
สุภิญญา: ก็ถ้าไปต่างจังหวัด ไปเวิร์กช็อป มันก็ต้องมีอยู่แล้วนะ หรือบางทีก็อาจต้องนัดมาเตรียมการกัน งานข้างในบางทีมันก็ต้องมีการล็อบบี้เหมือนกัน ก็อาจจะเรียกว่าขายความคิด เช่น ตัวเราอยากจะผลักดันเรื่อง อย. แต่คนอื่นยังไม่เห็นความสำคัญ แล้วอยู่ๆ เราไปทะเล่อทะล่าเสนอในบอร์ดซึ่งมีเวลาประชุมแค่ 2-3 ชั่วโมง แบบนั้นมันก็ไม่ได้หรอก มันก็ต้องมีการเล่าให้ฟังกันก่อน ซึ่งคนอื่นก็เหมือนกัน เขาอยากผลักดันอะไรก็มาคุยกับเรา อันไหนเราเห็นด้วยเราก็อภิปรายช่วย อันไหนไม่เห็นด้วยเราก็ไม่เอา แต่จะยังไง สุดท้ายถ้าแนวคิดมันขัดกัน ก็ต้องโหวตกันอยู่ดี ทำงานแบบนี้ต้องอาศัยเสียงข้างมาก เราไม่เดินประเด็นคนอื่นเขาก็เดิน
อย่างเรื่องมาตรฐานทีวีดิจิทัล จริงๆ มันก็มีหลายแนว แต่ก็ไม่ได้คอขาดบาดตายมาก เพราะมาตรฐานยุโรปจะนอนมาอยู่แล้ว เนื่องจากดีกว่าของที่อื่นมาก แต่ถึงจะอย่างนั้น จีนกับญี่ปุ่นเขาก็พยายามล็อบบี้ขายมาตรฐานตัวเองมาตั้งแต่สมัย กทช. แล้ว ซึ่งขนาดว่ามาตรฐานต่างกันเยอะ แต่เมื่อมีตัวเลือก เราก็ยังต้องถกกัน
เดี๋ยววิทยุก็จะมีอีก เพราะวิทยุยังไม่มีมาตรฐานอาเซียน เราก็ต้องเลือกว่าจะเป็นดิจิทัลในมาตรฐานของอเมริกา อังกฤษ หรือจีน ซึ่งคราวนี้จะยากจริง เพราะยังไม่ค่อยมีใครทำวิทยุดิจิทัล ถ้ามีการล็อบบี้เราก็ต้องชั่งตวงวัดกันเชิงวิชาการจริงๆ ว่ามาตรฐานแบบที่ไหนจะดีกว่ากัน
ต่อไปมันก็จะทุกเรื่อง อย่างมาตรฐานการประมูล การออกกฎต่างๆ พวกนี้บางทีเขียนอะไรให้เอื้อนิดเดียวมันก็เอื้อไปแล้ว ต้องทำกันละเอียดมาก แต่ถ้ามันแฟร์พอแล้วไปเอื้อเราก็ต้องทำใจ แต่ไม่ใช่ไปตั้งใจจะเอื้อแต่แรก ก็ต้องดูรายละเอียดกันอีกที นี่คือความยากของการออกกฎเกณฑ์ทั้งหลายทั้งปวง
ตรงนี้ทำให้พวกคนวงในมีความสำคัญ แต่ถ้าเราคิดในทางกลับกัน ว่าต้องทำให้ทุกอย่างโปร่งใส มันก็ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องการเอาข้อมูลจากคนวงใน จะประชุมจะทำอะไรก็แถลงให้ชัดเจนแต่แรก เมื่อก่อนการล้วงเรื่องต่างๆ จากคนวงในมีความสำคัญเพราะมันไม่มีการแถลงอะไร ไม่มีทวิตเตอร์ ไม่มีเว็บไซต์ มันก็ต้องล้วงเพื่อรู้ก่อนว่าฝ่ายนโยบายจะมายังไง บริษัทเอกชนจะได้ไปเตรียมรับมือถูก แต่เดี๋ยวนี้มันรู้ก่อนกันอย่างมากก็ 2-3 วัน ก็ไม่ทันไปทำอะไร
คำถาม: ทำไม 3G ในไทยถึงเรียบร้อยช้านัก
สุภิญญา: คือถ้าเป็นระบบอุปถัมภ์อย่างเมื่อก่อน เราก็คงมีไปนานแล้ว แต่แบบนั้นมันไม่มีธรรมาภิบาล ไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็ต้องมาทำแบบทุกวันนี้ มี กทช. กสทช. มาดูแล มันก็ช้าเพราะต้องมีกระบวนการให้ครบตามกฎหมายและอาจมีคนฟ้องอีก แต่จำเป็นต้องมีกติกาที่แฟร์ก่อนการประมูล
Comments
หวังว่าจะได้เห็นความเป็นชิ้นเป็นอันโดยเร็ว
เพิ่มเติมเรื่องฟรีทีวีจอดำ ล่าสุดคือการถ่ายทอดโอลิมปิค ที่ข่าวว่าบังคับกฎ must-carry ไปด้วยแล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือ จานดำ c-band ทั้งหลายที่ใช้กล่องรุ่นเก่า(เกินสองปี) จะไม่สามารถดูช่องถ่ายทอดโอลิมปิคที่เข้ารหัสแบบใหม่ได้นะครับ ต้องซื้อกล่องรุ่นใหม่ที่รองรับการทำ OTA เท่านั้น(ซึ่งกล่องที่ทำOTAได้บางรุ่นก็ยังไม่รองรับการรับ keyใหม่ด้วยซ้ำ ต้องส่งไป upgrade firmwareที่บ.แม่ด้วยนะ)
มองในแง่ผู้ใช้ มันก็มีความเสี่ยง ที่อนาคตจะมีการเข้ารหัสแบบใหม่ๆโดยอ้างเรื่องการจำกัดขอบเขตการรับชม แล้วสุดท้ายเราก็ต้องซื้อกล่องreceiverใหม่อยู่ดี แบบนี้้มันก็ไม่ต่างจากยุค GMM สักเท่าไรหรอกครับ และการที่ความจำเป็นบังคับให้เราต้องซื้อเครื่องใหม่ มันก็จะขัดแย้งกับ must carry ruleไปในตัวเองนั่นแหละ
ถ้าจะให้ตรงประเด็น ก็คงต้องกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการเข้ารหัสให้ชัดเจน ตั้งแต่ตอนออกใบอนุญาตทีวีดาวเทียม(รวมถึงฟรีทีวีที่ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมด้วย)ไม่เช่นนั้นก็จะมีช่องโหว่อยู่เรื่อยไป
ยาวมาก เดี๋ยวถ้าเวลาว่างกว่านี้ค่อยอ่าน
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ยาวครับ ยังไม่อ่าน ปวดหัวซะก่อน
อ่านแล้วได้อะไรเยอะมากครับ ขอบคุณครับ
เอาใจช่วยคณะทำงานนะครับ กิจการจะได้เข้าร่องเข้ารอยมีระเบียบซะที
ปล.เงินยืมนี่น่ากลัว เกินวันดีคืนดีองค์กรยุบซวยเลย รัฐบาลไทยยิ่งไม่ค่อยมีเสถียรภาพอยู่...
มันจะแปรผันมาเป็นหนี้เฉลี่ยค่าหัวของประชาชนหรือเปล่า เพราะถึงยังไงหนี้นี้มันก็ต้องตกถึงรัฐบาลอยู่ดี //รัฐบาลถือหุ้นอยู่ไหม
ผมหมายถึงเงินเดือนพนักงานหนะครับ ที่ต้องเซ็นยืมยังไม่ได้มีเงินเดือนจริง แล้วต้องคืนถ้าองค์กรยุบ //เอ๋เราพูดเรื่องเดียวกันอยู่ไหม
พูดถึงเรื่องจอดำแล้วขัดใจกับมาตรฐานของการถ่ายทอดกีฬาในไทยจริงๆ
อันนี้คือดูผ่านจานระบบ C-Band กับกล่องที่คอนโดนะครับ (เชื่อว่าเป็นรุ่นเก่า เข้ารหัสไม่ได้ OTA ไม่ได้)
คืองงว่า ตกลงจะล็อก หรือไม่ล็อก เหมือนตามใจสถานี แต่เอาเรื่องลิขสิทธิ์มาเป็นข้ออ้างเฉยๆ
ถ้าบอกว่ามีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์จริง แล้วทำไมประเทศเรายังรับสัญญาณจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ลาว ได้ ไม่เห็นจะล็อกสัญญาณหรือเข้ารหัสเลย (หรือไม่มีใครไปโวยวายแบบอินเดียที่ไปฟ้อง FIFA ตอนบอลโลก จนกลายเป็นบรรทัดฐานในปัจจุบัน?)
สุดท้าย ถ้าจะล็อกจริงๆ อย่าลืมล็อกซีเกมส์กับเอเชี่ยนเกมส์ด้วยนะครับ!
เอง ไม้เอกเกินครับ
ทำแบบระบบสัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัลทางญี่ปุ่นไปเลยครับ ของกลางไม่ดี วิจัยเองออกมาตรฐานเอง
ต้องค่อยกลับมาไล่อ่าน... เยอะจริงๆ ทำเป็นคลิปเสียงน่าจะเวิค ฮ่าๆๆๆ
ขอดูเทควันโด ก่อนนะคับ กำลังลุ้นเหรียญเลยว่าจะได้อะไร ><'
ขอบคุณมากๆ ครับ ถอดเทปออกมาพิมพ์แต่ละตัวนี่ไม่ต่ำกว่าสี่ชั่วโมงแน่ๆ อ่านแล้วได้สาระ และเห็นความเน่าเฟะบางอย่างของภาคเอกชนและภาครัฐของไทยอีกด้วย
อ่านทั้งหมดแล้วก็ได้แต่เอาใจช่วย กสทช. เรื่องร่างฯ และรู้สึกอุ่นใจขึ้นว่า อย่างน้อยก็ได้เห็นความคิดและทิศทางที่กำลังเดินไป ดีครับ, จริงๆ มันดีมากเลย ;)
my blog
ยาวมาก ขอกลับมาอ่านวันพรุ่งนี้ครับ
อ่านแล้วเปิดหูเปิดตาดี ขอบคุณครับ
Achievement Unlocked: Being a Blognone's Writer