Tags:
Topics: 

ระบบคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้ มีความเร็วสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง จนหลายๆคนคาดกันว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ความเร็วของซีพียูจะหยุดนิ่ง โดยอาจจะเป็นเพราะขีดจำกัดทางเทคโนโลยี หรือไม่ก็เราอาจจะไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่เร็วกว่าขีดจำกัดนั้นได้เต็มประสิทธิ์ภาพอีกต่อไป

แต่ขีดจำกัดพวกนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ยังคงมีความสามารถเพิ่มขึ้นในแบบที่เรียกว่าเอ็กโพเนนเชียล (Exponential - การทวีคูณเป็นเท่าในระยะเวลาค่าหนึ่ง) อย่างต่อเนื่องตลอดอายุของมัน โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะลดจากอัตรานี้ลงไป

ในสมัยก่อนนี้ นักออกแบบมักพูดถึงการเพิ่มความเร็วของคอมพิวเตอร์ ด้วยการเพิ่มความถี่สัญญาณนาฬิกา สัญญาณนาฬิกาคือตัวกำหนดการทำงานของวงจรดิจิตอล เราอาจมองสัญญาณนาฬิกาว่าเป็นหน่วยการทำงานของซีพียูก็ได้ เราอาจจะเคยเห็นยุคที่ซีพียูเพนเทียม มีความถี่สัญญาณนาฬิกากระโดดจาก 533 เมกกะเฮิร์ต มาเป็น 1 กิกกะเฮิร์ต และโดดขึ้นอย่างรวดเร็วเรื่อยมา การเพิ่มความเร็วเช่นนี้ได้ผลเป็นอย่างดี แต่ข้อเสียที่เกิดขึ้นคือ การเพิ่มความถี่สัญญาณนาฬิกาทำให้ซีพียูกินพลังงานมากขึ้น และปล่อยความร้อนมากขึ้น

ในช่วงหลังนี้คอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นเครื่องมือวิเศษสำหรับคนบ้าเทคโนโลยีกลุ่มเล็กๆอีกต่อไป แต่คอมพิวเตอร์กลับกลายเป็นเครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ดำรงค์ชีวิต และหลายๆครั้งมันกลายเป็นของประดับ การมีคอมพิวเตอร์ที่เคลขนาดใหญ่ ตั้งเต็มโต๊ะ พร้อมกับเสียงพัดลมครางหึ่งจึงกลายเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ไป

ช่วงหลังมานี้เราจึงได้เห็นซีพียูตัวใหม่ๆ ที่ชิงดีกันด้านพลังงานเป็นจำนวนมาก เริ่มเรื่องคงเกิดที่บริษัท Transmeta ที่ออกชิป Crusoe ออกมาโดยกินพลังงานต่ำสุดขีด แม้จะช้าไปบ้าง แต่หากแลกกับการที่เครื่องเบาไปกิโลหนึ่งแล้ว คนใช้โน๊ตบุ๊คทุกคนคงยอมรับกันได้ถ้วนหน้า ตามติดมาด้วยเพนเทียม M อันโด่งดัง และกินตลาดเป็นวงกว้าง ตลาดส่วนนี้มีความเติบโตสูงไปพร้อมๆกับตลาดของโน๊ตบุ๊ค ในช่วงสองปีข้างหน้า เราคงได้เห็นซีพียูตัวแปลกๆในท้องตลาดจำนวนมาก ที่ชูคำขวัญ "ไม่เร็วกว่า แต่เย็นกว่า"

ขณะเดียวกันด้านของซีพียูของเครื่องตั้งโต๊ะนั้น ทิศทางกลับออกไปในทางของการใส่แกนซีพียูคู่ (Dual Core) ทำให้เวลาเราซื้อซีพียูมาตัวหนึ่ง ข้างในกลับมีซีพียูใส่มาถึงสองตัว ผมเชื่อว่าซีพียูคู่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดด้านความซับซ้อนของการออกแบบซีพียูสักตัวให้ทำงานหลายอย่างพร้อมๆกัน เช่นในทุกวันนี้ซีพียูหนึ่งตัว สามารถคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้มากกว่า 5 รายการพร้อมๆกัน แต่เมื่อความซับซ้อนเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ออกแบบจึงตัดสินใจที่จะแยกซีพียูออกเป็นสองตัวเลยดีกว่า

ในช่วงนี้ยังมีข่าวซีพียูแกนคู่แบบประหยัดพลังงาน ออกมาอีก แม้จะเป็นเพียงข่าว แต่ก็น่าติดตามว่าสุดท้ายแล้วซีพียูแบบซิลิกอนนี้จะไปได้ถึงจุดไหน

Get latest news from Blognone