เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ค่าย True ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ True Incube เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการทางเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ถือเป็นค่ายมือถือค่ายที่สามของบ้านเราถัดจาก AIS และ dtac ที่ต่างก็เริ่มสร้างโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการของตัวเอง
การที่ค่ายมือถือใหญ่ทั้งสามของบ้านเราหันมาทำโครงการแนว incubator/accelerator ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก ผมจึงพยายามติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์กับผู้ดูแลโครงการของทั้งสามค่ายเพื่อสอบถามมุมมองและยุทธศาสตร์ต่อโครงการ รวมถึงความเห็นต่อวงการ startup ในบ้านเรา รอบนี้เป็นของ True Incube ก่อนนะครับ ส่วนอีกสองรายที่เหลือจะตามมาในโอกาสต่อๆ ไป
ผู้บริหารของ True ที่ให้ข้อมูลกับผมมีสองท่าน ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการ True Incube โดยตรง
ภาพประกอบทั้งหมดมาจากสไลด์ประกอบการแถลงข่าวเปิดตัว True Incube นะครับ
คำถามแรกสุดที่อยากถามคือ จุดเริ่มต้นของโครงการ True Incube มาจากไหน
จุดเริ่มต้นของโครงการ True Incube มาจากตัวซีอีโอของ True Corporation คือ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ โดยตรง เพราะลูกชายของคุณศุภชัยเรียนและทำ startup อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้เข้าโครงการแนว incubation ที่อเมริกา คุณศุภชัยจึงคุ้นเคยกับโครงการลักษณะนี้และอยากให้เมืองไทยมีบ้าง
นอกจากนี้ตัวผู้บริหารอีกท่านคือคุณปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้อำนวยการของ True Incube ก็เคยมีประสบการณ์ก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ที่ประเทศญี่ปุ่น และประสบความสำเร็จในการขายให้กับบริษัทอื่น จึงมีความเข้าใจกระบวนการของ startup เป็นอย่างดีว่าการหาคนมาร่วมลงทุนนั้นต้องทำอย่างไร
แล้วเป้าหมายของโครงการ Incube คืออะไรกันแน่
เป้าหมายที่เราย้ำเสมอไม่ว่าจะไปพูดที่ไหนมีอยู่ 2 ข้อ คือ
True จะได้อะไรจากโครงการนี้
อย่างแรกเลย True จะลงทุนให้กับทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 5 ทีม ซึ่งถ้าในอนาคตมีทีมไหนสามารถหานักลงทุนรายอื่นๆ มาเพิ่มทุนได้ ตามเงื่อนไขแล้ว True จะได้หุ้นของบริษัทนั้นด้วย (ตามหลักเรื่อง convertible note/bond ที่ใช้เป็นมาตรฐานในวงการ startup ต่างประเทศ) ดังนั้นในแง่การลงทุน True ก็ได้ประโยชน์
แต่นอกจากนี้ True ก็มองว่าถ้าทีมที่บ่มเพาะสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้จริง ธุรกิจทั้งกลุ่ม True ก็ยินดีจะใช้บริการเป็นลูกค้ารายแรก ปัจจุบัน True เป็นบริษัทใหญ่ที่มีงบลงทุนต่อปีเยอะมาก เงินพวกนี้ส่วนใหญ่จ่ายให้บริษัทต่างชาติ ซึ่งเราก็มองว่าน่าเสียดาย ถ้าสามารถจ่ายให้กับบริษัทไทยที่มีฝีมือก็น่าจะดีกว่า
สมมติว่าถ้าทำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ฝั่งของ True Money ก็สนใจลงทุนในนวัตกรรมด้านการเงินอยู่แล้ว
ตอนนี้เรายังไม่เน้นเรื่องการนำผลิตภัณฑ์ของ startup ที่เข้าร่วมโครงการมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการในเครือ True เท่าไรนัก
แต่ก็มีความเสี่ยงว่าเงินที่ลงไปจะไม่ประสบความสำเร็จ?
เราทราบดีว่า 9 ใน 10 ของ startup มักจะล้มเหลว แต่เราก็ยินดีที่จะเสี่ยง
การทำ startup เป็นเรื่องยาก มีความเสี่ยงเยอะ สถานการณ์ของบริษัทจะขึ้นๆ ลงๆ และอย่างที่ทราบกันดีว่า startup เมืองไทยมักทำผลิตภัณฑ์หลักไม่รอด และต้องหันไปรับงานนอกมาเลี้ยงบริษัท ซึ่งก็เบียดบังเวลาและสมาธิจากผลิตภัณฑ์หลักไป กลายเป็นทำไม่ดีทั้งสองด้าน
True อยากให้ช่วงเวลาที่เลวร้ายแบบนั้นลดน้อยลง โดยเราจะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ startup มีเวลาและสมาธิ มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีเยี่ยมเพียงอย่างเดียว ซึ่ง True จะช่วยทุกอย่างทั้งในแง่เงินสนับสนุน สถานที่ทำงาน (Launchpad) ระบบเซิร์ฟเวอร์ (ทั้งของ True เองและ Azure ของไมโครซอฟท์) รวมถึงคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้วย
True เป็นโอเปอเรเตอร์รายสุดท้ายที่เปิดตัวโครงการ Incubator อะไรเป็นจุดขายที่ผู้ประกอบการควรเลือก True
จุดเด่นที่สุดของเราคือไม่มี exclusivity คือผ่านโครงการแล้วไม่มีข้อผูกมัดใดๆ กับ True จะไปขายหรือร่วมทุนกับนักลงทุนอื่นหรือคู่แข่งของเราก็ได้
นอกจากนี้ โครงการ True Incube ต่างไปจากโครงการของบริษัทอื่นๆ ตรงที่เราลงเงินเป็นหุ้นด้วย (seed fund) เรียกว่าลงเรือเราเดียวกับ startup ดังนั้นลงเรือไปแล้วย่อมไม่ทิ้งกัน ต้องช่วยสนับสนุนเต็มที่
ส่วนของการบ่มเพาะและพัฒนาความเชี่ยวชาญ เราจะกำหนดตัว mentor ให้กับแต่ละทีมเลย 1 คนไม่ซ้ำกัน เพื่อป้องกันปัญหาหลายคนพูดไม่เหมือนกันแล้วสับสน และ mentor ของเราเองก็ทำงานกับเราเต็มที่ มีกำหนดช่วงเวลาให้ชัดเจน ไม่ใช่ว่ารับเป็น mentor แล้วจู่ๆ งานยุ่งไม่สนใจ นอกจากนี้ยังมี advisor ที่ไม่ได้มาประจำทีมแต่มาให้คำแนะนำเป็นระยะๆ ซึ่งเราจะเลือกให้ทีหลังโดยพิจารณาจากแนวทางของผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ เช่น ถ้าจะทำเกม เราจะไปหาเซียนทำเกมมาให้คำแนะนำด้วย
สุดท้าย เราเป็นพันธมิตรกับ 500 Startups ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนที่มีชื่อเสียงในซิลิคอนวัลเลย์ บริษัทนี้ลงทุนใน startup มาแล้วเกือบ 1,000 ราย สามารถระดมทุนได้รวมแล้วหลัก 1,000 ล้านดอลลาร์
ระยะยาว True มองการผลักดัน startup ไปสู่ระดับโลก ดังนั้นถ้า startup ที่ผ่านโครงการของเราเจ๋งจริง ก็มีคอนเนคชั่นของ 500 Startups ช่วยผลักดันต่อในระดับโลกด้วย นอกจากนี้เรายังมีพันธมิตรอีกรายคือ Gobi Partners ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ของเอเชียด้วย
ทำไมถึงเลือกเป็นพันธมิตรกับ 500 Startups
เขาเป็นตัวเลือกที่ชัดเจนมาก เพราะถือเป็นนักลงทุน-พัฒนาบริษัทขั้นต้น (accelerator) รายใหญ่ของอเมริกา ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่ราย นอกจากนี้ก็มี Y Combinator ที่ดังไม่แพ้กัน แต่ Y Combinator มีนโยบายชัดเจนว่าจะอยู่แต่ในซิลิคอนวัลเลย์ ไม่ไปที่อื่น
ในขณะที่ 500 Startups ให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีผู้บริหารของบริษัทที่ดูแลการลงทุนในเอเชียเป็นการเฉพาะ และ 60% ของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการมาจากนอกอเมริกา
เงื่อนไขการสมัครเข้าร่วม True Incube มีอะไรบ้าง
รายละเอียดสามารถดูได้จากเว็บ True Incube แต่อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นที่มีคนถามบ่อยๆ ดังนี้
การสมัครเป็นทีม
ออกมาทำ startup แบบเต็มเวลา
รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ
สมมติว่าผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายแล้วจะได้อะไรบ้าง
ได้เงินจาก True เป็นค่ากินอยู่ใช้ชีวิตในช่วง boot camp จำนวนเงินอยู่ระหว่าง 5 แสน-1 ล้านบาท แล้วแต่จะพิจารณาให้ ถือเป็น seed fund ของเรา (ได้ทันที 50% เมื่อเข้า boot camp) และถ้าเป็นทีมที่มาจากต่างจังหวัด เราก็มีค่ากินอยู่ค่ารถให้เป็นกรณีพิเศษด้วย
นอกจากนี้ก็มีเงินรางวัลจาก SIPA ทีมละ 1 แสนบาท เป็นเงินให้เปล่าไม่มีข้อผูกมัด
พอมาเข้าช่วง boot camp เนื้อหาที่สอนในคอร์สส่วนใหญ่นำความรู้มาจาก 500 Startups ก็มีเรื่องการวางแผน โปรแกรมมิ่ง สอนการทดสอบตลาด การหาลูกค้า และในช่วง boot camp ถ้าอยากใช้ resource อะไรในเครือ True เรายินดีช่วยประสานงานให้ เช่น ทำด้าน content อยากได้ content จาก True Visions เราก็ยินดีเชื่อมให้
ใน 5 ทีมเราจะคัดเลือกทีมที่มีศักยภาพ 1 ทีมพาไปทัวร์อเมริกา พาไปทัวร์ออฟฟิศของ 500 Startups, พาไปดูออฟฟิศของบริษัท startup ที่มีชื่อเสียง, และได้นำเสนอ (pitch) โครงการกับนักลงทุนในซิลิคอนวัลเลย์
ซิลิคอนวัลเลย์นี่ต้องมีคอนเนคชั่นพอสมควรถึงจะได้คุยกับนักลงทุนรายใหญ่ โชคดีว่า True มีสำนักงานอยู่ที่อเมริกา ทำเรื่อง international gateway อยู่แล้ว มีคอนเนคชั่นอยู่ที่นู่น รวมถึงคอนเนคชั่นผ่าน 500 Startups ดังนั้นถ้าเจ๋งจริงๆ เราพาออกสู่ตลาดโลก พาไปคุยกับนักลงทุนข้างนอกได้เลย
เงื่อนไขการลงทุนหลังผ่านกระบวนการ Boot Camp เป็นอย่างไร
หลังงาน boot camp จะมีวัน demo day ที่เป็นงานเปิด ทั้ง 5 ทีมจะมานำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อนักลงทุนเต็มห้อง ซึ่งตอนนี้ประกาศโครงการ True Incube ออกไปแล้วมีนักลงทุนจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาเยอะมาก นักลงทุนที่มาวันนั้นน่าจะมีเงินรวมกันเกินพันล้าน (หัวเราะ)
นักลงทุนที่มาแน่ๆ คือ True เอง (True Incube มีส่วนของ Venture Capital อยู่ด้วย) และพันธมิตรของเราคือ 500 Startups และ Gobi Partner สามรายนี้รวมกับ mentor ของเรา (ที่บางคนก็เป็นนักลงทุนอยู่ด้วย) จะได้สิทธิเป็นผู้ลงทุนรอบแรก (first right) มีสิทธิเสนอการลงทุนให้กับทีมก่อน
ถ้าทีมปฏิเสธหรือนักลงทุนกลุ่ม first right ไม่สนใจลงทุนในทีมที่นำเสนอ ก็เป็นช่วงของ second right คือเปิดให้นักลงทุนรายอื่นๆ ติดต่อไปคุยกันเอง อย่างที่บอกไปแล้วว่าเราไม่มี exclusivity
ดูแล้วสิทธิประโยชน์ที่ True ให้ถือว่าใจป้ำมาก
แนวทางของเราคือต้องการได้ทีมที่เจ๋งจริงๆ มาสมัคร ขอให้เจ๋งจริง มีความสามารถและแสดงให้เห็นว่าเจ๋ง เรายินดีสนับสนุนสุดตัว ถ้าติดเงื่อนไขอะไรก็มาคุยกันได้ทีหลัง (หัวเราะ) ดังนั้นใครที่มั่นใจว่ามีความสามารถก็รีบสมัครกันเข้ามา
การเปิด startup ในประเทศไทย น่าจะโดนแรงเสียดสีจากสังคมพอสมควร
อันนี้เป็นปัญหาที่เจอแน่ๆ เช่น พ่อแม่อยากให้ทำงานประจำ เรียนต่อ ไม่ใช่มาเปิดบริษัทเองที่มีความเสี่ยง ซึ่งเราหวังว่าการมีชื่อ True มาร่วมโครงการด้วย สามารถช่วยให้ครอบครัวสบายใจมากขึ้นว่า ไม่ได้เปิดบริษัทเองลำพัง แต่มาร่วมโครงการกับกลุ่ม True ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ มีความมั่นคงกว่า
ตอนนี้มีบางคนออกมาเตือนว่า startup ในไทยกำลังบูมและอาจกลายเป็นฟองสบู่ มองปัญหานี้อย่างไร
ยอมรับว่ากลัวเหมือนกัน กลัวว่าจะเกิดปัญหาแบบอินโดนีเซียในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ที่เงินเข้าไปลงทุนเยอะ แต่ไม่มีบริษัทไหนเกิดได้เป็นจริงเป็นจริง ดังนั้นกรณีของเมืองไทยก็ต้องช่วยๆ กันให้เกิดบริษัทที่เจ๋งจริงๆ
กฎเกณฑ์ของโครงการ Incube ออกแบบมาเน้นให้ startup เก่งๆ เกิดได้ เราก็กลัวเหมือนกันว่าจะไม่มีทีมเก่งจริงๆ มาสมัคร
สมมติว่าสมัครรอบนี้ไม่ทัน (30 มิ.ย.) แผนการในอนาคตเป็นอย่างไร
เราวางแผนจะเปิดรับปีละ 2 รอบ แต่ตอนนี้เอารอบแรกให้เสร็จก่อน ดังนั้นรอบต่อไปกว่าจะเปิดก็คงต้นปีหน้า ใครสนใจก็เตรียมตัวไว้ได้
ทราบมาว่า True Incube มีทั้งโครงการบ่มเพาะบริษัทหน้าใหม่ และการลงทุนในบริษัทที่โตมาระดับหนึ่งแล้ว
True Incube มีสองโหมด
โหมดแรกคือเป็น incubator รับคนที่มีแต่ไอเดีย หรืออาจมีตัวผลิตภัณฑ์ในระดับหนึ่งแล้ว อันนี้คือโครงการที่เราเปิดรับในครั้งนี้
โหมดที่สองคือเป็น venture capital สนใจลงทุนในบริษัทที่เปิดมาสักระยะแล้ว อยากขยายกิจการให้มากขึ้น อันนี้ติดต่อมาคุยได้เลย
ฝั่งที่เป็น venture capital มองหาอะไรในบริษัทที่ลงทุน
สำคัญที่สุดคือสถานะทางการเงิน พื้นฐานต้องแสดงให้เห็นว่า True ลงทุนแล้วจะสร้างรายได้คุ้มค่า และถ้ามีแนวทางธุรกิจสอดคล้องกับธุรกิจใดๆ ในกลุ่ม True เราก็ยินดีลงทุนเพิ่ม เพราะมองว่าดีกว่าเอาเงินจ่ายค่าซอฟต์แวร์ให้ฝรั่ง
Incube มีเงินลงทุน 250 ล้านบาท ไม่มีกรอบเวลาในการลงทุนที่ชัดเจน ปรับตัวตามสภาพการณ์มากกว่า ถ้าผลงานการลงทุนออกมาดีจริง การขออนุมัติงบเพิ่มก็ไม่ใช่เรื่องยากเพราะผู้บริหารของเราสนใจเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว
Comments
คุณมาร์คมี Link สไลด์แชร์ไหมครับ?
เห็น incubator แล้วนึกถึงคิวเบย์ ขึ้นมาทันที
ผมเห็นไอ้สไลด์ "การยอมรับจากสังคม" แล้วฮาหงายเงิบทุกที (ใครทำสตาร์ตอัพแบบม้ามืดจะเข้าใจ T_T) ฝากชมคนทำสไลด์ด้วยครับ ฮ่าๆๆ