หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้สัมภาษณ์ Laszlo Bock รองประธานอาวุโสฝ่ายจัดการบุคคลของกูเกิล ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการรับสมัครงาน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ซึ่งในภาพรวม กูเกิลไม่ได้คัดเลือกคนจากเกรด ผลคะแนนหรือมหาวิทยาลัยที่จบ แต่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของผู้สมัครที่จะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่กูเกิลต้องการ
Bock กล่าวว่าเกรดหรือผลคะแนนต่างๆ นั้นไร้ประโยชน์ที่จะนำมาเป็นเกณฑ์วัดในการรับคนเข้าทำงาน เพราะเกรดแทบไม่สามารถวัดอะไรได้เท่าที่ควร จึงเป็นสาเหตุให้กูเกิลรับคนที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่า Bock ปฏิเสธเกรดหรือการศึกษาเสียทีเดียว เขากล่าวว่าเกรดก็อาจเป็นตัวสะท้อนความสามารถได้อยู่ เช่นด้านคณิตศาสตร์ การคำนวณและการเข้ารหัส แต่กูเกิลก็ยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆ มากกว่า โดยเฉพาะทักษะหรือคุณลักษณะที่เป็นเสมือนคุณลักษณะเฉพาะขององค์กรที่ทุกคนจะต้องมี
คุณลักษณะแรกคือความสามารถในการเรียนรู้ กล่าวคือสามารถทำอะไรที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อนหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ซึ่งทางกูเกิลจะประเมินจากการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรมที่เตรียมคำถามไว้ล่วงหน้า
อย่างที่สองคือความเป็นผู้นำ ไม่ใช่ความเป็นผู้นำทั่วๆ ไป อย่างประธานชมรมต่างๆ แต่สามารถเป็นผู้นำในช่วงที่ทีมกำลังประสบปัญหา สามารถลุกขึ้นมานำและแก้ปัญหา ขณะเดียวกันก็รู้จักยอมให้คนอื่นขึ้นมาเป็นผู้นำเช่นกัน Bock กล่าวว่าเพราะสิ่งที่สำคัญในการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในกูเกิล คือการยอมทิ้งอำนาจของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อสามและสี่คือ ความอ่อนน้อมและความรับผิดชอบ เมื่อคุณกล้าที่จะแสดงความคิดของตนในการแก้ปัญหา ก็ต้องกล้าที่จะถอยออกมา เพื่อรับฟังความคิดที่ดีกว่าของผู้อื่น
ความอ่อนน้อมข้างต้นไม่ใช่แค่แสดงออกว่าเปิดกว้างให้กับความคิดผู้อื่น แต่รวมไปถึงความอ่อนน้อมและยอมรับในข้อผิดพลาด และพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป Bock กล่าวว่าคนที่จบการศึกษาสูงๆ มักจะไม่ค่อยมีข้อนี้ เพราะว่าไม่เคยล้มเหลวหรือผิดพลาด จึงไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาด คิดว่าตัวเองฉลาด ไม่เคยทำอะไรผิด หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็มักจะโทษผู้อื่นหรือสถานการณ์รอบตัว
คุณลักษณะประการสุดท้ายซึ่ง Bock ให้ความสำคัญน้อยที่สุดคือ ทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญ หากจ้างคนสองคน คนหนึ่งเชี่ยวชาญด้านนั้นๆ แต่อีกคนมีเพียงความสามารถที่กล่าวไปข้างต้น เวลามีปัญหาต้องแก้ คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจะสามารถบอกได้ทันทีว่าควรทำอะไรคนที่ไม่เชี่ยวชาญก็สามารถบอกได้ไม่ต่างกัน ซึ่งในหลายๆ ครั้งสามารถให้คำตอบหรือวิธีการที่แปลกใหม่ได้มากกว่าคนที่มีความรู้ ซึ่ง Bock ให้ความสำคัญและคุณค่ากับอย่างหลังมากกว่า
ถึงแม้ว่ากูเกิลจะให้ความสำคัญกับความสามารถอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการศึกษามากกว่า แต่ Bock ก็ยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาอยู่ ในฐานะเป็นเสมือนการฝึกฝนความสามารถด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในหลายๆอาชีพ เพียงแต่การศึกษาไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่าคุณมีความสามารถจริงๆ เพราะสังคมทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับ "คุณสามารถทำอะไรได้จากสิ่งที่คุณรู้" มากกว่า รวมไปถึงให้ความสำคัญกับ soft skills คือความเป็นผู้นำ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสามารถในการประสานงาน การปรับตัวและการชอบที่จะเรียนรู้อยู่เสมอๆ มากกว่า
ที่มา - The New York Times
Comments
มันทะแม่งๆตรง "คุณลักษณะประการสุดท้ายซึ่ง Bock ให้ความสำคัญน้อยที่สุดคือ ทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญ หากจ้างคนสองคน คนหนึ่งเชี่ยวชาญด้านนั้นๆ แต่อีกคนมีเพียงความสามารถที่กล่าวไปข้างต้น เวลามีปัญหาต้องแก้ คนที่มีเป็นผู้เชี่ยวชาญจะสามารถบอกได้ทันทีว่าควรทำอะไรคนที่ไม่เชี่ยวชาญก็สามารถบอกได้ไม่ต่างกัน ซึ่งในหลายๆ ครั้งสามารถให้คำตอบหรือวิธีการที่แปลกใหม่ได้มากกว่าคนที่มีความรู้ ซึ่ง Bock ให้ความสำคัญและคุณค่ากับอย่างหลังมากกว่า"
(=__=)
ความเชี่ยวชาญมันฝึกกันได้ แต่คนที่เชี่ยวชาญมาแล้วจะหัวแข็งมั้งครับ
แต่มาตรฐานคนหลังคงเกินมาตรฐานคนทั่วไปอยู่พอสมควร
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นครับว่า เรื่องการศึกษาและความรู้มีส่วนในการพิจารณา แต่เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย
ตัวอย่างที่ Bock ยกมา ชี้ให้เห็นว่าเจ้าตัวเขาให้ความสำคัญกับวิธีคิดและการหาทางออกที่ไม่ typical และอาจจะเรียกได้ว่านอกกรอบ ของคนที่ไม่จบมหาวิทยาลัยน่ะครับ
น่าจะแบบว่า คนที่เค้าเก่งด้านในด้านหนึ่งแล้ว เค้าจะรู้กรอบ หรือรู้ ข้อดีข้อด้อยของเรื่องนั้นๆ มากเกินไป
จนสร้างกรอบให้กับตัวเอง ทำสิ่งที่แตกต่างไม่ได้ไงครับ แต่คนที่ไม่รู้ถึงกรอบหรือขอบเขต ก็มีโอกาสที่เค้าจะคิดนอกกรอบได้ไงฮ่ะ
คนที่เดินสะเปะสะปะมาเยอะ อาจชี้ทางตรงกับคนที่เดินตรงๆไปเรื่อยๆ
แต่พอเจอเส้นทางแปลกๆ คนที่เดินมั่วซั่วมาอาจมองถูกว่ามันน่าจะมีทางลัดอะไร จากประสบการณ์มั่วๆของตัวเอง
อาจไม่ถึงกับชี้นำคนอื่น แต่ก็เป็นข้อเสนอแนะให้เพิ่มเติมในการประเมินแผนการแก้วิกฤตบางอย่าง
+1
มันคือความคิดสร้างสรรค์ครับ
คนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญ จะหาทางออกที่ไม่ตายตัว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดวิธีการหรือเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นมาได้
แต่คนที่เชียวชาญไม่ใช่ว่าไม่เก่ง แต่เนื่องจากรู้คำตอบอยู่แล้ว ว่าทางนี้แก้ได้แน่ๆ ก็มักจะไม่คิดหาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาครับ
+1 เห็นด้วยครับ
ไหนๆๆ ใบสมัคร
Google อยากให้พนักงานใช้ Mac นะ !!
ใน Google เหมือนจะมีให้เลือกระหว่าง Macbook หรือ ThinkPad นะครับ
ท่อนเจ้าปัญหาที่บอกว่าไม่ต่างกันคือ
‘I’ve seen this 100 times before; here’s what you do.’ ” Most of the time the nonexpert will come up with the same answer, added Bock, “because most of the time it’s not that hard.”
โดยทั่วไป Non Expert ตอบได้เหมือนกับ Expert เพราะโจทย์มันไม่ได้ยาก ดังนั้น คุณสมบัติอื่นๆก็เลยสำคัญกว่า
เกณฑ => เกณฑ์
การคำนวน => การคำนวณ
กระทันหัน => กะทันหัน
ประเมิณ => ประเมิน
ประชมธานชมรม ?
คนที่มีเป็นผู้เชี่ยวชาญ ?
ขอบคุณครับ
อ่านแล้วเจ็บปวด...แต่ก็เป็นความจริง
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ
ได้แนวทางที่จะไปปรับปรุงตัวต่อไป
ผมไม่มีเลย ไอ้ความเป็นผู้นำอะไรเนี่ย
ผมชอบ คำถามเวลาสัมภาษณ์ ของกูเกิลครับ
"ปริญญาตรี" ไอ้เรื่องความรู้ มันแล้วแต่คนจะเก็บเกี่ยว แต่ความหมาย ของมันที่ผมมองคือ หน้าที่,ความรับผิดชอบ รวมถึงการทำให้อะไรบางอย่างพ่อแม่ภูมิใจด้วย ผมว่ามันมีส่วนในการตัดสินของมันอยู่นะครับ / (คห.อีกมุมเท่านั้น)
ต้องเป็นผู้นำแบบนำยิ่งกว่านำเลยสินะเนีย Googleชอบสร้างกฏออกมาให้กำกวมเข้าใจยาก กว้างเข้าไว้ เพื่อไม่ให้ตนเองเสียเปรียบ และก็โยนภาระให้ผู้บริโภคไปถกเถียงกันเอง เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกให้กับพวกตนเองได้ดีจริงๆ
เนื่องจากเป็นบริษัทที่เป็น Innovation company ดังนั้นจึงมุ่งเน้นการคัดเลือกคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ (คิดนอกกรอบ) มากกว่าวัดกันที่ความสามารถที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะแต่เป็นความเชี่ยวชาญในสิ่งที่รู้ๆกันอยู่แล้ว