Tags:
Node Thumbnail

หลังจากกรณีชื่อแอพ Hyperlapse ซ้ำกันบน App Store ที่สร้างความสับสนแม้คุณสมบัติการทำงานของแอพทั้งสองจะไม่ใกล้เคียงกันเลยก็ตาม อีกเรื่องหนึ่งที่มีคนสงสัยคือความสัมพันธ์ระหว่างงานวิจัย Hyperlapse ของทีม Microsoft Research ที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ไม่นาน กับ Hyperlapse ที่ Instagram เปิดตัวตามหลังมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่เพียงแต่ชื่อที่เหมือนกัน แต่การทำงานของทั้งสองฝ่ายนี้คล้ายคลึงกันมาก โดยฝั่งของไมโครซอฟท์นั้นได้พัฒนาอัลกอริทึมเพื่อปรับปรุงวิดีโอให้มีความเสถียรและได้ภาพที่นิ่ง ดูไหลลื่น และเน้นไปที่กล้องประเภทสวมใส่โดยเฉพาะ ขณะที่ฝั่งของ Instagram นั้นสร้างแอพสำหรับถ่ายวิดีโอแบบบีบเวลาที่ให้ภาพได้ค่อนข้างนิ่งและดูไหลลื่นเช่นกัน

และด้วยเหตุที่มีทั้งความเหมือนและความคล้ายนี้ ทำให้มีคนจำนวนมากสอบถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายนี้กับทางทีม Microsoft Research ที่ดูแลโครงการ Hyperlapse จนต้องออกมาชี้แจงครับ

ทางทีมได้แจ้งว่าเทคโนโลยีทั้งสองนี้ถูกพัฒนาแยกจากกัน และทางทีมไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับงานของพวกเขา (ในที่นี้คือ Instagram) จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ซึ่งพวกเขาก็ชอบในความสวยและง่ายของส่วนติดต่อผู้ใช้งานและไอเดียเจ๋งๆ ที่ใช้ไจโรสโคปของอุปกรณ์มาทำให้ real-time stabilization บนโทรศัพท์สามารถเป็นไปได้

ส่วนความแตกต่างทางพื้นฐานระหว่างเทคโนโลยีของพวกเขาและของทีมนั้น Hyperlapse ของ Instagram จะคล้ายกับระบบกันสั่นของวิดีโอที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้การเลื่อนแต่ละเฟรมของวิดีโอไปมาเพื่อกำจัดการสั่นเล็กน้อยของตัวกล้อง โดยที่การทำงานจะไม่เหมือนกับ Adobe After Effects หรือ YouTube ที่อิงอยู่บนการวิเคราะห์ภาพ แต่จะใช้ไจโรสโคปที่อยู่กับตัวกล้องแทนเพื่อประเมินปริมาณการหมุนที่จำเป็นของแต่ละเฟรม และเพื่อหลีกเลี่ยงอาการหลุดขอบ (เลื่อนภาพจนส่วนที่อยู่นอกมุมกล้องเข้ามาในเฟรม) ก็จะซูมภาพเข้าไปเล็กน้อยเพื่อเหลือพื้นที่เผื่อไว้เลื่อนภาพในแต่ละด้านไว้ด้วย

งานนี้ดีสำหรับชุดภาพที่มีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย เช่นการตั้งใจเดินถ่ายภาพบางอย่าง แต่สำหรับสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างกล้องที่ใช้สวมใส่นั้น ผลที่ได้จะออกมาแย่มาก เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่มาก หากต้องการควบคุมภาพให้นิ่งจะทำให้ภาพเกิดอาการหลุดขอบอยู่ตลอดเวลา และหลุดบ่อยจนหลายครั้งหลุดไปเกินศูนย์กลางของภาพ (ดูวิดีโอตัวอย่างได้ที่ที่มา)

ตัวอย่างอาการภาพหลุดขอบ (ซ้าย) และการนำพิกเซลจากเฟรมอื่นมาเติม (ขวา)
No Description

วิธีที่ทีมใช้จะมีพื้นฐานที่ต่างออกไปจากที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ โดยมันจะสร้างเส้นทางของกล้องและโลกจำลองขึ้นมาใหม่ในแบบสามมิติ เพื่อที่จะให้การเคลื่อนที่ของกล้องในมิติของปริภูมิ-เวลาเป็นไปอย่างลื่นไหล ข้ามผ่านส่วนที่ช้าของวิดีโอต้นทางอย่างการหยุดเพื่อรอสัญญาณไฟที่ทางแยกไป และที่สำคัญ วิธีที่ทีมใช้สามารถเติมพื้นที่ส่วนที่หายไปจากอาการหลุดขอบได้ด้วยการรวมพิกเซลจากเฟรมของวิดีโอต้นทางหลายๆ เฟรมเข้าด้วยกัน ทำให้ทีมสามารถจัดการกับวิดีโอต้นทางที่รุนแรงอย่างการไต่หรือการร่อนได้ (ต้นทางใช้คำว่า 'wilder')

สำหรับท่านที่ต้องการรายละเอียดอัลกอริทึมของแต่ละฝ่าย แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมจากข่าว Microsoft Research พัฒนาซอฟต์แวร์ปรับคลิปวิดีโอแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งให้นิ่งและเนียนขึ้น และข่าว Instagram เผยเบื้องหลังซอฟต์แวร์ "กันสั่น" ของแอพ Hyperlapse ครับ

ที่มา: Microsoft Research | First-person Hyperlapse Videos, Microsoft Research | Difference between Microsoft's and Instagram's Hyperlapse

Get latest news from Blognone

Comments

By: adamy
iPhoneAndroidBlackberryUbuntu
on 8 September 2014 - 00:10 #739326

ดีทั้งสองแบบเลยครับ ถ้าเอาของทุกเจ้าที่ทำในโลกมารวมกันแล้วทำตัวจัดการที่จะเลือกวิธีที่เหมาะสมทุกด้านมาใช้คงจะเยี่ยมไม่น้อยเลยครับ : )

ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

By: deargerous
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 8 September 2014 - 00:26 #739328
deargerous's picture

แนะนำapp​ อีกตัวบน​ ​iPhone​ ทำงานหลักานเดียวกัน​กับ​Instagram​ ชื่อ​ dollycam ออกมานานแล้วตั้งแต่ปี​ 2011​ ผมว่าภาพที่ได้ดีกว่า

By: LazarusSP1
ContributoriPhone
on 8 September 2014 - 00:55 #739331

คนจะรู้จัก Hyperlapse ของ Instagram ได้ดีกว่าของ Microsoft เพราะ Microsoft เก็บไว้แต่ใน Lap ไม่ยอมปล่อยมาให้ใช้งานนี่แหละครับ

By: ilakya
AndroidUbuntu
on 8 September 2014 - 02:46 #739334

"กาล-อวกาศ" นี่แปลมาจาก "space time" หรือเปล่าครับ ถ้ายังไงรบกวนตรวจสอบด้วยว่าแปลกันแบบนี้เป็นมาตรฐานหรือเปล่า เท่าที่ผมทราบมา space ใน space time มันหมายถึง พื้นที่ พื้่นที่ว่าง โดยนัยจะหมายถึงตำแหน่ง และไม่ใช่อวกาศแน่นอนครับ เพราะงั้นการแปลว่า กาล-อวกาศ จะทำให้ความหมายผิดไปเยอะ โดยส่วนตัวคิดว่าใช้ทับศัพท์น่าจะดีกว่านะครับ

อธิบายเพิ่มเติม Space Time เป็นคำที่ใช้กันในฟิสิกส์ หมายถึง ตำแหน่งในโลก 3 มิติ ที่อ้างอิงประกอบกับเวลา รวมกันเป็น 4 มิติครับ (อย่างระยะทางวัดเป็นเมตรคือ 1 มิติ พื้นที่วัดเป็นตรารางเมตรคือ 2 มิติ ปริมาตรวัดเป็นลูกบาศก์เมตรคือ 3 มิติ Space Time ก็จะเป็นอีกหน่วยวัดหนึ่งที่เป็น 4 มิติครับ) โดยที่ทาง Microsoft อ้างถึงในบทความนี้ "การเคลื่อนที่ของกล้องในมิติของกาล-อวกาศเป็นไปอย่างลื่นไหล" หมายถึงทำให้กล้องเคลื่อนที่ไปทั้งทาง ระนาบ,ความสูง,ความลึก ในแต่ละห้วงเวลาได้อย่างลื่นใหลครับ

By: ipats
ContributorNOOBIn Love
on 8 September 2014 - 03:07 #739335 Reply to:739334

เข้าใจว่ายังไม่มีศัพท์บัญญัติ (ค้นไม่เจอ)

แต่คำว่า "กาล-อวกาศ" ถูกใช้เป็นความหมายของ space-time มานาน และใช้กันเป็นการทั่วไปอยู่แล้วครับ

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5-%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8

http://www.neutron.rmutphysics.com/physics-glossary/index.php?option=com_content&task=view&id=4713&Itemid=60


iPAtS

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 8 September 2014 - 04:59 #739337 Reply to:739335
mr_tawan's picture

ผมคิดว่าใน context นี้ไม่มีอะไรไปเกี่ยวกับอวกาศนะครับ ? (หรือผมเข้าใจคำว่าอวกาศผิด?)

space ตรงนี้น่าจะหมายถึงพื้นที่มากกว่า


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 8 September 2014 - 08:41 #739345 Reply to:739337
hisoft's picture

อืมมมม ผมเห็นคำว่ากาล-อวกาศจนชินเลยลืมนึกถึงเรื่องนี้ไป ถ้าเป็นคำว่าปริภูมิ-เวลาล่ะครับ? (ผมแก้ใช้คำนี้ไปล่วงหน้าเลยแล้วกัน)

By: YF-01
AndroidUbuntu
on 8 September 2014 - 11:27 #739366 Reply to:739334

ในหนังสือฟิสิกส์แปลไทยเก่าหลายๆเล่มก็ใช้คำว่า กาล-อวกาศ แทน space-time ครับ

เล่มดังๆหน่อย(ที่ผมเคยอ่าน)ก็อย่างจักรวาลในเปลือกนัท(Universe in the nutshell) ที่แปลโดยรศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุลก็ใช้กาล-อวกาศ แต่ถ้าเล่มเก่ากว่านั้นจะใช้กาละ-เทศะ

คาดว่าเล่มใหม่ๆอาจจะใช้คำว่า ปริภูมิ-เวลา แทนแล้วครับ

By: Khow
Windows PhoneAndroid
on 8 September 2014 - 08:11 #739343

space ปกติแปลว่าช่องว่าง หรือที่ว่าง

By: plyteam
iPhone
on 8 September 2014 - 13:39 #739387

ของ MS มีแต่งานวิจัยใน lab เต็มไปหมด ไม่เห็นจะออกมาเป็น product เหมือนชาวบ้านเค้าสักที