Tags:
Node Thumbnail

ต่อจากข่าว รัฐบาลเตรียมเสนอกฎหมาย "กระทรวงดิจิทัล" วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ "กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" แล้ว

  • ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิทัลฯ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ หน้าที่คือวางนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 5 ด้านคือ hard infrastructure, soft infrastructure, server infrastructure, digital economy promotion, digital society and knowledge และตั้งคณะกรรมการเฉพาะในแต่ละด้าน
  • ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแบ่งส่วนราชการใหม่โดยมี 5 หน่วยคือ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ขั้นต่อไป สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างกฎหมายไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามกระบวนการออกกฎหมายครับ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร เสนอ

สาระสำคัญของร่างฯ

1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. .... มีดังนี้

1.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจเป็นรองประธานกรรมการ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในด้านต่าง ๆ ตัวแทนคณะกรรมการบริหารของหน่วยงานของรัฐประเภทองค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับขอบเขตการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลใน 5 ด้าน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงนโยบายและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับหน่วยงานของรัฐได้อย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งมีตัวแทนจากภาคเอกชนและประชาชนเพื่อร่วมให้ความเห็นในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ

1.2 กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการวางนโยบายและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ด้วยการจัดทำแผนระดับชาติว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการวางรากฐานและปัจจัยที่เอื้อหนุนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 5 ด้าน คือ ด้าน Hard Infrastructure ด้าน Sofe Infrastructure ด้าน Service Infrastructure ด้าน Digital Economy Promotion และด้าน Digital Society and Knowledge โดยมีคณะกรรมการเฉพาะด้านทำหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการกลั่นกรอง ติดตาม และประเมินผลการทำงานตามนโยบายของคณะกรรมการอย่างใกล้ชิด

1.3 กำหนดให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน 5 ด้าน คือ ด้าน Hard Infrastructure ด้าน Soft Infrastructure ด้าน Service Infrastructure ด้าน Digital Economy Promotion และด้าน Digital Society and Knowledge ซึ่งมีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการแล้วแต่กรณี และมีตัวแทนคณะกรรมการบริหารและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐประเภทองค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในคณะกรรมการเฉพาะด้านที่หน่วยงานมีภารกิจเกี่ยวข้อง โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกรรมการหรือเลขานุการของคณะกรรมการเฉพาะด้านทุกชุด

1.4 กำหนดกลไกการติดตามและประเมินผลที่มีความเข้มขัน เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานของรัฐสามารถตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามแผนระดับชาติว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำหนดไว้ รวมทั้งดูแลให้ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในแต่ละด้านดำเนินการอย่างเป็นระบบและโครงการแต่ละโครงการที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนดำเนินการจะต้องส่งเสริมการทำงานซึ่งกันและกัน

2. ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.1 กำหนดให้มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีมิติของภารกิจและความรับผิดชอบเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม ซึ่งจะช่วยเน้นย้ำให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้าใจในบทบาทภารกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยิ่งขึ้น

2.2 แบ่งส่วนราชการระดับกรมในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกเป็น 5 ส่วนราชการ ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งจะมีการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการเฉพาะด้านจำนวน 5 ด้าน

ที่มา - สรุปข่าวการประชุม ครม. 16 ธันวาคม 2557

Get latest news from Blognone

Comments

By: psemanssc
Blackberry
on 17 December 2014 - 05:02 #773542

ใครก็ได้อธิบายทีครับว่ามันจะช่วยรากหญ้าที่ไม่ค่อยมีเงินอย่างไรบ้าง ชาวนานั่งเปิดแอพหาราคากลางสินค้า ดูปริมาณนํ้าฝนอย่างนี้อะหรอครับ?

By: zipper
ContributorAndroid
on 17 December 2014 - 16:59 #773802

เห็นคคห.1 แล้วก็เลยลองไปค้นหา ก็ไปเจอเรื่องนี้มาโครงการ Smart Farm ของเนคเทค ไม่รู้ว่าโครงการนี้จะเกี่ยวกับกระทรวงดิจิตอลหรือเปล่า

อันนี้ลิงค์เว็บ http://mangobar.wordpress.com

เจอข่าวเก่าเมื่อ 20 ก.ค. 2012 เกี่ยวกับ Mobile Application in Agriculture

เนคเทคก็มีตั้งโจทย์เกี่ยวกับการใช้งานมือถือกับการเกษตรคร่าวๆ ดังนี้

กรมการข้าว

  • ต้องการโปรแกรมสำหรับโครงการหมู่บ้านลดต้นทุน ที่บันทึกข้อมูลต้นทุนปัจจัยการผลิต การจัดการไร่นา และราคาผลผลิต ของเกษตรกรในโครงการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในเชิงการจัดการภาพรวมของการบริหารต้นทุนการผลิตข้าว
  • โปรแกรมถ่ายภาพศัตรูพืชในนาบนโทรศัพท์มือถือ พร้อมระบบที่จำลองความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยา โรคพืช และวัชพืช ในการแยกแยะประเภท ลักษณะวงจรชีวิต การเข้าทำลาย และความเสียหาย ที่เกษตรกรสามารถได้ข้อมูลพร้อมคำแนะนำในการจัดการในเวลาที่รวดเร็ว
  • โปรแกรมตรวจสอบสภาพอากาศเฉพาะถิ่น เพื่อการเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืชที่อาจเกิดขึ้น หรือใช้ประกอบการตัดสินใจในการจัดการนาด้านการกำหนดวันปลูก หรือเก็บเกี่ยว
  • โปรแกรมบันทึกข้อมูลการจัดการนาประเภท GAP และ อินทรีย์ สำหรับใช้ประกอบในโครงการระบบสอบย้อนกลับ (traceability)
  • โปรแกรม 3D bar code สำหรับบันทึกและตรวจสอบข้อมูลเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน
  • การใช้เทคโนโลยีแสงในการตรวจหาความแตกต่างของพันธุ์ข้าวจากเมล็ดข้าว พัฒนาไปสู่ดูเปอร์เซนต์การปลอมปนของข้าว
  • โปรแกรมการคำนวนสูตรแม่ปุ๋ยบนมือถือ ที่นำค่าการตรวจวัด N-P-K จากนาเป็นข้อมูลนำเข้า สามารถบันทึก log file เพื่อคำนวนอัตราปุ๋ยทั้งหมดได้

สวก. และกรมวิชาการเกษตร
กล้วยไม้และผักเพื่อการส่งออก

  • โปรแกรมการถ่ายภาพต้นกล้วยไม้/ผักบนมือถือเพื่อแยกแยะประเภทของความเสียหายจากโรคหรือแมลง พร้อมคำแนะนำที่จำลองความเชี่ยวชาญจากนักโรคพืชและนักกีฏวิทยา
  • โปรแกรมการคำนวนจำนวนแมลง(เพลี้ยไฟ)ต่อพื้นที่บนมือถือ โดยถ่ายภาพจาก trap มาตรฐานที่ติดตั้งในแปลงปลูกเลี้ยง
  • โปรแกรมสำหรับอ่านค่า micro-climate ในโรงเรือน เพื่อใช้สำหรับการจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้เหมาะสมต่อชนิดของกล้วยไม้/ผัก
  • โปรแกรมบนมือถือที่สามารถตรวจสอบเพลี้ยไฟสำหรับผักเพื่อการส่งออกใน packing house

กรมหม่อนไหม

  • โปรแกรมบันทึกข้อมูล GAP แปลงหม่อน
  • โปรแกรมถ่ายภาพเส้นไหมเพื่อตรวจสอบค่ามาตรฐานสี

กรมส่งเสริมการเกษตร

  • โปรแกรมลงทะเบียนเกษตรกรและบันทึกข้อมูล GAP ของพืชเศรษฐกิจหลัก พร้อม back office ในการประมวลผลข้อมูลและออกรายงานสำหรับการจัดการในระดับ personalize
  • โปรแกรมสำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ในการรายงานสถานการณ์การผลิต เช่น พื้นที่ปลูก พันธุ์ ผลผลิต ความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือศัตรูพืช ข้อมูลจากระบบนี้จะใช้เชื่อมโยงกับระบบแรก
  • e-Extension on mobile ข้อมูลพื้นฐานที่เกษตรกรอยากรู้เพื่อการจัดการไร่นา เป็นข้อมูลในห่วงโซ่การผลิต
  • e-Services on mobile การเชื่อมโยงบริการทางการเกษตรที่สำคัญ

นวัตกรรมบริการปุ๋ยสั่งตัด

  • มีความต้องการโปรแกรมสำหรับบันทึกข้อมูลการวิเคราะห์ธาตุอาหารดิน สูตรการคำนวนแม่ปุ๋ย ร้านค้าแม่ปุ๋ย การจัดการแปลง และการออกรายงาน

อื่นๆ

  • “ถาม…ปราชญ์” โปรแกรมบนมือถือที่ทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน ในการอ้างอิงข้อมูลประสบการณ์ (tacit knowledge) กับ วทน. เพื่อพัฒนาฐานความรู้และฐานคิด ของศูนย์การเรียบนรู้ชุมชนให้เป็นมาตรฐาน และสามารถขยายผลอย่างเป็นระบบได้