งาน WWDC 2015 ที่ผ่านไปเมื่อคืนนี้ อาจมีเสียงสะท้อนกลับมาว่า "ไม่ค่อยมีอะไรมากนัก"
ถ้าวัดจาก "จำนวน" ของใหม่ที่ประกาศในงานก็ถือว่าไม่น้อย เพราะแอปเปิลเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ให้กับสินค้าเดิมเกือบครบทุกตัว ทั้งระบบปฏิบัติการ OS X 10.11 El Capitan, iOS 9, Apple Watch, Apple Pay รวมถึงเปิดตัวบริการใหม่ Apple Music ด้วย
แต่ถ้าวัดจาก "ความสดใหม่" ของฟีเจอร์แต่ละอย่าง เราคงเห็นชัดเจนว่าแอปเปิลเดินตามหลังคู่แข่งแทบจะทุกเรื่องเลยทีเดียว
ต้องยอมรับว่าระบบปฏิบัติการแบบเดสก์ท็อปที่ใช้อินเทอร์เฟซแบบ WIMP (windows, icons, menus, pointer) เริ่มตันมานานแล้ว ในรอบสิบปีที่ผ่านมา เราแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ระดับรากฐานในแง่ UI/UX มีแต่ฟีเจอร์เสริมความสามารถในจุดย่อยๆ ซะมาก
OS X เองก็อยู่ในสภาวะนั้นเช่นกัน ช่วงหลังเราจึงเห็น OS X ไม่ค่อยมีอะไรเพิ่มเติมเข้ามา และหันไปเน้นฟีเจอร์เล็กๆ หรือการรีดประสิทธิภาพ-แก้บั๊กซะเป็นส่วนใหญ่ (ซึ่งก็เป็นเรื่องดีนะครับ แถมอัพเกรดฟรีด้วย) ตรงนี้ถ้าจะพูดให้แฟร์ก็ต้องบอกว่า Windows เองก็ไม่มีอะไรใหม่ในฝั่งเดสก์ท็อปเหมือนกัน ของใหม่ไปอยู่ที่การผสานระบบปฏิบัติการฝั่งอุปกรณ์พกพาเกือบหมด
พอมาถึงรอบ El Capitan ก็อยู่ในสภาวะแบบเดียวกัน ฟีเจอร์ใหญ่ที่สุดของ El Capitan คงหนีไม่พ้น Split View ที่ช่วยให้จัดเรียงแอพ 2 หน้าต่างวางคู่กันได้แบบง่ายดาย
ฟีเจอร์นี้ดีงามสำหรับผู้ใช้แน่นอน แต่ในแง่ความใหม่แล้วคงไม่ใช่ที่แรก เพราะฝั่งไมโครซอฟท์ใช้กันมา 6 ปีแล้ว ตั้งแต่ Windows 7 ในปี 2009 (ภาพจากบล็อก Engineering Windows 7)
ฟีเจอร์อื่นๆ ที่เหลือเป็นฟีเจอร์เล็กๆ ที่คนอื่นมีกันมานานพอสมควรแล้ว เช่น Pin Tab ของ Safari มีใน Chrome/Firefox มานานแล้ว, ฟีเจอร์แสดงสภาพอากาศ-ผลกีฬาก็เป็นการวิ่งไล่หลัง Google Now ที่ทำได้เยอะกว่านี้มาก
อีกประเด็นที่น่าพูดถึงของ OS X คือมาถึงวันนี้เราต้องยอมรับว่า OS X กลายเป็นระบบปฏิบัติการลูกเมียน้อยของแอปเปิลไปซะแล้ว ความสำคัญถูกเทไปที่ iOS เกือบหมด (เอาสัดส่วนรายได้ของ Mac vs iPhone มาเทียบจะเข้าใจเหตุผลได้ไม่ยาก) ในรอบปีหลังๆ เราจึงเห็นฟีเจอร์หลายอย่างเริ่มใช้กับ iOS ก่อนแล้วค่อยพอร์ตมายัง OS X ซึ่งรอบนี้ก็มีทั้ง Metal for Mac และฟีเจอร์ swipe gesture ของแอพ Mail
แอปเปิลเริ่มโชว์ความสามารถของ iOS 9 ด้วย Siri ที่ทำงานได้แม่นยำขึ้น ฉลาดขึ้น หาข้อมูลได้หลากหลายกว่าเดิม มีฟีเจอร์ Proactive Assistant ช่วยคาดเดาความต้องการของผู้ใช้ได้ล่วงหน้า ทั้งหมดเป็นฟีเจอร์ที่ดี แต่ก็ไม่ใช่ของใหม่เพราะ Google Now ทำได้มาตั้งแต่ปี 2012
แอพ Notes เพิ่มความสามารถด้านการจดโน้ตเข้ามาหลายอย่าง ทั้งทำลิสต์ ถ่ายภาพ ใช้นิ้ววาดหน้าจอ แทรกแผนที่ แต่ทั้งหมดไม่ใช่ของใหม่อีกเช่นกัน ถ้าเทียบกับแอพจดโน้ตยอดฮิตอย่าง Evernote หรือ OneNote
สิ่งที่น่าสนใจคือคู่แข่งทั้ง Evernote และ OneNote พยายามผลักดันตัวเองเป็น "แพลตฟอร์มการจดโน้ต" ที่ใช้งานได้ทุกที่ รองรับระบบปฏิบัติการหลากหลาย ทำงานผ่านเว็บได้ด้วย แต่แอปเปิลยังเลือกยุทธศาสตร์เดิมคือสร้างแอพเพื่อสนับสนุนการขายฮาร์ดแวร์ ทำให้ Notes ยังรองรับเฉพาะ iOS และ OS X เท่านั้น แถมยังไม่มีวี่แววว่าจะเปิดกว้างมากกว่านี้
แอพ Apple Maps นี่ไม่ต้องเกริ่นกันเยอะ เพราะฟีเจอร์ Transit ถูกทุกคนนำไปเทียบกับ Google Maps ที่ทำได้มานานแล้ว ถึงแม้จะไม่ใช่ของใหม่เลย มันก็แสดงให้เห็นว่าแอปเปิลยังจริงจังกับ Maps และเน้นพัฒนาเพื่อใช้ทดแทนบริการคู่แข่งตามยุทธศาสตร์เดิม
แอพ Apple News ถือเป็นเซอร์ไพร์สอย่างหนึ่งของงาน แต่ก็ไม่ใช่ของใหม่เช่นกัน แอพอ่านข่าวในท้องตลาดมีมากมายหลากหลาย ที่เด่นๆ และทุกคนนึกถึงเป็นรายแรกคือ Flipboard แต่ก็ยังมี Pulse, Google Play Newsstand, Facebook Paper รวมถึง feed reader อีกจำนวนมหาศาล แอพ Apple News ย่อมช่วยให้ชีวิตของผู้ใช้ iOS (ที่ยังไม่เคยลงแอพอ่านข่าวแบบนี้) ง่ายขึ้น แต่ถ้าผู้ใช้เหล่านี้เลือกใช้แอพอ่านข่าวตัวใดตัวหนึ่งอยู่แล้ว เหตุผลในการเปลี่ยนมาใช้ Apple News ก็คงไม่เยอะนัก
ส่วนฟีเจอร์ Multitasking ที่ใช้ได้เฉพาะบน iPad และเป็นประเด็นพูดถึงกันมาก ในแง่ความใหม่ก็ยังตามหลังทั้ง Windows Snap ที่เริ่มใช้ใน Windows 8 (2012) และแท็บเล็ตสาย Galaxy Tab ที่ซัมซุงเพิ่มเข้ามาให้เอง (อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับ Android Tablet โดยทั่วไป ก็ยังถือว่า iOS 9 นำอยู่นะครับ)
ที่วิจารณ์มายาวขนาดนี้ไม่ได้แปลว่า iOS 9 ไม่มีดีเอาซะเลยนะครับ ในภาพรวมแล้ว พื้นฐานของ iOS 9 ยังแข็งแกร่งมาก (อันเป็นผลจากการลงทุนพัฒนายาวนานหลายปี และอยู่บนฐาน UI ของ iOS 9 กับฟีเจอร์ของ iOS 8 ที่เพิ่งปรับปรุงมา) และแอปเปิลก็ยังเติมเต็มความสามารถของ iOS อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานในระดับที่นักพัฒนาต้องเรียกใช้งาน เพียงแต่ในแง่ฟีเจอร์นั้นไม่มีอะไรใหม่โดดเด้ง ชนิดร้องว้าวและเอาไปคุยได้ว่า "แอปเปิลทำคนแรก" เหมือนกับฟีเจอร์ในอดีตพวก Siri, TouchID, Apple Pay อะไรแบบนั้น
ถึงแม้ปีนี้ WWDC ไม่มีของสดใหม่มาขายชาวโลก แต่ก็ยังมีแนวรบบางด้านที่แอปเปิลเป็นผู้มาถึงตลาดเป็นรายแรกๆ อยู่ด้วย
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Apple Pay ที่ต้องยอมรับกันว่าการบุกเบิกตลาดของแอปเปิลช่วยกระตุ้นวงการ และแอปเปิลนำคู่แข่งไปไกลพอสมควร เพราะทั้ง Android Pay และ Samsung Pay ยังไม่เปิดให้บริการเลยด้วยซ้ำ
สิ่งที่แอปเปิลทำได้และเร่งทำอยู่คือใช้ความได้เปรียบของผู้มาก่อน ช่วงชิงตลาดเป็นของตัวเอง ซึ่งเราก็เห็นแอปเปิลประกาศรายชื่อห้างร้านที่รองรับ Apple Pay อีกมากมาย รวมถึงเริ่มขยายไปยังตลาดนอกสหรัฐบ้างแล้ว
แต่สุดท้ายแล้วความสำเร็จของ Apple Pay ไม่ได้ขึ้นกับว่า Android Pay จะโผล่มาฟาดฟันได้รุนแรงแค่ไหน ปัจจัยชี้ขาดกลับเป็นการยอมรับของตลาดโดยรวม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินในตลาดค้าปลีกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาอีกเยอะ แม้ว่าบริษัทนั้นจะเป็นแอปเปิลก็ตาม
Apple Watch เป็นอีกแนวรบที่แอปเปิลทำได้ค่อนข้างดี ถึงแม้ Apple Watch จะไม่ใช่นาฬิกาอัจฉริยะรายแรก แต่ด้วยแบรนด์ของแอปเปิลก็ทำให้มันสร้างการรับรู้ได้ดีที่สุดในบรรดาสินค้าลักษณะนี้ทั้งหมด (ส่วนเป็นผู้นำตลาดหรือไม่ยังพูดยาก แต่ไม่ใช่อันดับท้ายๆ แน่นอน)
เส้นทางของ Apple Watch ยังอีกยาวไกล (โดยเฉพาะถ้ามองดูเป้าหมายของแอปเปิลที่จะผลัก Apple Watch ไปถล่มนาฬิกาแบบดั้งเดิมทั้งหมด) และยังประเมินได้ยากว่า Apple Watch เรียกได้ว่า "ประสบความสำเร็จ" แล้วหรือยัง แต่รอบปีที่ผ่านมาเราก็เห็นแอปเปิลพยายามปรับปรุง watchOS ของตัวเอง จนขึ้นมาเป็นเวอร์ชันสองได้แล้ว (อ่านข่าว watchOS 2 ประกอบ)
ของใหญ่ที่สุดในงาน WWDC 2015 เมื่อคืนนี้คือบริการเพลงสตรีมมิ่ง Apple Music ที่รอกันมานานหลายปี
ต้องยอมรับว่าแอปเปิลมาช้ากว่าที่ควรไปมากในตลาดนี้ (Spotify เริ่มปี 2006, Rdio เริ่มปี 2010) และอาจพอพูดได้ว่าแอปเปิล "ติดกับ" ความสำเร็จของตัวเองจากการขายเพลงผ่าน iTunes Store ด้วยซ้ำ เมื่อโลกเริ่มหมุนมาทางเพลงแบบสตรีมมิ่ง ความสำเร็จของ iTunes Store อาจเป็นอุปสรรคขวางกั้นให้แอปเปิลปรับตัวตามไม่ทัน
ในแง่ของฟีเจอร์ Apple Music คงไม่ด้อยไปกว่าบริการคู่แข่งที่มีอยู่ล้นตลาดมากนัก แต่ถ้ามองกลับว่า Apple Music มีความโดดเด่นถึงขนาดดึงดูดให้ผู้ใช้ย้ายมาหรือไม่ คำตอบก็คงเป็นคำว่า "ไม่ใช่" อีกเช่นกัน
ตลาดเพลงออนไลน์กำลังกลายเป็น commodity ที่ผู้ให้บริการทุกรายมีคลังเพลงเหมือนๆ กันไปหมด และพยายามสร้างความแตกต่างด้วยฟีเจอร์เฉพาะกลุ่มบางอย่าง เช่น Spotify มีระบบ profile การฟังเพลง, Tidal มีเพลงความละเอียดสูง, Google Play Music มีพ่วง YouTube ฯลฯ แต่ในแง่ของคนทั่วไปที่ต้องการ "แค่ฟังเพลง" บริการแต่ละตัวกลับดูคล้ายๆ กันหมด
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับบริการดูหนังออนไลน์เช่นกัน เราจึงเห็น Netflix, Hulu หรือ Amazon Video พยายามสร้างจุดต่างโดยการลงมาทำซีรีส์เอง (เช่น House of Card) เพื่อเรียกลูกค้า
แต่เมื่อผู้ให้บริการเพลงสตรีมมิ่งยังไม่สามารถผลิตเพลงได้เอง ปัจจัยชี้ขาดจึงกลับไปอยู่ที่ "ราคา" ว่าสุดท้ายใครทำราคาได้ดึงดูดกว่ากัน ซึ่งแอปเปิลในฐานะ "ผู้มาทีหลัง" ก็ลงมาเล่นในเกมนี้ด้วยแพ็กเกจ Family 14.99 ดอลลาร์ จนทำให้ Spotify ต้องขยับตัวตาม (เป็นผลดีกับผู้บริโภคแน่นอน แต่แค่นี้คงไม่พอที่จะช่วยให้แอปเปิลชนะศึกเพลงสตรีมมิ่ง)
แอปเปิลเองก็ทราบดีว่าตัวเองมาทีหลังคู่แข่งหลายปี ทำให้แอปเปิลต้องยอมทำทุกทางที่จะดันให้ Apple Music ประสบความสำเร็จให้จงได้ นอกจากเรื่องราคาที่กล้าทุ่ม (จนสื่อบางเจ้ามองว่าแอปเปิลอาจตั้งราคาแบบยอมขาดทุน) ก็ยังมีเซอร์ไพร์สอีกอย่างคือ Apple Music จะลงแพลตฟอร์ม Windows และ Android ด้วย
ตรงนี้ถือเป็นเรื่องช็อควงการพอสมควร เพราะที่ผ่านมาแอปเปิลไม่เคยเหลียวแลเอาบริการใดๆ ของตัวเองมาอยู่กับ Android สักครั้งเดียว (กลับกันกับกูเกิลที่เอาใจผู้ใช้ iOS มากๆ)
ในอดีตแอปเปิลเคยใช้ยุทธศาสตร์นี้กับ Windows โดยออก QuickTime, iTunes และ Safari เวอร์ชัน Windows ในช่วงที่โปรแกรมเหล่านี้ยังมีฐานผู้ใช้งานไม่เยอะนักบน Mac OS X ของตัวเอง แอปเปิลจึงต้องใช้วิธีขยายไปยังผู้ใช้ Windows ที่มีจำนวนเยอะกว่ามาก (ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ช่วยให้ iTunes Store เกิด) แต่ภายหลังเมื่อแพลตฟอร์มของแอปเปิลมีฐานลูกค้าของตัวเองเยอะพอ เราจึงเห็นแอปเปิลเลิกทำ Safari for Windows ส่วน iTunes ก็ไม่ได้ทุ่มเทให้กับมันมากนัก
เกมรอบนี้ต่างออกไปเพราะปัจจุบันแอปเปิลมีฐานลูกค้า iOS จำนวนมหาศาลอยู่แล้ว (สถิติเมื่อต้นปีคือพันล้านเครื่อง) แต่แอปเปิลยังต้องยอมรองรับ Windows/Android อีก แปลว่าเดิมพันนี้สูงมาก จนแอปเปิลไม่สามารถฝากความหวังไว้กับฐานลูกค้าเดิมของตัวเองได้เพียงอย่างเดียว และต้องยอมขยายบริการของตัวเองไปยังแพลตฟอร์มคู่แข่งด้วย (พูดง่ายๆ ว่ายอมทำ Apple Music บน Android ยังดีกว่าแพ้ Spotify)
ถึงแม้ WWDC 2015 แทบไม่มีของใหม่ชวนว้าวเลย แต่ในภาพรวมแล้ว เรายังเห็นแนวโน้มที่ชัดเจน 2 เรื่องเหมือนเดิม
1) iOS ยังแข็งแกร่ง
ยุทธศาสตร์การผสมผสานฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างลงตัว ยังเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่สุดของแอปเปิล แพลตฟอร์ม iOS โตขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มี "คู่แข่งโดยตรง" รายใดมาหยุดยั้งแอปเปิลลงได้ นักพัฒนาจำนวนมากเลือกสร้างแอพ-บริการลง iOS เป็นอย่างแรก และในหลายกรณี แพลตฟอร์ม iOS ยังสร้างรายได้ให้นักพัฒนามากที่สุด
งาน WWDC 2015 แสดงให้เราเห็นว่าแอปเปิลยังรักษายุทธศาสตร์เดิม นั่นคือทำซอฟต์แวร์ให้ดี ทำแอพของตัวเองให้เด่น เพื่อดึงดูดให้คนมาซื้อฮาร์ดแวร์ ดังนั้นถ้าแอปเปิลจะต้องชนตรงๆ กับ Flipboard หรือ Evernote ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร (สำหรับแอปเปิลเอง) เพราะหน้าที่หลักของแอปเปิลคือขายฮาร์ดแวร์ให้ได้
2) การลงทุนกับแพลตฟอร์มใหม่ยังไม่เห็นผล
ในบทความ บทสรุป Google I/O 2015 - เมื่อกูเกิลเริ่มกระชับวงล้อม ผมเขียนเอาไว้ว่าฝั่งของกูเกิลเองก็ไม่มีอะไรใหม่มากนักในงาน I/O ปี 2015 เมื่อเทียบกับ I/O ปีก่อนๆ
เรื่องนี้เราสามารถนำมาเทียบกับแอปเปิลได้เช่นกัน เพราะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัทต่างขยายพรมแดนของตัวเองไปยังแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น รถยนต์ ทีวี นาฬิกา การจ่ายเงิน สุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ฯลฯ ทำให้งานสัมมนาประจำปีของทั้งคู่ในรอบ 1-2 ปีก่อนมีอะไรน่าตื่นเต้นเยอะ
พอมาถึงปี 2015 เราไม่เห็นการลงทุนในแพลตฟอร์มใหม่อีกแล้ว (มากสุดที่เห็นคือ Project Brillo ของกูเกิลที่ยังแทบไม่มีรายละเอียดใด) เพราะสิ่งที่ควรทำก็ทำไปหมดแล้ว แต่การจะเห็นผลลัพธ์กลับมาคงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง
งาน WWDC ปี 2015 เราจึงเห็นความเคลื่อนไหวของโครงการ HomeKit, HealthKit, CarPlay อยู่บ้างแต่ไม่ใช่ระดับที่หวือหวานัก ตรงนี้คงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปีจึงจะเริ่มเห็นผล และน่าจะยาวไปถึงงาน WWDC หรือ I/O ในปี 2016-2017 ที่มีสภาพการณ์คล้ายๆ กันกับปีนี้ด้วย
จำกันได้ใช่ไหมครับว่า แอปเปิลเริ่มใช้ตัว i นำหน้าผลิตภัณฑ์เมื่อครั้งที่สตีฟ จ็อบส์ กลับมาทำงานเป็นรอบที่สอง จากนั้นเราก็เห็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อ i ออกสู่ตลาดมากมาย เช่น iMac, iBook, iLife, iWork, iPhoto, iPod, iTunes, iPhone, iPad, iOS
สินค้าใหม่ตัวเดียวในยุคของจ็อบส์ที่ไม่ใช่ตัว i นำหน้า น่าจะมีแค่ Apple TV เท่านั้น (แถมเหตุผลคงเป็นเรื่องเครื่องหมายการค้าซะมากกว่า)
แต่สินค้าใหม่ในยุคของทิม คุก เรากลับไม่เห็นการใช้ตัว i อย่างที่เคย ตั้งแต่ Apple Watch, Apple Pay จนมาถึง Apple Music ในงานรอบล่าสุด ฝั่งแอปเปิลเองไม่เคยให้เหตุผลใดๆ ในเรื่องนี้ ตอนนี้เราคงได้แต่คาดเดากันเองว่าเพราะเหตุใดครับ (ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะแบรนด์ Apple นั้นเข้มแข็งมาก การตั้งชื่อสินค้าเลยเปลี่ยนมาใช้คำว่า Apple แทน)
Comments
Apple ไม่เคยทำอะไรใหม่เลย แม้กระทั่งฮาร์ดแวร์เอง แต่เท่าที่ผมสังเกตสิ่งที่ Apple ถนัดและทำมาตลอดคือ เอาความไม่เป็นระเบียบ ของบรรดาเทคโนโลยีมาจัดเสียใหม่และใช้งานได้จริงเมื่อพร้อม อันนี้ยอมรับ
Apple music ได้เปรียบตรงที่มีคลังเพลงมาก เนื่องจากเป็นร้านขายเพลงมาก่อน และมี store world wide แต่ถ้าเป็นเรื่องราคา ถ้าทำได้เท่า Tidal ในไทย ผมเองก็อยากจะลองใช้เหมือนกัน
อ่านแล้วอยากใช้ iOS แต่ก็นะ อยู่กับด๋อยมานานจนฝังราก ไม่อยากเปลี่ยนแปลง
เรื่องนวัตกรรม ทุกวันนี้เข้าใจว่า มันยังต้องอยู่กับสิ่งเดิม ๆ เพราะยัง "ถมไม่เต็ม" ในฝั่ง Apple ยังขาดอะไรที่คู่แข่งมี ก็ถมกันไป ฝั่งด๋อยก็ยังมีอะไรที่อยากทำและยังไม่ได้ดั่งใจ ก็ยังต่อยอดของเก่า มันเลยไม่มีอะไรว๊าว เหมือนกับแค่ทำให้สมบูรณ์อย่างที่ปรารถนาเท่านั้นเอง
ส่วนเรื่อง OSX ไม่ต้องดูไกล อย่าง Ubuntu ที่ใช้อยู่ทุกวี่วัน Unity ที่เป็น UI น้องใหม่กว่าใครเขายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ทั้ง ๆ ที่มันอัพเวอร์ชั่นมาไกลโขแล้ว (แต่ก็รู้สึกดีกว่า Unity แรกใน Natty ล่ะนะ)
อยากใช้ Macbook Air มาก แต่ก็ยังไปไม่ถึงซักที ยังติดบ่วงพอร์ตเยอะ ๆ HDD จุเยอะ ๆ และลง Linux ได้สบายใจ ส่วนเรื่อง iOS คงจะได้ใช้ iPhone ซักวัน คงเป็นวันที่เบื่อกับการแฟลชรอม การแก้ปัญหาเครื่อง เบื่อการเล่นกับ Hardware มากกว่า Software วันนั้นคงจะได้ใช้ iOS (ไม่มี iPad ในหัวสมองจ้า)
เขียนได้โดนครับ นึกถึงสมัยก่อนที่เล่น Windows alpha, beta หรือหลังจากนั้นมาเล่นรอมโมของ WinMo เล่นไป 10รอมก็ยังไม่มีอันที่เสถียรซักที ผ่านมาหลายปีมาหยุดที่ Mac+iPhone นี่แหละ เอากันแบบง่ายๆ นิ่งๆ slow life แบบคนแก่กันไปเลยดีกว่า lol
ทุกวันนี้ที่ใช้แค่ NEXUS กับ iOS ก็เพราะฝันร้ายจากยุคปรุงรอมใช้เองเหมือนกัน....
ไม่รู้ว่าแก่หรือแค่อายุมากขึ้น ตอนนี้ผมไปอยู่ตรงจุดนั้นแล้วครับ ไม่ค่อยสนใจว่าเราจะปรับแต่งอะไรได้แค่ไหน สนใจแค่ว่ามันตอบสนองต่อสิ่งที่เราต้องการจะทำจริงๆ มากแค่ไหน
เห็นด้วยเกือบทุกเรื่องเลยครับ โดยเฉพาะคำว่า "ถมไม่เต็ม" ผมว่าภาพธุรกิจ Apple เด่นในด้านนี้บ้าง คิดเล่นว่าเอาแนวคิดนี้ไปปรับในธุรกิจอื่นคงจะดีไม่น้อย
ใช้ 2 เครื่องสิครับ iphone ก็ซื้อมาลอง
ส่วน mac ก็ซื้อมาใช้ จะได้รู้ไปเลยมันดีรึป่าว เหมาะกับเรามั้ย ไม่งั้นก็ไม่ได้ใช้ซะที
หรือต่อไปคือ Apple Phone
คงไม่ทิ้งแบรนด์ iPhone ง่ายๆมั้งครับ
Ooh
รู้สึกนับวันแอปเปิ้ลเริ่มถอยห่างจากปรัชญามือถือของจ๊อบไปทุกที ตอนจับไอโฟนตัวแรกมือถือมันเหมือนประตูพาไหนก็ได้ของโดเรมอนเลย มันมีอะไรให้ค้นๆได้เป็นวันๆ เดี่ยวนี้ออกรุ่นใหม่ก็วนๆอยู่กับคอนเท้นเดิมๆ
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรอัพเดทเลย
บางที Apple Music for Android อาจไม่เชิงเป็นการ "กันเหนียว" ความสำเร็จของบริการนี้ แต่อาจเป็นการโปรยทางชักชวนคนที่ใช้แพลตฟอร์มอื่นอยู่ ให้เดินเข้าสู่ Apple Device ง่ายขึ้นด้วยนะครับ แม้จะเดินแบบทำเนียนหลงๆ ไปก็ตาม 55 ;D
my blog
ต้องยอมรับก่อนว่าในแง่จำนวน device Android แซงหน้า iOS ไปไกลมากๆๆๆ นะครับ ผมมองว่าเป็นการประกันด้านรายได้มากกว่าดึงคนไปใช้ H/W ของตัวเอง
แต่คนที่จะยอมจ่ายแบบiOSนี่น้อยกว่านะครับผมว่า ตลาดล่างพวกเครื่อง2990ไรแบบนี้ กลุ่มนี้โหลดฟรีเท่านั้นน
ไม่เสมอไปหรอกครับ มันขึ้นกับผู้ใช้มากกว่า ไม่ใช่ราคาอุปกรณ์ ผมใช้ Zenfone 4 ราคา 2,990 บาทยังซื้อแอพแท้ใช้เลยครับ ส่วนบริการสตรีมเพลงหรือหนังอยากใช้ แต่ไม่ได้ใช้เพราะไม่มีบริการไหนใช้ได้ที่ประเทศผม
ก็คงอย่างที่คุณว่ามา แต่ผมเข้าใจว่าคนที่ใช้งานแบบคุณคือคนส่วนน้อยครับ
...เข้าใจว่า...
ถ้ามีแหล่งข้อมูลข้อมูลที่อ้างอิงได้แบ่งแยกการใช้จ่ายของมือถือแต่ละระดับราคามาอ้างผมก็ยินดีรับฟังครับ
Note นี้นับเฉพาะ APP สินะครับ เพราะเอาจริงๆ ผมก็ใช้ผ่านเบราว์เซอร์บน Windows เป็นหลัก มากกว่าพิมพ์บน App ตรงๆ ซะอีก
อยากได้ native docker บน OS X
Split View สาวกแอปเปิ้ลตื่นเต้นมาก 555
เว็บสาวกอวยกันไส้แหกเลยทีเดียว
ถ้ายังไม่มีคงโดนบ่นไปอีกนาน
มันมีมานาน จนผมเข้าใจไปว่า "ใครๆ ก็มีกัน"
รอบๆ ตัวผมโดยมากยังใช้ฟังก์ชั่นนี้ไม่เป็นเลยครับ ต้องมานั่ง ยืด/หดหน้าต่างเพื่อให้มันไม่บังกัน
คนขี้ลืม | คนบ้าเกม | คนเหงาๆ
จริง เพราะตอนใช้ OS X รำคาญมาก ทำไมไม่มี = = จำได้ว่าใช้มาตั้งแต่ Windows 7
ตอนใช้ OS X บางทีก็ให้ความรู้สึกว่ากำลังใช้ Windows XP อยู่ - - บางอย่างก็โบร๊านโบราณ
แต่โดยรวมก็อยากใช้ OS X มากกว่าแหะ ไม่รู้ทำไม @_@
ผมรู้สึกดีกับการที่ตัดตัว i ออกจากชื่อผลิตภันฑ์ใหม่ๆ นะ เพราะตอนนี้ถ้ายังตั้งชื่อโดยใช้ตัว i นำหน้าต่อไปมันจะรู้สึกเฉิ่มมากกว่าที่จะดูทันสมัย
เคยอ่านเจอครับว่า ตัว i มันหมายถึง internet เพื่อบ่งบอกว่าเครื่องที่ใช้กับอินเตอร์เน็ต หลังจากนั้น imac ก้ออกมา แต่จ้อปส์ก้ไม่ชอบชื่อ imac จะตั้งว่า macman แต่คนตั้งชื่อขอให้ลองดู
macman ชื่อนี้ศาสดาได้มาจากbatman แน่555
หรือว่านี่เป็นสัญญาณของการล่มส…
เป็น version ที่หันกลับมาทบทวนตัวเอง
Apple อัพเดท iOS รอบนี้ ถูกใจอยู่เรื่องเดียวคือได้ชั่วโมงแบตเพิ่ม ที่เหลือเหมือนแค่เสริมความแข็งแกร่งอย่างเดียว
อย่างนิงที่ตอนแรกผมว่าถึงเวลาแล้วละแต่สุดท้ายก็ยั่งไม่มาคือ Siri ใน Mac
ต่อให้ Cortana ก่อน
คนขี้ลืม | คนบ้าเกม | คนเหงาๆ
จริงๆ คือ ไม่ควรจะพูดเพราะยังไม่ใช่ Public Beta แต่ขอพูดหน่อยละกันครับ
Mac OS X El' Capitan เพิ่มระบบความปลอดภัยเข้มขึ้นมาก และ User อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงค่า Permission ของ file ระบบของ Mac OS X ได้อีกต่อไป เท่าที่เจอตอนนี้คือ /System/Library/Extensions
ซึ่งแต่เดิม Yosemite User ยังสามารถ แก้ไขค่า Permission ได้ แต่ El' Capitan User จะทำการแก้ไขค่า Permission ของ file ที่มากับ Mac OS X ไม่ได้ เพราะเหตุนี้ Disk Utility จึงไม่มี Permission Repiar มาให้
นั่นยังรวมถึง เราไม่สามารถ แก้ไข ดัดแปลง Kernel Extensions ที่มากับ Mac OS X ได้ ซึ่งหมายความว่า Apple กำลังเพิ่มความปลอดภัยสูงยิ่งขึ้น และ hackintosh จะติดตั้งใช้งาน และ เจาะ Mac OS X ยากขึ้น
แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้
Opensource - Hackintosh - Graphic Design - Scriptkiddie - Xenlism Project
เหมือน patch แก้ bug มากกว่า new version นะครับ
แต่อัพเดทที่ผมชอบที่สุดใน iOS 9 คือ
Wallpaper ใหม่
ถ้าไม่มีทางไปในเรื่องฟีเจอร์แล้วจริงๆแก้บักต่อได้ครับเพราะเยอะมากมายเหลือเกิน
android pay เป็นภาคต่อของ google wallet ที่มาก่อน apple pay นะครับ
samsung ใหญ่แค่ใหน ?
https://youtu.be/6Afpey7Eldo
ผมว่าคำว่าAppleนำหน้าผลิตภัณฑ์ตัวเองดูเท่ห์กส่าใข้ iนำหน้าอีก
iOS 9 Release Set for Fall with Many New Features & Improvements - See more at: http://osxdaily.com/2015/06/08/ios-9-features-improvements-release-fall/#sthash.O7CuH4kB.dpuf
ผมว่า mk เขียนบทความ bias นะ บางประเด็นก็แค่แปลๆมาแต่ไม่รู้จริง
ถ้าเก่งแค่แปลไม่น่าเอาบทความขึ้นเป็น featured เลย เนื้อหาไม่แตกต่างจากข่าวทั่วๆไป
เรื่อง bias นี่วิจารณ์กันได้นะครับ (คุณไม่มี bias?)
แต่ผมเขียนเองทั้งหมด 100% จากการนั่งย้อนดู Keynote ครับ ไม่ได้แปลมาแน่นอน
ไหนต้นทางที่คุณบอกว่าเค้าแปลมาละครับ ผมอ่านแล้วยังไม่ตรงกับเว็บต่างประเทศเว็บไหนเลย
ผมว่าก็เขียนโอเคนะ อะไรว่าดีก็ว่าดี อะไรที่เทียบกับเจ้าอื่นแล้วไม่ดีก็เขียนตามนั้น
เดี๋ยวๆ ใจเย็นๆก่อนครับ เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ ผมว่าเค้าน่าจะออกความเห็นประมาณว่า ถ้าแปลๆมาจาก keynote ไม่ได้ลองใช้เองไม่น่าจะเขียนแบบนี้ แนวๆนี้มั้งครับไม่ได้หมายถึงว่าคุณ mk ไปก๊อปบทความใครมา
อันนี้ผมพูดถึงว่าตีความเฉพาะที่เค้าออกความเห็นนะ ผมไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเค้า
ไม่ถูกใจก็แค่บอกว่าไม่ถูกใจ bias ยังไงมีทุกคนอยู่แล้ว และนโยบายของเว็บนี้คือความไม่เป็นกลาง อยากได้ข่าวแบบไหนก็เขียนเอง จบ
ปล.จริงๆ ผมก็ไม่ถูกใจบทความนี้เท่าไหร่ เขียนดีนั่นแหละ แต่น่าจะเอาหัวข้อแบบใน Gizmodo ไปเลย แบบนี้ถนอมน้ำใจสาวกกันเกินไป :v
รอดู
บ่นกันจัง