วันนี้ (21 ส.ค.) ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ "หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz" เรียบร้อยแล้ว โดยจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ขั้นตอนต่อไปของการประมูลความถี่ย่าน 1800MHz ที่ค้างคากันมานานคือ กสทช. จะประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลในวันที่ 28 ส.ค. และเริ่มเปิดรับซองวันที่ 30 ก.ย.
สรุปเงื่อนไขการประมูลคลื่นดังนี้
กสทช. ผ่านหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz เน้นประโยชน์ประชาชนและรัฐเป็นหลัก
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (21 ส.ค. 2558) ที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษมีมติเห็นชอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 MHz หรือ ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และจะเริ่มประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 28 ส.ค. 2558 และจะเปิดรับซองในวันที่ 30 ก.ย. 2558
สำหรับสาระสำคัญหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ภายหลักจากที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปแล้ว มีดังนี้
1.อายุของใบอนุญาตจากเดิมที่มีอายุ 19 ปี ปรับเหลือ 18 ปี โดยจะสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตในปี 2576 เพื่อให้สอดคล้องกับใบอนุญาตที่จากคลื่นที่จะได้คืนกลับมาภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561 ที่จะกำหนดอายุใบอนุญาต 15 ปี จะได้สิ้นสุดอายุการอนุญาตพร้อมกัน
2.ราคามูลค่าคลื่นความถี่ยังคงไว้เท่าเดิมที่ 19,890 ล้านบาท
3.ราคาเริ่มต้นการประมูลที่กำหนดไว้เดิม 70% เปลี่ยนแปลงเป็น 80% คือกำหนดไว้ที่ราคา 15,912 ล้านบาท
4.หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นจะเป็น 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ และในการประมูลจะต้องมีการเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง
5.เมื่อเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และต้องมีแพ็คเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
6.ผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีการกำกับดูแลคุณภาพของการให้บริการด้วย โดยคุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพการให้บริการเฉลี่ยของการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
7.ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 40% ภายใน 4 ปี และเพื่อเป็นการประกันการใช้งานคลื่นความถี่และให้มีการกระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 8 ปี
8.ไม่มีการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (Overall Spectrum Cap) แล้ว
9.ในเงื่อนไขของการประมูลหากกระบวนการคืนคลื่นความถี่ของ CAT หรือ DTAC คืนกลับมาไม่ทันสำนักงาน กสทช. จะประมูลคลื่นคลื่นความถี่ด้วยคลื่นความถี่ขนาด 12.5 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตต่อไป“ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. ในครั้งนี้ เป็นร่างที่สร้างดุลยภาพในการใช้คลื่นความถี่ การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เน้นผลประโยชน์รัฐ และคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก” นายฐากร กล่าว
Comments
100% ของ 19,890 บาท --> 19,890 ล้านบาท
หุๆ ตั้งราคาซะรู้เลย...ตอนมีเจ้านึงไม่ค่อยมีเงิน เลยลดราคาประมูล2100 พอตอนนี้มีเจ้านึงไม่อยากได้แล้ว เลยปั่นราคาประมูลไปแพง คู่แข่งที่ยังอยากได้จะจ่ายแพงๆ?
ป.ล. มีอีกข่าวนึง กสทช.พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้ม.44สั่งเลื่อนประมูล เพื่อไปประมูลรวมกับคลื่นอื่นๆที่จะยึดคืนจากราชการอีก.....
มีคนไม่อยากได้ด้วยเหรอครับ วิเคราะห์ให้ฟังหน่อยครับ
A smooth sea never made a skillful sailor.
นั่นสิครับมีใครไม่อยากได้เหรอครับ ชักสงสัย?
ส่วนเรื่องราคาพอเข้าใจอยู่ว่าตอนคลื่น 2100 ราคามันเหมือนแบ่งกันอยู่แล้วซึ่งทำให้ดูราคาถูกไป
แต่ครั้งนี้ผมว่าเค้าก็มีการปรับปรุงได้ดีขึ้นในเรื่องการตั้งราคาและจำนวนคลื่นความถี่ที่ประมูลก็น่าจะถูกต้องแล้วนี่ครับ หรือควรจะปรับราคาให้ไกล้เคียงกับครั้งที่แล้วเหรอครับ?
เอางี้ครับ ลองไล่ลำดับเหตุการณ์ก่อน บางเรื่องเป็นแค่ความฝันของผมนะครับ อย่าเอาจริงเอาจังมาก
ตอน2100 รอบแรก มีข่าวออกมาว่าขั้นต่ำใบละสองหมื่นล้าน ประมูล n-1 คือมีสามเจ้า แต่จะประมูลแค่สองใบ แล้วมีข่าวว่าสองเจ้าใหญ่เงินสดพร้อมแล้ว แต่อีกเจ้านึงยังระดมเงินสดไม่ทัน และสุดท้ายก็โดนฟ้องล้มประมูล ส่วนเจ้าที่มีข่าวว่ามีเงินสดไม่พอ ได้คลื่น3G คลื่นพิเศษไปก่อนใคร ด้วยเงินเพียงแค่6พันล้าน
พอประมูลรอบสองหลังผ่านไปเกือบสองปี(เพราะต้องรอกสทช.ชุดใหม่ ส่วนคดีความที่ฟ้องล้ม ก็โดนยกไปซะงั้น) ตอนแรกเจ้าใหญ่เจ้านึงประกาศมาเลย ว่าต้องการ20MHz เจ้านึงบอกอยากได้ 15MHz ซึ่งจะมีผลทำให้คลื่นเหลือแค่ 5MHz สำหรับเจ้าเล็กที่น่าจะมีเงินสดไปประมูลน้อยกว่า ซึ่งมันน้อยมาก ก็มีเรื่องเล่าลืออกมาอีกว่า มีการต่อรองว่าจะลดราคาให้ แต่ให้แบ่งกัน ไม่งั้นอาจโดนล้มอีกรอบโดยเปลี่ยนกฎการประมูลเป็นตามslotแทน(ไม่ได้จำกัดจำนวนเหมือนรอบแรก) สุดท้ายเลยจับมือประมูลเหมือนต้มคนดู ราคาแค่slotละไม่ถึงห้าพันล้าน ได้ไปคนละ15MHzเท่าๆกัน โดยที่เจ้าใหญ่ก็อ้อมแอ้มกลับคำพูดว่าได้แค่15MHzก็เพียงพอแล้ว(แล้วที่บอกว่าตอนแรกอยากได้20ไม่ใช่เหรอ?)
พอรอบนี้ 900 1800 จะมีเจ้านึงที่มีคลื่นในมือหลากหลายกว่าใคร เลยออกอาการไม่ค่อยอยากได้ เพราะล้นมือแล้ว เลยมีข่าวว่าไปล๊อบบี้ถ่วงการประมูลเพื่อให้ตัวเองได้โฆษณา 4G นานกว่าใคร(เพราะคนอื่นคลื่นไม่เหลือ และเหลือระยะเวลาสัมปทานไม่มากไม่คุ้มที่จะทำ) ก็เลยชักเป็นห่วง ว่าจะมีการล้มอีกไหม ยิ่งกสทช.บางคนให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการใช้ม.44 เพื่อหยุดการประมูล แถมตั้งราคาเริ่มต้นสูงกว่าทุกครั้ง ยิ่งทำให้คิดมากครับ
แต่สุดท้ายผมว่าก็คงตกลงกันได้นั่นแหละ หวังว่าที่ผมคิดเป็นแค่ฝันไปจริงๆ
ประมูลได้เจ้าละกี่ใบครับ
อยู่ในหัวข้อข่าวและเนื้อข่าวครับ พยายามอ่านหน่อยนะครับ คนเขียนข่าวเขาเสียใจแย่เลย
ท่านหมายถึงข้อ "8.ไม่มีการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (Overall Spectrum Cap) แล้ว" หรือเปล่าครับ คือผมกำลังงงอยู่ว่า Spectrum Cap นี้หมายถึงแต่ละเจ้าสามารถบิดราคาได้มากกว่า 1 ใบอนุญาติใช้ไรือไม่? หรือการประมูลครั้งนี้ให้แค่เจ้าละใบเหมือนเดิม
อยากให้เพิ่มอีกข้อคือห้ามเอาไปทำ 2G ทั้ง 1800 และ 900
จะเอากลับไปใช้ 2G ก็ได้ อันนั้นถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่แน่นอนว่าถ้าเอากลับไปทำ 2G มันจะคุ้มไหมมากกว่า
ถ้าเป็นปัก่อน AIS เคยบอกว่าอยากได้คลื่น 900 กลับไปทำ2G เพราะยังมีตลาดตจว.ที่ต้องการอยู่ครับ(ส่วน1800 จะไปทำ4G) แต่พอเลื่อนการประมูลมาปีกว่าแบบนี้ ไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนแผนการตามสภาพตลาดและเทคโนโลยีหรือไม่