ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Techsauce จัดงานสัมมนาด้านสตาร์ตอัพ Start it Up ซึ่งผมได้เข้าร่วมด้วย หัวข้อที่ได้เข้าฟังคือ Think like Silicon Valley and how to apply with Thai startups โดยมีวิทยากร 3 ท่านที่เคยมีประสบการณ์ในซิลิคอนวัลเลย์มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ดังนี้
- คุณปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย (แชมป์) ตำแหน่ง Business Manager ที่บริษัท 99 designs สตาร์ตอัพด้านตลาดงานกราฟิกในซานฟรานซิสโก และเคยมีประสบการณ์เป็นนักลงทุน angel investor ด้วย
- คุณศิระ สัจจินานนท์ (ฮันต์) ตำแหน่ง CTO ของ Jitta สตาร์ตอัพด้านการเงินที่กำลังมาแรง เคยมีประสบการณ์ไป "ฝึกวิชา" ที่สหรัฐอเมริกาหลายรอบ
- คุณกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Eko สตาร์ตอัพด้านระบบส่งข้อความในองค์กร
ภาพจาก Facebook Techsauce
ประเด็นการเสวนาของวิทยากรแต่ละท่านมีดังนี้
คุณปุณยธร
- ในสหรัฐอเมริกา ไอเดียไม่มีค่าอะไรเลย idea is cheap ใครๆ ก็คิดได้ ทุกคนที่นั่นล้วนแต่มีโครงการของตัวเอง สิ่งที่ดีคือทุกคนพยายามเรียนรู้เรื่องที่อยู่นอกสายงานของตัวเอง
- ในฐานะนักลงทุน เวลามีสตาร์ตอัพมานำเสนอ (pitch) สิ่งที่ถามกลับไปทุกครั้งคือ คุณคุยกับลูกค้าจริงๆ มาครบ 100 คนหรือยัง เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าคนยุคนี้ตัดสินใจซื้อของตามอารมณ์ (emotional) ไม่ใช่ตรรกะ (logical) ดังนั้นต้องคุยกับลูกค้า สัมผัสลูกค้าเยอะๆ ถึงจะรู้ว่าลูกค้าเป็นอย่างไร
- สตาร์ตอัพมักคิดว่าการระดมทุน (fundraising) เป็นเรื่องไม่ยาก แต่จริงๆ มันซับซ้อน เพราะในฐานะสตาร์ตอัพ เราไม่ได้ต้องการแค่เงินทุน แต่เราต้องการ smart money ต้องมาทั้งเงินทุนและคอนเนคชั่น
- การระดมทุนแต่ละรอบ ส่งผลถึงการระดมทุนรอบถัดไป ซึ่งสตาร์ตอัพมักไม่ค่อยคิดเรื่องรอบต่อไป ถ้าเงื่อนไขการระดมทุนรอบนี้ไม่ดี เช่น จัดหุ้นไม่เหมาะสม นักลงทุนในรอบหน้าก็จะไม่อยากลง อนาคตจะลำบาก
- อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักลงทุน สิ่งที่กลัวที่สุดคือผู้ก่อตั้งถอดใจแล้วเลิกทำ
- ถ้าอยากไปซิลิคอนวัลเลย์ ขอให้ทำการบ้านมาก่อนว่าควรไปคุยกับใครที่โน่นบ้างถึงจะเป็นประโยชน์กับเรา จากนั้นก็เมลมานัด เมลมานำเสนอก่อน เพราะถ้ามาเฉยๆ ไม่วางแผนอะไรล่วงหน้า มันก็เหมือนแค่มาเที่ยว เสียเวลาเปล่า ถ้ามาแล้วขอให้ได้ประโยชน์กลับไป
คุณศิระ
- ในฐานะคนที่อยู่เมืองไทยมาตลอด สิ่งที่พบที่โน่นคือวัฒนธรรมที่เปิดกว้างมาก ให้ค่ากับความฝันมาก อยู่เมืองไทย ความฝันของเรามันด้อยค่า อยู่ที่โน่น ทุกคนให้ค่ากับการลุกขึ้นสู้ ผมไปขี่จักรยานแล้วล้มกลางสี่แยก ทุกคนที่อยู่แถวนั้นตะโกนให้กำลังใจเรา บอกให้เราลุกขึ้นมาขี่ต่อ สิ่งแบบนี้ไม่เคยเจอที่เมืองไทย
- เรามักได้ยินคำว่า fail fast ขอให้ล้มเร็ว จริงๆ มันมีความหมายแฝงคือกระตุ้นให้คนกล้าทำ รู้จักเรียนรู้ให้เร็ว สร้าง feedback loop ให้กลับมาอยู่ในวงจรที่เหมาะสม อันนี้สำคัญมาก ต้องสร้าง feedback loop ให้ได้
- อีกประเด็นที่สังเกตพบคือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย ถ้าถนัดเครื่องมืออะไรแล้วจะพยายามใช้มันแก้ปัญหาทุกๆ อย่าง แต่ไม่เข้าใจพื้นฐานและที่มาที่ไปของมันว่าเครื่องมือนั้นเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร ผลคือใช้เครื่องมือไม่ถูกกับงาน
- ปัญหาสำคัญของคนไทยยังเป็นเรื่องภาษา เราต้องข้ามกำแพงภาษาให้ได้ก่อน
คุณกรวัฒน์
- ในสายตาของคุณกรวัฒน์ที่จบการศึกษาตั้งแต่ไฮสกูลจากอเมริกา ส่วนตัวแล้วมองว่าโอกาสไม่ได้อยู่ที่อเมริกา แต่กลับอยู่ที่เอเชียต่างหาก
- ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของ mobile สูงมาก เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเดียวกันในเอเชีย แต่ในโลกตะวันตก คนมีคอมพิวเตอร์ใช้ก่อน mobile ดังนั้นอัตราการใช้งาน mobile จะไม่เยอะเท่ากับเอเชีย ดังนั้นจึงมองว่าโอกาสธุรกิจอยู่ที่เอเชียเยอะกว่า
- วัฒนธรรมที่ดีของฝรั่งคือชอบเถียง ไม่ได้เถียงเพื่อเอาชนะกันส่วนตัว แต่แสดงออกความคิดที่เห็นว่าดีและเป็นประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด ในขณะที่คนไทยยังมีระบบอาวุโสอยู่เยอะ เวลาจ้างงานคนไทยจึงอยากส่งเสริมเรื่องการนำเสนอไอเดียกันให้มากๆ
- ขอให้เลิกคิดเรื่องการก็อปปี้แนวคิดธุรกิจจากอเมริกามาใช้กับเมืองไทย พวกที่บอกว่า "เราคือ x ของอาเซียน/ไทย" มันคับแคบเกินไป ขอให้คิดถึงระดับโลกตั้งแต่แรก มองเป้าแข่งกันในระดับโลกตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่ก็อปปี้โมเดลต่างประเทศแล้วมาใช้กับแค่เมืองไทย
- มุมมองของนักลงทุนระดับโลก มักไม่สนใจลงทุนกับสตาร์ตอัพไทยด้วยเหตุผลข้างต้น คือมองแค่เมืองไทย อย่างบริษัท Eko ได้รับเงินลงทุนมา เพราะ pitch กับนักลงทุนว่าจะลุยตลาดจีนให้จงได้
- วิศวกรระดับโลกล้วนอยากมาเมืองไทยด้วยกันทั้งนั้น ทุกคนได้ยินคนพูดถึงเมืองไทยในแง่ดีมาเยอะ ถ้าดึงทรัพยากรตรงนี้มาได้จะเกิดประโยชน์มาก
- ถ้าจะลองไปอยู่ซิลิคอนวัลเลย์ แนะนำให้เข้าโครงการบ่มเพาะพวก accelerator จะได้ประโยชน์มาก ถ้าได้เข้าโครงการดังๆ อย่าง Y Combinator จะยิ่งดี
Comments
รายงานตัวครับ ช่วงนี้ชอบมากนั่งด้านซ้าย งานนี้ได้แง่คิดมาเยอะ เดินทางจากเวียงจันทน์ไปกรุงเทพครั้งนี้ถือว่าคุ้ม
ສະບາຍດີ :)