สมาชิก Blognone คงคุ้นเคยกับสำนักพิมพ์โปรวิชั่น (Provision) ที่มีผลงานหนังสือ-ตำราทางด้านคอมพิวเตอร์มายาวนาน (โดยเฉพาะหนังสือ Windows XP ในตำนานเล่มนั้น)
ผมมีโอกาสฟัง คุณวศิน เพิ่มทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรวิชั่น จำกัด บรรยายเรื่องอนาคตของสิ่งพิมพ์ เลยสรุปประเด็นมาฝาก ทั้งในแง่ผลงานที่ผ่านมาของโปรวิชั่น และธุรกิจสื่อในอนาคตครับ
คุณวศิน เพิ่มทรัพย์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัท โปรวิชั่น จำกัด
โปรวิชั่นก่อตั้งมายาวนานมาก (ค.ศ. 1991 หรือ 25 ปีมาแล้ว) ที่มาของชื่อคือ Professional’s Vision ส่วนวิสัยทัศน์ขององค์กรมองว่าต้องสร้างเนื้อหาคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ ภายหลังสำนักพิมพ์แตกลูกมาทำหนังสือด้านท่องเที่ยวชื่อ DPlus Guide ที่หลายคนอาจเคยเห็นกันตามร้านหนังสือมาบ้าง (โดยเฉพาะหนังสือเที่ยวญี่ปุ่นที่ขายดีในช่วงนี้)
โปรวิชั่นยังมีธุรกิจข้างเคียงอื่นๆ คือบริษัทพัฒนาแอพและดิจิทัลคอนเทนต์ รวมถึงโปรแกรมบัญชี-สต๊อกสำหรับ SME ชื่อมิลเลนเนียม
ผลงานของโปรวิชั่นมีมากมาย (พิมพ์หนังสือทั้งหมดเกิน 10 ล้านเล่มแล้ว O-O) แต่ที่โดดเด่นเป็นตำนาน และคิดว่าหลายคนน่าจะยังจำกันได้คือ Windows XP สี่สีเล่มสีแดงๆ ที่พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง เนื่องจากเป็นเนื้อหาสี่สีทั้งเล่ม แถมยังมีแผ่นดีวีดีแถมมาด้วย ทั้งหมดขายในราคา 199 บาท ถูกกว่าหนังสือขาวดำด้วยซ้ำ
คุณวศินบอกว่ายอดขายของหนังสือ Windows XP เล่มนี้สูงถึง 500,000 เล่ม ผมฟังแล้วก็ตะลึงไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ครับ ก็ต้องคารวะให้โปรวิชั่นที่สามารถสร้างนวัตกรรม พิมพ์หนังสือสี่สี เนื้อหาคุณภาพ ในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ และตลาดก็ตอบสนองเป็นอย่างดี
ส่วน DPlus Guide เป็นหนังสือท่องเที่ยวที่เน้นการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา เอเชีย แต่ที่เยอะหน่อยย่อมเป็นญี่ปุ่นที่มาแรงแซงโค้งทุกประเทศในช่วงหลัง คุณวศินเล่าว่าในยุคที่หนังสือคอมพิวเตอร์เริ่มขายได้น้อยลง ก็แบ่งมาทำหนังสือท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับความนิยมเรื่องเที่ยวเองไม่พึ่งทัวร์ ซึ่ง DPlus Guide ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี ถึงขนาดว่าช่วงหลังๆ เวลามีงานสัปดาห์หนังสือ ลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่รู้จัก DPlus Guide มากกว่า Provision ซะอีก
คุณวศินวิเคราะห์ว่าสื่อสิ่งพิมพ์มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น สิ่งพิมพ์กระดาษเป็นวัตถุที่หนักเมื่อเทียบกับขนาด (ความหนาแน่นสูง) ขนส่งยาก แต่เสื่อมสภาพง่าย (น้ำ/ปลวก) และถ้าหากเนื้อหาล้าสมัยไปแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากลงทุนพิมพ์ใหม่
พอมาถึงยุคดิจิทัล คนมักเปรียบเทียบสื่อดิจิทัลกับสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม สื่อดิจิทัลมีข้อดีคือแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งและเก็บสต๊อก แถมยังค้นหาข้อมูลได้สะดวกกว่า แต่ข้อเสียก็คือทำสำเนาได้ง่ายกว่า และมีปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบ “หนังสือ” กับ “อีบุ๊ก” อาจไม่ใช่โจทย์ที่ถูกต้องนัก เพราะในโลกดิจิทัลเราอ่านเนื้อหาประเภทอื่นๆ มากกว่าอีบุ๊กมาก การอ่านข้อความในโซเชียลก็ถือว่าอ่านเนื้อหาเช่นกัน และเมื่อเวลาคนเรามีจำกัด ถ้าใช้เวลากับการอ่านเนื้อหาในโซเชียลเยอะ เวลาการอ่านสื่ออื่นๆ รวมถึงหนังสือย่อมลดน้อยลง
เรามักมองอีบุ๊กว่าเป็นฟอร์แมตที่จะมาแทนหนังสือแบบเดิม แต่จริงๆ แล้ว การมัดรวม (aggregate) เนื้อหาเป็น e-book, e-magazine, e-newspaper อาจไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องอีกแล้ว เพราะในยุคออนไลน์ เราต้องการข้อมูลข่าวสารเฉพาะเรื่องใน “ทันที” (instant knowledge) ซึ่งหาได้จากเว็บ เสิร์ช และโซเชียล ความจำเป็นของสื่อแบบมัดรวมเนื้อหาหลายๆ อย่างจึงลดลง
คุณวศินมองว่ายุคสมัยของดิจิทัลคอนเทนต์ ความสำคัญจะเปลี่ยนจากตัวคอนเทนต์เองไปสู่ “การจัดเรียงคอนเทนต์” (curation) เพื่อมานำเสนอในรูปแบบที่เหมาะสมแทน เหตุเพราะดิจิทัลทำให้คอนเทนต์มีเยอะจนนับไม่ถ้วน (ซึ่งในยุคก่อนดิจิทัลไม่เคยมีภาวะนี้) การคัดเลือกแล้วนำเสนอคอนเทนต์ให้ตรงใจผู้อ่านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ตัวอย่างการคัดเลือกก็อย่างเช่น เสิร์ช (Google) และโซเชียล (Facebook) นั่นเอง
สำหรับผู้สนใจเรื่อง aggregation vs curation สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก บล็อกของคุณวศิน “Curation” is the King ? เมื่อ content ตกกระป๋อง! และบทความของเว็บไซต์ต่างประเทศหลายแห่งที่ถกเถียงกันเรื่องนี้ เช่น Business Insider และ Mashable
ปิดท้ายด้วยสไลด์นำเสนอของคุณวศิน 2 ชุด เผื่อใครสนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมครับ
Comments
เป็นสำนักพิมพ์ที่ผมชอบซื้อหนังสือมาอ่าน เพราะพิมพ์สีทั้งเล่ม
2 เล่มล่าสุดที่ซื้อจากสำนักพิมพ์นี้คือคู่มือ dev เนี่ยแหละครับ (Android dev กับ Windows Phone dev) ยอมรับเลยว่าของเขาดีจริง
Coder | Designer | Thinker | Blogger
หลายๆ เล่มที่ซื้อของค่ายนี้เพราะพิมพ์สี่สีนี่แหละ
ผมยังรอคอยอุดหนุนซีรี่ส์นิยายวิทยาศาสตร์อยู่ต่อไปนะครับ
อยากอ่าน Rama เล่ม 2 ครับ
pittaya.com
ผมคิดถึง ยี่ห้อ Monitor เมื่อก่อนเลยอ่ะ
ผมก็นึกถึงจอ พวกหนังสือไม่เคยซื้ออ่านเลย ความรู้ IT ตอนนี้เลยมีแค่หางอึ่ง สมัยเด็กๆ ได้คอมมาใหม่ๆ เคยซื้อหนังสือเขียน Java Script มาอ่าน คงเป็นเพราะเลือกหนังสือไม่ดี พออ่านแล้วไม่เข้าใจ เลยคิดว่าการเขียนโปรแกรมนั้นยากไปเลย เหมือนก่อนเข้าม.ปลาย ไปคิดว่าฟิสิกส์, เคมี, ชีวะนั้นยาก ตอนเรียนจริงเลยไม่ใส่ใจ ได้เกรด 1 กับ 2 ทุกทีเลย
oxygen2.me, panithi's blog
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6
คัมภีร์ Dos 6.2 ของโปรวิชั่นเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพของผมครับ
ผมประกอบคอมเป็นและเข้าใจการทำงานมากขึ้นเพราะ หนังสือคู่มือช่างคอมนี่ของค่ายนี้ละ อ่านตอนม.6 ตอนนี้ประกอบคอมไปหลายเครื่องละ
ว่ากันว่า อ่านเล่มนี้ 2 รอบ จะสอบเข้าคณะ IT ติดแน่นอน ทุกวันนี้ยังคงแนะนำรุ่นน้องให้อ่านเล่มนี้สอบ
PS.ผู้หญิงบนปกใส่บราสีชมพู ><
เป็นสำนักพิมพ์ที่ชอบเช่นเดียวกันครับ
..: เรื่อยไป
เมื่อหลายปีก่อนโน้น ผมอ่านหนังสือ PHP สำนักพิมพ์นี้ สมัยนั้น PHP5 เพิ่งออก ตอนนั้นเขียนไม่เป็นเลย ปัจจุบันผมเป็น Full stack dev ครับ ล่าสุดก็ซื้อหนังสือ android dev ไปอีก เพราะมีแค่สำนักพิมพ์นี้ที่พูดถึง android studio ด้วย
มันไม่ง่ายเลยที่จะทำ GIF ให้มีขนาดน้อยกว่า 20kB
ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้ก่อตั้ง => ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ
โอ้อยู่ยั่งยืนยงจริงๆหนังสือคอมเล่มแรกของผมก็ซื้อจากโปรวิชั่นนี่แหละ นิยายชุดสถาบันสถาปนา(Foundation) ของ ไอแซค อสิมอฟ ด้วย
ผมชอบนะ พอๆกับ SPC อ่านง่าย
แต่ของอีกค่ายขายแพง เนื้อหานิดเดียว แล้วอ่านยาก พวกหนังสือ coding พี่แกตัด header ออกหมด(มโนว่าคนเขียนเข้าใจเลย)
slide แรก หน้า 14 ที่ว่า diamond ring ไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าไง ใครพอจะบอกได้มั้ยครับ
อยากได้ชุดนิยาย สถาบันสถาปนา ของสำนักพิมพ์นี้ แต่เลิกพิมพ์ไปแล้ว T_T
เมื่อก่อนซื้อค่ายนี้เยอะครับ น่าจะเกินครึ่งร้อย แต่หลัง ๆ อ่าน Text มากกว่า :-/
ตกใจ รูปของ DPLUS GUIDE ไม่มีญี่ปุ่น 555
พูดถึงเรื่องชื่อกันดีกว่าสำหรับสำนักพิมพ์ Provision ผมว่าโอเคแล้วเหมาะกับความเป็นเทคโนโลยีหรือคอมพิวเตอร์ดี แต่ DPlus Guide เนี่ยมันดูไม่เข้ากับเรื่องท่องเที่ยวเลยครับ ผมขอยอมรับเลยครับว่าชื่อหัวหนังสือหรือสำนักพิมพ์มีผลต่อการเลือกซื้อของผมมากครับ
ซื้อแค่สองค่าย Provision กะ InfoPress
^
^
that's just my two cents.
อยากได้หนังสือชุดสถาบันสถาปนาเหมือนกันครับ อยากอ่านตอนนี้กลายเป็นของ rare ไปละ :'(
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.