งาน Startup Thailand 2016 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ เปิดตัวธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยกว่า 200 ราย พร้อมทั้งหน่วยงานสนับสนุนสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ เป้าหมายของงานคือ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้สตาร์ทอัพไทย และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการที่สนใจสร้างสตาร์ทอัพ
จึงเก็บบรรยากาศและตัวอย่างบริษัทสตาร์ทอัพส่วนหนึ่ง (มีเยอะมาก) ในงานวันแรก (28 เมษายน) มาให้ชมกัน
ที่เห็นโดดเด่นหน้าฮอลล์จัดงานคือบูธของ Makerspace บริษัทที่ระบุว่าเป็นชุมชนที่ช่วยสร้างสตาร์ทอัพ เป็นพื้นที่ที่ช่วยให้ผู้อยากริเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ สามาถถ่ายทอดไอเดียได้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น นอกเหนือจากไอเดียแล้วยังมีอุปกรณ์ครบครันที่ผู้ริเริ่มสตาร์ทอัพต้องการ โดยในบูธมีผลงานตัวอย่างของทางบริษัททั้ง 3D printer โดรน เครื่องทอผ้า ฯลฯ
เมื่อเข้าประตูใหญ่สิ่งแรกที่เจอคือ บูธให้ความรู้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มสนใจ นอกจากนี้ยังรวบรวบข้อมูลสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จทั้งระดับโลกและในประเทศไทย เช่น Uber, Airbnb, Grab ส่วนของไทยเองก็มี Wongnai, Ookbee เป็นต้น
ประเดิมบูธแรกที่จะนำเสนอให้ชมกันคือ LocalAlike ทำทัวร์ท่องเที่ยวเข้าถึงชุมชน เป็นทัวร์ท่องเที่ยวทางเลือกที่เม็ดเงินกระจายไปถึงคนท้องถิ่นมากขึ้น LocalAlike ใช้ช่องทางออนไลน์ในการหาลูกค้านักท่องเที่ยวมาได้ห้าปีแล้ว แต่เพิ่งก่อตั้งเว็บไซต์และแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ไม่กี่เดือน
สตาร์ทอัพเพื่อการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ TakeMeTour ต่างกับ LocalAlike ตรงที่เป็น 1-day trip เท่านั้น ไม่ได้จัดการเรื่องที่พักให้ บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นไกด์มืออาชีพ แต่อยากจะพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวในสถานที่ในละแวกบ้านที่น่าสนใจแต่ยังไม่ได้รับความนิยม ได้พานักท่องเที่ยวไปเที่ยวและยังได้รายได้เสริมด้วย
สตาร์ทอัพเพื่อการบริการ การอำนวยความสะดวกก็มาแรงไม่แพ้กัน บูธที่เห็นนี้คือ Jord Sabuy ช่องทางออนไลน์ที่ช่วยให้การหาที่จอดรถในอีเวนท์สำคัญๆ ง่ายขึ้น ผู้ก่อตั้งระบุว่าดีลกับงานรับปริญญาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในกรุงเทพฯ (ยังไม่ครบทุกแห่ง) รวมถึงอีเวนท์สำคัญ
นอกจากนี้ ผู้ที่อยากแชร์พื้นที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของมาให้บริการจอดรถ สามารถลงทะเบียนกับ Jord Sabuy และเสนอราคาค่าจอดรถรายชั่วโมงมาให้ผู้สนใจใช้บริการได้เลือก
แอพพลิเคชั่นเพื่อการจองคิวล่วงหน้ากิจกรรมต่างๆ ยังมีอีกหลายตัว อีกตัวอย่างที่นำมาให้ชมคือ Golfdigg แอพที่ดีลกับสนามกอล์ฟชั้นนำในราคาที่ถูกกว่า จองล่วงหน้าได้ 7 วัน และยิ่งจองกระชั้นชิดยิ่งได้ราคาดี
Fixzy แอพพลิเคชั่นหาช่างซ่อมที่บอกว่าเป็นรายแรกของประเทศไทย ครอบคลุมงานหลากประเภท ทั้งระบบน้ำ ระบบไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมบ้าน มีช่างที่จดทะเบียนกับแอพนี้ไม่น้อยและมีการให้เรตติ้งความประทับใจ เหมาะสำหรับครัวเรือนที่อาจไม่มีคอนแทกต์กับช่างซ่อม ไม่รู้ว่าจะต้องจ้างช่างซ่อมที่ไหน และผู้ที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัย
เปลี่ยนแนวมาที่สตาร์ทอัพเพื่อการคมนาคมกันบ้าง รายนี้ยังอยู่ในช่วงทดลอง ยังไม่เปิดให้ใช้บริการอย่างเป็นทางการ คือ Viabus แอพพลิเคชั่นติดตามรถเมล์เพื่อจะได้รู้ว่า สถานที่ที่จะไปมีรถเมล์สายไหนผ่านบ้าง รวมถึงรถเมล์ที่จะขึ้นตอนนี้อยู่บริเวณไหนแล้ว อีกกี่นาทีถึงจะมา น่าจะมีประโยชน์ต่อคนกรุงมากทีเดียว ตอนนี้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปทดลองใช้แล้ว
สตาร์ทอัพเพื่อการหางานมีหลากหลาย ตัวอย่างเช่น Grabajob ต่างจากแอพหางานอื่น ตรงที่พุ่งเป้าหมายไปที่นักศึกษาฝึกงาน และนักเรียนที่ต้องการหารายได้เสริมช่วงปิดเทอม ต้องการงานใกล้บ้าน แอพนี้ช่วยให้การสมัครงานไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องกรอกเรซูเม่ยาวเหยียด และสามารถแชทคุยกันผ่านแอพระหว่างผู้จ้างและผู้สมัครงานได้ในกรณีที่ยังไม่ได้เรียกสัมภาษณ์งานโดยตรง
ทุกวันนี้ร้านค้าออนไลน์โตขึ้นมาก การสร้างเว็บไซต์ขายของอาจยุ่งยาก Bentoweb จึงสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปเพื่อคนทำ E-commerce โดยเฉพาะ ใช้ง่ายตรงที่ไม่ต้องเขียนโค้ดสร้างเว็บให้ยุ่งยาก เพียงแค่สมัครกรอกรายละเอียดเล็กน้อยก็เปิดร้านได้ บูธนี้มีคนให้ความสนใจมาก ผู้ก่อตั้งแทบไม่มีช่วงว่างหายใจเลยทีเดียว
สตาร์ทอัพแนว Crowdfunding ที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศ แต่อาจจะยังใหม่สำหรับประเทศไทยอย่าง Dream Drive Project ก็มีผู้คนให้ความสนใจต่อเนื่อง เหมาะสำหรับคนต้องการพื้นที่โชว์ผลงานในรูปแบบต่างๆ และต้องการเงินสนับสนุนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ตัวอย่างผลงานเช่น โฟโต้บุค งานเพลง งานดีไซน์
ปิดท้ายที่ สตาร์ทอัพแนว Health Tech คือ Zeekdoc เว็บไซต์หาหมอเฉพาะทางในบริเวณใกล้เคียง ไม่ต้องไปหาหมอเฉพาะทางไกลถึงต่างจังหวัด และยังสามารถนัดตรวจผ่านเว็บไซต์โดยไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิวที่โรงพยาบาล ครอบคลุมประกันสุขภาพแต่ไม่ครอบคลุมประกันสังคม อนาคตจะพัฒนาให้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้มีหมอที่มาลงทะเบียนกับทางเว็บไซต์จำนวนไม่น้อยแล้ว
Startup Thailand 2016 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ยังมีบูธน่าสนใจอีกเพียบให้เข้าชมฟรี และยังมีงานสัมมนาให้ความรู้ตลอดทั้งวัน สำหรับกิจกรรมเด็ดน่าจะอยู่ที่วันเสาร์ที่จะมีการแข่งขันโดรนด้วย
Comments
ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ => ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
บทความมีประโยชน์มากครับ ทำให้เห็นไอเดียคูลๆ เยอะเลย
ชอบ fixzy กับ takemetour
อย่าง ZeekDoc นี่เค้าไปเอา Database มาจากไหนครับ จะรู้ได้ยังไงว่าหมอคนไหนตรวจวันไหน ถ้ามีเปลี่ยนแปลง ทางเวบจะทราบเหรอครับ
เดาว่าคงให้หมอแต่ละคนมาลงทะเบียนเอง ลงตารางตรวจเองมั้งครับ
เท่าที่เคยคุยด้วยคร่าวๆคือเข้าไปหาหมอที่ต้องการเข้าร่วมโครงการโดยตรงครับ
ไอเดียแต่ละอันเจ๋งมาก เดี๋ยวคงต้องหาโอกาสไปเองบ้างแล้ว
ขอบคุณสำหรับบทความครับ
event นี้เจ๋งแฮะ ไอเดียแต่ละอันดูดีจริง ๆ
น่าสนใจอยู่หลายอัน
ไว้หาโอกาสใช้งาน Fixzy ที่ผ่านมา เวลาหาช่างทีไรต้องวัดดวงทุกทีเลย
TakeMeTour , LocalAlike ไกด์เถื่อนมันผิดกฏหมายไม่ใช่เรอะ -*-)
Jord Sabuy ถ้ารถหายนี้คนให้เช่าซวย บริษัทลอยตัวกินหัวคิวแบบไม่รับผิดชอบอะไรเลย
เห็นด้วยครับ
สงสัยว่า Viabus ไปเอาข้อมูลมาจากไหน? รถเมล์ติด GPS หมดแล้วเหรอครับ? แล้วต่อให้ติดแล้วเขาไปเอาข้อมูลมาได้ยังไงหว่า? (ถ้าเป็นของรัฐ รัฐควรปล่อยสู่สาธารณะรึเปล่า?)
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
"ทดลอง" ติดอยู่สองสายครับ ข้อมูลจาก traffy มี api ครับ ลองดู อันนี้ของ 73ก
http://kumo.traffy.in.th/busmap/
พอจบทดลองเห็นว่าจะติดทุกคันนะครับ
ขอบคุณครับ แสดงว่า ViaBus ก็มีข้อมูลอยู่แค่ 2 สายอยู่เลย
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!