Tags:
Node Thumbnail

ข่าวใหญ่วันนี้คือ Craig Steven Wright ออกมายอมรับแล้วว่าเป็นผู้สร้าง Bitcoin หลังข่าวนี้ประกาศออกมา ก็มีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อในเรื่องนี้

การเปิดเผยตัวตนของ Craig Wright ในครั้งนี้เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคม 2016 ที่กรุงลอนดอน (Wright เป็นชาวออสเตรเลีย แต่ย้ายไปอยู่ลอนดอนหลังนิตยสาร Wired ชี้เป้าว่าเขาคือ Satoshi Nakamoto เมื่อปลายปีที่แล้ว) โดยมีสื่ออังกฤษ 3 รายร่วมสัมภาษณ์คือ BBC, The Economist และ GQ นอกจากนี้ยังมีคนในวงการ Bitcoin อีกสองคนคือ Jon Matonis อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิ Bitcoin Foundation และ Gavin Andresen อดีตนักพัฒนาหลักของโครงการ Bitcoin ที่รับช่วงต่อจาก Nakamoto (ปัจจุบัน Gavin ไม่ได้รับบทนักพัฒนาหลักแล้ว) ซึ่งทั้งสองคนเคยทำงานร่วมกับ Satoshi ทางอีเมลมาก่อน

หลังการพบปะครั้งที่ผ่านมา ทั้ง Jon Matonis และ Gavin Andresen ลงความเห็นว่า Wright คือ Nakamoto จริงๆ

No Description

Craig Wright (ภาพจากเว็บไซต์ของเขาเอง)

Gavin Andresen เพิ่งเคยเจอกับ Wright เป็นครั้งแรก เขาตรวจสอบการเข้ารหัสของ Wright รวมถึงพูดคุยในประเด็นต่างๆ และเชื่อว่าเป็นตัวจริง (บล็อกของ Gavin)

ส่วน Jon Matonis เคยพบกับ Wright มาครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้วในซิดนีย์ (ก่อนมีข่าวว่า Wright คือ Nakamoto) ทั้งสองคนพูดคุยกันเป็นเวลานาน เขากลับไปที่โรงแรมและเปรยกับภรรยาว่า "รู้สึกเหมือนได้เจอ Nakamoto" ส่วนการเจอกันครั้งนี้ที่ลอนดอน เขาตรวจสอบ Wright ใน 3 ประเด็นทั้งตัวคีย์ที่ Wright มี, ความรู้เชิงเทคนิค และบุคลิกของ Wright ที่ละม้ายคล้ายกับในอีเมลของ Nakamoto รวมถึงโพสต์ของ Nakamoto ในอดีต ได้ข้อสรุปว่า Wright คือผู้สร้าง Bitcoin ตัวจริงเช่นกัน (บล็อกของ Jon Matonis)

The Economist ซึ่งได้พบกับ Wright ที่ลอนดอนเช่นกัน พยายามพิสูจน์ตัวตนของเขาโดยแยกเป็น 4 ประเด็น ดังนี้

  1. Wright มีคีย์เข้ารหัสชุดเดียวกับ Nakamoto หรือไม่
  2. Wright มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลต่อคำถามและช่องโหว่ของเรื่องราวที่คนสงสัยกัน นับตั้งแต่ข่าวของ Wired ในปีที่แล้วหรือไม่
  3. Wright มีความรู้เชิงเทคนิคในระดับที่สร้าง Bitcoin ได้จริงหรือไม่
  4. Wright มีบุคลิกเหมือนกับ Nakamoto ที่คนในแวดวงรู้จักหรือไม่

รายละเอียดของแต่ละประเด็นมีดังนี้

1. คีย์เข้ารหัส

การพิสูจน์ตัวตนของ Nakamoto จากคีย์เข้ารหัส กรณีนี้แยกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ private key ตามระบบ PGP ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่ง public key ของ Nakamoto เป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดย Wright ยืนยันว่าเขามี private key จริง แต่ก็บอกว่าการที่มีคีย์ PGP ไม่สามารถใช้พิสูจน์ได้ว่าเขาคือ Nakamoto ตัวจริง (อาจเป็นคนอื่นที่ครอบครองคีย์ก็เป็นไปได้)

ส่วนที่สองคือในอดีตสมัย Bitcoin เกิดขึ้นใหม่ๆ Nakamoto เคยส่งเงินในบล็อคที่ 9 ของระบบ Bitcoin ไปให้กับ Hal Finney ผู้ร่วมพัฒนา Bitcoin (ปัจจุบัน Finney เสียชีวิตแล้ว) ซึ่ง Finney เคยยืนยันว่าเขาได้รับการโอนเงินก้อนนี้จาก Nakamoto จริงๆ ดังนั้นถ้า Wright มีคีย์ในระบบของ Bitcoin (ที่ไม่ใช่คีย์ของ PGP) ตัวเดียวกับการโอนเงินครั้งนี้ ก็ช่วยยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่าเขาคือ Nakamoto

Wright เขียนบล็อกอธิบายการพิสูจน์ตัวตน โดยเขาใช้คีย์ของบล็อค 9 ดังกล่าวเข้ารหัสข้อความจากงานเขียนของนักปรัชญา Jean-Paul Sartre พร้อมวิธีการตรวจสอบคีย์ (อ่านรายละเอียดได้ในลิงก์) อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้โพสต์ข้อความต้นฉบับว่าเลือกประโยคใดของ Sartre มา

นอกจากการสาธิตการเข้ารหัสด้วยคีย์ของบล็อค 9 ต่อสาธารณะแล้ว Wright ยังสาธิตการใช้คีย์ของบล็อค 1 ให้กับสื่อและ Matonis กับ Andresen ดูด้วย อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธไม่ยอมสาธิตคีย์ของบล็อค 1 ต่อสาธารณะ และปฏิเสธไม่เข้ารหัสข้อความที่ The Economist เตรียมไว้ให้ ซึ่ง The Economist ก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงไม่ยอมพิสูจน์

2. คำอธิบายเรื่องราว

ตอนที่ข่าวของ Wright ดังขึ้นมาในครั้งแรก มีคนไปดูประวัติของเขาใน LinkedIn พบว่าเขามีใบปริญญาเป็นจำนวนมาก และประวัติการทำงานบางอย่างที่ระบุไว้เป็นของปลอม

Wright อธิบายว่าบัญชี LinkedIn อันนั้นเป็นเรื่องตลก เพราะเขาไม่อยากให้ใครมาวุ่นวายกับเขามากเกินไป แต่ในการพบปะกับสื่อ Wright ก็แสดงหลักฐานเอกสารต่างๆ เช่น ปริญญาหลายใบ (เขาจบปริญญาโท 3 ใบ) ได้จริง

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าเขาสั่งซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากบริษัท SGI ซึ่งทาง SGI ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ ในการพบสื่อ Wright แสดงจดหมายที่รับรองโดยผู้บริหาร SGI ออสเตรเลียว่าเคยทำงานร่วมกับบริษัท Cloudcroft ของ Wright จริง โดย Wright อธิบายว่า SGI ไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้เพราะคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ C01N ตัวนี้ใช้อุปกรณ์บางชิ้นจากคู่แข่งคือ Supermicro ด้วย เขาบอกว่า C01N มีเอาไว้รันทดสอบไอเดียของเขาว่าสามารถปรับปรุง Bitcoin ได้แค่ไหน

3. ความรู้ทางเทคนิค

ก่อนหน้านี้เคยมีบริษัท Juola & Associates ใช้อัลกอริทึมตรวจสอบงานเขียนของ Nakamoto และ Wright ว่าเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ผลออกมาว่าไม่ตรงกัน เรื่องนี้ Wright อธิบายว่าตัวเอกสารต้นฉบับของ Bitcoin มีคนร่วมเขียนด้วย (เขาคือ Dave Kleiman ซึ่งเสียชีวิตในปี 2013) และเขามีสไตล์การเขียนหลายรูปแบบ

ตัวของ Wright มีงานเขียนเชิงวิชาการจำนวนมากเกือบ 100 รายการ ครอบคลุมหัวข้อเรื่องความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ การก่อการร้าย การประเมินความเสี่ยง แต่ไม่มีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin โดยตรง ซึ่งเขาบอกว่างานเขียนเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตรวจสอบเชิงวิชาการ (peer review) และจะเผยแพร่ในเร็วๆ นี้

The Economist ได้อ่านงานเขียนบางชิ้นของ Wright และสรุปว่าเขามีความรู้ทางเทคนิคแน่น แต่ยังไม่ถือว่าโดดเด่น (firm though not an exceptional)

4. บุคลิก

The Economist ยอมรับว่าการประเมินบุคลิกของ Wright เทียบกับ Nakamoto เป็นเรื่องยาก และความเห็นของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน (subjective) แถมยังไม่มีใครเคยพบกับ Nakamoto ตัวจริง การพิสูจน์เลยยิ่งยาก

คนที่เคยสัมผัสกับ Nakamoto มาบ้าง Matonis และ Andresen ยอมรับว่าบุคลิกของ Wright สอดคล้องกัน ส่วน The Economist บอกว่ามีบางอย่างคล้าย เช่น ไม่ชอบพบปะผู้คน เข้ากับคนยาก แต่บางอย่างก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก เช่น Wright ย้ำว่าเขาเขียนเอกสารทางวิชาการเยอะมาก และพยายามบอกว่าเขารักการเรียนรู้ ถึงขนาดเลือกเรียนปริญญาหลายใบ

บทสรุปของ The Economist

The Economist ยังไม่เชื่อ Wright สนิทใจนัก บางอย่างเขาสามารถพิสูจน์ตัวเองได้จริง เขามีความรู้ทางเทคนิคเยอะพอ แต่ก็มีคำถามอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้รับคำตอบ เช่น ทำไมเขาไม่ยอมเข้ารหัสข้อความที่ The Economist เตรียมให้ และเลือกโชว์เฉพาะข้อความของตัวเองเท่านั้น (เป็นไปได้ไหมว่าเขาได้คีย์มาจากคนอื่น เช่น เพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้วทั้งสองคนคือ Hal Finney กับ Dave Kleiman)

Wright บอกว่าเขาเปิดเผยตัวเองเพราะมีคนเข้าใจผิดและสร้างเรื่องมั่วๆ ให้กับเขาและคนใกล้ชิด เขายืนยันว่าไม่อยากเป็นผู้นำโครงการ Bitcoin ในลักษณะเดียวกับ Linus Torvalds เป็นผู้นำโครงการลินุกซ์ และหลังจากการเปิดเผยตัวตนครั้งนี้ เขาอยากจะ "หายตัวไปอีกครั้ง"

ที่มา - The Economist

การหักล้างหลักฐานของ Wright

หลัง Wright ออกมาเปิดเผยตัวตน ก็มีคนพยายามหักล้างหลักฐานของ Wright บนบล็อกโพสต์ของเขา (ตามประเด็นข้อ 1) ซึ่งข้อมูลสำคัญที่พบคือข้อความที่ Wright อ้างว่าเข้ารหัสข้อความของนักปรัชญา Jean-Paul Sartre (แต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อความต้นฉบับว่าเลือกประโยคไหนมา)

MEUCIQDBKn1Uly8m0UyzETObUSL4wYdBfd4ejvtoQfVcNCIK4AIgZmMsXNQWHvo6KDd2Tu6euEl13VTC3ihl6XUlhcU+fM4=

ถ้าแปลงเป็นเลขฐาน 16 จะได้

3045022100c12a7d54972f26d14cb311339b5122f8c187417dde1e8efb6841f55c34220ae0022066632c5cd4161efa3a2837764eee9eb84975dd54c2de2865e9752585c53e7cc

เลขชุดนี้เป็นการคัดลอกมาจากธุรกรรมของ Nakamoto ที่ส่งให้ Finney (การโอนเงิน Bitcoin ครั้งแรก) ซึ่งแปลว่า Wright โกหกเรื่องการเข้ารหัสด้วยคีย์ของ Nakamoto นั่นเอง

ประเด็นเรื่องนี้ยังถกเถียงกันอยู่ใน Reddit ใครสนใจก็ตามไปอ่านกันต่อได้ครับ

ที่มา - Patio11, Dan Kaminsky

Get latest news from Blognone