นักวิจัยจากทีม CSAIL แห่ง MIT ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ Origami หุ่นยนต์ที่พับได้ (อันเป็นที่มาของชื่อของมัน) ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการทำงานในพื้นที่จำกัด ซึ่งหลังจากเริ่มนำออกแสดงในปี 2014 เป็นครั้งแรก ซึ่งตอนนี้หุ่นยนต์ Origami รุ่นล่าสุดที่มีนักวิจัยของ University of Sheffield และ Tokyo Institute of Technology มาช่วยพัฒนาด้วย ก็ได้รับการปรับปรุงจนกลายมาเป็นหุ่นยนต์เพื่อการปฏิบัติงานในร่างกายมนุษย์
เดิมทีแนวคิดหุ่นยนต์ Origami นั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2010 มันเป็นโครงการที่สานต่อมาจากต้นแบบหุ่นยนต์ที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างด้วยการพับและคลี่ตัวเองได้ ซึ่งถูกพัฒนามาด้วยแนวคิดที่ต้องการให้หุ่นยนต์สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างตัวเองและอาจเปลี่ยนขนาดได้ด้วยการรวมร่างหุ่นยนต์เล็กจิ๋วเท่าเศษกระดาษเข้าด้วยกันจนกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ใหญ่ขึ้น ต่อมา 4 ปีให้หลัง มันได้รับการอัพเกรดเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนที่ด้วยการคลาน โดยทีมวิจัยได้เผยความก้าวหน้าด้านเทคนิคการสร้างหุ่นยนต์ ทั้งเรื่องวัสดุโครงสร้างที่ส่วนใหญ่ทำด้วยการพิมพ์ 3 มิติ (ซึ่งผลิตซ้ำจำนวนมากได้ง่ายขึ้น) และการออกแบบโครงสร้างให้ Origami สามารถพับตัวเองได้ดีขึ้น
ก้าวถัดมาของ Origami ในปี 2015 มันได้รับการปรับปรุงความสามารถด้านการเคลื่อนที่และเคลื่อนย้ายวัตถุ ผู้ควบคุมสามารถสั่งการให้มันเคลื่อนที่ตามต้องการได้ผ่านทางการควบคุมสนามแม่เหล็ก ตัวหุ่น Origami สามารถเคลื่อนที่บนพื้นลาดชันได้ สามารถว่ายน้ำได้ ส่วนการเคลื่อนย้ายวัตถุนั้นมันสามารถรองรับน้ำหนักวัตถุได้มากเป็น 2 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง
และในปี 2016 นี้ Origami ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่อีกคราหนึ่ง คราวนี้ทีมวิจัยมีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าต้องการพัฒนามันเพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติงานในร่างกายมนุษย์ จากการทดสอบเพื่อหาวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ทีมวิจัยก็พบว่าสามารถใช้ลำไส้ของหมูแบบอบแห้ง (แบบเดียวกับที่ใช้ในการผลิตไส้กรอก) ร่วมกับ biolefin ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มาเป็นวัสดุหลักของหุ่นยนต์ Origami และเพื่อให้การส่ง Origami เข้าสู่ทางเดินอาหารเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากขึ้น จึงเกิดเป็นไอเดียในการพับ Origami และบรรจุมันในแคปซูลที่ทำจากน้ำแข็ง เมื่อมันถูกกลืนลงสู่กระเพาะอาหาร แคปซูลน้ำแข็งที่ห่อหุ้มอยู่จะละลายไป หุ่น Origami ก็จะคลี่ตัวเองคืนสู่รูปร่างที่พร้อมสำหรับการปฏิบัติงาน
ทีมวิจัยบอกว่าหุ่น Origami ในตอนนี้สามารถช่วยปิดแผลขนาดเล็กในกระเพาะอาหารได้ หรือจะใช้มันเพื่อเอาแบตเตอรี่แบบเม็ดกระดุมออกจากกระเพาะอาหารก็ได้เช่นกัน (มีข้อมูลว่าในแต่ละปีมีผู้กลืนแบตเตอรี่อย่างที่ว่าลงไปในท้องปีละ 3,500 ราย) การทำงานเหล่านี้อาศัยการควบคุมหุ่นยนต์ด้วยการกระตุ้นผ่านทางสนามแม่เหล็กจากอุปกรณ์ควบคุมภายนอกร่างกาย
ก้าวถัดไปของ Origami คือการปรับปรุงให้มันสามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องคอยพึ่งอุปกรณ์ควบคุมสนามแม่เหล็กจากภายนอก
ที่มา - MIT News
Comments
ในวิดีโอบอกว่าคนกลืนแบตมีปีละ 3500 รายนะครับ ไม่ใช่ 35000