นักวิจัย MIT พัฒนาโซลาร์เซลล์ที่สามารถแปลงพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าค่าขอบเขตทางทฤษฎีที่ตั้งไว้ว่าจะไม่สามารถแปลงพลังงานได้เกิน 33.7% โดยทีเด็ดสำคัญที่ทำให้โซลาร์เซลล์แบบใหม่ทำงานได้ดีเหนือกว่าทฤษฎีที่เคยมีมา คือการพัฒนาชิ้นส่วนที่ดูดซับพลังงานทุกรูปแบบของแสงอาทิตย์เอาไว้แล้วปล่อยแสงออกมาให้เหมาะกับโซลาร์เซลล์มากที่สุด
การดึงเอาพลังงานความร้อนที่ปกติถูกปล่อยทิ้งสูญเสียไปเปล่ามาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้นั้น ทีมวิจัยใช้ชิ้นส่วนพิเศษที่มีองค์ประกอบหลักเป็นหลอดคาร์บอนที่จัดเรียงอนุภาคในระดับนาโน ตัวชิ้นส่วนพิเศษนี้มีความสามารถในการดูดกลืนพลังงานจากแสงอาทิตย์ทุกความถี่ที่ตกกระทบตัวเองมาเปลี่ยนเป็นแสงสีส้มอันเป็นแสงที่มีคลื่นความถี่เหมาะสมต่อการทำงานของโซลาร์เซลล์ และฉายแสงสีส้มนั้นตกกระทบโซลาร์เซลล์อีกต่อหนึ่ง ทำให้ท้ายที่สุดได้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มจากความร้อนดังที่ว่า
จากนี้ไปเป็นการลงลึกในรายละเอียดทางเทคนิคยิ่งขึ้น
เริ่มจากเรื่องขอบเขตทางทฤษฎีที่ถูกกล่าวถึง ขอบเขตนี้ถูกเรียกว่า Shockley-Queisser Limit ซึ่งโซลาร์เซลล์แบบทั่วไปจะมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานไม่เกินกว่าค่าขอบเขตนี้ โดยตัวเลขของ Shockley-Queisser Limit นั้นแปรผันตามค่า band gap (ซึ่งค่า band gap นี้ยังใช้บอกความสามารถในการดูดซับแสงของวัสดุที่ดูดซับแสงในคลื่นความถี่ต่างๆ ได้ไม่เท่ากันด้วย) ค่าประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตามขอบเขต Shockley-Queisser Limit นั้นอยู่ที่ราว 33.7% เท่านั้น หรือแปลรวบรัดให้เข้าใจง่ายก็คือ ตามทฤษฎีแล้วโซลาร์เซลล์ทั่วไปจะไม่มีทางแปลงพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีเกิน 33.7% นั่นเอง (วัสดุที่นิยมนำมาทำโซลาร์เซลล์อย่างซิลิกอนเองมีค่า bad gap เท่ากับ 1.1 สามารถแปลงพลังงานด้วยประสิทธิภาพสูงสุดราว 33.5% ตามกราฟของ Shockley-Queisser Limit)
ด้วยข้อจำกัดทางทฤษฎีดังที่กล่าวมา นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ก็ได้คิดค้นเทคนิคการปรับปรุงประยุกต์ใช้โซลาร์เซลล์ให้สามารถแปลงพลังงานได้ดียิ่งขึ้น เทคนิคหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือการทำโซลาร์เซลล์ (ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากซิลิกอน) แบบหลายแผ่นซ้อนกัน แผ่นโซลาร์เซลล์แต่ละชั้นจะดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า (เฉพาะในแต่ละเซลล์เองทำงานได้มีประสิทธิภาพไม่เกินไปกว่าขอบเขต Shockley-Queisser Limit) ซึ่งภาพรวมก็ถือว่ามีประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานที่ดีขึ้น
แต่ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่ทำได้ดียิ่งกว่าและเป็นแนวทางที่ทีมวิจัยของ MIT เลือกใช้ ก็คือการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานความร้อนเสียก่อน แล้วค่อยหาทางทำให้เป็นพลังงานไฟฟ้า พวกเขาพัฒนาชิ้นส่วนพิเศษที่เรียกว่า STPV (solar thermophotovoltaic) ซึ่งเมื่อนำไปประกอบใช้งานร่วมกับแผ่นโซลาร์เซลล์ธรรมดาก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มาก จากการคำนวณของทีมวิจัยนั้น การใช้ STPV อาจทำให้ชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพเกิน 80% ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของ Shockley-Queisser Limit ด้วย
ตัว STPV นั้นเป็น ประกอบไปด้วยผลึก nanophotonic crystal ซึ่งเป็นผลึกที่เมื่อมันได้รับความร้อน จะสามารถเปล่งแสงที่มีความถี่ของคลื่นตามที่กำหนดได้ ทีมวิจัยใช้ผลึกนี้ใส่เข้าในโครงสร้างหลอดคาร์บอนที่มีการจัดเรียงในแนวตั้ง (หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็เหมือนกับการเอาหลอดทดลองจำนวนมากมามัดรวมกันเป็นแผงแล้วเติมผลึกลงไปในหลอดทดลองเหล่านั้น เพียงแต่งานนี้หลอดทดลองที่ว่ามีขนาดเล็กจิ๋วระดับนาโนเมตร และสร้างขึ้นจากคาร์บอน) จากนั้นนำไปประกบติดกับแผงโซลาร์เซลล์ที่ทำมาจากซิลิกอน ตัว STPV นี้จะทำงานที่อุณหภูมิราว 1,000 องศาเซลเซียส
หลอดคาร์บอนระดับนาโนของ STPV นั้นสามารถดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ตลอดทุกย่านความถี่ตั้งแต่แสงสีแดงถึงม่วง หลังจากดูดซับคลื่นแสงเหล่านั้นแล้วมันจะปล่อยความร้อนให้แก่ผลึก nanophotonic crystal ที่อยู่ในตัวมัน เมื่อผลึก nanophotonic crystal ได้รับความร้อนก็จะเปล่งแสงที่มีความถี่จำเพาะที่โซลาร์เซลล์จะสามารถรับเอาไปเปลี่ยนรูปพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ในการทดสอบเพื่อให้ STPV ทำงานได้ซึ่งมีเงื่อนไขเรื่องอุณหภูมิระดับ 1,000 องศา ทีมวิจัยได้สร้างชุดรวมแสงจนทำให้ความเข้มของพลังงานแสงเพิ่มเป็น 750 เท่า สามารถทำอุณหภูมิของ STPV ขึ้นไปได้ที่ 962 องศาเซลเซียส
งานวิจัย STPV ของ MIT นั้นมีการทดลองวิจัยกันมานานต่อเนื่องนานหลายปี แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ทีมวิจัยสามารถทำการทดลองได้ตัวเลขประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานของโซลาร์เซลล์ได้ดีกว่า Shockley-Queisser Limit จริงตามที่คำนวณ
ข้อดีของ STPV ที่ไม่เพียงเพิ่มพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงตกกระทบโซลาร์เซลล์ขนาดเท่าเดิมแล้ว ยังมีข้อดีในแง่ที่ช่วยลดความร้อนที่จะแผ่ออกสู่อุปกรณ์ข้างเคียง (เพราะความร้อนจากแสงอาทิตย์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ STPV นำไปใช้เพื่อเปล่งแสงให้โซลาร์เซลล์ได้หมด) นอกจากนี้การที่ STPV ดูดซับเอาคลื่นแสงทุกสีในทุกความถี่มาเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนก็ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการบริหารพลังงานด้วย เพราะพลังงานความร้อนจากกระบวนการทำงานที่ว่านี้สามารถจัดเก็บได้ง่ายกว่าการจัดเก็บพลังงานแสง
ผลลัพธ์เชิงรูปธรรมของงานวิจัยนี้อาจจะดูแล้วยังห่างไกลจากการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา แต่สำหรับงานวิจัยเฉพาะทางหรืองานประดิษฐ์เพื่อการใช้งานกรณีพิเศษ เช่น การใช้แผงโซลาร์เซลล์สำหรับยานสำรวจในอวกาศ ถือว่าได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างมาก
Comments
มาสักทีแปลงพลังงานความร้อนเป็นไฟฟ้า
The Last Wizard Of Century.
มีมานานแล้วนะครับ ตรงโมดูลที่เรียกว่า Thermocouple อะครับ
หนึ่งพันองศานี่ก็...
แล้วคุ้นๆ ว่าโซลาร์เซลล์นี่ยิ่งร้อนประสิทธิภาพยิ่งแย่ ต้องแยกห้องกันด้วยมั้ยครับระหว่างตัว STPV
ชอบเรื่องนี้มากครับ มันสร้างสรรค์ดี
ชอบตรง'ลงลึกในรายละเอียด' อ่านเพลินเลย
ละเอียดดีครับ
เป็นนวัตกรรมที่ดีจริงๆ แต่ว่ามันจะทำให้ Solar Cell หมดสภาพลงเร็วกว่าเดิมหรือเปล่าเนี่ย เพราะตัวเซลล์จะเสื่อมเมื่อรับความร้อนมากเกินไป
ผมว่าทำระบบน้ำเดือดจากแสงอาทิตย์ผ่านท่อลำเรียงมาขับเครื่องปั่นไฟเป็นพลังงานไฟฟ้า น่าจะดีกว่า
Get ready to work from now on.
ทุกวันนี้ก็ทำอยู่แล้วครับ ในไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบรางพาราโบลิก แต่เหมือนจะพลังงานต่ำกว่าที่คาด ถ้าเป็นในทะเลทรายหรือที่เรียบๆ กว้างๆ ใช้ตัวสะท้อนแสงเป็น Tower เลยครับ
อาจจะมีรูปแบบที่เหมาะสมนะครับ อย่างน้อยๆ ตัวในข่าวนี้ก็ขนาดเล็กกว่า พกพาได้ อาจจะติดไปกับยานสำรวจดาวพุธก็ได้ครับ
สรุปว่าเปลี่ยนจากแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานความร้อน แล้วเปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นแสงที่เหมาะสมกับ Solar Cell อีกรอบ ถ้าผมจับใจความไม่ผิดมันเป็นประมาณนี้หรือเปล่าครับ
ใช่ครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
นึกว่ากำลังอ่าน Jusci.net
ขอบคุณที่เขียนรายละเอียดให้เข้าใจง่ายและอ่านสนุกครับ
ผลลัพธ์น่าตื่นเต้น แต่คงต้องรอวิธีมาประยุกต์ให้ใช้งานได้หลากหลายหน่อย โดยเฉพาะเงื่อนไขอุณภูมิสูงขนาดนั้นเนี่ย