หนึ่งในฟีเจอร์เด็ดของ iPhone 6S ที่โดดเด่นกว่าสมาร์ทโฟนคู่แข่งรายอื่นคือความสามารถในการรับรู้แรงกดของปลายนิ้วบนหน้าจอสัมผัสที่เรียกว่า 3D Touch (จะมีเจ้าอื่นก็เพียง Huawei Mate S ที่สามารถแยกระดับแรงกดบนหน้าจอได้เช่นกัน) แต่จะดีกว่าไหมถ้าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ยี่ห้ออื่นๆ ก็สามารถรับรู้แรงกดหลายระดับบนหน้าจอเช่นเดียวกัน? ซึ่งก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิค เพราะงานวิจัยชื่อ ForcePhone จาก University of Michigan ทำให้สมาร์ทโฟนรุ่นใดๆ มีความสามารถอย่างที่ว่าได้แล้ว
งานวิจัย ForcePhone นี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้สมาร์ทโฟนรับรู้ได้ว่าผู้ใช้กดหน้าจอแรงหรือเบาเท่านั้น กระทั่งการออกแรงบีบด้านข้างตัวเครื่องก็สามารถรับรู้ได้เช่นกัน ซึ่งเบื้องหลังความสามารถเหล่านี้มิใช่การดัดแปลงหน้าจอเป็นพิเศษหรือติดตั้งฮาร์ดแวร์อย่างเซ็นเซอร์วัดแรงกดแต่อย่างใด อันที่จริงแล้วตัวฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับงานนี้มีเพียงลำโพงและไมโครโฟนเท่านั้น ซึ่งจะมีสมาร์ทโฟนเครื่องไหนที่ไม่มี 2 อย่างนี้บ้างล่ะ???
เทคนิคที่ทีมวิจัยใช้คือการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงออกมาทางลำโพงแล้วใช้ไมโครโฟนตรวจจับเสียงนั้นซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการจับและกดเครื่องสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ เพราะการจับและกดสมาร์ทโฟนที่แตกต่างกันอย่างน้อยก็ทำให้ทำให้คลื่นเสียงส่วนหนึ่งผ่านตัวเครื่องไปยังไมโครโฟนได้ไม่เหมือนกัน
คลื่นเสียงดังกล่าวมีความถี่ 18 kHz ซึ่งใกล้เคียงกับขอบเขตความถี่ของเสียงที่มนุษย์สามารถได้ยิน คือในช่วงความถี่ 20 Hz ถึง 20 kHz ซึ่งสำหรับบางคนแล้วจะไม่ได้ยินเสียงที่ความถี่ 18 kHz นี้เลย ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะรับรู้เสียงที่ความถี่ระดับนี้ได้เมื่อตั้งใจฟังโดยไม่มีเสียงอื่นรบกวนเท่านั้น (ลองทดสอบขอบเขตการได้ยินของตนเองได้ที่นี่)
ทีมวิจัยงาน ForePhone นี้ยังมีงานวิจัยที่ใช้เทคนิคตรวจจับเสียงสะท้อนของคลื่นเสียงความถี่สูงให้เป็นประโยชน์ ดังนี้
BumpAlert แอพสำหรับคนชอบเดินไปเล่นมือถือไป ใช้การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนทำให้รู้ว่ามีวัตถุอยู่ข้างหน้า ร่วมกับตัววัดอัตราเร่งในเครื่องทำให้รู้ได้ว่ากำลังเคลื่อนที่ไปทางไหน และใช้กล้องหลังของสมาร์ทโฟนเพื่อดูภาพแล้วตัดสินว่าสิ่งที่ผู้ใช้กำลังจะเดินไปถึงนั้นเป็นอันตรายที่อาจเกิดการชน/สะดุดหรือไม่ แล้วจึงแจ้งเตือนด้วยการสั่น
EchoTag ใช้การจำรูปแบบคลื่นเสียงสะท้อน ทำให้รู้ได้ว่าตอนนี้สมาร์ทโฟนอยู่ตรงจุดไหนในบ้าน และสามารถสั่งการแอพหรือฟังก์ชั่นต่างๆ ได้อัตโนมัติ เช่น ตั้งเวลาปลุกและปิดเสียงเรียกเข้าเมื่อมันรู้ตัวว่าถูกวางอยู่บนโต๊ะหัวเตียง
ถึงตรงนี้ก็คงต้องลุ้นกันต่อว่าจะมีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายไหนสนใจติดต่อเอางานวิจัย ForcePhone นี้ (และ/หรือ BumpAlert และ EchoTag) ไปใช้งานบ้าง
ที่มา - Michigan News via TechCrunch
Comments
ไอเดียดีมากเลย เหลือแค่เปิดลำโพงไว้ตลอดกินแบตแค่ไหน
กินแบตน่าดู ทั้งลำโพง กล้อง รันappค้างไว้ตลอด
จะมีเพื่อ
คลิปในข่าวก็มีโชว์ไอเดียให้ดูเป็นตัวอย่างนะครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
คิดถึงหนังเรื่อง Batman The Dark Knight ที่ Lucius Fox (มอร์แกน) สร้างขึ้นมาเลย
Force Touch มันก็โอเคนะแต่ ก็ขำตอนที่
Instagram ออกฟีเจอร์ใหม่ กด Force Touch แล้วจะดูรูปแบบ Preview ได้ แต่....ในวันเดียวกันก็ออกให้ Android ด้วย ทำเหมือนกันน่ะหล่ะ แต่แค่กดค้างไว้
Live Photo อีกตอนแรกหัดกดกันแทบตาย ให้มันเคลื่อนที่
พอ iPhone SE ออกมาก็ทำได้เหมือนกัน แค่กดค้าง
......เออ
บางอย่างเช่นกด icon เพื่อให้มันทำกิจกรรมบางอย่างได้ทันที มันก็โอเค
แต่ยิ่งสำหรับคนไทย ไม่ค่อยใช้กันหรอก บอกไม่กล้ากด กลัวจอพัง ไม่ก็ว่ามันยุ่งยากเกิน
เว็บ hearing test. ไฟล์เป็น mp3.....
ผมยังได้ยินอยู่นะ 18khz
14kHz นี่ยังได้ยิน พอขึ้นมา 15 kHz นี่ดับสนิท (-_-')
ขึ้นอยู่กับลำโพงด้วยครับ ลำโพงมือถือส่วยใหญ่ไม่รองรับ อย่างผมนี่เสียบ bose ถึงจะได้ยินถึง 18K แต่มือถือนี่ 14K ก็ดับละครับ