งานวิจัยของ MIT เกี่ยวกับโดรนนั้นมีมาต่อเนื่องหลายปี โดยกลุ่ม Robust Robotics Group แห่งห้องปฏิบัติการ CSAIL ของ MIT ในปัจจุบันได้พัฒนาโดรนให้มีขีดความสามารถในการบินเพิ่มมากขึ้น ด้านหนึ่งของงานนี้คือการพัฒนาความฉลาดของโดรนให้ใช้พลังงานลดน้อยลง อันจะช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ในการบินแต่ละครั้ง ซึ่งการทำ "แผนที่ลม" ก็เป็นเทคนิคหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ว่านี้
การทำแผนที่ลมที่ว่านี้คือการสร้างแผนที่ในคอมพิวเตอร์เพื่อจำลองสภาพการเคลื่อนที่ของกระแสลมในบริเวณที่โดรนจะทำการบิน ด้วยการประมวลผลของอัลกอริทึมตามหลัก CFD (พลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ) จะทำให้สามารถกำหนดเส้นทางการบินของโดรนโดยอาศัยประโยชน์จากลมในพื้นที่นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากแต่เดิมที่โดรนจะพยายามบินด้วยเส้นทางที่สั้นที่สุดไปยังเป้าหมาย ก็จะปรับเปลี่ยนเส้นทางเล็กน้อยเพื่อหลบลมต้านและใช้ประโยชน์จากลมหนุนให้มากที่สุด
ผลการวิจัยทดสอบระบุว่า หากในพื้นที่มีลมอ่อนๆ ความเร็วลมประมาณ 5 เมตรต่อวินาที การประหยัดพลังงานแบตเตอรี่นั้นจะทำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากความเร็วลมในพื้นที่ทำการบินเพิ่มถึงระดับ 10 เมตรต่อวินาที อัลกอริทึมที่ใช้ประโยชน์จากแผนที่ลมจะช่วยให้ประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ได้ถึง 39.4% ซึ่งจะทำให้โดรนเพิ่มระยะการบินก่อนหมดไฟได้ 10.8% แถมลดเวลาที่ใช้ในการบินสู่เป้าหมายได้ถึง 22% เพราะไม่ต้องเสียเวลาบินสู้ลม
ในตอนนี้งานวิจัยการทำแผนที่ลมนั้นยังเป็นการทำแบบ 2 มิติ โดยวัดค่าความเร็วของกระแสลมที่ความสูงระดับเพดานบินปกติของโดรนเท่านั้น ในอนาคตหากสามารถทำแผนที่ลมแบบ 3 มิติได้ ก็น่าจะทำให้ตัวเลขการประหยัดพลังงานเพิ่มสูงขึ้นได้อีก
งานวิจัยเกี่ยวกับโดรนในปัจจุบันของทีม Robust Robotics Group แห่งห้องปฏิบัติการ CSAIL นั้นยังมีการทำระบบสแกนพื้นที่ด้วยเลเซอร์เพื่อสร้างแผนที่ 3 มิติ ทำให้โดรนสามารถบินหลบสิ่งกีดขวางได้เองแม้ในพื้นที่แคบๆ ตลอดจนระบบการบินอัตโนมัติที่จะรองรับการปฏิบัติงานแม้ในบริเวณที่ไม่มีสัญญาณ GPS ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้โดรนสำหรับการสำรวจพื้นที่ตลอดจนปฏิบัติภารกิจค้นหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภัยพิบัติต่างๆ
ที่มา - IEEE Spectrum
Comments
แผนที่ลม
เอาไปไว้สร้างกังหันดักลม กับ พยากรณ์อากาศได้ไหมนะ
หรือว่าเอาไว้แพร่กระจายเชื้อโรคดี :p
หนึง => หนึ่ง