ท่าทีของธนาคารใหญ่หลายรายในไทยปีนี้ไปในทางเดียวกันคือ ตั้งบริษัทลูกหรือหน่วยงานย่อยมาทำงานด้าน FinTech ซึ่งกรณีของธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีข่าวมาโดยตลอดว่าตั้งบริษัทลูกชื่อ Digital Ventures และดึงเอา ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้บริหารด้านการตลาดชื่อดังที่ผ่านงานใหญ่ๆ มาแล้วหลายบริษัท เข้ามาดูแลเรื่องนี้
การขยับตัวของธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเด็นร้อน บวกกับผู้บริหารระดับบิ๊กเนม ส่งผลให้หลายคนจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารค่ายสีม่วงว่าจะเดินเกม FinTech อย่างไร
Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์คุณธนา ถึงยุทธศาสตร์ภาพรวมของ Digital Ventures ว่า SCB มองอย่างไรกับคำว่า FinTech ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้
ตอนแรกผมเข้ามาช่วยธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะที่ปรึกษา ตอนแรกก็เข้ามาช่วยเขียนแผน วางยุทธศาสตร์บ้าง มีช่วยงานเรื่องดิจิทัลอยู่บ้าง แต่พอมีเรื่อง FinTech เกิดขึ้นมาในจังหวะพอดี เลยได้มาทำเรื่องนี้
ที่มาที่ไปคือผู้ใหญ่หลายคนในธนาคารไทยพาณิชย์ มีความกังวลถึงโลกในอนาคตมาก กระแสข่าวเรื่องวงการไอที สตาร์ตอัพ ก็มีผลให้คนในธนาคารตื่นตัวมากขึ้น ที่น่าสนใจคือคนในแบงค์ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้เรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ในธนาคารมีคนพูดถึง technology disruption กันบ่อย แต่จะให้แบงค์กระโดดไปทำเองทันทีเลยคงไม่ได้ เพราะ FinTech ยังเป็นเรื่องใหม่มาก มีความไม่แน่นอนสูง โครงสร้างการทำงานของธนาคารเน้นไปที่ประสิทธิภาพเป็นหลัก จะให้ไปลองทำเรื่องนี้ด้วยโครงสร้างเดิมคงไม่สะดวกนัก เลยใช้วิธีตั้งเป็นบริษัทลูกมาทำแทน
ไอเดียเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากบอร์ด โดย ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย (ประธานกรรมการบริหาร) เป็นผู้ตั้งประเด็นนี้ขึ้นมาเลย ส่วนคุณอาทิตย์ นันทวิทยา (ซีอีโอ) ก็ผลักดันเรื่องนี้เต็มที่ สรุปว่าบอร์ดให้เงินมา 50 ล้านเหรียญไปทำแล็บเกี่ยวกับ FinTech
ผมถือเป็นผู้บริหารจากข้างนอกที่เข้ามาช่วยดู มาอยู่ในฐานะประธานกรรมการบริหารของ Digital Ventures ไม่ได้เป็นซีอีโอ หน้าที่คือเข้ามาเซ็ตอัพองค์กร หาคนที่ถูกต้องเหมาะสมเข้ามาทำงาน และเซ็ตวัฒนธรรมองค์กรให้เกิด
หน้าที่ของเราคือ ส่องดูว่าโลกภายนอกแบงค์เป็นอย่างไร อุตสาหกรรมการเงินทั่วโลกกำลังมุ่งไปทางไหน แล้วกลับมาบอกไทยพาณิชย์ว่าควรปรับตัวอย่างไร
ตอนแรกเราพูดกันถึงกระบวนการลงทุนในสตาร์ตอัพแบบปกติทั่วไป ลงทุนเพื่อได้รับผลตอบแทนกลับมา แต่ซีอีโอคุณอาทิตย์บอกว่าไม่ต้องการ เราไม่ได้ต้องการกำไร ไม่ได้ต้องการ exit แต่ต้องการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ (strategic investment) อะไรก็ตามที่ธนาคารสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ในแง่ตัวเงิน
Digital Ventures จะมีทั้งหมด 4 ยูนิตย่อย ได้แก่
Venture Capital อันนี้ตรงไปตรงมาคือเป็น VC ออกไปลงทุนในบริษัททั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะบริษัทไทย
Accelerator โครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพ กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ยูนิตนี้จะช่วยให้เรามีสัมพันธ์กับสตาร์ตอัพในไทย รู้จักว่าใครเป็นใคร ใครเก่งใครเจ๋ง
Products เป็นทีมภายในบริษัท มีหน้าที่ทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างอะไรก็ได้ที่น่าสนใจ ใช้เวลาไม่นาน แนวคิดพร้อมอยู่แล้ว
Labs เป็นทีมภายในอีกทีม ที่ทดลองนวัตกรรมในอนาคต เช่น blockchain ที่อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะใช้งานได้จริง แต่ทีมมีหน้าที่ทดลองเพื่อดูความเป็นไปได้
จะเห็นว่า Digital Ventures มีทั้งทีมที่ออกไปหาไอเดียข้างนอก (VC และ Accelerator) กับทีมที่พัฒนาไอเดียภายใน (Products และ Labs) อันไหนที่เราไปเจอแล้ว ลงทุนได้ในราคาเหมาะสม ก็จะไปลงทุน อันไหนแพงไปก็อาจดีลกันในฐานะคู่ค้า หรือไม่ก็ลองทำเอง เราต้องพร้อมรับทุกแบบ
โลกเราตอนนี้เป็น global เป็น regional ใช้แต่คนไทยล้วนคงเป็นไปไม่ได้ เราต้องคิดแบบ outside in นำความเชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามา
ต้องยอมรับว่าเมืองไทยก็เพิ่งเริ่ม บริษัทด้าน FinTech ยังมีขนาดใหญ่ไม่พอ ถ้าพูดถึงการลงทุน ไปลงบริษัทเมืองนอกง่ายกว่า แต่เราก็อยากสนับสนุนบริษัทไทย เลยต้องมีหน่วย Accelerator มาช่วยรับบทบาทนี้ด้วย
นโยบายการลงทุนของเราตอนนี้คือ เรายังไม่เชี่ยวชาญเรื่อง FinTech ยังต้องศึกษากันอีกมาก ถ้าไปลงทุนเลยมันเสี่ยง วิธีที่ง่ายที่สุดคือไปลงทุนในกองทุนอื่น (fund of fund) ก่อน โดยเริ่มจาก Golden Gate Ventures ที่ประกาศไปแล้ว เพื่อไปศึกษาว่าโลกเขาทำอย่างไร ไปดูตัวอย่างของจริงว่าเป็นอย่างไร เพราะของพวกนี้อ่านเองอย่างเดียวบางทีมันก็ไม่เข้าใจ ช่วงแรกคงยังยึดแนวทางนี้ก่อน
ส่วนการซื้อกิจการ (acquisition) ช่วงแรกคงยากหน่อย เพราะเป็นธนาคารติดกฎระเบียบเยอะ จะซื้อใครทีค่อนข้างยุ่งยาก เอาเป็นว่าเน้นลงทุนอย่างเดียวก่อน
เราตั้งเป้าว่าบริษัทจะมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 30 คน ตอนนี้เพิ่งมีคนประมาณครึ่งเดียวของที่ตั้งไว้
โครงสร้างองค์กรจะเป็นโมเดลทดลอง ไม่มีซีอีโอประจำ แต่ละทีมมีหัวหน้าทีม โดยมีผมเป็นประธานกรรมการบริหารของ Digital Ventures และมีซีโอโอ (COO) ดูแลงานหลังบ้าน งานเอกสารต่างๆ ให้ ต้องถือว่าไทยพาณิชย์กล้าหาญมากที่ยอมใช้โครงสร้างองค์กรแบบนี้
หน้าที่ของผมมีแค่หาคนมีฝีมือ มีทัศนคติเหมาะสมเข้ามา และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง หน่วยงานนี้ยังจะช่วยทดลองกระบวนการทำงานใหม่ๆ ให้กับธนาคารด้วย เช่น เราเป็นองค์กรตั้งใหม่ ระบบไอทีอยู่บนคลาวด์ทั้งหมดตั้งแต่แรก มีการทำงานข้ามระหว่างทีมกันได้ ถ้าอยู่ทีมนี้แต่อยากลองไปทำงานบางส่วนของอีกทีม เราก็ยินดีให้ลองถ้างานหลกไม่เสีย
Digital Ventures เป็นบริษัทตั้งใหม่ มีขนาดเล็ก ถือเป็นโอกาสร้างวัฒนธรรมองค์กรในฝัน (หัวเราะ) พอเป็นบริษัทเล็ก ทุกอย่างแชร์กันได้ ไอเดียมาแชร์กันได้หมด เป็น family culture ทุกคนเป็นครอบครัว
ต้องบอกว่ากลับกันเลย กลายเป็นว่าบอร์ดของไทยพาณิชย์กลับมองว่าเราช้าเกินไป (หัวเราะ) บริษัทเพิ่งจดทะเบียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มาได้ขนาดนี้ก็ถือว่าเร็วแล้ว แต่ก็ยังไม่ทันใจบอร์ด
บอร์ดถามเสมอว่าทำไมช้าไป เงินพอใช้รึเปล่า (หัวเราะ)
วาทกรรมพวกนี้มันเปลี่ยนไปทุกปี ก่อนหน้านี้ทุกคนพูดคำว่า disrupt คือมาฆ่าแบงค์ แต่ตอนนี้ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็น collaboration หรือร่วมมือกันแล้ว
ไอเดียหลายอย่างที่พูดกันเมื่อปีที่แล้วก็เริ่มเจอสภาพความเป็นจริง อย่างเรื่อง peer-to-peer lending หรือการกู้เงินระหว่างบุคคล ก็เจอการกำกับดูแลมากเพราะจะกระทบกับคนเยอะ
ผมอยากให้มองเรื่อง "digital consumer" ว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการเงินในอนาคต บริษัทไอทีทุกวันนี้ไม่ได้สนใจเรื่องกำไรหรือรายได้ มากเท่ากับการขยายฐานลูกค้าบนระบบดิจิทัล เพราะลูกค้าพวกนี้ถือเป็นสินทรัพย์
ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นดิจิทัลก็จริง อย่างพวกแอพ mobile banking คนใช้กันเยอะ แต่คำว่าเยอะของธนาคารบ้านเราก็อาจจะแค่ 1-2 ล้านราย เมื่อเทียบกับ digital consumer ของฝั่งไอทีอย่าง Facebook หรือ LINE ยังถือว่าเล็กมาก
ในระยะสั้น 2-3 ปีข้างหน้า ธนาคารคงได้รับผลกระทบไม่เยอะ ธุรกิจหลักยังเป็นเรื่องเงินฝาก เงินกู้ เหมือนเดิม ยังไ่มมีอะไรเปลี่ยน
แต่ในอนาคตระยะยาว ธุรกิจบางอย่างในปัจจุบันอาจจะหายไป เช่น ต่อไปการโอนเงินอาจไม่มีค่าธรรมเนียม เพราะ blockchain เข้ามาทดแทนได้ แต่ในทางกลับกัน เราอาจได้ธุรกิจใหม่อย่างอื่นเข้ามาแทนได้เช่นกัน
คำถามที่สำคัญคือทำอย่างไร เรา (SCB) ถึงจะไปยืนอยู่ตรงนั้นกับเขาด้วยในอนาคต ซึ่งเป็นหน้าที่ของ Digital Ventures ที่ต้องทำตัวเป็นเรดาร์ บอกธนาคารได้ว่าควรทำตัวอย่างไร
เรารู้ดีว่ามีคนคาดหวังและจับตาดูมาก แต่องค์กรเพิ่งตั้งก็คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ปีนี้คงได้เห็นโครงการใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ และข่าวการลงทุนก็คงมีออกมาเรื่อยๆ
มาคุยได้เลย ทุกวันนี้ก็มีคนมาคุยอยู่เรื่อยๆ ครับ แต่ต้องบอกก่อนว่าตอนนี้ SCB มีหน่วยงานลักษณะนี้อยู่ 2 หน่วยคือ SCB Innovation Center ที่ยังอยู่ภายใต้แบงค์ มีหน้าที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรม และเป็นดิจิทัล กับ Digital Ventures ที่เป็นบริษัทลูกแยกออกมา
ถ้าเป็นเรื่องการลงทุน สามารถเข้ามาคุยกับ Digital Ventures ได้เลย
ส่วนโครงการ Accelerator ที่กำลังจะเปิด เป้าหมายคือเราอยากให้สตาร์ตอัพ ให้คนข้างนอกเข้ามาสัมผัสสภาพแวดล้อมแบบ "กึ่งแบงค์" คือได้ลองมาทำงานกับคนของแบงค์จริงๆ ได้ทำอะไรที่มัน 'real' ไม่ใช่เป็นแค่โครงการลอยๆ ที่จบโครงการ รับประกาศนียบัตรแล้วแยกย้ายกันไป
ภาพประกอบจาก SCB
Comments
สุดยอดเลยครับ ชอบมาตั้งแต่ทำที่ McJeans แล้วครับ...
ที่ตอนนี้คนน้อยเพราะเขาออกหรือป่าว หึหึหึ