Mohammad Choucair นักวิจัยจาก The University of Sydney ได้เผยแพร่บทความของตนผ่านเว็บไซต์ The Conversation ว่าด้วยเรื่องของวัสดุจากการเผาแนฟทาลีน (naphthalene) (สารประกอบหนึ่งที่พบในลูกเหม็น) สามารถใช้เป็นคิวบิตที่คงสถานะ superposition ในอุณหภูมิห้องได้ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ทำร่วมกับนักวิจัยประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศเยอรมนี
เท้าความก่อนว่าสถานะ superposition ของคิวบิตนั้นเปราะบางต่อสภาพแวดล้อมภายนอกมาก (แม้กระทั่งภายในวงจรเองก็สามารถรบกวนกันได้) ทำให้เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ข้อมูลในคิวบิตจะถูกสภาพแวดล้อมรบกวนจนไม่สามารถใช้งานได้ คอมพิวเตอร์ควอนตัมจึงต้องรักษาสถานะของคิวบิตไว้ให้มีอายุการใช้งาน (lifetime) มากที่สุดก่อนที่ข้อมูลจะสูญสลายไป รวมทั้งตัวคิวบิตเองก็ต้องมีอายุการใช้งานนานพอที่จะใช้ในการประมวลผลด้วย
งานวิจัยของ Choucair นั้นจะเน้นไปที่การรักษาสถานะสปินของอิเล็กตรอน (electron spin) ซึ่งเป็นสถานะแทนคิวบิตได้อย่างหนึ่ง โดยคอมพิวเตอร์จะต้องรักษาสถานะสปินของอิเล็กตรอนให้มีอายุการใช้งานเกิน 100 นาโนวินาที (10−7 วินาที) ถึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการประมวลผลเชิงควอนตัมได้
ที่ผ่านมา การรักษาสถานะสปินจะต้องแช่แข็งให้วงจรคอมพิวเตอร์มีอุณหภูมิต่ำมากๆ ในระดับที่ใกล้เคียงกับอุณหภูมิศูนย์สัมบูรณ์ตลอดการใช้งาน (ศูนย์สัมบูรณ์หรือ absolute zero คือ 0 K หรือ −273.15°C อุณหภูมิที่ต่ำที่สุดของวัสดุใดๆ ไม่มีทางที่จะมีอุณหภูมิต่ำกว่านี้ได้แล้ว ที่มา - วิชาการ.คอม) หรือถ้าจะให้คอมพิวเตอร์ควอนตัมสามารถทำงานที่อุณหภูมิห้องได้นั้น ก็ต้องผลิตวงจร (ในงานวิจัยของ Choucair บอกว่าเป็นส่วนของ host material) จากวัสดุที่ผ่านกระบวนการ “isotopic engineering” ซึ่งต้องใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในการผลิตกันเลยทีเดียว (ตัวอย่างงานวิจัยประเภทนี้ที่ผมหาเจอในกูเกิลคือ “Isotope engineering of silicon and diamond for quantum computing and sensing applications” อ่านเพิ่มเติมที่ arXiv) นั่นทำให้การสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมเพื่อใช้งานทั่วไปเป็นไปได้ยาก
ทีมวิจัยจึงนำเสนอให้ใช้ “carbon nanospheres” เป็นคิวบิต (carbon-based qubit) โดยวัสดุนี้สามารถรักษาสถานะสปินของอิเล็กตรอนที่อุณหภูมิห้อง 300 K (26.85°C) ได้ยาวนานถึง 175 นาโนวินาที (นานกว่า graphene ถึง 100 เท่า) และผลิตขึ้นมาได้ง่ายเพียงแค่เผาแนฟทาลีนเท่านั้น (ในเปเปอร์รายงานว่าเผาแนฟทาลีนที่อุณหภูมิ 473 K หรือ 199.85°C เป็นเวลา 72 ชั่วโมง) นอกจากนี้ ตัว carbon nanospheres ยังมีสมบัตินำไฟฟ้า (conductivity) และใช้เป็นวัสดุร่วมกับซิลิกอนในการผลิตเป็นวงจรคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย
Choucair เชื่อว่าการค้นพบนี้จะทำให้การสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น และเผยว่าขั้นต่อไปของการวิจัยคือการสร้างเกตควอนตัม (quantum gates เหมือนกับ logic gates บนคอมพิวเตอร์ทั่วๆ ไป) สำหรับ carbon nanospheres
งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communication ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ครับ
(ซ้าย) แนฟทาลีน (ขวา) carbon nanospheres ที่ได้มาจากการเผาแนฟทาลีน (ที่มาภาพ - Mohammad Choucair บน The University of Sydney)
ที่มา - The Conversation, The University of Sydney, Cosmos, งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communication
Comments
โอ้ว ข่าวใหญ่มากเลยนะครับนี่ ทุกวันนี้เท่าที่รู้ควอนตัมคอมพิวเตอร์มันใหญ่เพราะระบบหล่อเย็นล้วนๆ เลยนี่นา
แจ่มเลยยยยยย
ข่าวนี้ทำผมขนลุกพอๆ กับผลประชามติ
หึหึ
เยอรมันนี => เยอรมนี
เล็กตรอน => อิเล็กตรอน
แก้แล้วครับ
เก่งกันสุดๆจริงๆ ชื่นชมจากใจจริงครับ ขอให้พัฒนาต่อไปได้เร็วๆ
..: เรื่อยไป
พอรู้ 1 เรื่อง แตกแขนงได้ไปไกลเลยนะเนี่ย
ไม่อยากนึกสภาพชุดแต่งกายของคนที่ต้องเข้าไปซ่อม
พิษมันร้ายแรงขนาดนั้นเลยเหรอครับ? เป็นพิษด้านไหนหว่า
เรื่องพิษนี่ผมรู้แค่ว่าก่อนถูกเผามันเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต ส่วนหลังถูกเผาผมไม่รู้ แต่กลิ่นตอนมันโดนเผานี่เหม็นจนชวนเวียนหัว แถมขนาดใส่หน้ากากยังเหม็นเลยครับ
คือมันน่าจะโดนปิดทับอยู่ในตัว CPU เลยนะครับ ไม่น่าโดนได้ถ้าไม่หักมันออกมาหรืออะไรแบบนั้น
อ่านไปอ่านมาผมว่าผมเข้าใจผิด เพราะเนื้อหาข่าวบอกว่าเอา naphthalene ไปเผาเป็น carbon nanospheres แล้วเอา carbon nanospheres ไปใช้กับ quantum computer เพราะฉนั้นไม่น่าจะหลงเหลือ naphthalene ให้ดมครับ
ครับ ผมเข้าใจว่าใช้เฉพาะของที่ได้จากเผามาหมดแล้วไม่เหลือตัวแนฟทาลีนเหมือนกันนะครับ
แต่ผมอยากให้คุณ hisoft หาโอกาสสัมผัส "กลิ่น naphthalele ถูกเผา" ซักครั้ง...
5555 ไม่เคยโดนกับตัวแต่เคยได้ยินคำร่ำลือมาครับ ถ้าได้ลองสักครั้งก็อาจจะดีนะครับจะได้ฝังใจ
น่าจะรอคนรู้เคมีมาอธิบายดีกว่า ในส่วนนี้ผมจับแพะชนแกะ ถ้าต้องการข้อมูลถูกต้องให้ข้ามไปดีกว่านะ
ในวิกิลงสมการนี้ไว้ โดย C10H8 คือแนฟทาลีน
C10H8 + 4.5 O2 → C6H4(CO)2O + 2 CO2 + 2 H2O
ซึ่ง C6H4(CO)2O คือ Phthalic Anhydride ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ อย่างรุนแรง
ขอบคุณครับ แต่ผมคิดว่ามันน่าจะมีไม่เยอะแล้วไม่สามารถสัมผัสได้ถ้าไม่พังมันออกมาก่อน? แบบอาจจะใส่ไว้ไม่กี่อะตอมในพื้นที่ปิด?
อา...สมการที่ผมเอามาบอกคือตอนที่แนฟทาลีนโดนเผาตามปกติ แต่ถ้ากลายสภาพเป็น carbon nanospheres ตามบทความแล้วไม่รู้ว่าจะมีองค์ประกอบยังไง ผมเข้าใจว่าเนื้อหาในในวารสาร Nature Communication น่าจะมีอธิบายไว้บ้าง แต่ผมยังอ่านไม่เข้าใจน่ะครับ
หมายถึง absolute zero ใช่ไหมครับ ?
งานนำเสนอนี้น่าสนใจในเรื่องเด่นที่คงสถานะที่ทำงานได้ในอุณภูมิห้องและวัตถุที่หาไม่ยากนัก (ตอนนี้ก็อยู่ในห้องน้ำกับตู้เสื้อผ้าบ้านผม :P )
ส่วนแกรฟีนอดเป็นตัวเอกไปอีกเรื่อง