เกม Pokémon GO ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จากการออกแบบเกมที่แปลกใหม่สำหรับคนจำนวนมาก และตัวละครที่คนเข้าถึงได้มาก ความนิยมเช่นนี้ทำให้หลายคนกังวลว่าผู้พัฒนาเกมจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มหาศาลเพียงใด
ที่จริงแล้วปัญหานี้คงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เกม Pokémon GO เพียงอย่างเดียว บริการออนไลน์แทบทุกตัวทั้ง เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, Foursquare, หรือแม้แต่จีเมล ก็มีประเด็นที่เราควรต้องระวังอย่างสมเหตุสมผลทั้งสิ้นแม้ว่าเราควรจะระมัดระวังบนฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่ทฤษฏีสมคบคิดที่แพร่หลายโดยไร้ที่มาก็ตาม
บทความนี้แนะนำถึงประเด็นการเผยแพร่ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ในการเล่นเกม Pokémon GO มันไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ แต่เป็นการเตือนว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่เรากำลังเผยแพร่ออกไปในการเล่นเกมนี้
บนแอนดรอยด์ Pokémon GO ขอสิทธิ์ 4 อย่างหลัก ได้แก่ การเข้าถึงรายชื่อติดต่อ (contacts), การเข้าถึงกล้อง (camera), เข้าถึงตำแหน่ง (locations), และเข้าถึงสตอเรจ
การเข้าถึงตำแหน่งนั้นเป็นเรื่องที่ปกติสำหรับเกมที่ต้องใช้พิกัดของผู้เล่นเช่นนี้ หากไม่สะดวกใจที่จะเปิดเผยตำแหน่งของตัวเองให้ผู้พัฒนาเกมทราบคงไม่มีทางอื่นนอกจากไม่เล่นไปเสียเลย และส่วนการเข้าถึงสตอเรจนั้นก็เข้าใจได้ว่าสำหรับการเซฟภาพ
สิทธิ์การเข้าถึงรายชื่อติดต่อนั้นเป็นสิทธิ์ที่แปลกที่สุด เพราะผมไม่พบว่าตัวเกมมีฟีเจอร์ใดจำเป็นต้องเข้าถึงรายชื่อในเครื่องของเรา และผมพบว่าแม้จะปิดสิทธิ์นี้ไว้ตั้งแต่ทีแรกก็เล่นเกมนี้ได้ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนสิทธิ์การเข้าถึงกล้องนั้นยังเข้าใจได้ว่าเพื่อการเข้าถึงภาพในโหมด AR
คำแนะนำ: ปิดสิทธิ์การเข้าถึงรายชื่อติดต่อเสีย สำหรับคนที่กังวล ผมพบว่าแม้จะปิดสิทธิ์กล้องและสตอเรจแล้วเกมก็ยังเล่นได้อยู่ แม้บางฟีเจอร์จะไม่ทำงาน คงพิจารณาตามแต่แนวทางการเล่นได้
เป้าหมายหนึ่งของเกมคือการยึดยิม (gym) เพื่อนำไปขอเงินรางวัลประจำวัน เมื่อเราสู้จนชนะ สิ่งที่เราต้องรีบทำคือการรีบออกมาวางโปเกม่อนแย่งคนอื่นให้ทัน
เราควรตระหนักว่าการยึดยิมเช่นนี้ เป็นเหมือนการ check-in เป็นสาธารณะ ทุกคนที่ผ่านไปผ่านมาสามารถมองเห็นข้อมูลของเรา และกลายเป็นเครื่องยืนยันว่าเราผ่านจุดใดเวลาใด
แม้ว่าข้อมูลการยึดยิมจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามผู้ที่ยึดอยู่ในปัจจุบัน แต่ผู้ท้าชิงอื่นๆ หรือตัวเราเอง ก็อาจจะแชร์ไปตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ (เช่น 1, 2) เมื่อชื่อของเราออกสู่สาธารณะแล้วการควบคุมก็ทำได้ยาก
คำแนะนำ: ก่อนจะเข้ายึดยิม ควรตระหนักว่าเราพร้อมจะเปิดเผยว่าเราผ่านจุดไหนเวลาใดหรือไม่ อาจจะพิจารณาเพิ่มเติมหากเป็นจุดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น บ้าน, ที่ทำงาน ที่ผู้อื่นอาจจะสังเกตพบได้ว่าเราผ่านจุดเหล่านี้บ่อยกว่าปกติ
เพิ่มเติม: การแชร์ภาพ Pokestop ต่างๆ ก็เช่นเดียวกับการยึดยิม ที่เป็นการแชร์ตำแหน่งของเรา แต่การแชร์ด้วยตัวเองเรามักจะควบคุมได้มากกว่า เช่น จำกัดคนเข้าถึงภาพที่เราแชร์
ฟีเจอร์สำคัญใน Pokémon GO คือการโยนบอลจับโปเกม่อนแบบ augmented reality (AR) ที่ทำให้เหมือนมีโปเกม่อนอยู่ในโลกความเป็นจริงให้เราไล่จับกัน ฟีเจอร์นี้ไม่ใช่ฟีเจอร์บังคับในเกม แต่หลายคนก็ชื่นชอบเพราะบางภาพบางมุมก็ให้อารมณ์ร่วมกับเกมได้มากขึ้น
ข้อควรระวังในการใช้งานคงเป็นข้อควรระวังเช่นเดียวกับการใช้กล้องในที่สาธารณะโดยทั่วไป โดยเฉพาะในอาคารที่คนหนาแน่น หากเราสนุกกับเกมมากเกินไปอาจจะเป็นการรบกวนไปจนถึงละเมิดความเป็นส่วนตัวคนอื่น
คำแนะนำ: หลีกเลี่ยงการใช้โหมด AR ในที่แคบ ถ้าลืมปิดอย่างน้อยก็เอานิ้วปิดกล้องเสีย ระวังการแชร์ภาพจาก AR ว่ามีภาพคนที่ไม่เกี่ยวข้องติดมาด้วยหรือไม่ หากมีควรพิจารณาเซ็นเซอร์ใบหน้าหรือข้อมูลส่วนบุคคล (เช่นป้ายทะเบียนรถ) ของคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกเสีย
Comments
ผมว่าน่าคุยกันเรื่อง #ทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่หลายโดยไร้ที่มา มากกว่านะครับ 555
my blog
เรื่องเลือก Permission ผมไม่แน่ใจว่าใน Lolipop (อย่าง ZenFone2 ของผมตอนนี้ ;w;) ) จะทำได้มั้ย
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
สงสัยเอารายชื่อไปทำ mining แน่นวล เผื่อจะเจอ pattern แค่ match email แล้ว plot ลง geomap นี่รู้เลยว่า ใครเพื่อนใคร บ้านอยู่ไกลกันแค่ไหน
หรือจะใช้งานตอน Mode ต่อสู้ ที่จะอัพเดต
ผมเข้าใจว่า Contact Permission ใช้ตอนที่ดึงอีเมล์์ที่เราล็อกอินไว้กับเครื่องมาให้เรากด log-in เข้าเกมครับ
ผมเข้าใจเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วยตัวนะครับ
แต่ก็รู้สึกว่าถ้าขีวิตมันอยู่ยากหวาดระแวงขนาดนั้นก็อย่าเล่นเลยดีกว่าครับ ใช้ social network แบบรับอย่างเดียวมันไม่ยุติธรรม
ไม่ยุติธรรม?
ไม่ยุติธรรมกับใครครับ?
lewcpe.com, @wasonliw
เปรียบเทียบเหมือน
เพื่อนๆ นั่งล้อมวงคุยกันผลัดกันเล่าเรื่องของตัวเอง แต่มีอยู่คนนึงนั่งเงียบๆ อยู่นอกวงเอาผ้าคลุมตัวแล้วแอบฟังคนอื่นคุยกัน
ผมว่าไอ้คนเนี้ยน่ากลัวว่าจะเป็นภัยต่อคนอื่น
คนอื่นก็เลือกได้ว่าจะไม่คุยโดยมีคนนี้ในวงครับ และการคุยแบบนี้คือการจำกัดวง ซึ่งโดยทั่วไปผมมองว่ามีประเด็นต้องกังวลน้อยกว่าการเปิด public (เช่นการยึดยิม) มาก
กรณีที่คุณยกมามันไม่ใช่เรื่องความยุติธรรมอะไร แต่เป็นประเด็นการตระหนักว่ามีใครฟังข้อความอยู่ มีคนฟังอยู่เงียบๆ อันนั้นเป็นการตัดสินใจของคุณกันเองว่าจะยอมให้คนที่ฟังเงียบๆ เช่นนี้ฟังต่อไหม
ยิ่งคุณเปิด public ออกสู่อินเทอร์เน็ต คนทั้งโลกสามารถฟังเงียบๆ และค้นข้อความย้อนหลังได้ กรณีเหล่านี้ต้องรู้ตัวก่อนตัดสินใจแชร์ข้อมูล
lewcpe.com, @wasonliw
ใช่ครับ ที่คุณ lew พูดถึงคือสิทธิ์และความรับผิดชอบในความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรพิจารณาครับ
แต่ผมพูดถึงความยุติธรรมในการปฏิสัมพันธ์น่ะครับ เป็นเรื่องมารยาทอะไรแบบนั้น
ประมาณว่า
ผมยินดีเปิดเผยตัวตนเพื่อให้เรามาทำกิจกรรมร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์กัน แต่มีเขาคนหนึ่งที่เข้ามาเพื่อทำกิจกรรมด้วยแต่ไม่ยอมแบ่งปันอะไรสักอย่าง มันน่าคุยด้วยมั้ยล่ะครับ
สั้นๆ คือ คนที่จะรับอย่างเดียวแต่ไม่ยอมเป็นฝ่ายให้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมสังคมตั้งแต่แรก
อันนี้เป็นอีกประเด็นครับ คนไม่มีปฏิสัมพันธ์กันแล้ว ก็ควรจัดความสัมพันธ์เสียใหม่ครับ ซึ่งไม่แปลก คนเราเอาจริงๆ ก็ไม่มีเวลาปฎิสัมพันธ์กับทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ตลอดเวลา
ประเด็นนี้อย่างเพื่อนใน Facebook เมื่อนานเข้า ผมเชื่อว่าเราควรรีวิวรายชื่อเพื่อนละจัดความสัมพันธ์เสียใหม่ให้ตรงความเป็นจริงเป็นระยะๆ ครับ ใครที่ไม่ได้คุยไม่ได้เจอกันแล้วอาจจะปรับเป็น acquaintance หรือไม่ก็ unfriend ไปเสีย
lewcpe.com, @wasonliw
เดี๋ยวนี้ผมปิด AR เล่นตลอด รู้สึกโยนบอลง่ายกว่าเก่ามาก
+1 ปิดเหมือนกันครับ ไม่ระรานคนอื่นดี เวลาเล่นตามที่ชุมชน