ถึงแม้จะไม่ได้มีญาณวิเศษหยั่งรู้ ไม่ได้มีตาทิพย์ และพลังพิเศษแบบมนุษย์กลายพันธุ์หรือยอดมนุษย์จากดาวอันไกลโพ้น แต่นักวิจัย MIT และ Georgia Tech ก็อ่านข้อความในหนังสือได้โดยไม่ต้องเปิดมันออกมา เบื้องหลังของความน่าทึ่งนี้คือการทำงานด้านรังสีและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ด้านการวิเคราะห์ภาพอักขระ
การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อการ "ส่องผ่าน" วัตถุนั้นเป็นเรื่องที่มีการค้นพบและประยุกต์ใช้งานกันมานานเกินกว่าศตวรรษแล้ว คลื่นที่ใช้เพื่อการนี้อันเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคงหนีไม่พ้นรังสี X ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 1895 โดย Wilhelm Röntgen ซึ่งจนทุกวันนี้รังสี X ก็ยังถูกนำมาใช้เพื่อส่องดูสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเพราะถูกบางสิ่งบดบังอยู่ ทั้งที่ใช้เพื่อการแพทย์, งานด้านความมั่นคง, งานตรวจสอบซ่อมบำรุงสิ่งต่างๆ ตลอดจนงานค้นคว้าวิจัย
แต่ใช่ว่ารังสี X จะช่วยให้มองเห็นได้ทุกสิ่งทุกอย่าง และหนึ่งในสิ่งที่รังสี X มองไม่ได้ ก็คือข้อความจากหมึกพิมพ์บนกระดาษที่ถูกปิดซ่อนเอาไว้ เพราะพลังงานของมันที่สูงเกินไปทำให้รังสีส่องทะลุผ่านเนื้อกระดาษและหมึกพิมพ์ข้อความได้หมดจนไม่อาจมองแยกแยะได้ และนี่คือที่มาที่ไปของการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในอีกช่วงความถี่ที่เรียกว่ารังสีเทราเฮิรตซ์มาทำหน้าที่นี้แทน
"รังสีเทราเฮิรตซ์" คืออะไร?
รังสีเทราเฮิรตซ์ คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นในช่วง 100 ไมโครเมตร จนถึง 1 มิลลิเมตร (ความถี่ตั้งแต่ 300 GHz ถึง 3 THz) ซึ่งเป็นช่วงความถี่รอยต่อระหว่างช่วงคลื่นอินฟราเรดและคลื่นไมโครเวฟ
พลังงานของคลื่นรังสีเทราเฮิรตซ์ในช่วงความถี่ 550 GHz ถึง 1 THz นั้นสามารถส่องผ่านเนื้อกระดาษได้ แต่ทว่าจะถูกลดทอนในระดับที่สังเกตได้เมื่อรังสีตกผ่านกระดาษในบริเวณที่มีหมึกพิมพ์เอาไว้ ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมการใช้รังสีเทราเฮิรตซ์จึงสามารถตอบโจทย์การอ่านข้อความบนกระดาษที่ถูกปกปิดไว้ได้ในขณะที่รังสี X ทำไม่สำเร็จ
Barmak Heshmet นักวิจัยผู้นำทีมของ MIT Media Lab ซึ่งเป็นทีมงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสื่อ ได้อธิบายถึงโจทย์สำคัญงานวิจัยที่ต้องการท้าทายอ่านหนังสือโดยไม่ต้องเปิดมันขึ้นมา ซึ่งแม้โจทย์ข้อแรกในการหาคลื่นที่เหมาะสมที่สามารถส่องผ่านกระดาษและแยกแยะบริเวณที่มีหมึกพิมพ์จะถูกแก้ได้ด้วยรังสีเทราเฮิรตซ์แล้ว แต่การที่จะ "อ่านหนังสือ" ได้นั้นย่อมหมายถึงผู้อ่านต้องไล่เรียงเนื้อความได้ ผู้อ่านต้องสามารถรับรู้ได้ว่าข้อความแต่ละประโยคที่เห็นนั้นอยู่บนกระดาษแผ่นไหน หน้าใดกันแน่ และนี่คือโจทย์ข้อถัดมาที่สำคัญ
หนทางในการพิชิตอุปสรรคเรื่องการแยกแยะและลำดับแผ่นกระดาษนี้คือการวิเคราะห์คลื่นสะท้อนจากหนังสือโดยอาศัยผลพวงความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านการถ่ายภาพความถี่สูง (สูงระดับล้านล้านเฟรมต่อวินาที สูงเสียจนจับภาพการเคลื่อนที่ของอนุภาคแสงให้เห็นกันได้แบบจะๆ) ทำให้ MIT มีระบบเซ็นเซอร์และระบบวิเคราะห์ที่ไวต่อคลื่นสัญญาณอันแสนละเอียดอ่อนได้ ซึ่งเทคนิคที่ทีมวิจัยใช้คือในการส่องรังสีเทราเฮิรตซ์เพื่อดูเนื้อความในหนังสือ ก็จะทำการส่งคลื่นแบบเป็น pulse เพื่อใช้แยกแยะหน้ากระดาษควบคู่ไปด้วย คลื่นแบบที่ว่านี้จะถูกสะท้อนกลับมาบางส่วนโดยชั้นของอากาศที่คั่นกลางอยู่ระหว่างแผ่นกระดาษ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์คลื่นสะท้อนเหล่านี้ได้แล้วก็จะทำให้ทีมวิจัยสามารถรับรู้ได้ว่าข้อความที่ระบบคอมพิวเตอร์มองเห็นนั้น เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่บนกระดาษแผ่นไหน
โจทย์ข้อสุดท้ายของงานวิจัยอ่านข้อความจากหนังสือที่ปิดอยู่นี้ คือการทำให้คอมพิวเตอร์มีความความเข้าใจตัวอักษรที่มองเห็นด้วยรังสีเทราเฮิรตซ์ ซึ่งจุดนี้เป็นหน้าที่ของอัลกอริทึมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Georgia Tech ให้รู้จักวิเคราะห์ตัวอักษรที่ปรากฏในภาพถ่ายรังสีได้ โดยแม้ว่าในการทดลองจะมีภาพตัวอักษรจากกระดาษหลายแผ่นปรากฏเป็นเงาซ้อนกันหลายชั้น แต่คอมพิวเตอร์สามารถแยกแยะองค์ประกอบส่วนโค้งเว้าและแนวเส้นต่างๆ ของตัวอักษรที่มีความเลือนรางหลายระดับแตกต่างกันได้ ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถอ่านข้อความได้อย่างแท้จริงในท้ายที่สุด
งานวิจัยของ Heshmet นี้สามารถช่วยให้อ่านข้อความจากกระดาษที่ซ้อนกัน 9 แผ่นได้ การจะทำให้ตัวเลขผลลัพธ์เพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่านี้จำเป็นต้องอาศัยพลังงานรังสีเทราเฮิรตซ์ที่สูงขึ้น ควบคู่ไปกับเทคนิคการวิเคราะห์คลื่นที่จะต้องดียิ่งกว่านี้ เพราะคลื่นสะท้อนจากชั้นอากาศระหว่างแผ่นกระดาษที่อยู่ลึกลงไปเกินกว่าแผ่นที่ 9 จะยิ่งมีกำลังอ่อนลง ทำให้ไม่อาจกรองมันแยกออกจากสัญญาณรบกวนได้ ส่งผลให้นักวิจัยไม่อาจทำการวิเคราะห์คลื่นได้สำเร็จ
บางคนอาจนึกประหลาดใจว่างานวิจัยนี้ จะนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรได้บ้าง เพราะดูเหมือนว่าการเปิดหนังสือพลิกหน้ากระดาษไปเรื่อยเพื่ออ่านข้อความนั้นจะไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับมนุษยชาติ แต่แท้จริงแล้วงานวิจัยนี้ก็มีงานที่เหมาะกับมันอยู่ ตัวอย่างเช่นการใช้เพื่อการศึกษาวัตถุหรือบันทึกโบราณ ซึ่งอย่างน้อยในตอนนี้ก็มีพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan ได้ติดต่อมายังทีมวิจัยเพื่อจะขอนำมันไปใช้สำหรับงานศึกษาหนังสือเก่าแก่อันแสนบอบบาง ที่แม้แต่ภัณฑารักษ์ก็ยังไม่อยากจะแตะมันมากนักด้วยซ้ำ
อันที่จริงงานวิจัยนี้ไม่ใช่งานใหม่ที่เพิ่งประสบความสำเร็จ นักวิจัยสามารถใช้เทคนิคที่ว่านี้เพื่ออ่านข้อความจากกระดาษที่อยู่ในซองปิดผนึกได้สำเร็จเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว แต่ความก้าวหน้าในวันนี้ที่สามารถอ่านข้อความบนหน้ากระดาษที่ซ้อนกัน 9 หน้า คือผลลัพธ์ที่เพิ่มพูนรุดหน้ากว่าทศวรรษที่แล้วมาก และวันหนึ่งอาจนำไปสู่การมองเห็นสิ่งใหม่ที่เปิดปูมประวัติศาสตร์จากบันทึกในอดีตซึ่งไม่เคยมีใครล่วงรู้มาก่อนได้สำเร็จ
ที่มา - MIT News
Comments
ถ้าเป็นสมัยก่อน คงมีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างมาก แต่เดี่ยวนี้ จดหมายกระดาษแทบไม่มีใครไช้แล้ว
ว่าแต่ ธนาคาร ที่นิยมส่งบัตรเครดิตกับกระดาษpasswordลายสีดำ คงต้องคิดอะไรบ้างแล้วหละ
samsung ใหญ่แค่ใหน ?
https://youtu.be/6Afpey7Eldo
คือถ้าเข้าถึง physical ได้ จะใช้เทคโนโลยีไฮเทคในแล็บ หรือจะวิธีโบราณฉีกซองเปิดอ่านก็ไม่ได้แตกต่างครับ
ฉีกซองอ่านเลยมันยังเห็นว่าซองถูกฉีกนี่ครับ อย่างน้อยก็ต้องใช้ความสามารถในการทำซองใหม่ให้เนียนขึ้นมา
ความน่ากังวลก็จะเหมือนการแฮคแบบ MiM ไงครับ เราไม่รู้ตัวว่าโดนรู้ความลับไปแล้ว ถ้าซองโดนฉีกก่อนเราก็ยังบอกให้ทำการอายัดหรือเปลี่ยนบัตรและตรวจสอบรายการก่อนได้ ถ้าไม่รู้นี่ก็ใช้ๆไปรู้ตัวอีกทีอาจเสียหายหนักก็ได้
ผมนึกถึงการเอาไฟฉายแรงๆ ส่องระหว่างซองหน่ะครับ ถ้าอ่านดีๆ ก็ดูเนื้อในได้โดยไม่ต้องเปิดดูเลย //แต่ถ้าถมดำทั้งสองด้านก็ลาก่อน
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
นักวิจัยสามารถใช้เทคนิคที่ว่านี้เพื่ออ่านข้อความจากกระดาษที่อยู่ในซองปิดผนึกได้สำเร็จเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว แต่ความก้าวหน้าในวันนี้ที่สามารถอ่านข้อความบนหน้ากระดาษที่ซ้อนกัน 9 หน้า คือผลลัพธ์ที่เพิ่มพูนรุดหน้ากว่าทศวรรษก่อนมาก
คือ เขาถึงมีการถมดำไว้ไงครับ
If NSA use it, we will have another huge problem for personal privacy.
Get ready to work from now on.
นึกถึงเครื่องสแกนในอนาคต วางหนังสือทั้งเล่มแล้วสแกนได้เลย ความปลอดภัยคงต้องอาศัยการเข้ารหัส หรือหมึกพิเศษ เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี
ก็ยังต้องใช้ตาในการอ่าน
น่าจะเป็นอ่านหนังสือได้แม้ไม่ต้องเปิดหนังสือ
ผมว่าเราควรมี tag #jusci
บอกไว้เป็นข้อมูล ในปี 2015 เคยทำได้กับการอ่านม้วนจารึกโบราณครับ
http://www.bbc.com/news/science-environment-30888767
ต่อไปน่าจะมีแว่นตาเอ็กซ์เรย์ มองปุ๊ปรู้เลยว่าข้างในมีอะไร
คงช่วยให้เห็นคนที่ซุกระเบิดได้
ปรากฎว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่มีแค่ 0.1% ที่เอาไปใช้ตรงวัตถุประสงค์
ผมนี่นึกถึงโหมด infared ของกล้อง sony ในตำนานเลย
ต้องเสียบการ์ดกับใช้ไฟฟ้าสถิตย์ในตัวคนไหมครับ จะได้ไปพักผ่อนให้พอเหมาะ :P
วัตถุประสงค์ตรงกับที่คิดไว้เลย และอ่านความคิกเห็นของคนอื่นแล้วก็น่าเอาไปประยุกต์ใช้อย่างอื่นได้ (ไม่ว่าจะสร้างสรรค์หรือไม่ก็ตาม)
เป็นเทคโนโลยีที่ "ก้าวหน้า" จริงๆ ครับ :D
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.