ขณะที่อุปกรณ์สื่อสารและอิเล็กทรอนิคส์บนโลกนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมาด้วยยิ่มหนีไม่พ้นขยะจากอุปกรณ์เหล่านี้ ทั้งตัวเครื่องและแบตเตอรี่ ที่ส่วนใหญ่จะถูกนำไปฝังดิน สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลูกโซ่ รวมถึงอาจส่งผลต่อสุขภาพ หากผ่านกระบวนการทำลายที่ผิดและไม่ได้มาตรฐาน
ด้านดีแทคได้เลือกบริษัท TES-AMM เป็นผู้จัดการขยะอิเล็กทรอนิคส์เหล่านี้ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนเก่าๆ ซึ่งดีแทคได้พาทีมงาน Blognone ไปชมกระบวนการรีไซเคิลที่โรงงาน TES-AMM ที่ประเทศสิงคโปร์ด้วย เลยเก็บมาเล่าสู่กันฟังครับ
หมายเหตุ ภาพค่อนข้างเยอะ
TES-AMM เป็นบริษัทที่ให้บริการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว พร้อมบริการลบล้างและทำลายข้อมูลในอุปกรณ์ ก่อตั้งเมื่อปี 2005 ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิคส์ มีบริษัทและโรงงานหลายแห่งในเอเชียและยุโรป เพื่อเป็นการลดภาวะโลกร้อนและอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยรายได้หลักของบริษัทมาจากการขายชิ้นส่วนต่างๆ ที่ถูกรีไซเคิลแล้ว รวมถึงโลหะมีค่า ที่ถูกสกัดจากชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนนำมาหลอมให้มีความบริสุทธิ์และขึ้นรูป
TES-AMM พัฒนาโซลูชันและกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดขึ้นมาเอง โดยอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ จะมีชิ้นส่วนหลักๆ คล้ายกันคือ
เมื่อทาง TES-AMM ได้อุปกรณ์เหล่านี้มา ก็จะแยกชิ้นส่วนต่างๆ ให้ได้เป็นชิ้นส่วนที่เล็กที่สุดด้วยมือ และแยกประเภทของแต่ละชิ้นส่วนออกจากกัน เช่นพลาสติก โลหะ แบตเตอรี่และแผงวงจร
เมื่อแยกประเภทแล้ว ชิ้นส่วนแต่ละประเภทก็จะถูกนำไปผ่านกระบวนการลดขนาดหรือบดย่อย ซึ่งชิ้นส่วนที่ต้องระมัดระวังในการบดย่อยมากที่สุดคือแบตเตอรี่ โดยกระบวนการนี้จะต้องทำในห้องที่มีก๊าซเฉื่อย เพื่อป้องกันประกายไฟและการระเบิด
พลาสติกเมื่อถูกบดแล้ว จะผ่านกระบวนการอัดเม็ด (Palletization) ให้เป็นเม็ดพลาสติก ขณะที่โลหะ ที่ได้จากการอัดจะถูกนำไปหลอมและขึ้นรูปเป็นแผ่นโลหะ ที่สามารถนำไปใข้งานต่อได้
ส่วนชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างในแผงวงจรที่มีองค์ประกอบของโลหะมีค่าเช่นทอง เงิน พัลลาเดียม ฯลฯ ในฮาร์ดดิสก์ ที่มีองค์ประกอบของอลูมิเนียม ทองแดง บรอนซ์ เหล็ก ฯลฯ และในแบตเตอรี่ ที่มีองค์ประกอบของโคบอลต์และลิเทียม จะถูกผ่านกระบวนการทางเคมีหลายขั้นตอน เพื่อแยกและสกัดโลหะมีค่าต่างๆ ออกจากกัน ก่อนจะนำมาหลอม สกัดและขึ้นรูปในขั้นตอนสุดท้าย
TES-AMM พาคณะชมกระบวนการหลอมทองแบบ exclusive ด้วย - ด้านขวามือคือผงทอง
ทองคำแท่งที่ได้ ขนาดราว 1 ฝ่ามือผู้ใหญ่ น้ำหนักประมาณ 950 กรัม
TES-AMM ระบุว่ากระบวนการของบริษัท สามารถรีไซเคิลชิ้นส่วนต่างๆ ได้ราว 99% (อีก 1% สูญหายไประหว่างกระบวนการ) ส่วนรายได้สำคัญของบริษัทก็มาจากโลหะมีค่าเหล่านี้ โดยเฉพาะทองแท่ง ที่กว่าจะสกัดออกมาให้ได้ทองแท่งน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต้องใช้แผงวงจรของสมาร์ทโฟนราวๆ 250,000 - 300,000 เครื่อง ซึ่งผู้บริหาร TES-AMM บอกว่าในสมัยก่อนจะใช้จำนวนของแผงวงจรน้อยกว่านี้ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ผู้ผลิตสามารถผลิตแผงวงจร โดยใช้โลหะมีค่าในจำนวนที่น้อยลงเรื่อยๆ
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า นอกจากการทำลายแล้ว TES-AMM ยังมีนโยบายปกป้องข้อมูลและความลับของลูกค้า (ใน HDD) ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์หรือสนามแม่เหล็ก เพื่อทำลายข้อมูลใน HDD พร้อมมีใบรับรองยืนยันให้ด้วย และหากลูกค้ากังวลในขั้นตอนการขนส่ง บริษัทก็มีขั้นตอนและกระบวนการในการซีลพัสดุ เพื่อยืนยันว่า HDD ในนั้นจะไม่ถูกเปิดก่อนไปถึงโรงงาน รวมถึงมี GPS ติดตามรถขนให้เช่นกัน หากต้องการ
นอกจากกระบวนการข้างต้น ที่เป็นการลดขยะอิเล็กทรอนิคส์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ตัวโรงงานเองก็มีกระบวนการบำบัดน้ำและอากาศที่เสียก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติด้วย ซึ่งผู้บริหารบอกว่าทางการสิงคโปร์ จะมาสุ่มตรวจทุกๆ 2-3 เดือน
ดีแทคเผยว่า ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิคส์ราว 419,000 ตัน เฉลี่ยเป็นอัตราการผลิตคนละ 6.4 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชีย
ขณะที่โครงการนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 แล้วด้วยการจัดวางกล่องรับแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ที่เสื่อมสภาพตามสถานที่ต่างๆ ก่อนจะคัดแยกและส่งไปให้กับ TES-AMM โดยปริมาณที่ดีแทครวบรวมและส่งไปให้มีจำนวนแล้วกว่า 1.5 ล้านชิ้น และตั้งเป้าจะจัดเก็บแบตเตอรี่เสื่อมสภาพให้ได้อีกราว 440,000 ชิ้น, เพิ่มจุดรับอุปกรณ์เสื่อมสภาพ และพยายามสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น ภายในปี 2560
Comments
โนต7นับล้านเครื่องรอผ่านกระบวนการนี้อยู่สินะ
ใช้ทองคำไปมากแค่ไหนนะ
ถ้าอยู่ต่างจังหวัด แล้วอยากจะขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคเก่าๆ ปัจจุบันเราสามารถขายผ่านทางไหนได้บ้างครับ
ผมเคยเห็นกล่องตามร้านของดีแทค แต่ไม่รู้รายละเอียดของกระบวนการ อ่านบทความนี้ก็ได้รายละเอียกเพิ่มขึ้น