Tags:
Forums: 

เขียนโดย ดร.สหนนท์ ตั้งเบญจสิริกุล (รองผู้อำนวยการ) และ ดร.วีระชัย วิวัฒน์ชาญกิจ (ที่ปรึกษาอาวุโส) บริษัท ดีลอยท์ (ประเทศไทย)

สภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและอนาคต

จากข้อมูลสถิติและบทวิเคราะห์ขององค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย มีข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน คือ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในสภาวะชะลอตัวที่ยาวนาน (Prolonged Economic Slowdown) โดยมีสาเหตุหลักมาจาก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วขาดความยั่งยืน การซบเซาของการค้าระหว่างประเทศ ความผันผวนของตลาดการเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปัญหาความขัดแย้งด้านการเมืองในหลายภูมิภาคทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการชะลอตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศผู้ส่งออกส่งออกน้ำมัน อาทิ จีน รัสเซีย บราซิล ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลให้โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาเจริญเติบโตแบบเร่งตัวล่าช้าออกไป
ถึงแม้ว่า รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศใช้ นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลาย รวมไปถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่ ในภาพรวม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ถูกพิจารณาว่าเป็นผลในระยะสั้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเองไม่ได้ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ การอุปโภคบริโภค และการลงทุนอย่างเต็มที่ ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจขาดความยั่งยืน

ทั้งนี้ ดีลอยท์ (ประเทศไทย) ได้คาดการณ์ว่า อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (จีดีพี)· นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไปจะเป็นการเจริญเติบโตแบบชะลอตัว (slowdown growth) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% (อ้างอิงจาก รายงานเศรษฐกิจประจำไตรมาศที่ 3/2559 บริษัท ดีลอยท์ (ประเทศไทย) )

เศรษฐกิจไทยยังคงชะลอตัวอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและปัจจัยภายในประเทศ
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเจริญเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ 3.0% ในปี 2559 เป็นผลมาจาก ปัจจัยบวกหลายด้าน อาทิ การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ราคาพืชผลและพลังงานที่ดีขึ้น การขยายตัวอย่างต่อเนื่องในด้านการลงทุนจากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน การกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศไทย รวมไปถึงการรับร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการเลือกตั้งปลายปี 2560 ช่วยสะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเมืองของไทยที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในการลงทุนในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงมีความผันผวนและการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก ได้แก่ ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งสะท้อนได้จากภาคการส่งออกที่มีการเจริญเติบโตติดลบต่อเนื่อง ถึงแม้การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออกบริการ และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวมากขึ้น แต่หนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่สูง และเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหากับดับรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap) และ การสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในหลายภาคอุตสาหกรรมที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมขาดความต่อเนื่อง รวมถึงการขาดแคลนกำลังแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจัยเหล่านี้จะสร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ

วิธีบริหารจัดการในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
จากการที่นักวิเคราะห์ได้บ่งชี้ว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องไปในอนาคต และในกรณีที่เลวร้าย อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น การรับรู้และเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันสำหรับผู้บริหารและผู้ประกอบการในประเทศไทย รวมไปถึงการคาดการณ์และเตรียมความพร้อมเพื่อรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในอนาคตเป็นสิ่งจำเป็น ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หลายองค์กรได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร การลดต้นทุนการผลิต การปรับปรุงการบริหารเงินทุนหมุนเวียน การวางแผนภาษี การจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน รวมถึงการเข้าซื้อและควบรวมกิจการเพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง

จากประสบการณ์และความรู้ที่ ดีลอยท์ (ประเทศไทย) ได้สั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน การบริหารจัดการในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น ขั้นตอนการพัฒนากลยุทธ์ควรเริ่มต้นจากการประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และความน่าจะเป็นที่เหตุการณ์ต่าง ๆ จะเกิดขึ้น โดยแผนจะต้องครอบคลุมสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต (A Contingency Plan with Plausible Scenarios) ซึ่งนำเอาทั้งปัจจัยภายนอก และภายในองค์กรมาช่วยในการพัฒนาแผนรับมือต่อเหตุการณ์ในภาวะดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้บริหาร และผู้ประกอบการควรตระหนักอยู่เสมอว่า แนวทางปฏิบัติจะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรง และระยะเวลาของเหตุการณ์ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การวางแผนที่ผิดพลาดนั้น แทนที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่กลับจะเป็นการทำให้องค์กรเสียโอกาสที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในอนาคต เช่น หากองค์กรทำการลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างในกระบวนการผลิต ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเงินเดือน และลดจำนวนพนักงานลง ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเพียงระยะสั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และส่งผลเสียกับองค์กร แต่ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวเป็นระยะเวลานาน และมีความรุนแรงจนทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะล้มละลาย การที่องค์กรไม่มีการวางแผนเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ และการบริหารด้านการเงินที่ดีพอ จะส่งผลให้องค์กรสูญเสียโอกาสที่จะก้าวกระโดดไปข้างหน้าในวันที่เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
เพื่อที่จะบริหารจัดการในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารที่ทำหน้าที่ กำหนดนโยบาย กลยุทธ์องค์กร และแผนการเงิน จำเป็นต้องทำงานรวมกันเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ในอนาคต ระยะเวลา และความรุนแรงของเหตุการณ์ และความน่าจะเป็นที่แต่ละเหตุการณ์จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ควรจะมีการนำแผนการเงินไปทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) เพื่อช่วยประเมินผลกระทบความเสี่ยงทางการเงิน ภายใต้ข้อสมมติของแต่ละเหตุการณ์ (Scenarios)

กรณีเศรษฐกิจชะลอตัวระยะสั้นๆ และผลกระทบเบา การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น คือ สิ่งที่ผู้บริหารและผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก เช่น ค่าใช้จ่ายในการประชุมภายใน การอบรมที่มีความสำคัญน้อย และงานด้านการกระบวนการบริหารต่างๆ ที่ไม่สำคัญ โดยอาจจะย้ายกระบวนการบางส่วนไปที่ต่างประเทศเพื่อลดค่าใช่จ่าย แต่ทั้งนี้ การลดจำนวนพนักงานยังไม่มีความจำเป็นในกรณีนี้ ในขณะเดียวกัน การลงทุนสำคัญต่างๆ และการสร้างความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าหลักยังมีความสำคัญและต้องทำต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์กรสามารถที่จะลงทุนในด้านการพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้า และพัฒนาการบริการให้ดีขึ้น ภายใต้สภาวะที่ไม่แน่นอนในอนาคต

ในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นและมีผลกระทบปานกลาง องค์กรควรจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการด้านบุคลากร เช่น การจ้างงาน การอบรม และการกำหนดค่าตอบแทนต้องดำเนินการอย่างรัดกุม รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน แทนที่จะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพียงอย่างเดียว ในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งโดยปกติ จะมีผลกระทบรุนแรง องค์กรจะต้องควบคุมเรื่องค่าใช้จ่าย การจัดการบุคลากร และการลงทุน อย่างรัดกุม

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารและผู้ประกอบการสามารถมองภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นเหมือนโอกาสสำหรับการปรับปรุงองค์กร และหาโอกาสขยายธุรกิจ เช่น การนำเอาเทคโนโลยีหรือแนวทางบริหารแบบใหม่มาปรับใช้แทนรูปแบบเดิม การบริหารความเสี่ยง การปรับโครงสร้างบุคลากร และการผลิตต่างๆ รวมไปถึงการจัดการด้านการเงินใหม่ที่ตอบสนองกับความผันผวนของตลาดมาใช้ในองค์กร การลงทุนในธุรกิจอื่น หรือ การควบรวมกิจการ เพื่อที่จะสามารถขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดดในช่วงที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ การลงทุนต่างๆ ควรคำนึงถึงเรื่องความเสี่ยงในการหมุนเวียนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก ซึ่งก็จะแตกต่างไปตามระดับความรุนแรงและระยะเวลาที่คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว
กล่าวโดยสรุป จากที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะยังคงตกอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องไปในอนาคต ผู้บริหารและผู้ประกอบการ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ถึงแม้ว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยปกติแล้ว จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการดำเนินงานและผลประกอบการของธุรกิจ แต่ในหลายสถานการณ์ นำมาซึ่งโอกาสที่บริษัทจะสามารถเติบโตในอนาคต ทั้งนี้ องค์กรที่สามารถคาดการณ์แนวโน้มและความรุนแรงของภาวะเศรษฐกิจ และเข้าใจถึงผลกระทบและโอกาสที่จะเกิดขึ้น จะสามารถพัฒนาและบริหารจัดการภายใต้สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความได้เปรียบในการแข่งขันในวันที่เศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

Get latest news from Blognone