งาน ITU Telecom World 2016 เริ่มขึ้นแล้วที่กรุงเทพฯ สำหรับปีนี้ หัวเว่ยเปิดตัวนิทรรศการในธีม “ก้าวเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อโลกที่เชื่อมถึงกันได้ดีกว่า” (Enabler of the Digital Economy, Building a Better Connected World) นำเสนอไอเดียและเปิดประสบการณ์การใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ล่าสุด เครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ การสื่อสารไร้สายแบบ Ultra-fast และสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ มุ่งส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกวางกฎหมายด้านไอซีทีให้ครอบคลุมมากขึ้น และลดข้อจำกัดลง หัวเว่ยกล่าวว่าแต่ละประเทศควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ปัจจุบันนี้ เราอยู่ในยุคคลาวด์ การกำหนดรูปแบบสังคมดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยคลาวด์กำลังเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนกว่าที่ผ่านมา หัวเว่ยคือผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ ๆ ในสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร และยังเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีคลาวด์ การแสดงนวัตกรรมของบริษัทในครั้งนี้ครอบคลุมเรื่องการนำระบบคลาวด์มาใช้งานในภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และการใช้งานส่วนบุคคล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของสังคมดิจิทัลในอนาคต อาทิ ระบบเซ็นเซอร์ ระบบเชื่อมต่อ และระบบอัจฉริยะที่พบได้ทั่วไป (Ubiquitous) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาปรับปรุงที่สำคัญด้านความปลอดภัย คุณภาพการให้บริการของภาครัฐ การศึกษาและการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตทางด้านวัตถุและวัฒนธรรม
หากระบบคอมพิวเตอร์ในอนาคตที่มีการใช้งานแพร่หลายไปทั่วโลก สามารถรวบรวมและบูรณาการข้อมูลในระบบเข้าด้วยกันได้ คอมพิวเตอร์เหล่านี้ก็จะสามารถสร้าง “มันสมองดิจิทัล” ที่รวบรวมข้อมูลจำนวนมากไว้ในระบบคลาวด์ ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่มีประสิทธิภาพ โดยมีศูนย์ข้อมูลและเครือข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติเป็นศูนย์สั่งการและเซลล์ที่คอยควบคุมสมองนี้ และในฐานะของผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านไอซีทีชั้นนำระดับโลก หัวเว่ยยังได้นำเสนอตัวอย่างของเครือข่ายบรอดแบนด์ระดับชาติที่ประสบความสำเร็จที่ได้ส่งมอบใช้งานทั่วโลกอีกด้วย
มร. โจว จื่อเล่ย ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมของหัวเว่ย กล่าวว่า “ดาต้าเซ็นเตอร์และเครือข่ายบรอดแบรนด์ถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งของโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลระดับชาติ หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างโลกที่เชื่อมต่อถึงกันได้ดียิ่งขึ้น และเราเชื่อว่าสำหรับประเทศหรือภูมิภาคที่กำลังพัฒนาใด ๆ ก็ตาม ที่กำลังมองหา “การพัฒนาแบบก้าวกระโดด” จำเป็นต้องใช้แรงผลักดันของนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนความร่วมมือเพื่อสร้างมาตรฐาน และการริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น หัวเว่ยเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นไอซีทีชั้นนำระดับโลก บริษัทมีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในการส่งมอบโซลูชั่นบรอดแบนด์ระดับชาติที่ประสบความสำเร็จ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศในการพัฒนาศักยภาพด้านบรอดแบนด์ให้ดีขึ้น”
เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality) และ 5G กลายเป็นเทคโนโลยียอดนิยมตัวใหม่ของปี 2016 และเทคโนโลยี VR แบบความเร็วสูง รวมไปถึงโซลูชั่น 5G แบบไร้สายของหัวเว่ยก็ได้รับความสนใจในงาน Telecom World ครั้งนี้เป็นอย่างมาก แอพลิเคชั่นใหม่ ๆ จะทำให้เกิดการไหลผ่านของข้อมูลขนาดมหาศาล หัวเว่ยยังได้เชิญชวนให้รัฐบาลและหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรับผิดชอบด้านการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่สำหรับโทรคมนาคมจากทั่วโลก อนุญาตให้ทีการนำคลื่นความถี่ออกมาใช้เพื่อการโทรคมนาคมให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายนำเทคโนโลยีกิกะแบนด์แบบไร้สายมาใช้งานได้ ทั่วทั้งโลกควรเปิดกว้างและประสานความร่วมมือกันในการค้นคว้าวิจัยเรื่องเทคโนโลยี 5G เพื่อให้เกิดมาตรฐานระดับโลกเพียงหนึ่งเดียวขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยเชื่อมต่อโลกทั้งใบได้อย่างไร้พรมแดนด้วย
ภายในงานครั้งนี้ หัวเว่ยยังได้จัดแสดงเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคที่ทุกคนต่างตั้งตารอ อาทิ สมาร์ทโฟนรุ่น Mate 9 ผู้ที่มาเยี่ยมชมจะได้ยลโฉมเทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปของสมาร์ทโฟนใหม่ล่าสุดนี้ก่อนใคร
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาเยี่ยมชมโซนจัดแสดงของหัวเว่ย พร้อมด้วยพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มร. โฮ่วหลิน จ้าว เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับอาวุโส และหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านไอซีทีจากหลากหลายประเทศ รวมทั้งตัวแทนจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมชั้นนำของเอเชีย เช่น ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายยักษ์ของจีนทั้งสามราย เอไอเอส และทรู
เจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้บริหารองค์กร และบรรดาผู้นำในแวดวงโทรคมนาคมกว่า 4,000 คน จากกว่า 100 ประเทศได้เข้าร่วมงาน ITU Telecom World ครั้งนี้ โดยสโลแกนสำหรับการจัดงานในปีนี้คือ “ก้าวไกลฉับไว เร่งพัฒนานวัตกรรมไอซีทีเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” (Better Sooner, Accelerating ICT innovation to improve lives faster) ด้วยเป้าหมายที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีไอซีทีในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาระดับโลก