ตอนนี้ประเด็นเรื่อง "เด็กติดเกม" กำลังร้อนแรง แน่นอนว่าการติดเกมไม่ได้มีแต่ด้านลบเพียงอย่างเดียว แต่ในทางกลับกัน เกมก็เป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคนจนอาจส่งผลต่อชีวิตในระยะยาว
Blognone เคยสัมภาษณ์คุณวิทวัส กาญจนฉัตร ตอนนั้นทำงานอยู่กับบริษัท Turn ปัจจุบันย้ายมาทำงานกับ Facebook เป็นวิศวกรคนไทยที่สำนักงานใหญ่ของ Facebook ในแคลิฟอร์เนีย คุณวิทวัสเขียนเล่าชีวิตตัวเองว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ก็เคยมีชีวิตเป็นเด็กติดเกมมาก่อนเช่นกัน
เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีที่ได้ทำงานที่ Facebook ในฐานะ Software Engineer (หรือที่คนไทยเรียกว่าโปรแกรมเมอร์) เลยคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเขียนสรุปเรื่องราวที่ผ่านมา แต่รู้สึกว่ามีสิ่งที่อยากเขียนมากกว่าคือเรื่องเกี่ยวกับเกม เพราะจู่ๆ ที่เมืองไทยก็มีดราม่าเรื่องเกม เลยอยากบอกว่านอกจากปัจจัยอื่นๆ แล้ว การติดเกมก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนให้ผมมีทุกวันนี้ได้
และเห็นว่าช่วงนี้เมืองไทยกำลังขาดแคลนโปรแกรมเมอร์ในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ เลยอยากลองสรุปว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่น่าจะสร้างโปรแกรมเมอร์ขึ้นมาได้ เผื่อจะช่วยใครที่กำลังตัดสินใจมาทางนี้หรือชอบทางนี้อยู่แล้ว แต่อยากลองหาทางพัฒนาตัวเองครับ
ผมคิดว่าทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเป็นโปรแกรมเมอร์มาจาก (1) ความอยากสร้างสิ่งของด้วยตัวเอง และ (2) ภาษาอังกฤษ ผมได้ทักษะทั้งสองอย่างจากการที่ผมชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็ก เนื่องจากที่โรงเรียนให้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ ป. 1 (สมัยที่ยังใช้ floppy disc 5.25”) ที่สอนให้เล่นเกมประเภท CAI (Computer Aided Instruction) เช่น Mario Typing, Super Solvers Treasure Mountain, Cove และเกมอื่นที่จำชื่อไม่ได้ (แต่จำชื่อ Command line เข้าเกมได้: rr1 rr2 sst ssr ssb)
ตอนนั้นเหตุผลที่ชอบคอมพิวเตอร์คือ หน้าจอมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและตอบสนองกับการกระทำของเราแบบทันที (มี interaction) ผมรู้สึกว่ามันว้าวมากๆ และทำให้ผมชอบวิชาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ตอนนั้น
ผมเลยมีความฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ตั้งแต่ตอนนั้น เพราะชอบอยู่กับคอมพิวเตอร์
ที่บ้านมีเครื่องคอมพิวเตอร์ (Compaq Presario 7152 ที่มากับ Pentium 75MHz) เนื่องจากแม่มีวิสัยทัศน์อันยาวไกลที่อยากให้กิจการมีคอมพิวเตอร์ใช้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผมหัดเขียนโปรแกรมตั้งแต่สมัยที่ผมยังเกรียนๆ โดยเริ่มจาก MS QBasic ที่แถมมาในเครื่อง โดยศึกษาคำสั่งเขียนโปรแกรมจาก Help files หลังจากนั้นก็หัดเขียนเว็บ HTML แบบง่ายๆ โดยอ่านหนังสือในห้องสมุด
พอได้คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่แรงขึ้น (Pentium 4) ก็หัดเขียนโปรแกรมบนวินโดวส์โดยใช้ Delphi 4 โดยศึกษาจากหนังสือที่ซื้อมา รวมถึงนิตยสารคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย (สมัยนั้นอ่านนิตยสาร Computer Today, Microcomputer) ลองเขียนโปรแกรมแก้คะแนน Minesweeper, โปรแกรมรวม Shortcut แทนหน้าจอ Desktop ให้ที่บ้าน รวมถึงรับงานโปรแกรมแปลภาษาศัพท์การบิน จนสุดท้ายก็ได้สร้างสิ่งที่ออกสู่สายตาคนมากที่สุดตอนนั้น คือซีดีอนุสรณ์ของโรงเรียน
แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้เขียนสิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้น คือการรู้จักตู้เกม Ez2Dj เพราะชอบไปเล่นเกมกับเพื่อนๆ ที่มาบุญครอง นอกจากสนุกกับเกมแล้ว ยังได้สังคมใหม่ๆ นอกโรงเรียนด้วย ตอนนั้นรู้จักเพื่อนจากเว็บ Jammania ที่มีแต่เด็กติดเกม แล้วก็ดันได้ไปออกงานเปิดตัว O2Jam ในเมืองไทยอีกด้วย
ตอนนั้นรู้สึกว่าโคตรว้าวจากกราฟฟิกของ Ez2Dj มันล้ำสมัยสุดๆ พร้อมทั้งเกมเพลย์อันสุดคูล เลยเป็นแรงบันดาลใจให้อยากสร้าง “เวอร์ชั่นของตัวเอง” ขึ้นมา (สร้างของก๊อปนั่นเอง) โดยเริ่มศึกษาว่าเขียนเกมด้วย DirectX ยังไง โดยอ่านจาก API help files พร้อมทั้งทำความรู้จักแนวคิด Screen buffering (เป็นหลักพื้นฐานการวาดภาพเคลื่อนไหวในเกม), การคำนวณภาพโปร่งใสจากค่า Alpha ในแต่ละพิกเซล เพราะอยากทำเอฟเฟกต์โน้ตระเบิดแบบอลังการ (Technical note: สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ใช้เพราะการคำนวณเอาเองแล้วใช้ DirectDraw วาด มันช้าเกินไปและทำให้เฟรมเรตตก เราควรใช้ Direct3D ซึ่งใช้การ์ดจอช่วยคำนวณตรงนี้ให้ดีกว่า) การใช้สมการเส้นตรงเพื่อคำนวณว่าถ้าจะวาดโน้ตให้ตกลงบนเส้นโดยที่เราสามารถปรับความเร็วโน้ตได้ระหว่างเล่นเกมแบบเนียนๆ ต้องทำอย่างไร และการอ่านสเป็กของไฟล์โน้ตเพลง (BMS) เพื่อให้เข้ากันได้กับไฟล์เพลงที่มีอยู่แล้วในอินเทอร์เน็ต
หลังจากเขียนเกมนี้จนเล่นได้และเริ่มขี้เกียจทำต่อแล้ว (พอใจแล้ว) ทำให้ผมเรียนรู้ว่า หนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการ “สร้างของก๊อปปี้” เพราะมันเป็นการกำหนดเป้าหมายของเราที่ชัดเจนที่สุด และทำให้เรารู้ว่าเราจะประสบความสำเร็จและภาคภูมิใจกับมันได้เมื่อไหร่ นอกจากนั้น สิ่งที่เราก๊อปปี้ควรเป็นสิ่งที่เรารักที่จะคลุกคลีกับมันทุกวัน นั่นก็คือเกมนั่นเอง (หลักการก๊อปปี้ ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้การเรียนภาษาประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน)
เกม DjMAH ที่เขียนส่งเป็นโปรเจกต์วิชา Programming Methodology ตอนเรียนวิศวะคอมปีสอง
ตอนเด็กๆ นอกจากเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนแล้ว การเล่นเกมก็เป็นการนำภาษาไปใช้ในชีวิตจริง ตอนนั้นติดเกมผจญภัยเก็บคำศัพท์เพื่อผ่านด่าน (เช่น Super Solvers Treasure Mountain) ทำให้เราได้ใช้ภาษาอังกฤษโดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระเลย (ใครมีลูกโตพอแล้วควรให้หัดเล่นเกมประเภทนี้)
แต่เกมที่คิดว่าพัฒนาภาษาอังกฤษให้มากที่สุดคือเกม Diablo II เพราะอุตส่าห์ซื้อมาแล้วต้องเล่นให้รู้เรื่อง เพื่อที่จะได้เคลียร์เกมแบบไม่ต้องพึ่งบทสรุป เกมนี้เป็นเกมที่มีเสียงพูดในทุกบทสนทนา ทำให้ได้ฝึกฟังไปในตัว นอกจากนี้ยังเล่นเกม StarCraft ที่ช่วยให้ฝึกเขียนโค้ดจากการสร้าง Custom map (ด่านที่สร้างเองนอกจากเนื้อเรื่องของเกม) รวมถึงเกม Resident Evil (ที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเกมกระดาษให้เพื่อนๆ เล่น) เกม Gex และเกม Final Fantasy VII (เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ) ที่บังคับให้อ่านเนื้อเรื่อง หรือถ้าขี้เกียจอ่าน อย่างน้อยเราก็ต้องอ่านภารกิจของเกม ซึ่งเป็นข้อความสั้นๆ ที่อ่านง่าย
สรุปคือนอกจากอ่าน Help files ภาษาอังกฤษเพื่อเขียนโปรแกรมแล้ว การอ่านและฟังจากเกมก็ช่วยได้มากเช่นกัน
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผมได้มาทำงานที่ Silicon Valley ในประเทศอเมริกานี้ นอกจากการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว และทักษะที่จำเป็นในการเป็นโปรแกรมเมอร์ที่มาจากความอยากสร้างสิ่งของด้วยตัวเอง และภาษาอังกฤษแล้ว คือความพร้อมในการสัมภาษณ์งาน ความพร้อมนี้ก็มาจากการตกสัมภาษณ์หลายที่แหละ (ใจนิ่งพอ หลังจากโดนหักอก และไม่ลกเวลาสัมภาษณ์)
แต่มีครั้งหนึ่งที่ถูกถามให้เราออกแบบระบบของเกม (การออกแบบเกม เป็นลักษณะของปัญหาที่ซับซ้อน มันทำให้เราสามารถแก้ปัญหาการออกแบบระบบใหญ่ๆ ได้ด้วยเช่นกัน) ทำให้ผมนึกถึงเกม DJ เวอร์ชั่นที่ผมเคยสร้างไว้ ผมเลยเอาตรงนั้นมาตอบได้อย่างสบายๆ
เมื่อสัมภาษณ์จบทำให้บรรลุสัจธรรมว่า สิ่งที่เราทำที่ผ่านมา ไม่มีอะไรที่ไร้สาระหรอก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่ามันจะมีสาระในอนาคตเมื่อไหร่ แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากมันได้ตอนไหน เพราะฉะนั้น ถ้าอยากเล่นเกมก็เล่นไปเถอะครับ ขอแค่รู้จักแบ่งเวลา ไม่หมกมุ่นมากเกินไปจนไม่ทำอย่างอื่นเลย และไม่ทำให้เสียการเรียน (สมัยนั้นถูกบังคับให้เล่นวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง)
นี่โตป่านนี้แล้วก็ยังเล่น DotA อยู่เลย เพราะนอกจากความสนุกแล้ว ยังเป็นการสร้างมิตรภาพระหว่างชายชาตรีด้วย
ภาพประกอบ: แฉ! เปิดบ้านวิศวกรหนุ่มใน Silicon Valley มั่วสุมเล่น DotA ทั้งวัน
อย่างน้อยผมก็ดีใจมากที่เห็นความก้าวหน้าทางด้านเกมมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองไทย ผมเห็นผู้ใหญ่ Gen-X ใจดีหลายคน รวมถึงชาว Gen-Y อย่างพวกเรา ช่วยกันสนับสนุนทั้งแรงกายและเงินในเรื่องเกม แล้วยังมีการแข่งขัน E-sports อีก ทำให้ผมรู้สึกว่าตอนนี้ความหวังของประเทศเราคงต้องพึ่งผู้ใหญ่ใจดีมีวิสัยทัศน์ไกลและพวกเราชาวเกมเมอร์ครับ
ตราบใดที่เมืองไทยยังมีคนที่เห็นภาพแต่ในแง่ลบของเกม พวกเรายังคงต้องพยายามกันต่อไป ผมคิดว่าคนเหล่านั้นคงได้แต่ข้อมูลในแง่ลบจึงเห็นเกมเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเราสามารถให้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องแก่พวกเขาได้ พวกเขาก็คงจะได้เห็นประโยชน์ของเกมมากขึ้น และยอมรับมันในที่สุดครับ
สุดท้ายนี้ การที่ผมมีชีวิตในวันนี้ได้ ผมคิดว่ามันเหมือนกับการต่อจุด (Connect the dots) จากสิ่งที่เราทำมาในอดีต ซึ่งการที่ผมติดเกม และเคยเขียนเกมมาก่อน ก็เป็นจุดๆ หนึ่งจากหลายๆ จุดที่ผมเอามาเชื่อมต่อจนถึงปัจจุบัน
อย่างที่สตีฟ จอบส์ เคยกล่าวไว้ว่า:
You can’t connect the dots looking forward; you can only connect them looking backwards. So you have to trust that the dots will somehow connect in your future. You have to trust in something — your gut, destiny, life, karma, whatever.
Comments
floppy disc => floppy disk
ไม่ลก ?
น่าจะเป็นคำว่า ล่ก
ว่าแล้วก็ตีdot แป็บ
ใช้คำว่าเคยอาจจะไม่ถูก เหมือนว่าตอนนี้ก็ยังติดอยู่นะครับ 555
positivity
ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าเรียนไม่จบก็รวยได้ แล้วก็อ้างว่า jobs กับ gates เป็นตัวอย่าง
ซึ่งก็แปลว่าถ้าเรียนไม่จบก็ไม่ใช่จุดจบของชีวิตจริงๆ นี่ครับ มันก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยเส้นทางอื่นๆ
lewcpe.com, @wasonliw
ชีวิตคนเรามันมีหลาย factor จนไม่มีเรื่องไหนที่มัน absolute เลย สุดท้ายมันก็อยู่ที่คุณจะเลือก choice ที่โอกาส success ที่ probability สูง หรือ probability ต่ำ
เรียนไม่จบกับรวย ถึงแม้มันส่งผลถึงกัน แต่มันก็ไม่ได้สัมพันธ์กันขนาดนั้น
ผมคิดว่าการเรียนให้จบ ส่งผลอย่างมากต่อการมีงานทำ
เรื่องรวย เป็นอีกเรื่องนึง ถ้าคิดว่าสร้างธุรกิจได้ ทำอะไรใหม่ๆออกมาขายได้
ไม่มีใครมาวัดที่การศึกษาจากมหาวิทยาลัยหรอกครับ เค้าดูที่ผลงานกัน
Jobs กับ Gates ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ของการมีจุดมุ่งหมายนะ แน่นอนว่าการเรียนให้จบไปทำงานบริษัทใหญ่ๆมั่นคงๆ
ไม่ใช่จุดหมายของเค้าทั้งสอง การทุ่มสุดตัวมันก็มีความเสี่ยง และมีแค่คนจำนวนน้อยมากๆที่ประสบความสำเร็จในระดับที่ตัวเองตั้งใจไว้
แม้แต่ Jobs กับ Gates เองถ้าเกิดมาในสมัยนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จอะไรนัก ยิ่งเรียนไม่จบยิ่งยากเข้าไปใหญ่
เพราะตอนนี้วงการนี้มันเป็นทะเลเลือดไปแล้ว
ยังไงก็ตาม ผมเห็นว่าเราไม่ควรเอาอะไรมาโยงกันมั่วๆ แล้วโทษแค่ปัจจัยใดปัจจัยนึง มันเพราะมันไม่สมเหตุสมผล
ผมก็ไม่รู้ว่าบ้านเรามันเป็นอะไรกับเกม มันก็เป็นแค่กิจกรรมบันเทิงเวลาว่าง คนมันจะเหลวไหล ไม่มีเกมมันก็ไปทำอย่างอื่นได้
เกมมันอยู่ของมันเฉยๆ เวลาที่ควรต้องอ่านหนังสือหรือทำงาน ไปเล่นมันทำไม เล่นเสร็จโทษเกม ผู้ใหญ่ก็โทษเกม สรุปเกมผิด
ถ้าสะสมแสตมป์มันน่าสนใจเหมือนเกม มันก็คงจะถูกโทษเหมือนกัน โทษจนไม่เหลืออะไรจะโทษ ก็โทษยันไปถึงผีเสื้อขยับปีกในทุ่งหญ้าสะวันน่าที่ไนโรบี สุดท้ายแก้ไขอะไรไม่ได้เพราะสิ่งที่ควรโทษจริงๆคือตัวเอง
ขอเกาะกระแสแบบน้อยๆแปป
ผมว่ามันเป็นบทความที่ดีนะ ที่แชร์ประสบการณ์ตรงว่าเกมไม่ได้ไร้สาระหรือเป็นสิ่งชั่วร้ายแบบที่บางคนอยากให้เป็น แต่ติดอยู่นิดเดียว มันจะกลายเป็นดาบสองคมตรงคำว่า "Software Engineer ของ Facebook" นี่ล่ะ
เพราะปัจจุบันมีเด็กหลายคนชอบใช้ข้ออ้างว่า "เล่นเกมแล้วมีประโยชน์ ดูนักกีฬา E-Sport อะไรพวกนั้นสิ หาเงินได้เป็นล้าน" ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงขนาดเมืองนอกก็ไม่ใช่ว่าเขาจะยอมรับกันเต็มที่ อีกทั้งก็ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นนักกีฬา E-Sport แล้วหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ ข้ออ้างนักกีฬา E-Sport ที่เด็กเอาไปพูดมันเลยเป็นเหมือนคำพูดขายฝันไม่ต่างกับ Bill Gates หรือ Steve Jobs ในหัวข้อเรื่องเรียนไม่จบ
ทีนี้บทความนี้กลัวคนจะเอาไปใช้ผิด ๆ โดยการอ้างว่าเล่นเกมแล้วได้เป็น Software Engineer ของ Facebook จนทำให้หลงประเด็นนี่ล่ะ ส่วนตัวอยากให้ตัดคำว่า Facebook หรือ Silicon Valley ออกไปเลยด้วยซ้ำ แค่ประสบการณ์การเล่นเกมจนอยากเขียนโปรแกรม สุดท้ายก็กลายมาเป็นอาชีพ มีงานมีการหาเลี้ยงตัวเองได้ มันก็น่าจะเพียงพอที่จะสื่อแล้วนะผมว่า
เห็นด้วยครับ
เห็นด้วยครับ
เพิ่มเติม
ติดเกมส์ในความหมายแต่ละคนผมว่ามีความต่าง เหมือนคอมเม้นท์ด้านล่างสื่อ
- ติดเกมส์คนพูด บางคนอาจจะหมายถึงติดไม่เรียน ไม่ทำอะไร
- ติดเกมส์บางคนพูด คือเล่นประจำแต่ก็จัดการเวลาได้
น่าจะเป็นแนวว่าเราควบคุมตัวเอง กับการเล่นเกมส์ได้รึเปล่า
ผมเข้าใจประเด็นที่ผู้เขียนต้องการสื่อนะครับ แต่จากเคสตัวอย่างนี้ไม่ได้ค้านคำพูดเรื่องด้านลบของเด็กติดเกมส์ เพราะอาจเป็นเคส 1 ใน 100 ก็ได้ และยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ อีก ทั้งความหมายเด็กติดเกมส์ ประเภทเกมส์ที่เล่น หรือจริงๆ ที่คนนี้อยากสื่อว่าเกมส์เป็นปัจจัยหนึ่ง เราก็ยังไม่รู้ว่าอาจจะเป็นปัจจัยที่ต่ำมากก็ได้ถ้าเทียบกับปัจจัยอื่นๆของเค้า
** คนที่เริ่มคำพูดนี้ก็อาจจะมองแคบไป หรืออธิบายสื่อสารไม่ดี แต่ถ้าเป็นแนวคิดคนทั่วไปติดเกมส์ก็น่าจะติดในระดับที่ทำให้ถูกเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ควรทำ เช่น เรียน เป็นต้น
อันนี้บทความอาจจะเก่าไปหน่อย (ผมว่าน่าจะมีใหม่ๆเยอะแต่ยังไม่ได้หา) ถ้าอ้างอิงพวกนี้ก็จะน่าเชื่อถือขึ้นครับ
http://www.huffingtonpost.com/jane-mcgonigal/video-games_b_823208.html
อ่านคร่าวๆ ปัจจัยที่มีผลคือ เวลาที่เล่น เกมส์ที่เล่น
ถ้าเทียบกับนักฟุตบอลก็คล้ายๆ กัน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนอยากเป็นนักบอลอาชีพ แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้
แล้วผู้ใหญ่ก็ไม่ให้เตะบอลเป็นอาชีพ อย่าไปเตะบอลเลยไม่พอกินหรอก อะไรแบบนี้
คำสำคัญ #แบ่งเวลาเป็น #ไม่อยากอ่านบทสรุป #อยากทำเองบ้าง #ได้ใช้ประโยชน์ซักวัน #เล่นเกมถูกแนว
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ขอบคุณครับที่ช่วยย่อยออกมาให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ในความเห็นของผมเท่าที่อ่านมาผมว่าตัวคุณวิทวัสนี่มีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วทั้งทางด้านครอบครัวและด้วยลักษณะนิสัยส่วนตัว ซึ่งดูแล้วเส้นทางของชีวิตค่อนข้างชัดเจน ถ้าตอนนี้จะไม่ได้ทำอยู่ที่เฟซบุ๊คก็น่าจะได้ไปอยู่ที่บริษัทไอทีชื่อดังที่ไหนสักที่แน่นอนครับ
จริงๆผมว่าเล่นเกมกับติดเกมมันต่างกันนะ
ติดเกมต้องแบบนู่น โดดเรียนไปนั่งเล่นวินนิ่ง ตีดอทเอวันละสิบชั่วโมง
+1 อันนี้เรียกว่าเล่นเกมและแบ่งเวลาเป็น (อาจจะถูกแบ่งโดยผู้ปกครอง) ส่วนติดเกมที่คนสมัยนี้จะนึกถึงคือ พวกเล่นมันทั้งวัน โดดเรียนไปเล่นอย่างนี้เรียกว่าติดเกม (ติดเหมือนสารเสพติดไม่เล่นไม่ได้) ซึ่งมันก็ถูกต้องแล้วที่จะทำให้ผู้ใหญ่มองว่ามันไม่ดี
แต่ผมก็มีเพื่อนติดเกมมาก ๆ นะ Ragnarok นี่ถ้ามีเซิฟใหม่เปิดแทบไม่เห็นมันเข้าเรียน(ระดับ ม.6) อยู่บ้านผลัดกันเวลกับเพื่อนสองคนแทกทีมกันเกบเวล 24 ชมใครเหนื่อยก็พัก แต่จะว่ามันไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่เต็มปาก เพราะมันก็เคยแข่งชนะ Ragnarok ประเทศไทย - -* และถ้ามันเรียนก็โคตรเก่ง(แต่มันไม่เรียน) ตอนเรียน(มัธยม)ก็หารายได้จากการเขียนแบบ Autocad จบมาก็เปิดร้านเกม ตอนนี้ก็ไปทำงานบริษัท ก็เห็นมีความสุขดี
+1
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
แบ่งเวลาลำบากใจจริงๆน้าเวลาเล่น - - ขอสักสองชั่วโมงละกัน
อีกเรื่องที่ผู้ใหญ่ เขาอ้างว่าเกมส์คือสาเหตุที่ทำให้ลูกเค้า จุดเดือดต่ำ อารมณ์ร้อนง่าย อันนี้ผู้ปกครองก็ต้องใกล้ชิดคอยสอนเด็กหน่อยว่าแพ้ ชนะ คืออะไร
จะว่าไปมันก็ไม่เกี่ยวกับเกมส์อะนะ ดูกีฬาแหกปากว่ากันออกเยอะแยะ
จากประสบการณ์ตรง เกมส์นี่ทำให้หัวร้อนได้ง่ายมากครับ
ผมว่ามันอยู่ที่คนด้วย ผมเองจบวิศวะเครื่องกล ตอนเรียนวันๆ ก็นั่งเล่นแต่ StarCraft, Fifa, Final ฯลฯ แต่ด้วยความที่เรียนไปเพราะบังเอิญสอบติด แต่ไม่ชอบ สุดท้ายก็มาเริ่มใหม่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำงานสายคอมพิวเตอร์ตั้งแต่วันแรกที่เรียนจบจนถึงทุกวันนี้ ก็ทำงานให้หน่วยงานใหญ่ๆ ได้ไม่มีปัญหาอะไร
เกมไม่ใช่ข้ออ้างของการเสียคน
เกมไม่ใช่ข้ออ้างของความสำเร็จ
ทุกอย่างอยู่ที่การจัดสรร
เลือกเกมให้เหมาะกับ "ช่วงอายุสมอง"
สกัดสาระสำคัญของเกมให้ได้
และที่สำคัญ ทักษะการหักห้ามใจ ต้องมี
คนถ้าจะประสบความสำเร็จ เล่นเกมก็ทำให้เสียคนไม่ได้
คนถ้าจะล้มเหลว ไม่เล่นเกมก็ยังเสียคนได้
เกม Mario Typing นี่แหละ ทำให้ผมพิมพ์เก่ง
เคยลองโหลดมาเล่น มันรันไม่ได้แล้ว เข้าใจว่ารันได้บนระบบ Dos เท่านั้น พอเอามารันบน XP, Win7 มันเลยรันไม่ได้ น่าเสียดายมาก
ลอง DosBox ดูครับ :)