เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2017 AMD เปิดตัวซีพียูตระกูลใหม่ในชื่อ Ryzen (ไรเซน; แผลงจาก risen) ที่พัฒนาจากสถาปัตยกรรม Zen ต่อจากชิปตระกูล FX
AMD เข็น Ryzen ออกมาด้วยรุ่นท็อปสุดอย่าง R7 1800X, R7 1700X และไม่กี่สัปดาห์ให้หลังก็เติมด้วย R5 รุ่นรองเบอร์ต่างๆ ทั้ง R5 1400, R5 1500X, R5 1600 และ R5 1600X ราคาเริ่มต้นหกพันกว่าบาท ท่ามกลางผลทดสอบด้านประสิทธิภาพที่เคลมว่าชนะระบบคู่แข่งราคาแพงกว่าหลายเท่าในบางงาน
โอกาสนี้ Blognone ขอสรุปเรื่องราว ณ เวลานี้ของชิปที่เป็นความหวังใหม่อันน่าลุ้นจาก AMD ด้วยการสืบค้นและทดสอบเองจากเครื่องที่ได้รับมาลองระยะหนึ่ง
หน้าตาชิป Ryzen เวอร์ชั่นจำหน่ายจริง (ในรูปคือ R7 1700) ตรงมุมชิปมีการคีย์เครื่องหมายป้องกันการติดตั้งผิด ด้านหลังมีเป็นแบบพินแหว่งพื้นที่สี่เหลี่ยมตรงกลางเหมือนสมัยซ็อกเก็ต 754 (K8 ยุคแรก)
Ryzen เปิดตัวแล้วรุ่นไหนบ้าง?
ถึงตอนนี้ ในบ้านเรามีซีพียู AMD Ryzen พร้อมวางจำหน่ายแล้ว 7 รุ่น ที่สเปคความร้อน 65 ถึง 95 วัตต์ โดยที่รุ่น X จะมากับความเร็วสูงกว่าแต่ไม่มีพัดลมมาให้ ราคา ณ ที่เขียนคือตามนี้ และหลังจากนี้จะมี Ryzen 3 และซีพียูอีกหลายรุ่นที่มีจีพียูในตัว (เมนบอร์ดมีพอร์ตต่อจอรอแล้ว)
และในแพลตฟอร์มโมบายล์ Ryzen ยืนยันว่าจะมีด้วยเช่นกัน ตามบทสัมภาษณ์ของ Digital More
กล่อง AMD Ryzen รุ่นขายจริง
Ryzen รอบนี้มีอะไรใหม่?
ชิป AMD Ryzen ออกแบบใหม่โดยใช้สถาปัตยกรรมที่ชื่อว่า “Zen” ซึ่งละทิ้งการออกแบบแนว “โมดูล” ที่แต่ละคอร์แชร์ทรัพยากรร่วมกันแบบที่ชิปรุ่นก่อนอย่าง FX-8150, FX-8350 (Bulldozer) ใช้ กลับมาออกแบบเป็นคอร์แยกกัน มีแคช L2 แยกชิ้น (AMD ว่าจ้าง Jim Keller ผู้พัฒนาชิปตระกูล K8, K9 ที่รุ่งเรืองกลับมาทำ Zen) ผลิตบนเทคโนโลยีระดับ 14 นาโนเมตรที่ GlobalFoundary ทำงานบนฟอร์มแฟคเตอร์ใหม่เป็นซ็อกเก็ต AM4
เมื่อมองลึกลงไปอีก แม้แต่ละคอร์จะทำงานแยกกัน แต่ Zen จะจัดเรียงคอร์เป็นกลุ่มละ 4 คอร์ที่เรียกชื่อว่า CCX (CPU Complex) ซึ่งสามารถเปิดปิดการทำงานได้ ตัดเป็นรุ่นย่อยได้หลากหลาย ยกเว้นส่วนแคช L3 ความจุ 8MB ที่ยังเหลือและใช้งานร่วมกัน โดย CCX แต่ละกลุ่มสื่อสารกันภายในด้วยระบบบัสแบนด์วิดธ์สูงแบบใหม่ชื่อ AMD Infinity Fabric แทน HyperTransport ที่เราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยชิปซ็อกเก็ต 754 หรือ 939
เพราะ CCX เป็นแบบนี้ ทำให้ Ryzen 7 ตัว 8 คอร์ เปิด CCX ได้เต็ม 4+4, Ryzen 5 ตัว 6 คอร์ ทำงานแบบ CCX 3+3 เลยได้แคช L3 16MB ส่วน Ryzen 5 ตัว 4 คอร์ เปิด CCX มาแบบ 2+2 ได้แคช L3 ที่ 8MB
รู้จัก XFR ยิ่งเย็น ยิ่งเข็นความเร็วต่อให้อีกแบบอัตโนมัติ
นอกจาก AMD Ryzen จะมีเทคนิค TurboCore ที่เพิ่มความเร็วในแต่ละช่วงเวลาเฉพาะให้กับแต่ละคอร์แล้ว ยังมากับเทคนิค XFR (eXtended Frequency Range) หากอุณหภูมิระบบเอื้ออำนวยซีพียูก็จะเร่งความเร็วขึ้นไปให้อีก 100MHz ในระยะเวลาสั้นๆ เช่นจากภาพ R7 1800X มากับความเร็วเบส 3.6GHz, บูสต์พร้อมกันทุกคอร์ที่ 3.7GHz และถ้าวิ่งคอร์เดียวจะบูสต์ได้ถึง 4.0-4.1GHz
ชิปเซ็ตที่มาคู่กัน: มีหลายระดับ เลือกให้เพียงพอความต้องการ
Ryzen มากับชิปเซ็ตของตนเองหลายรุ่น X370, B350 และ A320 ตามลำดับ ตัวท็อปสุดจะรองรับการโอเวอร์คล็อกและการใช้งานกราฟิกการ์ดหลายใบ ทั้งนี้ชิป Ryzen ทุกรุ่นไม่ล็อกตัวคูณสัญญาณนาฬิกาครับ และมีเมนบอร์ดจากผู้ผลิตหลากหลายยี่ห้อแล้ว ทั้ง ASUS, Gigabyte, ASRock, MSI ฯลฯ
ด้านพอร์ต I/O ของแต่ละชิปเซ็ตก็มีจำนวนต่างกันไป และรองรับ USB3.1 Gen2 เรียบร้อยแบบไม่ง้อคอนโทรลเลอร์แยก ตลอดจนพอร์ตต่อไดรฟ์แบบ NVMe ก็แบ่งเลน PCI-Express ใช้งานได้เพียงพอ
ที่น่าสนใจคือฟอร์มแฟคเตอร์อย่าง Mini-ITX ก็มีเมนบอร์ด Ryzen กับเขาแล้วเหมือนกัน เป็นของ Biostar รุ่น X370GTN และ B350GTN โอกาสที่จะได้เห็นระบบที่แรงระดับ HEDT, Core i7 เบอร์ใหญ่ เก่งเรนเดอร์ในแบบเคสเล็กก็น่าจะฝันง่ายขึ้น
ระวังเรื่องแรม: รองรับ DDR4 แต่ความเร็วสูงสุดขึ้นกับจำนวนโมดูลและจำนวนเม็ดแรมต่อแผง
ดูเป็นเรื่องจุกจิกไปสักนิด ไม่ใช่แค่รู้ว่าซีพียู AMD Ryzen รองรับการใช้งานกับแรมแบบ DDR4 แบบ Dual-Channel เท่านั้นแล้วจบ เพราะการใส่แรม 2 หรือ 4 โมดูล โดยจำนวนเม็ดแรมบนแผงไม่เท่ากันก็จะได้ความเร็วไม่เท่ากัน คอนฟิกที่จะทำงานกับแรมความเร็วสูงสุดที่ DDR4-2666MHz ได้ คือต้องใช้แรม 2 โมดูล แต่ละโมดูลมีเม็ดแรมด้านเดียว (single rank) นอกเหนือจากนี้น่าจะต้องพึ่งพาการตั้งค่าแบบแมนนวลหรือโอเวอร์คล็อกเอา
ประสิทธิภาพ AMD Ryzen เป็นอย่างไร?
เนื่องจากทางผมได้รับเครื่อง Ryzen 1800X จากทาง AMD ประเทศไทยมาทั้งระบบ ซึ่งเป็นพีซีประกอบเสร็จแบรนด์ CyberpowerPC แต่ไม่สามารถหาระบบเทียบเคียงมาร่วมทดสอบในระยะเวลาช่วงเปิดตัว ดังนั้นเพื่อให้บทความนี้มีมรรคผลต่อการเสพอ่าน จึงขอโฟกัสไปที่การวิเคราะห์ผลทดสอบจากต่างประเทศที่ละเอียดและน่าสนใจกว่านะครับ
ทั้งนี้ประสิทธิภาพในบางแอพอาจออกมาไม่ดีอาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งตัวแอพและเกมยังไม่ optimize กับซีพียูรุ่นนี้ที่ออกมาทีหลัง ถ้าจะให้โอกาสคือต้องรอแพทช์หรือแอพเวอร์ชั่นใหม่ แนวโน้มนี้ส่งผลแล้วกับเกม Ashes of the Singularity ที่พออัพเดตแพทช์แล้ว Ryzen รีดเฟรมเรตออกมาได้ดีขึ้นกว่า 20 เฟรมต่อวินาที
Windows 10 จะเห็น Ryzen 1800X เป็น 16 เธรด
AMD Ryzen ร้อนไหม?
ที่ค่าสเปคความร้อนของ Ryzen ที่ 95 วัตต์กับความเป็นซีพียู 8 คอร์ 16 เธรด เรามีโอกาสลอง R7 1800X แปะอยู่กับฮีตซิงค์ Noctua NH-U12S บนเมนบอร์ด Gigabyte AORUS AX370-Gaming 5 ในเคส CoolerMaster ที่ด้านในมีการ์ด XFX Radeon RX 480 8GB หนึ่งใบ ในห้องนั่งเล่นอุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส ทดสอบด้วยการรันฟูลโหลดในแอพ AIDA64 ปรากฎว่า Idle วัดได้ช่วง 36-37 องศาฯ, Full-load วัดได้ราว 55-56 องศาฯ พัดลมเสียงไม่ค่อยดังเท่าไรนัก เมื่อวัดคร่าวๆ โดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์
สรุป
ณ นาทีนี้ AMD Ryzen น่าจะเหมาะกับงานเรนเดอร์ แปลงไฟล์ มากกว่าจะนำมาเล่นเกม ไม่ใช่เล่นเกมไม่ได้แต่ถ้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในราคาใกล้เคียงกันแล้วจะรีดประสิทธิภาพกราฟิกการ์ดออกมาได้ไม่ดีเท่า ตอนนี้ก็หวังว่าสารพัดเกมและไดรเวอร์จะออกแพทช์มา optimize เกมของตนให้รีดประสิทธิภาพจากซีพียูสายพันธุ์ใหม่นี้ และเชื่อว่าเกมนี้ต้องมองกันอีกยาวอย่าเพิ่งม้วนเสื่อหมดกำลังใจ
ถ้าส่วนตัว มองว่า Ryzen R7 1700 น่าเล่นสุด เพราะด้วยสเปคความร้อนที่ 65 วัตต์ คุณจะได้ซีพียู 8 คอร์แท้ 16 เธรด ในราคาหมื่นบาทต้นๆ ที่ไม่เขินถ้าจะเอาไปทำงานเป็นหลักแล้วว่างค่อยหลบมาเล่นเกม และด้วยความตนเองหลงใหลเคสเล็ก เมนบอร์ด ITX ตามที่ระบุข้างต้นก็น่าจะจัดการซีพียู 8 คอร์ลงในเคสลูกเต๋าในราคาไม่สูงมากได้ไหว แต่ที่น่าคิดคือไม่มีจีพียูในตัว
Comments
ปกติผมชอบมวยรองนะ และคนส่วนใหญ่ก็คงเหมือนกัน และก็อยากให้กำลังใจ amd ให้สร้างผลงานมาเเข่งกับ intel เยอะๆ
แต่โดยผลลัพแล้ว คะแนน ผลทดสอบ ต่อ ราคา เมื่อเทียบกับ intel มันยังสู้ไม่ได้อะ ถึงไม่นับเรื่องเล่นเกมส์ด้วยก็เถอะ
จะทำให้ 7 1700 เทียบเคียง intel7700k ในราคาเท่ากัน ต้อง oc ไปถึง 4.0ghz อ้างอิงจากที่ guru3d เอามาทดสอบนะ
และจะควบคุมความร้อนที่ปล่อยออกมาจาก 4ghzทั้ง16เทรดก็ต้องใช้ ระบบระบายความร้อน ที่ตัองใช้เงินอีกสัก 3-5พันบาท
ขณะที่ 7700k มาเดิมๆค่าโรงงาน ไม่มีความจำเป็นต้องระบายความร้อนให้เว่อวัง ใช้แบบบ้านๆอันละ 1พันก็พออะ
และที่ไม่เข้าใจสุดๆคือ มีเทรดต้องมากมาย แต่คะแนนกลับโดน ตัวที่เทรดน้อยกว่าเท่าตัว ทิ้งห่างเยอะมาก ทั้งที่ สัญญานนาฟิกา ต่างกัน
1.5ghz มันไม่ควรจะโดนทิ้งขนาดนี้ไม่ใช่หรอ 16เทรดของamd ที่4gz ทำคะแนนทดสอบได้เท่าหรือมากกว่านิดหน่อย 8เทรดที่ 4.5ghzของintelอะ นั่นคือความสามารถในการประมวลผลต่อเทรด มันสู้ไม่ได้จริงๆนะ แถมราคายังออกมา สูงเกิดความสามารถของตัวเองอีกอะ
อันนี้คือวิจารณตามที่เห็นผลทดสอบ ณ ปัจจุบันนะ และผมคิดว่าเราควรตัดสินมันจากตอนที่เราชื้อ ไม่ใช่จากคำอวดอ้างว่าวันข้างหน้าจะอัฟเดดยังไง เหมือนเวลาชื้อเกมส์ early access จากสตีมมาเล่นอะ คนสร้างก็อวดอ้างเว่อวังว่าต่อไปจะอัฟเดดอะไรยังไง ให้เราจ่ายตังไปก่อน สุดท้ายรอเป็น ปีก็ไม่ไปถึงไหน แบบนี้หรอ
เห็น fanboy หรือคนที่พายามจะให้กำลังใจ amd พายามสื่อว่า ต้องรอให้ os update ก่อน เพราะ ryzen ยังใหม่ windows หรือโปรแกรมทดสอบ ยังไม่คุ้นเคยกับ เทรด ของ amd อะไรงี้อะ ผมอยากจะเตือนให้ทุกท่านใช้วิจารณญาณ พินิจให้ดี อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน แยกแยะข้อเท็จจริงกับ ข้อสันณิฐานออกมาก่อน แล้วท่านตรองดูให้ดี
ผมไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะ เพราะต้องบอกว่าไม่รู้ว่ามันจะดีจริงหรือป่าวอะ แต่ด้วยผลลัพนะตอนนี้ คือ ตัว topๆ ทั้งหมดของ ryzen 7
ควรจะต้องมีราคาถูกกว่านี้ 3-5 พันบาท และรุ่นอื่นๆ ก็ลดหย่อยกันลงมาอีก นี่ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายจาก mb ที่ต้องเพิ่มเข้ามา การจะ
oc จาก 3.0ghz เป็น 4ghz มัน 1ghz เลยนะ ใช่ว่า 100-200hz ซะที่ไหน มีความจำเป็นต้องใช้ mb ที่ราคาสูงขึ้นไปอีกอะ ขณะที่ 7700k
ค่าเดิมโรงงาน วิ่ง 4.5ghz อะ
ผมเห็นเว็บ oc เก่าแก่ของไทย เว็บดำๆเขียวๆลง ข่าวพาดหัว โหห ryzen ทุบสถิติ ผมนี่แทบลุกขึ้นยืน..จะถามว่าสถิติอะไร
ผมคิดว่า รอ optimize ก่อนแล้วค่อยเปรียบเทียบ เพราะซอฟแวร์ ที่ใช้งานกันในทุกวันนี้
ถูกปรับแต่งให้ใช้งานได้ดี กับค่าย Intel มานานมากแล้ว ไม่แปลก ครับที่ ผลการทดสอบ
ในระยะ แรกๆ หลายๆ โปรแกรม ดีไม่เท่า และ นี้เป็นเพียง Gen 1 เท่านั้น รอหน่อยน่าจะ ดีกว่า
แต่ถ้าใจไม่รัก ก็ หันไปซื้อ Intel ใช้สบายใจไป
ตอน fail extream ก็ประมาณนี้ รออัพแพช,อย่าใจร้อนมันเป็น cpu แห่งอนาคต บราๆๆ เราควรซื้อแล้วมันแรงเลยสิ ไม่ใช่ว่ารอdev อัพแพชใหม่อะไรงี้ มันเป็นอะไรที่ลมๆแล้งๆสุดๆ คิดง่ายๆก็ประมานว่า AMD ทำงานใหญ่ระดับนี้ไม่คุยกับ Ms หน่อยหรอพี่ให้วางขายปุ๊บอัพเดทแพชปั๊บ
เรื่องอื่นๆที่จะออกความเห็นคุณ myg0t ก็พูดแทนไปหมดแล้ว
The Last Wizard Of Century.
ถ้าเทียบกับเคสตอนนู้น คือ ตัว Bulldozer เนี่ยมัน perform ต่ำกว่าแบบเห็นได้ชัด ... ชัดมาก
ส่วน Zen นี่ทำได้ใกล้เคียงกันมากแล้ว หลาย ๆ การทดสอบทำได้ +/-10% ผมมองว่าก็ไม่เลวนะ ที่สำคัญคือมันโมง่ายเพราะไม่ล็อกนี่แหละ
"oc จาก 3.0ghz เป็น 4ghz มัน 1ghz เลยนะ ใช่ว่า 100-200hz ซะที่ไหน มีความจำเป็นต้องใช้ mb ที่ราคาสูงขึ้นไปอีกอะ ขณะที่ 7700k
ค่าเดิมโรงงาน วิ่ง 4.5ghz อะ"
ตรงนี้เป็นความเชื่อที่ผิดมากๆครับ เพราะบอร์ดตัวล่ะ 3000 กว่าบาท พาไป 4GHz กันไม่ได้ยากมากมาย
ที่สำคัญ ส่วนค่าเดิมๆของโรงงานของ 7700K ไม่ใช่ 4.5GHz ครับอันนี้บูสแค่ 1 คอร์
คือคนที่สัมผัส Ryzen มาแล้วจะบอกได้คำเดียวว่า overclock ง่ายมาก ในขณะที่ตัว series 7000 ของ Intel ที่ไม่ใช่รุ่นมี K จะไม่สามารถ overclock ได้เลยเพราะลูกล็อคไว้ด้วย Microcode
ส่วนความเชื่อผิดที่บอกว่าต้องการ Mainboard ที่มีราคาแพงเท่านั้น ผมว่าควรจะลืมไปได้แล้ว เพราะที่ห้องผมก็ใช้ mainboard ราคาราวๆ 3000 กับ อีกตัวราคา 6000 ก็ overclock ได้เหมือนๆกัน
เพราะเท่าที่ทดสอบแทบจะการันตีว่าไปแถว 3.8GHz+ กันสบายๆ ในขณะที่คนใช้ i7 7700 ตัวธรรมดากลับถูกทำให้เข้าใจผิดว่ามันบูสได้สูงทั้งที่จริงค่า clock ทั้งเบสและบูสด้อยกว่า i7 7700K อยู่มาก
ที่สำคัญการ overclock CPU เพิ่มมา 500Mhz+ ง่ายกว่าการ overclok GPU สัก 200MHz เสียอีก
สิ่งที่น่าสนใจก็คือการoverclock RAM มากกว่าเพราะตัวนี้มีผลโดยตรงกับ CPU ทั้งสองค่ายเลย
คืนชีพแล้วววว
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ตลาดที่ Ryzen 7 กะไปชนคือ socket 2011 มากกว่า socket 1151
เพียงตั้งราคาขายระดับ 1151
ซึ่งถ้าจัด Workstation มองๆ Ryzen ก็เป็นทางเลือกได้จริงๆ สำหรับราคานี้
บอร์ดแบบนี้ B350 ก็ลากได้
ชนได้แค่ 2011 ตัวล่างๆเท่านั้นแหละ
ตัวบนๆ ยังสู้ไม่ได้เรื่องจำนวน pcie lane ,ram quad channel และรวมไปถึงการ support ของ software ตอนเห็นราคา R7 1700 นี่ตาลุกวาวอยากเอามาใส่ vmware ESxi แต่ผ่านมาเป็นเดือนถึงตอนนี้ก็ยังไม่support ก็ต้องรอกันต่อไป(ที่บอกว่าจะมี R7 naples มา ก็หวังว่าจะไปดีลกับเจ้าของsoftware ดังๆให้รองรับเสียทีนะ)
ส่วนที่บอกลากได้ นี่ลากกันไม่ง่ายเท่าไร ไปสิงตามบอร์ดตามคลับมา มีแต่กลุ่มextreme OC ประสบการณ์สูงที่ลากไปได้ถึงหรือเกิน 4GHz ส่วนผู้ใช้ทั่วไป แค่ปรับram ให้ได้เต็ม 3000MHz ยังไม่รอดกันเลย(เปิด X.M.P. ก็ไม่รอด) ในขณะที่อีกค่าย แค่ปรับoption ตัวสองตัว มือใหม่สุดๆก็ทำได้ และเสถียรด้วย
เอาใจเชียร์นะ แต่จะบอกว่าชนะแล้ว คงพูดไม่เต็มปาก
ผมว่าสายเวิร์คสเตชั่นสมัยนี้ไม่มอง i7 กันนะ ไปใช้ xeon กันหมดแล้ว แล้วเขาจะมอง CPU ที่ยังแบบนี้กันหรือเปล่า...
ถ้าเน้นเล่นเกมส์หรืองานทั่วไป i5 i7 คุ้มกว่า
เข้ารหัสวิดีโอ/เสียง VM DB คงต้องให้ Ryzen
ถ้าเน้นคุ้มแนะนำ 2 ตัวนี้มากกว่า
Ryzen 5 1600X คุ้ม
Core i5-7600K คุ้ม
เรื่องเกมผมว่า ณ เวลานี้ยังไม่เต็มร้อย รออีกปลายปีนี้ต้นปีหน้า อะไรอะไรน่าจะเข้าที่เข้าทางแล้วแหละฮะ
เกมน่าจะซัพพอร์ตมากขึ้น ไดรเวอร์ต่าง ๆ น่าจะนิ่งขึ้น ตอนนั้นมาดูกันอีกที
แต่ถ้าเทียบเรนเดอร์นี่แบบจ่ายเท่า i5 แต่เรนเดอร์ได้เทียบ i7 อะไรงี้ คุ้มจริง
มีวิธีดูแรมไหมครับ ว่าตัวไหนเป็น single rank ตัวไหนเป็น dual rank พอดีจะดูในเว็ปก็ไม่มีบอก
รายละเอียดใต้ภาพมีบอกอยู่ฮะ
เขาหมายถึงเวลาซื้อ RAM จากเว็บมั้งครับ หายากนะที่จะบออกว่ามี เม็ด RAM ด้านเดียวหรือ 2 ด้าน
ผมอาจะพิมพ์ไม่เคลียร์ ผมหมายถึงซื้อแรมจากเว็บ หรือไม่ก็จากร้านอะครับ
ปัญหาของซีพียูคอร์เยอะ ๆ คือ ... โค๊ดที่เขียนแบบ multithreading มันเขียนค่อนข้างยาก dev จำนวนมากทำไม่ได้ ซีพียูที่ยังเน้น single thread อยู่ก็เลยยังคงได้เปรียบอยู่
แต่ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าถ้าเป็นการทดสอบ multi-processing เช่นเปิดแอพมาก ๆ พร้อม ๆ กัน Ryzen จะได้เปรียบมากน้อยแค่ไหน
สำหรับผม ณ ปัจจุบัน ยังรอ การปรับปรุงจาก หลายๆ ซอฟแวร์เพื่อการใช้งานที่ดีขึ้น
ราคาเป็นเรื่องในการตัดสินใจสำคัญสำหรับ คนที่จะใช้งาน ถ้าใช้ลื่นจ่าย ถูกกว่า ผมก็โอเคแล้ว
ถ้าไม่มั่นใจว่าใช้งานดีพอ รอ Gen 2 หรือมากกว่านั้น หรือ ย้ายค่ายไป ก็ จบครับ
พอใจ พอเพียง พอแล้ว เหมาะกับเราก็ ดีแล้ว
สำหรับผม เน้นที่ราคา เอาไว้ก่อน ถ้าเชียร์ตอนนี้ G4560 เอาไว้ใช้งานทั่วไป
รอราคา FX รุ่นเก่า ลดราคา ค่อยส่อยมาใช้ หรือจะรอ R3 ก็ได้
พ.ค. นี้จะจัดเครื่องมารัน VM เกมออนไลน์ซัก 10 จอ
มอง i7 - 7700K ไว้ แต่ดู Ryzen 7 1700 จะทิ้งไม่เห็นฝุ่นเลยเรื่อง Multi core
คงได้กลับไปลองใช้ AMD อีกซักครั้งจริงๆ