หัวเหว่ยเปิดศูนย์ Huawei OpenLab Bangkok ในไทย ถือเป็นศูนย์วิจัยลำดับที่ 7 ของหัวเหว่ยจากทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เป็นแพลตฟอร์ม ICT เพื่อองค์กรและสตาร์ทอัพ รวมถึงสถาบันการศึกษาด้วย
Huawei OpenLab Bangkok ใช้งบประมาณในการลงทุน 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหัวเหว่ยมีศูนย์อื่นอยู่ที่ ซูโจว เม็กซิโก มิวนิค สิงคโปร์ โจฮันเนสเบิร์ก และดูไบ ศูนย์ OpenLab ที่กรุงเทพฯ มีเนื้อที่ราว 2,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่อาคารจีทาวเวอร์ ซึ่งถือเป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในประเทศไทย
ศูนย์ Huawei OpenLab Bangkok ตั้งเป้าจะให้มีการฝึกอบรมบุคลากรด้าน ICT ไม่ต่ำกว่า 800 คนต่อปี จะพัฒนาบุคลากรให้ผ่านประกาศนียบัตรรับรองด้านอาชีพ (Huawei Certification) 500 คนต่อปี และคาดว่าจะสามารถรองรับโครงการทดสอบแนวคิด (POC หรือ Proof of Concept) ราว 150 คนต่อปี และให้สตาร์ทอัพด้าน ICT เข้ามาใช้แพลตฟอร์มดาต้าเซนเตอร์ได้มากกว่า 20 ราย
Huawei OpenLab Bangkok ยังร่วมมือกับหน่วยงานสำคัญในไทย เช่น
โซลูชั่นเพื่อพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
โครงการร่วมมือทางยุทธศาสตร์เพื่อความปลอดภัยของตำรวจ
โครงการร่วมมือกลุ่มสตาร์ทอัพด้าน Smart City กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ศูนย์หัวเหว่ยเน้นพัฒนาเทคโนโลยี 3 ด้านคือ Smart City, Smart Grid (โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ) และสตาร์ทอัพกับองค์กร
Smart City คืออะไร ? ทำงานอย่างไร ?
เจ้าหน้าที่ศูนย์ระบุว่า เทคโนโลยีสำคัญคือเซ็นเซอร์ หัวเหว่ยนำเอาเฟิร์มแวร์ที่มีแอนดรอยด์ แจกจ่ายให้ผู้ผลิตให้เอาไปเข้าระบบติดตั้งบนฮาร์ดแวร์ตัวเซ็นเซอร์ จากนั้นส่งข้อมูลมาเป็นรูปแบบชาร์ท กราฟแบบเรียลไทม์ ตัวอย่างตามภาพประกอบด้านล่าง คือข้อมูลเรียลไทม์ของพื้นที่เมืองปักกิ่ง เป็นเลเยอร์การจราจร สีเหลืองคือตึกพร้อมระบุการใช้พลังงานของแต่ละตึก เป็นต้น
ระบบความปลอดภัยของเมือง เป็นส่วนหนึ่งของ Smart City ด้วย หัวเหว่ยจึงมีเทคโนโลยีรองรับความปลอดภัย เช่น ซอฟต์แวร์ กล้องวงจรปิดตรวจจับใบหน้า เครื่องวิทยุประจำตัวตำรวจที่ใช้เน็ตเวิร์ค LTE เป็นต้น ในโครงการจัดหาระยะที่หนึ่ง ตั้งเป้าให้ทางตำรวจใช้ประมาณหมื่นตัว
การทำงานของ Smart Grid
ที่หัวเหว่ยร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA เพื่อทดลองวิจัยร่วมกันพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เช่นทำอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการใช้ไฟสามารถส่งข้อมูลไปที่ส่วนกลางได้ทันที และสามารถรันข้อมูลบนเว็บไซต์ให้ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการใช้ไฟของตัวเอง และยังมี Smart Meter ทดแทนมิเตอร์จานหมุนแบบดั้งเดิม ส่งข้อมูลไปยังส่วนกลาง โดยไม่ต้องอาศัยคนจดมิเตอร์ เป็นต้น
Huawei OpenLab Bangkok มีศูนย์ดาต้าเซนเตอร์ เก็บเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลที่ทางหัวเหว่ยจำนำเสนอให้องค์กรและสตาร์ทอัพเข้ามาใช้งาน เป็น Indoor Data Center ตู้สำเร็จรูป วางตรงไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสำหรับดาต้าเวนเตอร์โดยเฉพาะ เนื่องจากมีระบบทำความเย็นของตัวเอง ไม่ได้ใช้ของอาคาร
อนาคตหัวเหว่ยจะนำเซิร์ฟเวอร์ที่มีชื่อเรียกว่าคุณหลุนเข้ามาในไทย เป็นแบบเดียวกับที่อาลีบาบาใช้ ประมวลได้ 32 CPU
ในอนาคตมีทิศทางที่จะพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละตู้เข้าด้วยกัน หากเกิดกรณีที่ต้องย้ายตู้ไปในอีกที่หนึ่งเหตุการณ์ชุมนุม หรือน้ำท่วม ก็สามารถเชื่อมข้อมูลระหว่างตู้ได้
Huawei OpenLab Bangkok ไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีและฮาร์ดแวร์เองทั้งหมดมีพาร์ทเนอร์อื่นร่วมด้วย เช่น SAP, Microsoft, Oracle, Infosys เป็นต้น และในส่วนของการรองรับสตาร์ทอัพ จะเน้นเฉพาะสตาร์ทอัพที่ทำเรื่อง Smart City ก่อนในระยะแรก
Comments
เฟิร์มแวร์ที่มีแอนดรอยด์ ?
จำนำ ?
ดาต้าเวนเตอร์ ?