ที่งาน Huawei Connect 2017 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หนึ่งในกรณีศึกษาที่ถูกนำเสนอบนเวที คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านดิจิทัลของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ใช้โซลูชั่นของบริษัท Huawei ในการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นผู้นำเสนอบนเวทีด้วยตนเอง
หลังจากการนำเสนอบนเวที ทางอธิการบดีได้ให้เวลาส่วนหนึ่งในการสัมภาษณ์กับสื่อไทยเป็นพิเศษ ผมได้รวบรวมและสรุปการสัมภาษณ์มาให้ทุกท่านได้อ่านครับ
หมายเหตุ ผมเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยคำเชิญของทาง Huawei ครับ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
อาจารย์สุชัชวีร์ เริ่มต้นอธิบายว่าการเปลี่ยนมาใช้โซลูชั่นของ Huawei ที่ขึ้นไปนำเสนอในช่วงเช้านั้น เกิดจากการที่ระบบของมหาวิทยาลัยไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงมากว่า 20 ปี และเมื่อพิจารณาแล้วก็พบว่าจะไม่สามารถรองรับกับความต้องการในอนาคตได้ ทางมหาวิทยาลัยจึงเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไอทีแกนหลักทั้งหมด
การเปลี่ยนแปลงนี้ สอดคล้องกับนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งอาจารย์มองว่า สิ่งสำคัญคือการใช้มหาวิทยาลัยให้เป็นฐานของเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่ เพื่อผลิตคนที่มีความรู้เฉพาะทางและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดีขึ้นด้วย และรัฐบาลก็ให้ความสนับสนุนกับทางมหาวิทยาลัยด้วยดีมาโดยตลอด รวมไปถึงสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างทาง สจล. และ CMU (Carmegie Mellon University) ของสหรัฐอเมริกาด้วย
การที่ สจล. เลือกระบบของ Huawei ไม่ได้อยู่ที่แค่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของระบบไอทีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐกับเอกชนด้วย โดยเห็นได้จากความร่วมมือในการสร้างความร่วมมือ ห้องปฏิบัติการ และสถาบันอบรม (academy) ที่มีร่วมกันระหว่างสององค์กรนี้
เป้าหมายการเปลี่ยนครั้งนี้สิ่งที่ได้ไม่ใช่เรื่องของความเร็วแกนระบบ (core network speed) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 100 Gbps แต่เพียงอย่างเดียว ทว่ารวมถึงอนาคตที่ทางมหาวิทยาลัยตั้งใจจะเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์อย่างเต็มที่ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเรียนทางไกลและเรียนกับมหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือกับทาง สจล. ด้วย และเชื่อว่าการเรียนผ่านออนไลน์นักศึกษาก็ยังคงเข้ามาเรียนเหมือนเดิม เพราะระบบตลาดภายนอกบังคับให้เด็กต้องแข่งขันกับคนอื่น และคนเรียนก็ไม่น่าจะทิ้งอะไรในจุดนี้
เป้าหมายสำคัญของ สจล. ในการเปลี่ยนแปลงคือการแบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก: ปรับปรุงโครงข่ายเพื่อการเข้าถึง (access), สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และ ไปต่างประเทศ (go global)
ผมมีโอกาสถามว่า อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากที่สุดในระบบครั้งนี้ คำตอบที่ได้มาก็น่าแปลกใจ เพราะอาจารย์ตอบว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือตัวเนื้อหาของชั้นเรียน (course content) เพราะต้องมีการทำใหม่หมด และทำให้รองรับกับการเรียนผ่านออนไลน์ ซึ่งยากกว่าระบบอย่างการลงทะเบียนเรียน เนื่องจากปัจจัยสำคัญมาอยู่ที่ตัวอาจารย์ผู้สอนด้วย รวมถึงต้องมีการทำงานในระดับล่าง (groundwork) เยอะมาก กว่าจะเปลี่ยนผ่านมาได้ ซึ่งทางอาจารย์ขอบคุณทีมผู้บริหารที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้
คำถามต่อมาก็คือ เมื่อทางมหาวิทยาลัยต้องการจะปรับการเรียนการสอนไปทำออนไลน์ ต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง อาจารย์ตอบว่า ปัญหาอยู่ที่วิธีคิดขององค์กรที่ดูแลและกำกับภาคการศึกษา ทั้งกรณีเรื่องหลักสูตรที่ล้าหลังไม่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดในอุตสาหกรรม ระบบงานเอกสาร ระบบการประเมิน (มคอ.) ซึ่งนี่เป็นปัญหาในการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
ตนมองว่าระบบต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ดังกล่าว การเอาคอร์สขึ้นออนไลน์จะแก้ปัญหาได้ในบางส่วน เป็นการเลี่ยงปัญหาจากระบบราชการในบางจุดและมีการควบคุมน้อยกว่ามาก แต่ถึงที่สุดระบบทั้งหมดจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนไปจากเดิม
ในตอนท้าย มีผู้สื่อข่าวถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI (artificial intelligence) จะเป็นอย่างไรบ้าง อาจารย์ตอบว่าการเข้าควบคุม AI เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป้าหมายของการสร้าง AI คือความพยายามในการจำลองความเป็นมนุษย์ให้ได้ใกล้เคียงที่สุด ดังนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ให้อยู่ร่วมกันได้
ผมมีโอกาสถามอีกเช่นกันว่า ความคืบหน้าล่าสุดที่จะมีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ของทาง สจล. จะเป็นอย่างไรบ้าง? อาจารย์ได้ตอบว่า การศึกษาแพทย์ของ สจล. ดำเนินหลักสูตรเช่นเดียวกับแพทยศาสตร์ในที่อื่นๆ แต่จะมีส่วน (element) ที่ผสานมาจากคณะอื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์ ฟิสิกส์ ไอที เพื่อให้กลายเป็นแพทย์ที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ไม่ใช่เป็นแพทย์ทั่วไปอย่างเดียว และคณะแพทยศาสตร์ที่นี่ก็จะเน้นความเป็นดิจิทัลอย่างมากด้วยเช่นเดียวกัน
ขอบพระคุณ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. และ Huawei สำหรับโอกาสในการสัมภาษณ์ครับ
Comments
ความร่วมมือในการสร้างความร่วมมือ ?
ปฏิิบัติการ => ปฏิบัติการ
ยังคับให้ ?
อายุเท่าไหร่ หน้าเด็กจัง เก่งมากคร้บ
จากข่าว เมื่อสองปีที่แล้ว ตอนนั้น 43 ตอนนี้น่าจะราวๆ 45 ครับ
เปิดใจ! พี่เอ้ อธิการ สจล. สุดหล่อ 'ตีเนียน' ปลอมตัวเป็นนักศึกษา
ติดตามผลงานมาพักนึงแล้ว เค้ามีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่ยาวไกล ขอให้พัฒนา สจล. ของเราอย่างต่อเนื่องนะครับ