Adobe ประกาศว่า AFDKO หรือ Adobe Font Development Kit for OpenType ได้ถูกเปิดโค้ดภายใต้สัญญาอนุญาตแบบ Apache License เวอร์ชัน 2.0 ผู้ที่สนใจสามารถที่จะ clone ซอร์สโค้ดได้จาก GitHub ครับ
พร้อมกันนี้ Adobe ได้ร่วมมือกับ Erik van Blokland ผู้พัฒนา Superpolator ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำ interpolation (การสร้างฟอนต์อีกน้ำหนักหนึ่งจากฟอนต์รูปแบบเดียวกันสองน้ำหนัก เช่นการสร้าง Semi-Bold ด้วย Regular และ Bold) เปิดโค้ด MutatorMath ซึ่งเป็นเอนจินที่ใช้ใน Superpolator อีกด้วย โดยอยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตแบบ BSD-3
ในงาน BUILD 2013 ที่ผ่านมา ทีม Windows graphics rendering ของไมโครซอฟท์ได้ประกาศว่ากำลังเตรียมที่จะเสนอวิธีการแสดงผลภาพตัวอักษร (glyph) ที่มีหลายสีเข้าไปในมาตรฐาน OpenType และ Windows 8.1 นั้นรองรับเทคนิคนี้แล้ว จุดมุ่งหมายหลักของภาพตัวอักษรแบบที่มีหลายสีนั้นคือการใช้แสดงผล Emoji (หรือ Emotion Icon) นั่นเอง
สำหรับเทคนิคที่ไมโครซอฟท์นำเสนอนั้นเป็นการใช้การแบ่งภาพตัวอักษรเป็นชั้น ๆ (layer) โดยแต่ละชั้นนั้นจะมีสีกำกับเอาไว้ และชั้นล่างสุดจะเก็บเวอร์ชั่นขาวดำของภาพตัวอักษรเอาไว้ ทำให้เมื่อนำฟอนท์ไปใช้กับระบบที่ไม่รองรับเทคนิคใหม่นี้ก็จะยังแสดงผลออกมาเป็นภาพขาวดำได้
Adobe ได้บริจาคโค้ด rasterizer ที่ใช้กับฟอนต์แก่โครงการ FreeType โดยการบริจาคครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Google เจ้า rasterizer คือโปรแกรมที่เรนเดอร์ภาพตัวอักษร (glyph) จากรูปแบบเวคเตอร์ให้เป็นบิทแมพ (หรือราสเตอร์ (raster)) ก่อนที่จะถูกนำไปแสดงผลครับ
โค้ดที่ Adobe บริจาคมานั้นจะทำงานเฉพาะกับฟอนต์แบบ OpenType ที่ใช้ภาพตัวอักษร (glyph) แบบ Compact File Format หรือ CFF โดยเป็นการปรับปรุงการทำงานของตัว parser และโปรแกรม hinting ที่เป็นส่วนของการปรับปรุงการวาดภาพตัวอักษรให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจะเห็นผลได้ชัดเจนเมื่อตัวอักษรนั้นมีขนาดเล็กมาก ๆ