หลังจากปล่อยบทความเรื่อง ไมโครซอฟท์ออฟฟิศพิชิตโลก แล้วมีคนอยากอ่านแบบไตรภาคสตาร์วอร์ วันนี้เลยขอปล่อยเรื่อง ศึกล้างตระกูลปาล์มบ้าง ลองมาดูว่าทำไมโลกของมือถือแบบพีดีเอถึงถูกไมโครซอฟท์ยึดไปได้ครับ ตอนนี้แอนดรอยกำลังจะเริ่มออกตัว เผื่อจะได้เทียบกันดู
ที่จริงแล้วอุปกรณ์แบบพีดีเอเป็นความฝันของมนุษย์มานาน หนังบางเรื่องเช่น สตาร์เทรค ก็แสดงอุปกรณ์บางอย่างที่คล้ายๆ กันมาตั้งแต่ปี 1960 กว่าๆ แต่บริษัทที่เรียกได้ว่าทำพีดีเอออกมาขายจริงเจ้าแรกคือแอปเปิล โดยออกอุปกรณ์ที่เรียกว่า "นิวตัน"
นิวตันนับว่ามีจุดเด่นล้ำยุคหลายเรื่อง แต่แอปเปิลเล็งผลเลิศกับเทคโนโลยีวิเคราะห์ลายมือเขียนมากเกินไป ฮาร์ดแวร์สมัยนั้นยังทำงานช้าและซอฟต์แวร์ด้านนี้ยังไม่ก้าวหน้าพอ (สังเกตุว่าขนาดไอโฟนยังหันมาพัฒนาเทคโนโลยีมือกดคีย์บอร์ดแทนเลยครับ) ทำให้นิวตันสวยแต่แพงมากๆ และช้าจึงไม่ได้รับความนิยม
ปาล์มแก้ปัญหานี้โดยการใช้อักษรแบบย่อที่เรียกว่า กราฟฟิติ (Graffiti) ซึ่งเป็นการจัดสมดุลย์ระหว่างความง่ายในการเขียนและความซับซ้อนของซอฟต์แวร์ ทำให้เราเรียนรู้นิดหน่อยก็สามารถเขียนให้เครื่องอ่านได้ ผมเคยใช้ Palm Pilot กับเครื่องสุดสวย Sony Clie อยู่พัก ใช้สนุกดีมากเลยครับ เครื่องเหล่านี้แทบจะก้าวเข้ามายึดโลกในชั่วข้ามคืน
เมื่อพีดีเอเริ่มเป็นสินค้าขายดี ทางไมโครซอฟท์ก็เริ่มเข้ามาร่วมวง ส่งเครื่องวินโดวส์โมบาย รุ่นแรกๆ อ้วนใหญ่ ช้าและแพงมากเมื่อเทียบกับปาล์ม โชคดีที่ทาง Compaq ได้ทำเครื่อง iPAQ ออกมาได้ดี ตลาดนี้จึงพอไปได้ แต่ยังแข่งกับปาล์มแทบไม่ได้เพราะแพงมาก
จุดเปลี่ยนอยู่ตรงไหนครับ
ผมว่ามีอยู่สามสี่เรื่องด้วยกันครับ
หนึ่ง
ไมโครซอฟท์ใช้ความได้เปรียบจากการใช้วินโดวส์เป็นฐาน มีจุดอ่อนตอนแรก แต่เด่นทีหลัง เนื่องจากวินโดวส์เป็นการพัฒนาจาก top down มาจะกินทรัพยากรฮาร์ดแวร์มากกว่าปาล์มโอเอส แต่การรองรับเครือข่ายไร้สาย มัลติมีเดียจะทำได้ง่ายและดีกว่าเพราะเอามาจากวินโดวส์
ส่วนปาล์มเป็นแบบ bottom up พัฒนาปาล์มโอเอสที่ทำงานกับฮาร์ดแวร์เบาๆ ได้ดีกว่า ทำให้ในช่วงแรก ปาล์มได้เปรียบด้านความเร็วและราคาที่ถูก แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านฮาร์ดแวร์และวิธีการใช้งานทำให้ข้อได้เปรียบนี้หมดลง เมื่อฮาร์ดแวร์เร็วและประหยัดไฟเรื่อยๆ
เมื่อฮาร์ดแวร์พัฒนาจนเร็วในระดับหนึ่งที่สัก 300-400 MHZ จะไม่มีความแตกต่างด้านความเร็วที่เห็นได้ชัด อีกอย่าง ระบบเครือข่ายเริ่มซับซ้อน ต้องใส่ Wi-Fi และฟังก์ชันโทรศัพท์ เมื่อต้องการระบบโอเอสที่ซับซ้อน วินโดวส์จะได้เปรียบกว่าปาล์มมาก
สอง
ไมโครซอฟท์รู้จักใช้ความได้เปรียบที่ตัวเองเป็นคนคุมชิ้นส่วนสำคัญของโลกไอที เช่น วินโดวส์ ออฟฟิศ ทำให้การใช้งานวินโดวส์โมบายร่วมกับพีซีทำได้ราบรื่น และการนำมาใช้งานภายในบริษัทก็ทำได้ดี ที่จริงแล้วตลาดองค์กรช่วยทำให้วินโดวส์โมบายรอดอยู่ได้ในช่วงที่เครื่องยังแพง ตามหลักยุทธศาสตร์แล้ว การเลือกสนามรบในเขตที่ถนัดทำให้ได้เปรียบครับ
ในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง พม่ายกมาเก้าทัพ ไทยเราแทนที่จะรอพม่ามาถึงกรุงเทพแล้วตั้งรับ เรากลับพลิกกลยุทธ์ส่งกรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท ออกไปตั้งรับที่ลาดหญ้า เลือกสมรภูมิที่ทัพใหญ่พม่าถูกยันติดในช่องเขาใช้กำลังไม่ออก ทำให้ทัพไทยที่เล็กกว่ามากได้เปรียบและตีทัพพม่าแตกไปได้ การเลือกสนามรบที่ดีที่คุมทุกอย่างได้จึงเป็นความได้เปรียบอย่างมาก
สาม
ไมโครซอฟท์ไม่ทำเครื่องเองแต่สร้างสภาพแวดล้อมสำหรับพันธมิตรได้ดี ช่วยให้คนทำเครื่องออกมาให้ใช้เป็นจำนวนมากและหลากหลาย ทั้งเจ้าเก่าอย่าง HP เจ้าใหม่ เช่น ASUS และ HTC กลยุทธ์นี้ช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างความหลากหลายมากขึ้น เมื่อนั้นคนก็เริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์มาให้ใช้กัน
สี่
ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นและพลังการเงินสูง แม้ว่าในช่วงแรก ผลิตภัณฑ์ยังไม่ทำกำไรเขาก็ยังผลักดันต่อตามวิสัยทัศน์แห่งอนาคตของเขา ค่อยๆ ยึดดินแดนแผ่อาณาจักรไปเรื่อย ตอนนี้แม้กูเกิลครองโลกการค้นข้อมูลอยู่ ไม่ได้หมายความว่าทางไมโครซอฟท์จะเลิกสู้ เขาก็ยังออกอะไรใหม่ๆ มาเรื่อยเพราะทรัพยากรเขาพอ เขาจะจ้องพลิกสถานะการณ์ไปอีกหลายปี ลองดู เรื่อง MSN เรื่องเบราว์เซอร์ครับ จะเห็นข้อนี้ชัด
จุดเปลี่ยนรุนแรงมาถึงเมื่อเข้ายุค PDA Phone ทำให้ตลาดขยายตัวออกอย่างเร็วมาก คนที่ใช้ PDA Phone ก็เริ่มหันออกมาใช้วินโดวส์โมบายมากกว่าปาล์มอย่างรวดเร็ว สุดท้ายปาล์มโอเอสก็ตาย โชคดีที่ปาล์มกลับลำมาทำ Palm Trio ซึ่งทำให้รอดได้ในตลาดสำเร็จ ไม่ตายเลยเหมือน Netscape ครับ
เรื่องนี้สอนเราว่าอย่างไร
สอนว่าในโลกไอทีวิสัยทัศน์และความสามารถบริหารการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเทคโนโลยีกับความต้องการของผู้ใช้นั้นเปลี่ยนทุกวัน ต้องทำนายอนาคตและไปอยู่ที่จุดนั้นให้ได้เลย
ในโลกการประดิษฐ์ มีคนคิดผลิตภัณ์แห่งอนาคตแล้วล่มสลายมามาก เช่น ห้องปฏิบัติการซีร็อกซ์ เป็นคนคิดระบบติดต่อกับผู้ใช้แบบกราฟิแต่แอปเปิลกลับเป็นคนทำมาขายแทน ดังนั้นทรัพยากรและความมุ่งมั่นที่จะผลักดันผลิตภัณ์แห่งอนาคตเหล่านี้ให้เกิดได้ก็สำคัญครับ
ก่อนจบขอยกคำพูดของนโปเลียนมาใช้หน่อยครับ
The battlefield is a scene of constant chaos. The winner will be the one who controls that chaos, both his own and the enemies.
สนามรบคือฉากแห่งความสับสนวุ่นวายอย่างต่อเนื่อง ผู้ชนะคือคนที่ควบคุมความสับสนวุ่นวายทั้งของเขาและศัตรูไว้ได้
ใช้กับข้อ หนึ่ง สอง สาม
Victory belongs to the most persevering.
ชัยชนะเป็นของผู้ที่อดทนได้มากที่สุด
ใช้อธิบายข้อสี่ครับ
Comments
เนื้อหาค่อนข้างดีครับ แต่อ่านยากมาก เพราะการจัดรูปแบบบทความไม่ดี
แก้ไขคำผิด:
ขอบคุณครับ สำหรับข้อชี้แนะที่ละเอียด ผมคงพยายามปรับปรุงต่อไปนะครับ ต้องขอโทษที่ติดนิสัย เพราะทาง Editor ของ Blog พอรู้จักกัน เขาก้เข้ามาปรับแก้ให้ ต้องออกตัวว่าไม่ค่อยมีเวลา พอคิดได้เลยรีบเขียนให้ความคิดไหลไป เดี๋ยวลืม
อยากโยนคำถามนะครับว่าทาง Blognone ครับ มีวิธีการ Screen ที่จะช่วยคนเขียนที่แก่ๆ และไม่ค่อยมีเวลาจัดรูปแบบไหมครับ เช่นมี มีส่วนให้โพสต์เพื่อมี Editor เท่านั้นที่อ่านได้
ผมเข้า่ใจนโยบายเรื่องคุณภาพของบทความครับ เป็นเรื่องที่ดี
ผมว่าเราน่าจะเน้น เนื้อหามากกว่ารูปแบบกันในที่นี้ หากท่านมีคนเขียนที่อยากเขียนประสบการณ์อันยาวนานของเขามาให้
แต่ทำงานบริหารมานาน เขาอาจจะไม่ค่อยมีเวลามาไล่ Tag ต่างๆ หรืออ่าน บัญชีศัพท์เท่าไหร่นะครับ เพราะมีลูกน้องทำพวกนี้ให้ น่าเสียดายความรู้ หากเขียนอะไรมาแล้วโดน commment แรงๆ แค่เรื่องการจัดรูปแบบ ไม่ใช่เนื้อหา ผมเกรงว่าเขาก็จะเลิกเขียนกัน ไปเองทั้งที่มีเรื่องมากมายอยากจะ share นะครับ
ผมเองคงหายไปอีกนานเพื่อไปหัดอ่านรูปแบบที่ถูกต้องและบัญชีศัพท์ให้ละเอียดก่อนครับ ค่อยกลับมาโพสต์ใหม่
คราวหน้าจะระวังกว่านี้นะครับ ต้องขอบคุณสำหรับคำแนะนำเป็นอย่างสูง ^_^
ปกติเวลาส่งเรื่องเข้ามา ก็จะช่วยๆ คอมเมนต์กันไปกันมาจนคุณภาพบทความใช้ได้ ก็จะเอาลงหน้าแรกให้ครับ
ขออภัยครับ พอดีตื่นเช้ามามึนๆ อ่านแล้วเลยชี้แนะไปเยอะ ^^"
ถ้า Blognone มีเครื่องมื่อช่วยจัดรูปแบบเอกสาร คล้ายๆ กับฟอรั่มอื่นที่มีกันก็จะดีเลยครับ หุหุ
อันนี้จงใจไม่ให้มีครับ ริจะเป็น geek ต้องขวนขวาย
ที่จริงต้องขอบคุณมากกว่าครับ อย่างที่ท่าน @mk บอกละครับอยากเป็น Geek ต้องพยายามหน่อย พักหลังชักเลือดนักพัฒนาจางขี้เกียจไปหน่อย หุหุ ถ้าไม่มีกรรมการเป่านกหวีด
บ้างจะแย่ ^-^
เขียนไปเรื่อยๆ จะปรับตัวได้เองเลยครับ :)
---
Khajochi Blog : It's not a Bug ... It's a Feature
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
เป็นบทความที่เยี่ยมมากครับ
เขียนดีมากครับ
Microsoft ซุ่มนะเนี่ย
Pitawat's Blog :: บล็อกผมเองครับ
แล้ว BlackBerry ? เพราะเอาเข้าจริง ตลาดองค์กรนี้เป็นส่วนแบ่งของ BlackBerry เสียส่วนใหญ่นี่นา?
เห็นด้วยครับว่า ตลาดองค์กรเป็นของ Black Berry ในสหรัฐ
http://www.informationweek.com/blog/main/archives/2009/05/blackberry_lead.html;jsessionid=LLQ1JPR1V2RO2QSNDLPSKHSCJUNN2JVN
บทความนี้ แค่กล่าวถึงอดีตตอน Windows Mobile รบชนะปาล์ม
ผมคิดว่า Black Berry บุกเข้ามาได้ด้วยการทำ text messaging ที่เหนือกว่าทำให้คนสามารถตอบโต้ email และส่ง SMS ได้เร็ว ซึ่งตรงใจกับ culture การทำงานในสหรัฐ (แต่ไม่ใช่ในบ้านเราและทางเอเชียส่วนใหญ่)
กว่า WM จะกลับตัวได้ก็ถูกแย่งตลาดไปแล้ว ซึ่งตอนนี้ตกเป็นที่สองอยู่
อย่างไรก็ตาม สถานะการณ์ตอนนี้กำลังน่าสนใจเพราะมี iPhone มาแย่งส่วนแบ่ง อันที่จริง iphone ขายได้มากกว่า RIM Blackberry ในQ4 ปี 2008 แต่ถูก RIM โต้กลับอย่างรวดเร็วด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่
เท่าที่ตามอ่านๆ ดูเหมือน Android phone ก็เล็งตลาดนี้ ครับ สรุป
แชมป์ RIM Balckberry , Windows Mobile Phone
ผู้ท้าชิง Apple iPhone
กำลังซุ่มจะเข้ามาท้าชิง Android
ชัยชนะในตลาด smart Phone นี้ไม่น่าจะตัดสินกันที่ความหวือหวาของ Application แต่ตัดสินกันที่
ความเข้ากันได้อย่างราบรื่นกับซอฟต์แวร์ระบบ enterprise การทำงานที่เสถียรของเครื่องและการใช้งานระบบ messaging ที่ดีและง่ายกว่า เพราะเน้นการใช้งานมากกว่าบันเทิงครับ
ทำให้รู้สึกว่าน้อง Android มีโอกาส แต่โอกาสกลับไปขึ้นกับส่วนติดต่อกับผู้ใช้ซึ่งอาจจะไม่ใช่มาจาก Android ทั้งหมดครับ
ขอบคุณครับ ^^
โอสุดยอด ดูชื่อ user..! ต๊กกะใจ คุ้นๆอยู่ละว่าเคยอ่านที่ไหน ^^
ขอแชร์ด้วยนะครับ
ผมมองว่ามีปัจจัยอีกบางอย่างที่ทำให้ Palm พัฒนาเครื่องเพื่อแข่งขันด้วยความยากลำบากเมื่อเทียบกับรายใหญ่ๆครับ
จุดสำคัญคือ โทรศัพท์ และวัตถุประสงค์ในการใช้งาน PDA
PDA มีลักษณะที่ไม่ชัดเจนว่าจะเอาไว้ใช้งานอะไร การใช้งานอย่าง Organizer นั้นมีตลาดที่จำกัดเพียงกลุ่มที่มีงานหลากหลายในแต่ละวัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ทำงานประจำและเนื้องานซ้ำๆกันจนแทบไม่เห็นความจำเป็นของ Organizer
ความเป็น Organizer ที่ติดตั้งโปรแกรมเพิ่มได้ของ PDA จึงไม่ชัดเจนครับ ว่าเอาไว้ใช้อะไร ซึ่งก็คล้ายๆกับคอมพิวเตอร์ในสามสิบปีก่อน ว่าใช้ทำอะไร ตอบยาก แต่ไม่จำเป็นต้องตอบ เพราะในที่สุดทุกคนก็ใช้คอมพิวเตอร์ แม้ว่าจะยังตอบยากเช่นเดิมว่าคอมพิวเตอร์ใช้ทำอะไรได้บ้าง
แต่ PDA ไม่เคยมาถึงวันนั้น
ในสมัยของโทรศัพท์ Land line และการใช้จดหมาย การจดเบอร์โทรศัพท์และเลขที่บ้านของผู้ติดต่อเป็นความสะดวก
แต่ในสมัยของโทรศัพท์มือถือ การหยิบ PDA ขึ้นมาดูเบอร์แล้วกดเบอร์บนมือถือเป็นความงุ่มง่าม สมุดโทรศัพท์แบบ PDA ย้ายเข้าไปในโทรศัพท์ และกลายมาเป็น Smartphone ที่ใช้งานส่วนสมุดโทรศัพท์โดยส่วนอื่นของ PDA เช่นตารางนัดหมายก็ยังถูกลืมเช่นเดิม
ระบบปฏิบัติการเรียบง่ายของ Palm จึงเริ่มตอบสนองได้ไม่พอเพียง การพัฒนาโดยรักษา Backward compatibility เป็นภาระมากขึ้นเรื่อยๆ
โทรศัพท์ของ Palm ใช้งานไม่ง่ายเลยหากมองในมุมของผู้ใช้โทรศัพท์
และความซับซ้อนไม่ใช่จุดขายของ Palm
Palm ไม่ได้แพ้ Microsoft แต่ผมมองว่า Palm ทำ PDA ได้ดี แต่แทบไม่พร้อมสำหรับตลาดโทรศัพท์ครับ
เห็นด้วยครับ
อันนี้เรียกว่าโยนกระเบื้องแลกหยก คือ เราเอาความเห็นธรรมดาของเราแลกได้ความเห็นดีๆ จากคนอื่น
ขอบคุณครับ
PalmOS นี่เน้นจดบันทึก เล่นเกมต๊องๆ แต่ผมก็ชอบมันมากนะครับ ตอนนี้ก็ยังใช้อยู่ ^ ^
เขียนได้ดีมากครับ เจ๋ง ไมโครซอฟท์นี่ สุดๆๆ
เขียนดีมากเลย ชอบอ่านจิงๆ เหมือนอ่านหนังสือของคุณตัน โออิชิ ยังไงอย่างงั้นเลย เฮ่อๆ รู้สึกจะมีเรื่องเล็กน้อย -_= หลังไมค์ดีที่สุด
Backlink|dofollow|PR..28.5 PR4! by Cloudkr
ดูจากชื่อ login แล้วตกใจเหมือนกันครับ
แวะมาคารวะท่านอาจารย์ครับ
ชอบครับ บทความอิงประวัติศาสตร์ไอทีแบบนี้ เหมือนเป็นกรณีศึกษาได้เลย ว่าความยิ่งใหญ่ของ Microsoft นี่ได้มาได้ยังไง เขียนเยอะๆ นะครับ ผมจะติดตาม เพราะตำนานบางอย่างผมเกิดไม่ทัน 5555
แต่ผมสังเกตว่าอุปกรณ์โมบายหลังๆ มานี่ Microsoft ทำผลงานออกมาได้ค่อนข้างน่าผิดหวังนะครับ
ทั้ง Zune ที่ออกมาแล้วยังไม่โดนใจ รวมถึง Windows Mobile เอง ก็ยังไม่มีพัฒนาการอะไรเด่นๆ ที่ถือว่าเป็น innovation ออกมาเลย ส่วนใหญ่ก็ทำตามแนวทางของคู่แข่งที่คนนิยมกันอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น Windows Mobile 6.5 UI หรือ Windows Marketplace
ตอนนี้ Google & Apple มาแรงจริงๆ ครับ สำหรับ PDA Platform ผมว่าก็เป็นเรื่องสนุกทีเดียวว่าผู้ท้าชิงคราวนี้จะสามารถล้ม Windows Mobile ได้เหมือนที่ Microsoft ล้ม Palm ในอดีตได้หรือเปล่า ผมชอบติดตามมากโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทำศึกล้มล้างเจ้าตลาดจากมวยรอง เพราะมันมันส์จริงๆ
Google นี่ผมยอมรับว่าสุดยอดในเรื่อง innovation มากๆ เลย เพิ่งได้ดู Presentation Google Wave มาเนี่ย... ของเค้าเจ๋งจริง..
Androind ทุกย่างก้าวของ smartphone
เรื่องที่ MS ทำ google เลยอยากทำบ้างให้เป็น opensource จะได้ช่วยกนหลายฝ่าย เครื่องใครก็ดัดแปลงเอาเอง ขายแต่ software และการตลาด ยืมม อชาวบ้านสร้างแบร์นของตัวเอง ได้กันทุกฝ่ายอีกฝ่ายใช้แบรน google ทำตลาด ฉลาดทำ Opensource ดึงพวก geek nerd openAholic มาเป็นลูกค้า ช่วยพัฒนา software
ในความคล้ายมีความต่าง แต่ทุกย่างก้าวนั้นจ่อคอมาติดๆแย่งความเป็นจ้าว จาก online ไป offline อีกฝ่าย จาก offline ไป online
palm pre web os ไม่ทันไล่ smartphone
จุดพ่ายของ palmนั้นคือการผลิตเองนั้นก็ใชครับแต่เค้าขาย osด้วยเรื่องที่แพ้ที่คิดออก ระบบมัติมีเดีย จุดตาย palm เครื่องปาล์มในอดีตนั้นมุ่งไปกลุ่มธุรกิจ แต่ต่อมามันกลายเป็นเทรนที่ใครก็น่าจะมีกันสำหรับPDA อย่าง Sony เคยบุกตลาดนั้นมาแล้วแต่มีไม่กี่ตราที่ทำตลาดมีเดีย ทำให้ ปาล์ม ผ่ายไป อีกประการ ชุดพัฒนานั้นมีจำนวนมากบน Windows และประสิทธิภาพก็เทียบกันไม่ได้ การมีนักพัฒนามากกว่าทำให้ MS ได้เปรียบ การรองรับด้านมัลติมีเดียครบวงจรนั้น สุดยอดแต่ก็เหมือน windows ที่บริโภคทรัพยากรต่างกันที่ไม่มี BSOD เท่านั้น ถ้าปาล์มไม่สามารถให้นักพัฒนา SOFTWARE มาหลากหลายมากพอที่จะต่อกรกับ mS ได้อย่าคิด เพราะตอนนี้ไม่ได้มี ms เจ้าเดียว แต่มีจ้าวใหญอีก 2 จ้าวด้วยกัน การจะท ให้ PDAนั้น รองรับ Wideget เป็นส่วนใหญ่นั้นไม่ใช้ผลดีนัก
ขอบคุณครับ
ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ Palm มี 2 ตอนนะครับ
เห็นด้วยทั้งสองข้อนะครับ แต่สองข้อก็มีความแตกต่างกันอยู่อย่างใหญ่หลวง
ข้อแรกเป็นความผิดพลาดถึงตายเชิงยุทธศาสตร์
ข้อสอง เป็นความผิดพลาดถึงตายทางปฏิบัติการ
อันว่าสนามรบนั้น ทั้งสองอย่างไปด้วยกันครับ วางแผนพลาดก็สูญเสียไพร่พลโดยไม่ได้ผลสำเร็จ
วางแผนดี หากไม่สามารถลงไปคุมให้ปฏิบัติการรบอย่างได้ผลก็พินาศ
ต้องให้เครดิตกับไมโครซอฟต์ว่าถึงช้าก็ค่อนข้างวางยุทธศาสตร์และเคลื่อนย้ายกำลังปฏิบัติได้ผลดี
จุดอ่อนของไมโครซอฟต์ คือ เวลาเทคโนโลยีเปลี่ยนไป มักจะมีบริษัทที่เริ่มใหม่ๆ พุ่งแซงออกไปได้
เพราะทางไมโครซอฟต์จะติดที่ต้องพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีของตัวเองเสียมาก
โอววว บทความที่เขียนด้วยท่านนี้ช่างสาระเสียจริงๆ ผมกลายเป็นแฟนอาจารย์โดยไม่รู้ตัวไปเสียแล้ว คอมเมนต์แต่ละอันก็สุดยอด เหมือนได้อ่านมหากาพย์เลย ขอบคุณทุกท่านเลยครับ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ