ใน ตอนที่ 1 คุณ mk ได้ปูพื้นเรื่องงานแปลโดยทั่วไปไว้แล้ว ต่อไปนี้ก็จะเจาะเรื่องการร่วมแปล GNOME นะครับ
ระบบการแปลของ GNOME จะอาศัยหน้าเว็บ "Damned Lies" ที่รวม PO ของโครงการต่าง ๆ ใน GNOME จาก SVN snapshot ล่าสุด ซึ่งพร้อมสำหรับการแปลอยู่ตลอดเวลา ผู้แปลสามารถเลือกดาวน์โหลด PO ของโครงการที่สนใจ เพื่อมาแปลด้วย PO editor ทั้งหลาย แล้วส่งงานที่ได้ให้กับผู้ประสานงานหรือ mailing list ทีมแปล เพื่อผ่านกระบวนการตรวจทานและ commit เข้า SVN ต่อไป
ผู้แปลสามารถตั้งต้นที่หน้า ทีมแปลไทย แล้วเลือกชุด Release ที่สนใจแปล โดยสำหรับชุด GNOME 2.x กรุณาเลือกรุ่นล่าสุดเสมอ เนื่องจากรุ่นเก่าจะไม่มีการ maintain อีกแล้ว ส่วนชุดอื่น ๆ เช่น GNOME Fifth Toe, Extra GNOME Applications, GNOME-Office จะมีแค่รุ่นเดียว สามารถเลือกแปลได้ทันที
เครื่องมือที่ใช้แปลมีหลายตัวให้เลือก เช่น gtranslator, kbabel, poedit หรือแม้กระทั่ง text editor ทั่วไปอย่าง emacs/vim ซึ่งไม่ขอแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นแปล
รายละเอียดอื่น ๆ อ่านได้จากหัวข้อ ขั้นตอนและเครื่องมือในการแปล ใน ตอนที่ 1
เพื่ออำนวยความสะดวกนักแปล และเพื่อสำนวนการแปลที่สอดคล้องต้องกัน เราได้เตรียมเครื่องมือช่วยไว้ดังนี้:
wiki รวบรวมประเด็นการแปลต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น ชื่อภาษา ชื่อสี
glossary อภิธานศัพท์สำหรับศัพท์เฉพาะทาง ตามที่ได้ตกลงร่วมกันสำหรับทีมแปล ซึ่งจะผ่านการพิจารณาข้อมูลประกอบหลาย ๆ ด้านมาแล้ว
corpus เก็บรวบรวมคำแปลเดิมในแพกเกจที่แปลไปแล้ว เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคำแปลใหม่ รวมทั้งในบางครั้ง ใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบความสอดคล้องของคำแปลในที่ต่าง ๆ ด้วย
mailing list ใช้ถามคำถามในกรณีที่มีปัญหา รวมทั้งใช้ส่งงานแปลด้วย เราขอแนะนำให้ผู้แปลทุกท่านสมัครสมาชิก เพื่อใช้สนทนาตกลงกัน รวมทั้งใช้ประสานงานต่าง ๆ ด้วย mailing list นี้ ไม่ได้ใช้ประสานงานแค่สำหรับ GNOME เท่านั้น งานแปล KDE, OpenOffice.org, Debian ก็ใช้ช่องทางนี้ร่วมกันด้วยเช่นกัน
เมื่อแปลเสร็จแล้ว สามารถส่งคำแปลได้สองทาง
ส่งเข้า mailing list ซึ่งกระบวนการตรวจทานจะทำใน mailing list ซึ่งหมายความว่าสมาชิกท่านอื่นจะได้เห็นรายการแก้ไขคำแปลต่าง ๆ จากผู้ตรวจทาน รวมทั้งอาจได้รับความเห็นต่าง ๆ จากสมาชิกด้วย
ส่งถึงผู้ประสานงานโดยตรง ซึ่งที่อยู่อีเมลของผู้ประสานงาน ได้แสดงอยู่ที่ด้านบนของหน้า Damned Lies ตรงหัวข้อ "Coordinator" อยู่แล้ว ในกรณีนี้ การตรวจทานจะทำเป็นการส่วนตัว เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในการตรวจทาน
การตรวจทานมีเพื่อควบคุมคุณภาพของงานแปล อาจมีการตรวจตัวสะกด ตรวจการใช้คำศัพท์ว่าตรงตามความหมายของโปรแกรมจริงหรือไม่ หรือใช้สอดคล้องกับส่วนอื่น ๆ ของโครงการหรือไม่ ก่อนที่จะ commit เข้า SVN ต่อไป ซึ่งตรงนี้ เป็นหน้าที่ของผู้ประสานงานแปล
โดยปกติแล้ว รอบแรก ๆ ของการตรวจทาน มักจะมีรายการแก้ไขมาก และจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อมีการปรับความคุ้นเคยของผู้แปลเอง ในอดีต เราเคยตรวจทานใน mailing list เป็นหลัก
ซึ่งทำให้ผู้ที่มาใหม่เกิดความเกร็ง เมื่อมีการแจ้งรายการแก้ไขมากมายต่อหน้าธารกำนัล ฉะนั้น ต่อมาเราจึงแนะนำให้ผู้แปลใหม่ส่งงานถึงผู้ประสานงานโดยตรง เพื่อตรวจทานเป็นการส่วนตัวก่อน
ที่ผ่านมา พบว่าบางคนเมื่อได้เห็นรายการแก้ไขจำนวนมาก ก็อาจรู้สึกท้อถอย หรือรู้สึกว่ามาสร้างภาระให้กับผู้ตรวจทาน ในฐานะผู้ตรวจทานก็ต้องชี้แจงว่า ทุกงานแปลที่ส่งมา ถือเป็นการแบ่งเบาภาระงานแปลทั้งสิ้น เพราะอย่างน้อย การตรวจทานก็ใช้เวลาในการคิดสั้นกว่าการแปลแน่ ๆ แม้จะแก้เกือบทุกข้อความก็ตาม
รายละเอียดเพิ่มเติม ได้รวบรวมไว้ที่หน้า มาช่วยกัน
ของหน้าเว็บทีมแปล GNOME ไทย [http://gnome-th.sourceforge.net] สามารถใช้อ้างอิงยามฉุกเฉินได้
หรือหากจำ URL ของทีมแปลไม่ได้ ก็สามารถหาได้ง่าย ๆ โดยคลิกขวาที่พาเนลของ GNOME เลือก "เกี่ยวกับพาเนล" จะได้ about box ของพาเนล กด "เครดิต", "แปลโดย" แล้วเลื่อนแถบเลื่อนลงมาบรรทัดล่างสุด