Theranos สตาร์ตอัพทางการแพทย์ที่หลายคนเคยเชื่อว่าจะเป็นผู้พลิกโฉมการแพทย์ครั้งใหญ่ ทำให้สามารถระดมทุนได้นับหมื่นล้านบาท มูลค่าบริษัทเคยสูงสุดถึงสามแสนล้านบาท (9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) Elizabeth Holmes ผู้ก่อตั้งซึ่งมีหุ้นเกินครึ่งกลายเป็นมหาเศรษฐีด้วยอายุเพียง 30 ปี แต่ทั้งหมดก็จบลงภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังบริษัทถูกแฉว่าเทคโนโลยีใช้ไม่ได้จริง โดยบทความของนักข่าวสืบสวน John Carreyrou ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ในปี 2015 สามปีผ่านมา เขาเรียบเรียงประเด็นประเด็นทั้งหมดออกมาเป็นหนังสือ ว่าปรากฎการณ์ของ Theranos ที่เป็นบริษัทด้านสุขภาพที่ควรจะถูกตรวจสอบอย่างหนัก กลับหลุดรอดกระบวนการตรวจสอบของทั้งหน่วยงานรัฐ และนักลงทุนชื่อดังจำนวนมากที่ทุ่มเงินมหาศาลในบริษัทตลอดช่วงเวลาหลายปีได้อย่างไร
หนังสือ Bad Blood เดินเรื่องราวในหนังสือ หาคำตอบต่อคำถามว่า
หนังสือเล่าถึงปัญหาของการบริหารของ Holmes ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งบริษัทใหม่ๆ พนักงานยุคแรกของ Theranos พยายามบอกนักลงทุนรุ่นแรกๆ ว่า Holmes ว่าเธอสนใจแต่ความจงรักภักดีต่อตัวเธอ มากกว่าความสามารถในการทำงาน ขณะที่ฝั่งผู้ลงทุนเธอเลือกนักลงทุนรุ่นแรกๆ ที่อยากให้เทคโนโลยีของ Theranos เป็นความจริงแต่ตัวนักลงทุนเหล่านี้ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพนัก แม้นักลงทุนจะรู้ว่าเธอมีปัญหาในการบริหาร แต่กลับยอม "ให้โอกาส" เธออีกครั้ง
หนังสือเล่าถึงบุคลิกของ Holmes เองที่บูชาความสำเร็จของบริษัทไอทีอย่างแอปเปิลเป็นอย่างมาก ในวันที่ข่าว Jobs เสียชีวิต Theranos ถึงกับชักธงแอปเปิลเพื่อไว้อาลัย ขณะเดียวกันสไตล์การแต่งตัวของเธอก็มีอิทธิพลมาจากจ๊อบส์ค่อนข้างมาก
สไตล์การทำงานแบบบริษัทไอทีนี้ Carreyrou วิจารณ์ถึงซิลิกอนวัลเลย์เอาไว้ ว่าบริษัทในย่านนี้จำนวนมาก มักกล่าวอ้างความสำเร็จเกินจริงกันเป็นประจำ แม้ในวงการไอทีจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่กับงานด้านสุขภาพ การอวดอ้างความสำเร็จเกินจริงกลายเป็นเรื่องอันตราย
จุดสำคัญของ Theranos คือการทำสัญญาร่วมกับ Walgreens จนสามารถเข้าไปตั้งจุดรับตรวจเลือดในร้านขายยาได้ หนังสือเล่าถึงการทำสัญญาครั้งนี้ว่าร้านขายยาอย่าง Walgreens พยายามอย่างหนักที่จะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาลงเพื่อปรับโฉมธุรกิจ และพอเห็นเทคโนโลยีของ Theranos ผู้บริหารหลายคนก็เชื่ออย่างเต็มใจ แม้ที่ปรึกษาจะพยายามทัดทานและขอตรวจสอบว่าเทคโนโลยีทำงานได้จริงหรือไม่ รวมถึงขอทดลองตรวจสอบผลเลือดด้วยตัวเองเอง แต่ Holmes ก็อ้างความไม่พร้อมต่างๆ ให้ผู้บริหาร Walgreens ได้เสมอจนกระทั่งเซ็นสัญญา และเปิดบริการให้กับคนไข้ในที่สุด Carreyrou วิจารณ์ถึงผู้บริหาร Walgreens ว่าเกิดอาการ FOMO (fear of missing out) ว่าตัวเองจะพลาดเทคโนโลยีที่กำลังจะมาเปลี่ยนโลก จนยอมร่วมหัวจมท้ายกับบริษัทเกิดใหม่โดยไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ขณะที่บริษัทยาจำนวนหนึ่งร่วมงานกับ Theranos เพียงแค่เข้ามาทดลองเทคโนโลยีและถอนตัวออกไปเมื่อผลลัพธ์ใช้งานไม่ได้ แต่ Theranos กลับนำไปอ้างว่าได้ร่วมงานกับบริษัทเหล่านี้
ช่องโหว่ของระบบการกำกับดูแลอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพของสหรัฐฯ ก็เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ Theranos สามารถให้บริการจริงกับผู้ป่วยจำนวนมากได้ การกำกับดูแลที่แยกระหว่าง FDA ที่กำกับดูแลอุปกรณ์ และ CMS ที่กำกับดูแลห้องแล็บ สร้างช่องโหว่ให้ Theranos สามารถอ้างว่าให้บริการตรวจเลือดได้โดยแทบไม่ถูกตรวจสอบเลย เมื่อใดที่ Theranos เปิดบริการที่จะถูกกำกับดูแลมากขึ้น บริษัทก็เลือกช่องทางอื่น เช่นการส่งเลือดกลับห้องแล็บกลางของบริษัท แทนที่จะเป็นจุดตรวจเลือดที่ให้ผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็วตามที่อ้างไว้ตั้งแต่ทีแรก ช่องโหว่นี้ไม่ได้ถูกใช้โดย Theranos อย่างเดียว แต่บริษัทจำนวนมากก็เปิดรับตรวจข้อมูลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีที่ไม่น่าเชื่อถือ รายหนึ่งให้บริการตรวจมะเร็งเต้านมกับคนไข้ ทั้งที่ตัวเทคโนโลยีผิดพลาดสูงถึง 20%
โดยรวม หนังสือ Bad Blood เป็นหนังสือที่ช่วยให้เราเห็นภาพได้ทั้งระบบว่าการที่บริษัทลวงโลกอย่าง Theranos เกิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้บริหารที่หลอกลวงเท่านั้น แต่มันต้องอาศัยความเชื่อของคนจำนวนมาก, ช่องโหว่ทางกฎหมาย, และช่องโหว่ของระบบการจัดการเงินลงทุนที่หลายครั้งให้เงินจำนวนมหาศาลโดยไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นภาพสะท้อนให้กับระบบการดูแลบริการสุขภาพของสหรัฐฯ, แนวคิดการทำสตาร์ตอัพที่พยายามสร้างภาพความสำเร็จโดยไม่ดูความเป็นจริง, และการลงทุนแบบหว่านเงินไปพร้อมๆ กัน
สำหรับผู้สนใจวงการสตาร์ตอัพเทคโนโลยี หรือวงการเทคโนโลยีสุขภาพ หนังสือเล่มนี้คงเป็นหนังสือที่ต้องอ่านในปีนี้เลยทีเดียว
Comments
จะติดคุกเปล่าเนี้ย
อ่านพาดหัวแวบแรกเป็น thanos ซะงั้น ^^"
Happiness only real when shared.
+555
+1
ขอบคุณครับ
"เขาเรียบเรียงประเด็นประเด็นทั้งหมด"..คือ
รอดูหนัง
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
รอดูหนัง
ภาคต่อตอนนี้ของ Theranos กับ Walgreens
ก็อาจจะเป็น Magic Leap กับ AT&T
เห็นหลายคนไปลองเดโมแล้ว ผิดหวังไปตามๆ กัน
+1 Magic Leap น่าจะเป็นรายต่อไป
oxygen2.me, panithi's blog
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6
ว่า Holmes ว่า ?
GT200 เวอร์ชั่นสตาร์ทอัพ
แชร์ลูกโซ่โมเดล
นี่ถ้ารอดไปถึง IPO นี่ท่าจะบันเทิงกว่านี้
I need healing.