Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

หลังจากงาน World AI Conference ในเซี่ยงไฮ้ กูเกิลเลือกจัดงาน Google Developer Day ต่อเนื่องกันไป แสดงให้เห็นว่ากูเกิลสนใจจะกลับเข้าไปในจีนเป็นอย่างยิ่ง และส่วนหนึ่งของงาน Developer Day ก็คือ Google Demo Day ที่นำสตาร์ตอัพ 10 รายจากที่สมัครเข้าไปกว่า 300 รายไปแข่งขัน pitching ที่มีนักลงทุนมาร่วมสังเกตการณ์ และได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอนวัช คิมหสวัสดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง OneStockHome

No Description

รู้จักกับ Google for Entrepreneurs

ก่อนที่จะเข้าถึงการแข่งขัน ผู้จัดงาน Google Demo Day นั้นคือส่วนหนึ่งของกูเกิลที่ชื่อว่า Google for Entrepreneurs ที่เป็นโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัพของกูเกิล ที่เน้นการสร้างแพลตฟอร์มให้สตาร์ตอัพสามารถเติบโตได้

โครงการนี้มีหลายส่วน ทั้งการ เช่นแคมปัสสำหรับการพบปะระหว่างสตาร์ตอัพ, ไปจนถึงงาน Demo Day ที่เป็นงานนำสตาร์ตอัพมาแข่งของเงินลงทุนจากบริษัทลงทุน โดยปัจจุบันดูแลโดย Bradley Horowitz รองประธานกูเกิลที่ดูแลโครงการนี้โดยตรง

No Description

Bradley Horowitz

แม้จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจ แต่ตัว Google for Entrepreneurs เองไม่ได้เป็นธุรกิจของกูเกิล เพราะหลักการของโครงการนี้คือจะไม่รับหุ้นจากสตาร์ตอัพที่เข้าร่วมเลย ทำให้ไม่สามารถทำกำไรจากราคาหุ้นที่อาจจะขายกิจการหรือเข้าตลาดหุ้นในอนาคตได้

กูเกิลมีอีกธุรกิจคือ GV (Google Ventures เดิม) ที่ลงทุนในบริษัทต่างๆ เพื่อผลกำไร การลงทุนที่ดังมากของ GV คือร้านกาแฟ Blue Bottle ที่เข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าจนเป็นตัวอย่างสำคัญคือในหนังสือ Sprint แต่สำหรับ Google for Entrepreneurs แล้ว GV ก็เป็นบริษัทลงทุนอีกบริษัทที่โครงการทำงานด้วย

งาน Google Demo Day เองจัดมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี 2016 และครั้งนี้เป็นครั้งแรกในเอเชีย โดยที่ผ่านมากูเกิลช่วยสตาร์ตอัพหาแหล่งทุนไปได้แล้ว 279 ล้านดอลลาร์ ผ่าน Demo Day และหากรวมการรับทุนของบริษัทที่เคยร่วมงานกับ Google for Entrepreneurs ทั้งหมดตั้งแต่ก่อตั้งก็จะมีเงินลงทุนรวมกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ โดยที่ผ่านมา การเข้าร่วมโครงการ Demo Day นั้นมักจะไม่ใช่บริษัทที่เริ่มต้นแต่แรกนัก เพราะทาง Google for Entrepreneurs ที่พิสูจน์ตัวเองทางธุรกิจแล้ว (มี business traction) จากนั้นจึงมองความเป็นไปได้ในการขยายออกไประดับนานาชาติ, และการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

ที่งาน Demo Day เซี่ยงไฮ้ปีนี้ ผู้ชนะในงานคือ SigTuple บริษัททำระบบคัดกรองคนไข้ด้วยปัญญาประดิษฐ์จากอินเดีย อย่างไรก็ดีในทความนี้เราจะมาคุยกับ OneStockHome ตัวแทนจากประเทศไทย

คุยกับคุณอนวัช คิมหสวัสดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง OneStockHome

สำหรับ OneStockHome เองเป็นผู้ชนะการแข่งขัน DVAb0 มาก่อน โดย OneStockHome เป็นเว็บให้บริการขายวัสดุก่อสร้าง มีจุดเด่นคือการเปิดเยผราคาทั้งหมดขึ้นเว็บ ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าโดยคาดเดาราคาได้ล่วงหน้า ไม่ต้องอาศัยการโทรถามหรือเดินทางไปยังร้าน

เริ่มต้นทำ OneStockHome มาอย่างไร มีแนวคิดอย่างไร

เริ่มต้นตอนแรกคือที่บ้านทำธุรกิจวัสดุก่อสร้างอยู่แล้ว จึงสนใจที่จะมาทำธุรกิจนี้ให้เป็นดิจิทัล โดยแนวคิดสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ซื้อ โดยก่อนหน้านี้ในวงการมักไม่ยอมเปิดเผยราคาและปริมาณสินค้าในสต็อกกัน ทาง OneStockHome

OneStockHome เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างซัพพลายเออร์ เช่น ตัวแทนจำหน่าย หรือโรงงาน ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ เข้ากับผู้ซื้อที่มักจะเป็นผู้รับเหมา ผู้ที่กำลังก่อสร้างบ้านที่ต้องอาจจะซื้อวัสดุเองไปให้ผู้รับเหมาอีกที แต่ตัวแพลตฟอร์มก็เป็นคนคัดเลือก (curate) ผู้ขายด้วยตัวเอง ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาบนแพลตฟอร์ม จากนั้นเราก็เลือกผู้จัดส่งให้ไปส่งสินค้าให้จากผู้ขายถึงผู้ซื้ออีกที โดยตอนนี้เฉพาะผู้จัดส่งก็มีกว่า 50 เจ้าแล้ว หลายครั้งคำสั่งซื้อมาจาก ลาว, เมียนมาร์, หรือกัมพูชา ก็ไปส่งให้

No Description

ประวัติราคาเหล็กเส้นย้อนหลังสองปีบนเว็บ OneStockHome

ความแตกต่างของคนซื้อวัสดุก่อสร้างกับการซื้อสินค้าออนไลน์ทั่วไป

ความต่างสำคัญคือการซื้อแต่ละครั้งมียอดซื้อค่อนข้างสูงมาก โดยทั่วไปเฉลี่ยมูลค่า 100,000 บาทต่อการซื้อแต่ละครั้ง การบริการหลังการขายสำคัญมากหากสินค้ามีปัญหา ในกรณีนี้ลูกค้าจะคุยกับ OneStockHome เท่านั้น และเราจะเป็นคนแจ้งให้ผู้ขายไปจัดการปัญหาอีกทีหนึ่ง

บริษัทขนส่งมีเยอะมาก เลือกบริษัทยังไง

มีเงื่อนไขหลายอย่าง นับตั้งแต่พื้นที่ให้บริการของแต่ละบริษัท ขนาดรถที่มีให้บริการ ไปจนถึงความเชี่ยวชาญในการขนส่งสินค้าบางประเภท ที่อาจจะเสียหายระหว่างขนส่งได้

กลุ่มลูกค้ามีประเภทไหนบ้าง

ตอนนี้ลูกค้าส่วนมากเป็นผู้รับเหมาถึง 68% ผู้พัฒนาอสังหารองลงมา 17% ส่วนอีก 14% เป็นเจ้าของบ้านเอง

ลูกค้าซื้อแต่ละครั้งมูลค่าสูงมาก ส่วนใหญ่ยอมสั่งออนไลน์หรือเปล่า

ลูกค้าเกือบทั้งหมดเข้าเว็บเพราะข้อมูลที่เปิดราคาให้ตรวจสอบได้ แต่หลังจากได้ข้อมูลครบแล้ว ลูกค้าก็สามารถเลือกได้เองว่าจะจบการสั่งสินค้าบนเว็บเลยไหม หรือจะติดต่อหน่วยบริการลูกค้า

แต่ในระบบหลังบ้านของ OneStockHome เองมองลูกค้าทีสั่งสินค้าทั้งออนไลน์และโทรหาหน่วยบริการลูกค้าไม่ต่างกันนัก มีการเก็บประวัติการซื้อ ประวัติการขอใบเสนอราคา โดยหากลูกค้าอยากย้ายกลับไปใช้หน้าเว็บด้วยตัวเอง บัญชีของลูกค้าก็จะมีประวัติการสั่งซื้อเดิมทั้งหมดให้ดูได้ด้วย

ในช่วงหลังเราพบว่าบริษัทผู้พัฒนาอสังหาใหม่ๆ ที่สั่งวัสดุก่อสร้างเองแล้วค่อยไปจ้างผู้รับเหมาอีกต่อหนึ่ง เริ่มชินกับการสั่งสินค้าออนไลน์ ก็มักจะสั่งสินค้าด้วยตัวเองทั้งหมดโดยไม่ได้ติดต่อหน่วยบริการลูกค้าแล้ว

โดยรวมๆ แล้วปริมาณการสั่งซื้อที่จบบนเว็บทั้งหมดอยู่ที่ 12% ส่วนที่เหลือก็มีทั้งการโทรศัพท์, อีเมล, และการแชต LINE@

เปิดราคาบนหน้าเว็บแบบนี้แล้วกลัวถูกตัดราคาไหม

โดยปกติสินค้าในวงการก่อสร้างสัดสวนกำไรไม่ได้สูงมากอยู่แล้ว การตัดราคาคงไม่ใช่ความกังวลนัก และค่าใช้จ่ายของ OneStockHome เองก็ค่อนข้างต่ำมากอยู่แล้วจากการไม่สต็อกสินค้าเอง ไม่ลงโฆษณา แต่เน้นทำ SEO เพื่อดึงทราฟิกเข้าเว็บอย่างเดียว

ตัวเว็บไม่ได้เปิดปริมาณสต็อกให้ลูกค้าเห็น การแก้ปัญหาเรื่องปริมาณสินค้าทำยังไง

เราให้ความสำคัญกับสินค้าหลัก 8 อย่าง ที่ต้องมีผู้ขายมากพอที่ลูกค้าจะสั่งซื้อได้เสมอ โดย 8 กลุ่มนี้ ได้แก่ เหล็ก (steel), หลังคา, ซีเมนต์บอร์ด, บล็อค, แลนด์สเคป (บล็อคปูถนน, รั้ว), เหล็กแผ่น, ยิปซั่ม, คอนกรีต

ผู้ขายในระบบตอนนี้เป็นใครบ้าง

ตอนแรกๆ เราสั่งตรงจากโรงงานผู้ผลิตทั้งหมด แต่ด้วยยอดสั่งซื้อที่ไม่สูงนักอาจจะทำให้ราคากลายเป็นสูงกว่าไปสั่งซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย ช่วงหลังเราเจรจากับตัวแทนจำหน่าย เพิ่มเข้ามา เพราะตัวแทนส่วนมากมีสต็อกปริมาณมาก และยังทำราคาได้ถูกกว่าซื้อจากโรงงานโดยตรง

ตอนนี้มีผู้ขายในระบบรวม 60 แบรนด์ และตัวแทนจำหน่ายอีก 13 ราย

เตรียมขยายไปมากกว่านี้ไหม

ปี 2019 กำลังจะขยายไปยังอินโดนีเซียเพราะหาพันธมิตรร่วมทุน โดยตอนนี้ได้พูดคุยเจรจากันมาเป็นปีแล้ว จุดสำคัญของอินโดนีเซียคือมีตลาดขนาดใหญ่ และมีปัญหาคล้ายกับไทย แนวทางที่ OneStockHome แก้ปัญหาในไทยก็น่าจะใช้ได้ในอินโดนีเซียด้วย

ประเทศอื่นๆ ก็น่าสนใจ แต่จุดสำคัญคือการหาพันธมิตรมาช่วยกันตั้งกิจการในแต่ละประเทศ

หลายประเทศมีปัญหาคล้ายไทย ทำไมยังไม่เกิดบริการแบบเดียวกัน

หลายประเทศมีคนพยายามทำบ้าง อาจจะมีใกล้เคียงกัน ปัญหาสำคัญอาจจะเป็นที่ผู้ก่อตั้งไม่ได้เป็นคนในวงการวัสดุก่อสร้างอยู่ก่อน ทำให้ไม่เข้าใจปัญหาและกระบวนการทำงานของวงการได้ดีพอ

ปัญหาเรื่องการไม่เปิดเผยราคาเป็นปัญหาเหมือนกันทั่วโลกหรือเปล่า

ผมเองเพิ่งกลับมาจากสหรัฐฯ ก็เจอว่าปัญหาคล้ายกัน ในสหรัฐฯ เองวัสดุก่อสร้างมีให้เลือกเยอะมาก แต่ตัวแทนจำหน่ายก็ยังไม่ได้สร้างระบบออนไลน์ขึ้นมา หลายรายมีเว็บแค่แนะนำบริษัทไว้เท่านั้น

อันนี้เป็นปัญหาของวงการเพราะตัวสินค้าเองมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก การขายสินค้ามักอาศัยตัวแทนจำหน่ายเพื่อกระจายสินค้าอย่างหนัก และตัวแทนเหล่านี้ก็เป็นบริษัทอิสระของตัวเอง การเปลี่ยนมาซื้อขายออนไลน์เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที สมัย OneStockHome เปิดใหม่ๆ ก็มีประเด็นว่าโรงงานมาขอไม่ให้เปิดเผยราคาเพราะจะกระทบกับตัวแทนจำหน่ายรายอื่นๆ

อีกประเด็นหนึ่งคือโดยธรรมชาติของธุรกิจที่มีกำไรบางอยู่แล้ว หากเปิดเผยราคาแล้วบอกราคาสูง ลูกค้าก็อาจจะมองว่าขายแพงและไม่ซื้อไปเลย หรือหากเปิดราคาต่ำก็จะเสียโอกาสทำกำไรไป

Get latest news from Blognone

Comments

By: drupalth on 12 October 2018 - 16:07 #1075939
drupalth's picture

ตอนนี้ ธุรกิจก่อสร้างน่าสนใจเหมือนกันครับ

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 12 October 2018 - 19:21 #1075961
panurat2000's picture

มีจุดเด่นคือการเปิดเยผราคาทั้งหมดขึ้นเว็บ

เปิดเยผ => เปิดเผย

มองลูกค้าทีสั่งสินค้าทั้งออนไลน์และโทรหาหน่วยบริการลูกค้าไม่ต่างกันนัก

ทีสั่ง => ที่สั่ง

โดยปกติสินค้าในวงการก่อสร้างสัดสวนกำไรไม่ได้สูงมากอยู่แล้ว

สัดสวน => สัดส่วน