เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้รับเชิญจากทางบริษัท SUPERNAP Thailand ผู้ดำเนินการศูนย์ข้อมูล SUPERNAP ระดับ Tier IV ที่มีผู้ใช้บริการหลายราย (multi-tenant) และรองรับการสื่อสารหลายช่องทาง (multi-carrier) รายเดียวในประเทศไทย จึงนำมาเล่าถึงกระบวนการทำงานที่ทาง SUPERNAP เล่าให้ฟังในการเยี่ยมชม
note: เนื่องจากเงื่อนไขการเยี่ยมชมมีกฎค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการห้ามพกเครื่องมือสื่อสารตลอดการเยี่ยมชม ทำให้จำเป็นต้องใช้ภาพประกอบบทความเป็นภาพทางการจากทางบริษัททั้งหมด
SUPERNAP เป็นแบรนด์ของศูนย์ข้อมูลในสหรัฐฯ ดำเนินการโดยบริษัท Switch โดยเริ่มจากศูนย์ข้อมูลที่ซื้อมาจากบริษัท Enron ในปี 2002 และปรับปรุงจนให้บริการเป็นศูนย์ข้อมูล SUPERNAP ในปี 2008
ระบบจ่ายไฟสามชุดแยกจากกัน
หลังคาสองชั้นที่ทางกันฝนและลมได้เท่ากันทั้งชั้นนอกชั้นใน
จุดเด่นที่สุดของศููนย์ข้อมูล SUPERNAP คือ การได้รับรองระดับ Tier IV ที่เป็นมาตรฐานการออกแบบและดำเนินการศูนย์ข้อมูลเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีช่วงเวลาให้บริการไม่ได้ (downtime) ต่ำที่สุด เช่นระบบไฟฟ้าที่ต้องเป็น 2N+1 ป้องกันระบบไฟฟ้าล้มเหลว นอกจากการป้องกันตามปกติแล้ว SUPERNAP ยังเพิ่มแนวทางป้องกันปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น การสร้างอาคารที่ทนต่อลมพายุได้ หรือการสร้างหลังคาสองชั้นที่เป็นหลังคาเต็มรูปแบบจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ฝ้า ทำให้ต่อให้หลังคาชั้นนอกปลิวออกไปแล้ว หลังคาภายในก็ยังกันลมและฝนได้เหมือนเดิม โดยรวมแล้วทางบริษัทระบุว่าช่วงเวลาให้บริการ 18 ปี มีดาวน์ไทม์เพียงระดับนาโนวินาทีเท่านั้น
ลูกค้าส่วนมากของ SUPERNAP เป็นองค์กรขนาดใหญ่, สถาบันทางการเงิน, หรือผู้ให้บริการคลาวด์ เช่น AWS เองก็ใช้พื้นที่ศูนย์ข้อมูลของ SUPERNAP ด้วย อีกรายคือ eBay ที่ใช้พื้นที่มากจนร่วมกับ Switch สร้างศูนย์ข้อมูล SUPERNAP แบบใช้งานรายเดียว ขนาด 500MW โดยคาดว่าจะเปิดใช้งานช่วงปี 2020-2022
ในปี 2014 กองทุน ACDC ร่วมลงทุนกับ Switch ก่อตั้งบริษัท SUPERNAP International (เอาชื่อศูนย์ข้อมูลมาเป็นชื่อบริษัท) เพื่อเปิดบริการศูนย์ข้อมูล SUPERNAP นอกสหรัฐฯ โดยมีสิทธิ์ในการใช้เทคโนโลยีและสิทธิบัตรจาก Switch หลังจากนั้นก็ได้เลือกเปิดศูนย์ข้อมูลนอกสหรัฐฯ สองแห่งในอิตาลีและไทย
ตัวศูนย์ข้อมูล SUPERNAP ในไทยนั้นใช้พิมพ์เขียวมาจากศูนย์ข้อมูล SUPERNAP 9 ในลาสเวกัส แม้จะมีขนาดเล็กกว่า ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช คุณ Sunita Bottse ผู้จัดการใหญ่ของ SUPERNAP Thailand ระบุว่าเลือกที่นี่เพราะห่างจากจุดไฟเบอร์ขึ้นบกเพียง 27 กิโลเมตร, ตัวที่ดินสูงกว่าระดับน้ำทะเลเกิน 100 เมตรค่อนข้างปลอดภัยจากน้ำท่วม, และใกล้กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
เช่นเดียวกับศูนย์ข้อมูล SUPERNAP อื่น ศูนย์นี้ระบบไฟฟ้า 3 ชุดแยกจากกัน แสดงอุปกรณ์แยกชัดเจนด้วยสี น้ำเงิน, แดง, เทา ขณะที่การสื่อสารมีการเชื่อมต่อไฟเบอร์จากผู้ให้บริการ 8 รายในไทย ตัวไฟเบอร์นั้นลากเข้ามายังศูนย์ข้อมูลสองเส้นทางทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ภาพตู้แรคใน SUPERNAP จะเห็นว่าด้านหลังตู้ถูกปิด เพื่อเป็นท่อนำลมร้อนขึ้นสู่ฝ้าอาคาร
ตัวอาคารตอนนี้มีอาคารเดียว ภายในแบ่งเป็นสองเซกเตอร์ และยังเปิดใช้เซกเตอร์เดียวในช่วงแรก แต่ที่ดินทั้งหมดเตรียมไว้สำหรับ 3 อาคาร รวม 6 เซกเตอร์ ตอนนี้ทั้งศูนย์มีความสามารถรับอุปกรณ์ใช้พลังงานรวม 20 เมกกะวัตต์ และจ่ายไฟได้ 33 กิโลวัตต์ต่อตู้แรค นับว่าสูงที่สุดในไทย
ฝ้าอาคารด้านบนรับลมร้อนส่งไปยังระบบปรับอากาศ หลังคาที่เห็นในภาพเป็น "หลังคาล่าง" ที่ด้านบนมีหลังคาอีกชั้น
การออกแบบอย่างหนึ่งที่ SUPERNAP ใช้คือระบบจัดการความร้อน T-SCIF ที่แยกลมเย็นออกจากลมร้อนอย่างชัดเจน โดยลมร้อนจะถูกดูดออกจากหลังตู้แรคแล้วดึงขึ้นฝ้าอาคารทันที ก่อนจะเวียนกลับไปยังระบบทำความเย็น การออกแบบเช่นนี้ทำให้ทาง SUPERNAP ต้องรอลูกค้านำเครื่องมาติดตั้งจนเสร็จสิ้นเสียก่อน จากนั้นจึงดูว่ามีปริมาณความร้อนปล่อยออกมาระดับใด แล้วจึงแพ็กปิดหลังตู้ไปทั้งหมดเพื่อเป็นท่อนำความร้อนขึ้นไปยังฝ้า แนวทางออกแบบนี้ทำให้ SUPERNAP มีความแปลกอย่างหนึ่งคือ พื้นของศูนย์ข้อมูลไม่ได้เป็นพื้นยก (raised floor) ตามที่นิยมกัน
ผมเองได้รับคำเชิญจากทาง SUPERNAP ให้ไปเยี่ยมชมศูนย์ข้อมูล และพบว่าแม้จะเป็นคำเชิญแต่กระบวนการก็ค่อนข้างมากกว่าการไปทำข่าวตามปกติ โดยต้องส่งเอกสารยืนยันตัวตนและเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลจำนวนหนึ่ง
เมื่อเดินทางไปถึง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (พกอาวุธ) จะมาเช็กชื่อทุกคนบนรถว่าตรงตามรายชื่อที่ได้รับมาหรือไม่ (ความรู้สึกเหมือนเด็กนักเรียน มีการขานชื่อ) ก่อนจะให้รถเข้าไปยังพื้นที่ทีละคัน หลังจากเข้าไปยังพื้นที่แล้ว ทุกคนต้องไปยืนหน้ากล้องวงจรปิด แสดงบัตรประชาชน และขานชื่อตัวเองให้เจ้าหน้าที่ในอาคารตรวจสอบ จึงเปิดให้เข้าไปรับบัตรผู้เยี่ยมชมได้
เมื่อก้าวเข้ามาในตัวอาคาร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะแตะบัตรให้เข้าประตูหมุนไปทีละคน โดยห้องต่อจากนั้นคือห้อง man-trap ที่ทุกคนต้องยืนรออยู่ก่อน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเปิดประตูให้เข้าไปยังส่วนสำนักงานอีกทีหนึ่ง
การเดินเยี่ยมชมในสำนักงานจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประกบหน้าหลังตลอดเวลาการเยี่ยมชม ทุกคนต้องทิ้งโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เอาไว้ในส่วนสำนักงาน ไม่สามารถนำเข้าไปยังตัวศูนย์ข้อมูลได้ และการเยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลมีเงื่อนไขเพิ่มเช่น ห้ามพิงกำแพง หรือแตะอุปกรณ์ใดๆ
ระหว่างที่คณะเดินไป ผมพบว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนั้นจะมาประจำคณะเยี่ยมชมถึง 3 คน คนหนึ่งเดินนำไปข้างหน้าเสมอ คนหนึ่งดูว่ามีใครทำอะไรผิดปกติหรือไม่ และอีกคนปิดท้ายคณะ กระบวนการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ SUPERNAP เชื่อว่าเหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น เพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งหมดเป็นพนักงานเต็มเวลาของบริษัท และส่วนมากเป็นทหารหรือตำรวจมาก่อน และก่อนจะเริ่มงานต้องไปฝึกอบรมกับทาง Switch
การไปเยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลโดยปกติคงไม่ใช่เรื่องที่ทำกันบ่อยๆ นัก แต่คุณ Sunita ก็ระบุว่าผู้สนใจสามารถขอนัดเข้าไปเยี่ยมชมได้
Comments
ติดอาวุธ เสียด้วย
น่าจะแค่ปืนพกธรรมดากับลูกซอง แต่ถ้าได้รับอนุญาตใช้อาวุธหนักขึ้นมาหน่อยก็คงเป็น SMG หรือ Assault Rifle หละมั้ง เหมือนที่ใช้งานในเหมืองทองคำ
ปล. ถ้าจะดี หากมีโรงไฟฟ้าของตัวเอง (อาจเป็นพลังงานขยะหรือก็าซธรรมชาติ ถ่านหินไม่ดีกับสภาพแวดล้อม) + ระบบเครือข่ายไร้สายกรณี Fiber เสียหาย แบบตั้งเสาโทรคมนาคมใกล้ศูนย์ Datacenter เลย คิดว่าอนาคตต้องมีนะ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
"สร้างศูนย์ข้อมูล SUPERNAP แบบใช้งานรายเดียว ขนาด 500mW " ตรง 500mW แปลว่าอะไรนะครับ?
น่าจะดูที่อัตราการจ่ายพลังงานครับ คงเป็น 500 เมกกะวัตต์
สงสัยว่าถ้าเป็นเมกกะวัตต์จริงควรเขียนเป็น MW รึเปล่าฮะ เพราะ mW มันจะพาลอ่านเป็นมิลลิวัตต์เอา
ผมก็สงสัยเหมือนกันครับ แต่คิดว่าคงเขียน m ผิดมากกว่าจะหมายถึงหน่วยอื่น
แก้ไขแล้วนะครับ
lewcpe.com, @wasonliw
ขณะที => ขณะที่
พิ้นที่ => พื้นที่
500mฃMW ?
เดือนทาง => เดินทาง
เช็คชื่อ => เช็กชื่อ
-/\-
lewcpe.com, @wasonliw
โอ้ บ้านเรามี Tier IV ได้แล้วหรือเนี่ย
นึกว่าทำไม่ได้ในบ้านเราซะอีก เพราะต้องมีไฟฟ้าภายนอกจากสองแหล่ง (บ้านเรามีการไฟฟ้าเจ้าเดียว)
ผมว่าไม่ใช่นะครับ ยังมี RATCH, EGCO ฯลฯ ที่ผลิตไฟฟ้าร่วมกันครับ ทั้งผลิตป้อนครัวเรือนและนิคมอุตสาหกรรมเลยครับ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
เป็นคำถามที่ผมสงสัยมานานแล้วครับ
ทุกวันนี้เราสามารถซื้อไฟฟ้าโดยตรง ที่ไม่ได้มาจากการไฟฟ้าได้แล้วเหรอครับ?
นึกว่ายังเป็นการธุรกิจผูกขาดเฉพาะการไฟฟ้า
เห็นตัวอย่างเคสโซล่าเซล ก็ยังต้องขายคืนกลับไปให้การไฟฟ้าเช่นกัน
Solar Cell ที่ต้องขายคืนเพราะมันไม่คุ้มครับ อย่างแรกคือต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าซื้อไฟจากการไฟฟ้า ทุกวันนี้เกือบทั้งหมดผลิตแล้วขายให้การไฟฟ้า แล้วซื้อคืนจากการไฟฟ้ายังกำไรกว่าผลิตใช้เอง ยังไม่นับว่าถ้าจะใช้พลังแสงอาทิตย์ 24 ชม. ต้องลงทุนระบบแบตอีก
ส่วนเรื่องซื้อไฟโดยตรง ที่ผมเคยเห็นคือโรงงานใหญ่ๆ ตั้งโรงไฟฟ้า Biomass กากอ้อย แกลบ etc. ขายให้บ. ในกลุ่มกันเอง เหลือก็ขายการไฟฟ้านี่พอมีครับ หรือบางแห่งขายให้นิคมเดียวกันก็น่าจะมี
มีโรงไฟฟ้าในนิคมครับ แพงกว่าของการไฟฟ้านิดนึงแต่การทำเรื่องง่ายกว่ามาก บางแห่งตรวจสามวันลากสายไฟเข้าระบบได้เลย
WHA2 แถบนั้นมีโรงไฟฟ้าทั้ง WHAUP, GULF และ BGRIMM ความมั่นคงทางไฟฟ้าคิดว่ายังไงก็ดับยากครับ
ถ้าสำหรับผลิตไฟให้นิคมนี่ ยังมีเหลือไปจ่ายให้กับการไฟฟ้าหรือเปล่าหว่า หรือเป็นโรงไฟฟ้าสำหรับนิคมโดยเฉพาะเนี่ย ถ้าสามารถเลี้ยงเข้าไฟครัวเรือนได้ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานได้ระดับหนึ่งนะ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ปัจจุบัน GULF กับ BGRIMM เขาก็มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPP)กับกฟผ.อยู่นะครับ นั้นเป็นเหตุผลที่ทำไม GPSC อยากซื้อ GLOW
มีประเด็นว่าเขาต้องสร้างสถานีจ่ายไฟไว้เองอีกจุดหนึ่งครับ (ไม่เปิดเผยว่าตรงไหน)
ส่วนเรื่องแหล่งไฟเข้าสถานีนี่ไม่ได้บอกไว้
อ่อ แต่เขายอมรับว่าเขาน่าจะไม่ใช่ Tier IV "ที่แรก" นะครับ มีองค์กรขนาดใหญ่บางแห่งสร้างใช้เองไปก่อนแล้ว เขาถึงต้องบอกว่าของเขาเป็น multi-tenant
lewcpe.com, @wasonliw
น่าจะมี CDN ดังๆ มาลงเยอะๆ นะครับ เห็นลากสายเข้า ISP หลายที่..
ส่วนลูกค้าที่เขาประกาศไว้หน้าเว็บฯ อยากให้ AWS, Level3 มาลง CDN POP ก็ดี..
ส่วน Cloud อยากให้ OVH มาครับ..
ส่วนราคา Colocation ไม่ต้องพูดถึง.. ไม่กล้าเมลไปถามเลย.. ราคา 1 U คงไม่มี ระดับนี้..