Tags:
Node Thumbnail

ชื่อของธนาคาร J.P. Morgan อาจเป็นที่คุ้นหูกันในโลกของเงินคริปโต เพราะซีอีโอ Jamie Dimon ออกมาให้สัมภาษณ์เชิงลบกับ Bitcoin และเงินคริปโตอยู่เรื่อยๆ (แม้เขาจะมองว่าเทคโนโลยี blockchain มีประโยชน์ก็ตาม)

ล่าสุด J.P. Morgan เปิดตัวเงินคริปโตของตัวเองแล้วในชื่อ JPM Coin เป้าหมายของมันเพื่อใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศเป็นหลัก

J.P. Morgan มีเทคโนโลยี blockchain ของตัวเองที่พัฒนามานานแล้วชื่อว่า Quorum โดยเป็น Ethereum เวอร์ชันดัดแปลงสำหรับงาน enterprise ที่ใช้งานในวงปิด (permissioned) และต้องการสมรรถนะสูงขึ้นในระดับหลายร้อยธุรกรรมต่อวินาที (เทียบกับ Ethereum ที่ทำได้ราว 15-20 ธุรกรรมต่อวินาที)

No Description

เหรียญ JPM Coin ไม่เปิดขายทั่วไป เพราะใช้งานเฉพาะกลุ่มลูกค้าหรือเครือข่ายของ J.P. Morgan เท่านั้น และมูลค่าของมันยังผูกตายตัวกับเงินดอลลาร์ ลูกค้าจะได้รับเหรียญต่อเมื่อฝากเงินดอลลาร์ และถือเหรียญไปใช้งานในสถานที่อื่นๆ เมื่อขอแลกเหรียญกลับเป็นเงินดอลลาร์ เหรียญจะถูกทำลาย

เป้าหมายของ J.P. Morgan คือต้องการนำ JPM Coin มาใช้เป็นเทคโนโลยีสำหรับการโยกเงินข้ามประเทศ แทนการโอนเงินในระบบ wire transfer แบบเดิม (Swift) ที่เริ่มล้าสมัย การใช้ blockchain จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า Swift ที่ต้องใช้เวลาหลายวัน

JPM Coin ยังสามารถใช้กับการซื้อหลักทรัพย์ในปริมาณมากๆ ด้วยเหตุผลเดียวกันว่าการโอนเงินจำนวนมากๆ ซื้อหลักทรัพย์ต้องใช้เวลานาน และมีระยะเวลาระหว่างเริ่มคำสั่งซื้อไปจนถึงการยืนยันการจ่ายเงิน ซึ่งราคาหลักทรัพย์อาจเปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างนั้น

ตัวอย่างการใช้งานอีกข้อคือ การโยกเงินดอลลาร์ระหว่างสำนักงานสาขาในแต่ละประเทศของบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทเหล่านี้สามารถเลือกถือ JPM Coin แทนการถือเงินสดในทางบัญชี ซึ่งทำให้จัดการกับเงินได้สะดวกขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ Ars Technica ก็ตั้งคำถามว่าการนำ blockchain มาใช้ในวงปิดจะดีจริงหรือ และเทียบกับการเก็บข้อมูลลงฐานข้อมูลธรรมดาก็น่าจะมีประสิทธิภาพแย่กว่า เพราะจุดเด่นของ blockchain ที่ผ่านมาคือการรันในเครือข่ายเปิด ที่ทุกคนเข้ามาร่วมตรวจสอบได้ (เหมือน Bitcoin/Ethereum) แต่รูปแบบการใช้งานของ JPM จำกัดเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เชื่อมั่นในตัวของ J.P.Morgan อยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะต้องใช้ blockchain แต่อย่างใด

ที่มา - CNBC, Ars Technica, ภาพจาก JPMorgan Chase

Get latest news from Blognone