จากกรณีกราดยิงที่นิวซีแลนด์พร้อมไลฟ์สด ที่แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Facebook/YouTube ไม่สามารถสกัดกั้นการเผยแพร่คลิปได้ ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและเริ่มออกมาตรการคุมเข้ม เช่น ออสเตรเลียที่ออกกฎหมายเอาผิดแพลตฟอร์มไปเรียบร้อยแล้ว
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศล่าสุดที่เตรียมเอาจริงในเรื่องนี้ โดยประกาศว่าจะเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต (online safety laws)
กระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และกีฬา (Department for Digital, Culture, Media and Sport หรือตัวย่อ DCMS) ได้เสนอรายงาน "ภัยร้ายอินเทอร์เน็ต" (Online Harms White Paper - PDF) รวบรวมปัญหาเรื่องต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ทั้งเนื้อหาผิดกฎหมาย การกลั่นแกล้งออนไลน์ เนื้อหาจากกลุ่มก่อการร้าย-กลุ่มอาชญากรรมรุนแรง
คณะทำงานของ DCMS มีข้อเสนอให้ตั้งองค์กรกำกับดูแลแห่งใหม่ เพื่อมากำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ตามอำนาจของกฎหมายใหม่ที่จะผ่านรัฐสภา บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มมีหน้าที่ดูแลผู้ใช้ให้ปลอดภัย และสกัดกั้นเนื้อหาที่เป็นภัย ซึ่งหากบริษัทไม่ทำตาม ก็อาจโดนปรับ, บล็อค หรือเอาผิดต่อผู้บริหารได้
Jeremy Wright รัฐมนตรี DCMS ผู้เสนอเอกสารฉบับนี้ ให้สัมภาษณ์ว่าเราไม่สามารถปล่อยให้แพลตฟอร์มออนไลน์กำกับดูแลตัวเองได้อีกแล้ว (The era of self-regulation for online companies is over.) ที่ผ่านมา การปล่อยให้บริษัทไอทีดูแลตัวเองได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีพอ
Theresa May นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาสนับสนุนการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยบอกว่าถึงเวลาแล้วที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
ข้อเสนอของ DCMS จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นเวลา 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นทีมงานจะนำความคิดเห็นมาปรับปรุง และเดินหน้าเข้ากระบวนการเสนอเป็นกฎหมายต่อไป
Comments
ถ้าออกมาที่ไทย อาจเป็นอีกแง่
ถ้าให้มีหน่วยงานที่คอนโทรลแพลตฟอร์มได้ ใครจะคุมหน่วยงานนั้น?
เหมือนแต่ก่อนพวกคุมหน่วยตำรวจลับ มีอำนาจล้นมือ
ตอนนี้ ยุคนี้ พวกคุมออนไลน์ จะมีอำนาจล้นมือไหมครับ?
แลก Privacy กับ Freedom ใช่มะ
ทำไมข่าวนี้ดูเงียบเหงาจัง ปกติข่าวทำนองนี้จะมีหลายความเห็นมาก
นั้นสิครับ ผมว่าต้องมาโต้แย้งละว่า ไม่มีอิสระ บนอินเตอร์ต้องอิสระ หรือเพราะเป็นฝรั่งออก ถ้าเป็นประเทศไทยออกป่านนี้ข่าวนี้ hot
typical Thai ครับ ถ้าเป็นความคิดคนไทยด้วยกันจะชังไว้ก่อน
ถ้าเป็นของฝรั่งก็จะฟังเชื่องๆ
คอมเม้นทำนองนี้พบได้ทั่วไปใน blognone ครับ