ไม่มีครั้งไหนที่ความเป็นส่วนตัวกับโลกไอที จะเป็นประเด็นร้อนเท่าช่วงนี้ นับตั้งแต่ Facebook เจอปัญหาข้อมูลหลุดเกือบร้อยล้านบัญชี และการใช้โฆษณาเจาะกลุ่มเพื่อยิงแคมเปญแทรกแซงการเมืองในสหรัฐฯ ทำให้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วโลกต้องกลับมานั่งคิดว่า ทุกวันนี้ เราโดนเอาข้อมูลไปใช้ทำอะไรบ้าง
ความเป็นส่วนตัวจึงกลายเป็นประเด็นที่บริษัทโซเชียลมีเดียให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในปี 2019 ดังจะเห็นได้จากงาน F8 2019 ของ Facebook ใช้คอนเซปต์ "Future is Private" เป็นธีมหลัก ส่วนงาน Google I/O 2019 ก็ประกาศฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้มากมาย
เมื่อเราล็อกอินบัญชี Google Account แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือGoogle จะเก็บข้อมูลทุกอย่างของเรา เช่น เว็บไซต์ที่เราเคยเข้าหรือ สถานที่ที่ไปบ่อยๆ ซึ่งในทางหนึ่งก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน เพราะระบบจะเสนอข้อมูลตรงกับพฤติกรรมของเรา หรือการ personalize แต่ถ้าวันหนึ่ง เราต้องการค้นหาข้อมูลอ่อนไหวหรือเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากๆ เราอาจจะอยากใช้โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito) ซึ่งที่ผ่านมามีเฉพาะบน Chrome เท่านั้น
คำถามคือถ้าเราอยากไปในสถานที่ที่เราไม่อยากให้ใครรู้ โดยนำทางด้วย Google Maps ล่ะ จะทำอย่างไร
ในงาน Google I/O รอบนี้ Google จึงเปิดใช้งานโหมดไม่แสดงตัวตน (Incognito) บน Google Maps และ Google Search เพิ่มด้วย (จากเดิมมีเฉพาะบน Chrome และ YouTube) นั่นหมายความว่า ทุกกิจกรรมที่เราทำบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่เราไป ข้อมูลที่เราค้นหา Google จะไม่รู้ไม่เห็นว่าใครเป็นคนทำกิจกรรมนี้ เพราะทุกกิจกรรมจะไม่ถูกบันทึกเชื่อมโยงมาถึงตัวเรา
เมื่อก่อนเราต้องกังวลว่าเว็บที่เราเข้าชมจะถูกบันทึกประวัติการใช้งานของเบราว์เซอร์ แต่โหมด Incognito ของ Chrome ทำให้เราไม่ต้องกังวลอีกต่อไป ในยุคนี้ประวัติการค้นหา, ประวัติการเดินทาง, และคำค้นของเราก็สามารถโยงกับตัวตนของเราบนโลกออนไลน์ได้มากกว่าแค่ประวัติการเข้าเว็บมาก การที่เราสามารถใช้โหมด Incognito พรางตัวไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ผูกกับตัวเรา ก็ยิ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
ฟีเจอร์ Incognito ข้างต้นคือการไม่เก็บข้อมูลใหม่ๆ ในอนาคต แต่ข้อมูลส่วนตัวที่เราเคยส่งขึ้นเซิร์ฟเวอร์ของ Google ไปแล้วล่ะ จะทำอย่างไร?
ของใหม่ที่ Google เปิดตัวในช่วงเดียวกันคือ การลบประวัติกิจกรรมออนไลน์อัตโนมัติ ผู้ใช้สามารถตั้งค่าให้ Google ลบประวัติสถานที่และกิจกรรมออนไลน์โดยอัตโนมัติ เลือกได้ว่าลบภายใน 3 เดือน, 18 เดือน หรือให้เก็บไว้จนกว่าเราจะไปลบเอง
การลบประวัติตัวเองออกจากออนไลน์มีความสำคัญต่อความเป็นส่วนตัวมาก เพราะเป็นข้อมูลที่ Google ใช้ในการยิงโฆษณาเจาะกลุ่ม และต้องไม่ลืมว่า รายได้โฆษณายังคงเป็นรายได้หลักของบริษัท แต่จากกระแสปกป้อง Privacy มาแรง Google ก็ยอมถอย และให้อำนาจผู้ใช้ในการลบข้อมูลกิจกรรมออนไลน์ออกได้
หนึ่งในของใหม่ที่ทำให้คนในงาน Google I/O ต้องร้องว้าวคือ การสั่งงาน Google Assistant แบบต่อเนื่องรัวๆ ไม่ต้องพัก และมันก็สามารถตอบสนองเราได้เร็วมาก เราสามารถสั่งให้สร้างนัดหมายใหม่ในแอป Calendar, ส่งอีเมล, ตอบแชต, แชร์ภาพ, ถ่ายเซลฟี่ ติดๆ กันได้โดยไม่ต้องพูดคำว่า OK Google ก่อน และแถม Google โชว์อีกฟีเจอร์เด่น Live Caption ถอดทุกไฟล์เสียงเป็นข้อความอัตโนมัติเรียลไทม์
เบื้องหลังการทำงานของฟีเจอร์ดังกล่าวคือ การประมวลผลข้อมูล AI ในเครื่องมือถือเลย ไม่ต้องส่งขึ้นคลาวด์อีกต่อไป ข้อดีนอกจากเรื่องความเร็วในการทำงานแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เพิ่มขึ้น เพราะข้อมูลของเราถูกเก็บในเครื่องตลอดเวลา ไม่ถูกส่งไปยัง Google เลย (เบื้องต้นจะยังใช้งานได้เฉพาะมือถือ Pixel รุ่นต่อไปที่จะเปิดตัวในปีนี้)
การประมวลผลบนเครื่องเป็นสิ่งที่ Apple ทำและพยายามโฆษณาจุดนี้มาตลอด อย่างเช่นป้ายโฆษณา Apple ที่ปรากฏในงาน CES 2019 ในอดีตอาจเป็นจุดเด่นของแพลตฟอร์ม iOS ที่เหนือกว่า Android แต่มาถึงตอนนี้ Google ก็สามารถทำได้เหมือนกันแล้ว เท่ากับว่าประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนตัวควรอยู่ในเครื่องของ iOS กับ Android กลายเป็นเรื่องที่ทัดเทียมกัน
Apple never shows up at CES, so I can’t say I saw this coming. pic.twitter.com/8jjiBSEu7z
— Chris Velazco (@chrisvelazco) January 4, 2019
ของใหม่ที่สำคัญใน Andriod Q ก็ยังเน้นไปที่ความเป็นส่วนตัว โดยมีฟีเจอร์ด้านนี้เพิ่มเข้ามาหลายอย่าง เช่น ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้แอพเข้าถึงข้อมูลพิกัดตลอดไป หรือเฉพาะช่วงเวลาที่ใช้งานแอพเท่านั้น และระบบจะแจ้งเตือนผู้ใช้เมื่อแอพขอข้อมูลพิกัด แถมเลือกจำกัดให้แอพเข้าถึงแค่ข้อมูลบางส่วนได้
เรียกได้ว่าถึงยุคของ Android Q แล้วผู้ใช้มีอำนาจควบคุมข้อมูลของตัวเองบนโทรศัพท์ได้มากขึ้นกว่าเดิมมาก (อ่านฟีเจอร์ความเป็นส่วนตัวบน Andriod Q ย้อนหลังได้ที่นี่)
ย้อนกลับไปเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว Mark Zuckerberg ต้องเข้าให้การต่อรัฐสภาสหรัฐและถ่ายทอดไปสู่คนทั่วโลกเป็นเวลานานถึง 5 ชั่วโมง ถูกซักไซ้ถึงวิธีที่ Facebook ใช้งานข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เพื่อนำไปทำรายได้เข้าบริษัท
หลังจากนั้น Facebook ก็โดนรัฐบาลหลายประเทศเพ่งเล็งเรื่องข้อมูลส่วนตัวมาโดยตลอด เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า Facebook ไม่เคารพในข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ เช่น กรณีที่ Facebook นำหมายเลขโทรศัพท์ไปใช้ค้นหาผู้ใช้และทำการโฆษณา แม้ผู้ใช้จะใส่หมายเลขโทรศัพท์ไปเพื่อความปลอดภัยบัญชีก็ตาม สิ่งนี้กระทบมาก เพราะจุดประสงค์ที่ผู้ใช้ยอมให้เบอร์ เพราะต้องการรักษาความปลอดภัยของบัญชีไม่โดนคนอื่นเข้าถึงได้ง่าย แต่กลายเป็น Facebook เอาข้อมูลนี้ไปใช้เสียเอง และยังมีกรณี WhatsApp ที่ผู้ก่อตั้งออกมาเปิดใจว่าลาออกจาก Facebook เพราะไม่พอใจวิธีการที่ Facebook ละเมิดข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน
ตัดภาพกลับมาที่งาน F8 ซึ่ง Mark Zuckerberg พูดย้ำธีมหลักว่า Future is Private อยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีฟีเจอร์ที่ยกระดับความเป็นส่วนตัวออกมาให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน
สิ่งที่ Facebook เคยประกาศว่าจะทำออกมาเพื่อปกป้องข้อมูลผู้ใช้ตั้งแต่ปี 2018 คือ Clear History ซึ่งเป็นฟีเจอร์แบบเดียวกับที่ Google ประกาศในปีนี้ แต่ประกาศมาแล้วหนึ่งปีเต็ม กลับไม่มีอะไรออกมาให้เห็น และเงียบกริบไม่พูดถึงเรื่องนี้ในงาน F8 2019 เลย
Mark ยังย้ำนักหนาว่า การเข้ารหัส (encryption) เป็นปัจจัยสำคัญของระบบแชทในอนาคต เพื่อทำให้แม้แต่ Facebook ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่คุยกันได้ แต่สิ่งที่ประกาศในงาน F8 ปีนี้ มีเพียงแค่แอพ Facebook Messenger บนเดสก์ท็อปเท่านั้น
จากประสบการณ์ที่ Facebook เจอ บริษัทควรจะทำฟีเจอร์ปกป้องข้อมูลส่วนตัวออกมาให้เร็วที่สุด ก่อนที่ Google จะทำด้วยซ้ำ
แต่ฟีเจอร์ต่างๆ ของ Google ที่ประกาศออกมาหลายอย่างก็มีความคืบหน้าชัดเจนกว่า Facebook มาก จนชวนให้ตั้งคำถามว่า ตกลงแล้ว Facebook จริงจังกับความเป็นส่วนตัวมากแค่ไหน
ภาพงาน F8 ปี 2018
เทรนด์การแข่งขันของโลกไอทีในช่วง 2-3 ปีนี้ ที่หันมาชูความเป็นส่วนตัวเป็นจุดขาย ถือเป็นชัยชนะของผู้บริโภค ในโลกยุคที่ข้อมูลออนไลน์เก็บทุกมุมของชีวิตเราอย่างไม่เคยมีก่อน ความสามารถในการควบคุมว่าจะแชร์ข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้ข้อมูลหายไป ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากของผู้บริโภคในยุคนี้
ทั้ง Google, Apple, และ Facebook ล้วนเป็นบริษัทที่รับผิดชอบต่อข้อมูลส่วนตัวของคนจำนวนมหาศาล การที่บริษัทเหล่านี้เปิดทางให้ผู้ใช้ควบคุมข้อมูลได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นแนวทางการแข่งขันดีที่ และเราควรเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาในแนวทางนี้ต่อไป
Comments
อยากให้ทั้งตัวแอนดรอยรองรับโหมดไม่แสดงตัวตน แบบจริงๆจังๆเลย เอาแบบที่สามารถกดเรียกใช้ได้จากการกดปุ่ม Power ค้างเหมือนเปิดใช้โหมดเครื่องบิน
สิ่งที่น่าตกใจคือเว็บดังๆหลายเว็บไม่มีทางเลือกให้ผู้ใช้ deactivate account เช่นพันทิป
แม้แต่เว็บระดับโลกอย่าง Reddit ไม่มีฟังค์ชั่นลบข้อความพร้อม account ผู้ใช้ต้องลบข้อความด้วยตัวเองก่อน (หรือใช้ browser extension ช่วย) แล้วค่อยลบ account ตัวเอง
พันทิป นี้คงยาก เพราะเห็นมีแต่ปกป้องบริษัท ฮ่าๆๆๆ
พันทิปนี่หนักมาก เก็บข้อมูลส่วนตัวทุกอย่าง ทั้ง email เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวประชาชน (ทุกอย่างบนบัตรประชาชนนั่นแหละ)
คงค่อยๆ เปลี่ยนไปตามยุคล่ะครับ
สมัยก่อนทีมงานน่าจะมีความ royalism สูงมากๆ จนแบนทุกคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับเหตุการณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อพระวงศ์เลย
ปัจจุบันเห็นกระทู้ไม่ยืนตรงในโรงหนัง มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดเพลงฯ และเห็นด้วยว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะยืน หรือไม่ยืนก็ได้ กระทู้ดังกล่าวก็ยังไม่ถูกอุ้ม เม้นแต่ละเม้นก็ยังอยู่ดี
ถ้าเป็นแต่ก่อนคงปิ๋วไปแล้ว ... คืออยากจะบอกว่าคงค่อยๆ ปรับแหละครับ
ผมมองว่ามีสิ่งที่เร่งกระบวนการได้ คือกฎหมายต้องรองรับ แล้วก็รวมตัวกันฟ้องเพื่อเรียกร้องให้ผู้ใช้สามารถจัดการบัญชีผู้ใช้ได้ด้วยตัวเองครับ
โดนปิดเม้นท์ไปแล้ว
อันไหนเกี่ยวกับราชวงศ์ไม่ลบก็ปิดเม้นท์
อวยราชวงศ์ได้อย่างเดียว
เอ้อ แบบนี้ค่อยปกติในแบบพันทิปหน่อย
+1
ขนาด พรบ ไซเบอร์ เขายังเห็นด้วยเลย
แค่นั้นแหละครับ
ให้เก็บ ข้อม ูล แล้ว มันก็แนะนำนั้น นี้ ตามข้อมูล ที่เก็บ ได้ แมนยำ ก็ดี แต่ก็ไม่เป็นส่วนตัวอีก
ก็ถูกแล้วนี่ครับ future is private ไง present is not
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
+555
จริง 555
+1
IP tracker พอกันทั้งคู่
ผมชอบบทความแบบนี้จังเลย blognone เป็นคลังบทความทางเทคโนโลยีที่ดีที่สุด สำหรับผมเลย