ราวต้นเดือนพฤษภาคม Chris Hughes เขียนบทความยาวลง New York Times ว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องแยก Facebook และบริษัทลูกที่เข้าซื้อมาทั้งหมดออกจากกัน ความเห็นของ Hughes อาจไม่แข็งแรงและไม่น่าสนใจพอถ้าเขาไม่ใช่คนที่ร่วมก่อตั้ง Facebook มาด้วยกันกับมาร์ค ซักเกอร์เบิร์กตั้งแต่แรก และยังเป็นรูมเมทในหอพักตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
เป้าหมายข้อเสนอของ Hughes คือ พยายามลดอำนาจผูกขาดของโซเชียลมีเดีย ซึ่ง Facebook ยังคงถือครองตัวเลขผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก และเพื่อให้ตลาดเทคโนโลยีโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียมันมีความหลากหลายและเต็มไปด้วยนวัตกรรม เพราะที่ผ่านมา Facebook เข้าซื้อ Instagram, WhatsApp ที่ก็มีฐานผู้ใช้งานมากมายอยู่แล้ว และไหนจะลอกเลียนฟีเจอร์ Stories ของ Snapchat มา ทางเลือกการใช้งานโซเชียลมีเดียของผู้ใช้งานน้อยลง ทำให้ยากที่จะมีการแข่งขันในตลาดนี้ ยังไม่นับปัญหาของ Facebook ทั้ง ข้อมูลหลุด ข่าวปลอม ที่ทำลายความเชื่อมั่นในบริษัท
Mark Zuckerberg ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Facebook Photo: Shutterstock
Hughes บอกว่า ควรแยก Facebook ออกเป็นหลายๆ บริษัท ซึ่ง FTC สามารถร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดยการยกเลิกการซื้อกิจการของ Instagram และ WhatsApp และห้ามการเข้าซื้อกิจการในอนาคตเป็นระยะเวลาหนึ่ง เขายังบอกด้วยว่า มันยังไม่สายเกินไปที่จะทำ แม้กฎหมายผูกขาดล่าสุดที่ใช้กับบริษัทเทคโนโลยีจะผ่านมานานแล้วก็ตาม
Hughes บอกอีกว่าผู้ถือหุ้น Facebook ก็จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ในขั้นต้น แม้ว่าตัวมาร์คและผู้บริหารอื่นๆ อาจจะต้องจัดการขายหุ้นของตัวเอง ซึ่ง WhatsApp และ Instagram ก็มีการบริหารอย่างเป็นอิสระภายในอยู่แล้ว กระบวนการแยกบริษัทก็อาจทำได้ง่ายขึ้น
ภาพจาก Mark Zuckerberg
บทความของ Hughes ได้รับความสนใจกว้างขวางในวงการข่าวสารเทคโนโลยี ล่าสุด มาร์ค ออกมาแสดงความเห็นต่อบทความของอดีตรูมเมทแล้วว่า การแยกบริษัทนั้น จะทำให้การแก้ปัญหาในบริษัททั้งความเป็นส่วนตัว และการเแทรกแซงเลือกตั้งนั้นยากขึ้นไปอีก
มาร์คบอกว่า การแก้ไขการต่อต้านการผูกขาดจะไม่ช่วยแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยที่บริษัทกำลังทำอยู่ เขายังยืนยันด้วยว่า ในตลาดโซเชียลมีเดียมีผุ้เล่นมากมาย ทั้ง iMessage, Snapchat, YouTube, Twitter, TikTok เพียงแต่ว่าผู้บริโภคใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้ในบริบทที่แตกต่างกัน
ก่อนหน้านี้ Nick Clegg รองประธานฝ่ายธุรกิจและการสื่อสารระดับโลกของ Facebook ให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่ Facebook ต้องการตอนนี้ไม่ใช่การแยกบริษัท แต่เป็นการการควบคุมเพื่อให้บริษัทยึดถือและปฏิบัติตามกฎ ซึ่งกฎจะต้องสอดคล้องกับคุณค่าของรัฐบาลด้วย เช่นเดียวกับ มาร์คเองที่เคยให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรมีส่วนช่วยในการควบคุมโซเชียลมีเดียทั้งเนื้อหาอันตราย, เลือกตั้ง, ความเป็นส่วนตัว, โอนถ่ายข้อมูล
ที่มา - New York Times, Business Insider
Comments
แยกจริงๆ น่าจะจัดการความเป็นส่วนตัวได้ดีกว่านะ แต่ละแอปก็เก็บข้อมูลแค่เท่าที่จำเป็นต้องใช้ บางคนใช้แค่ instagram บางคนใช้แค่ messager ไม่ต้องมาเหมารวมเอาข้อมูลมาหมด
ผมว่าจะออกแนว แยกบริษัทแต่ข้อมูลก็วิ่งกันมั่วข้ามไปมาเหมือนเดิม