กระแส Digital Disruption แผ่ขยายไปยังธุรกิจตำราเรียน (textbook) แล้ว ล่าสุด Pearson สำนักพิมพ์ผู้ขายตำราเรียนรายใหญ่ของโลก ประกาศปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยแนวทาง digital first พัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้เป็นเวอร์ชันดิจิทัล (e-textbook) ที่อัพเดตเนื้อหาบ่อยๆ และต่อเนื่อง (เบื้องต้นยังมีผลเฉพาะตำราเวอร์ชันที่ขายในสหรัฐอเมริกา)
ส่วนตำราเรียนที่เป็นหนังสือกระดาษแบบเดิม จะลดความถี่ในการปรับปรุงเนื้อหาลง (เดิมปรับปรุงทุก 3 ปี ต่อไปจะนานกว่านั้น) และเปลี่ยนโมเดลจากการขายหนังสือขาด มาเป็นการให้เช่าหนังสือเพียงอย่างเดียว
ปกติแล้ว Pearson มีตำราเรียนวางขายในสหรัฐอเมริกาประมาณ 1,500 เล่ม โดยปี 2019 มีอัพเดตเวอร์ชันใหม่ 500 เล่ม แต่ปีหน้า 2020 จะอัพเดตเพียง 100 เล่มเท่านั้น
John Fallon ซีอีโอของ Pearson ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทจะยังพิมพ์ตำรากระดาษขายต่อไป แต่สัดส่วนจะลดลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ในยุคใหม่ ที่เน้นการมีส่วนร่วม (engaging and sharing) มากกว่าเดิม ซึ่งสื่อการเรียนรู้แบบดิจิทัลทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่า
Pearson ระบุว่าตอนนี้สัดส่วนรายได้จากดิจิทัลเกินครึ่งหนึ่งแล้ว ได้เวลาที่เหมาะสมในการปรับตัวแบบเดียวกับอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์หรือเพลง และเด็กรุ่นใหม่ก็คุ้นเคยกับโมเดล "เช่า" แบบเดียวกับ Netflix หรือ Spotify มากกว่าเช่นกัน
Photo by Suzy Hazelwood from Pexels
Comments
เล่ม -> เรื่อง
จริงๆ Pearson พยายามจะหนีจากตลาดหนังสือมือสองต่างหาก
เนื่องจากปกติแล้ว แกนเนื้อหามันจะไม่เปลี่ยนไปมากนักในแต่ละปี และประกอบกับตำราเรียนทางอเมริการาคาสูง จึงมีเอาการขายมือสองกันอยู่ ซึ่ง Pearson ก็พยายามปิดช่องด้วยการขยันออกฉบับปรับปรุง แล้วก็ส่งหนังสือฉบับ'ใหม่'มาให้ครูผู้สอน ก็กลายๆให้นักเรียนต้องซื้อหนังสือใหม่
พอมาเป็นตลาดตำราเรียน สำนักพิมพ์เห็นว่าการเปลี่ยนโมเดลทำธุรกิจมาเป็น 'เช่า' ตำราเรียน ทำให้ได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า (แน่นอนว่าราคาไม่ได้ถูกกว่าแบบเล่ม เพราะตัวเองผูกขาดตำราเรียนอยู่ จะขายสิทธิ์เช่าใช้งานให้ถูกไปทำไม) แถมสิทธิ์การใช้งานก็โอนกันเองไม่ได้เหมือนตำราเป็นเล่มๆ เรียกว่าได้เต็มๆ ทุกปี หนีไม่ได้อีกด้วย