นับตั้งแต่ Windows 10 เป็นต้นมา ไมโครซอฟท์มีนโยบายออกรุ่นอัพเดตใหญ่ (feature releases) ปีละ 2 ครั้ง โดยกระบวนการพัฒนาจะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคมและกันยายนของทุกปี ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นที่เลขเวอร์ชัน (เช่น v1903 และ v1909)
เมื่อพัฒนาเสร็จ OS แล้ว ไมโครซอฟท์จะทดสอบต่ออีกสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยปล่อยอัพเดตมายังผู้ใช้ในวงกว้าง เช่น กรณีของ v1903 ที่ปล่อยอัพเดตในเดือนพฤษภาคม (May 2019 Update) หรือมีระยะห่างกันประมาณ 2 เดือน
ล่าสุดเว็บไซต์ ZDNet อ้างแหล่งข่าววงในไมโครซอฟท์ว่า รอบการพัฒนาของ Windows 10 กำลังจะเปลี่ยนไป โดยย้ายมาเป็นเดือนมิถุนายนและธันวาคมแทน
ภาพจาก Microsoft
เหตุผลของการย้ายไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่เป็นเรื่องการเมืองภายในไมโครซอฟท์เอง หลังไมโครซอฟท์ปรับโครงสร้างองค์กรในปี 2018 แยกส่วนฝ่าย Windows and Devices Group โดยส่วนของ Devices ไปอยู่กับฝ่าย Experiences & Devices และส่วนของแกนระบบปฏิบัติการไปอยู่กับฝ่าย Azure
ฝ่าย Azure พัฒนาระบบปฏิบัติการใช้เอง โดยเป็น Windows 10 Server เวอร์ชันพิเศษสำหรับให้บริการคลาวด์ เมื่อทีมแกนหลักของ Windows 10 ย้ายมาอยู่ด้วย จึงต้องการซิงก์เวอร์ชันของตัวแกนระบบปฏิบัติการให้เหมือนกัน แต่ทีม Azure ใช้รอบการพัฒนาที่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม ทำให้ทีม Windows ต้องปรับเวลาตาม และจะมีผลใน Windows 20H1 ที่จะปิดรอบการพัฒนาตอนสิ้นปี 2019 นี้
การปรับรอบเวลาครั้งนี้เป็นแค่รอบเวลาของการพัฒนาภายในเท่านั้น ไมโครซอฟท์จะยังปล่อยอัพเดตให้ผู้ใช้ราวเดือนเมษายน-ตุลาคมเหมือนเดิม
ที่มา - ZDNet
Comments
Make us whole จริงๆ
ทำไมผมนึกถึง Deadspace เมื่อเจอคำนี้ เหอะๆ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
อึม... ถ้ามี Bug รอบ ธ.ค. นี่ปวดหัวกันยาวเลยไหม
ไม่เป็นไร เพราะเวอร์ชันล่าสุด 1903 นี่เสถียรมาก โดยเฉพาะทัชแพด(หรือเป็นเพราะผู้ผลิตไดรเวอร์) อาคารค้างไม่ค่อยเจอบ่อยแบบ 1809
ใช้ 1903 อยู่
ไม่สามารถใช้ Windows Search ได้
ติดต่อไปหาไมโครซอฟท์ ตอบมาว่าไม่เจอปัญหานี้นะ #จบ
แล้วเราหล่ะ .. ก็ไม่ต้องใช้สินะ
DPI Scaling จะกี่เวอร์ชั่นก็ไม่แก้สักที ย้ายหนีไปแมคแล้ว