วิธีการของ Huawei เพื่อรับมือปัญหาไม่สามารถใช้งาน Google Mobile Services (GMS) หลังโดนรัฐบาลสหรัฐแบน คือการสร้าง Huawei Mobile Services (HMS) ขึ้นมาทดแทน
แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียด คำว่า HMS ถือเป็น "แบรนด์" ที่มีส่วนประกอบย่อยๆ มากมาย สามารถจัดเป็นกลุ่มได้ 3 แบบคือ HMS Core (แกน API หลัก), HMS Capabilities (API เสริม) และ HMS Connect (พวกร้านขายแอพ ช่องทางจัดจำหน่าย) ซึ่งบทความนี้เราจะมารู้จัก HMS Core ในฐานะตัวตายตัวแทนของ Google Play Services นั่นเอง
แผนภาพด้านล่างนี้เป็นโครงสร้างของ HMS ทั้งหมดที่แยกได้เป็น 3 กลุ่ม
บทความนี้จะโฟกัสไปที่ HMS Core เพียงอย่างเดียวครับ
ตัวของ HMS Core เองก็ประกอบด้วยชุด API หลายตัว (นับตามภาพได้ทั้งหมด 9 ตัว) แยกได้อีกเป็น 3 กลุ่มย่อยคือ
รายละเอียดของ HMS Core แต่ละตัวสามารถดูได้จากหน้าเว็บ Huawei Developer
มาถึงตรงนี้ต้องบอกว่า HMS Core ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทน Google Play Services โดยตรงแบบ 1:1 ซึ่งถ้าดูจาก วิธีการจัดหมวด API ของ Google Play Services จะเห็นว่าเหมือนกันแบบเป๊ะๆ คือ Develop, Grow, Earn
เพียงแต่จำนวน API ของ HMS Core ยังน้อยกว่า Google Play Services อยู่พอสมควร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะ Google Play Services (รวม Firebase) ทำมานาน 10 ปี ในขณะที่ HMS Core ยังเพิ่งเริ่มเท่านั้น
เรามาดู API แต่ละตัวของ HMS Core กันให้ละเอียดขึ้น
เริ่มจาก Account Kit บริการสำหรับล็อกอินในแอพ ที่ใช้บัญชี Huawei ID แทน Google Account
ตัวมันเองเขียนขึ้นบนโพรโทคอล OAUTH 2.0 มาตรฐาน มีฟีเจอร์ด้านการล็อกอินครบครัน ข้อจำกัดของมันคงเป็นว่าต้องมีบัญชี Huawei ID ด้วย ซึ่ง Huawei ก็คุยว่าตอนนี้มีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 500 ล้านคน และให้ข้อมูลว่าอยู่นอกจีนถึง 140 ล้านคน
บริการตัวที่สองคือ Location Kit สำหรับหาพิกัดตำแหน่งของมือถือเพื่อให้แอพทราบ (เทียบได้กับ com.google.android.gms.location) ตรงนี้เป็นการดึงข้อมูลของ cellular, GPS, Wi-Fi, Bluetooth มาคำนวณ จึงไม่ต่างอะไรกับบริการของกูเกิลมากนัก
ปัจจุบัน Location Kit อาจยังขาดฟีเจอร์ขั้นสูงบางอย่าง เช่น การทำ geofence หรือ indoor positioning แต่ในเอกสารก็ระบุว่าจะเพิ่มขึ้นมาในอนาคต
Map Kit บริการด้านแผนที่ เทียบได้กับการเรียก Google Maps SDK โดย Huawei ระบุว่ามีข้อมูลสถานที่ (POI) มากกว่า 100 ล้านจุดทั่วโลก
ผมดูในเดโมบนเวที เห็นว่าแผนที่นอกจีนใช้ข้อมูลของ TomTom ซึ่งก็เป็นบริษัทรายใหญ่ที่ขายข้อมูลแผนที่อยู่แล้ว (Apple Maps ก็ใช้ข้อมูลจาก TomTom) ก็น่าจะพอใช้แก้ขัดได้ (บ้าง) หากว่าไม่มี Google Maps ให้เรียกใช้จริงๆ
Push Kit สำหรับการส่งข้อความแจ้งเตือน เทียบได้กับ Firebase Cloud Messaging แต่เปลี่ยนมาใช้ Huawei Push แทน รองรับการส่งข้อความหลายภาษา หลายฟอร์แมต เจาะจงตามโพรไฟล์ผู้ใช้งานได้
In-App Purchases บริการจ่ายเงินภายในแอพ รองรับวิธีการจ่ายเงินหลากหลาย ทั้งบัตรเครดิตยี่ห้อหลักๆ (Visa / Mastercard / AMEX / JCB) และการหัก carrier billing
รองรับการจ่ายเงินซื้อ subscription ระยะยาว และการเปิดคำสั่งซื้อ (order)
Ads Kit ระบบโฆษณาภายในแอพ ใช้ระบบ OAID ระบุตัวตนผู้ใช้งานแทนการใช้ IMEI และจับมือกับเครือข่ายโฆษณาหลายยี่ห้อ
API ตัวอื่นที่ Huawei ไม่ได้นำมาเดโมบนเวทีได้แก่
เวอร์ชันปัจจุบันของ HMS คือ 3.0.0 แต่ภายในปีนี้เราจะเห็น HMS 4.0.0 ที่มี API เพิ่มมาอีกมาก เช่น Health Kit (เทียบได้กับ Google Fit), Nearby Service, FIDO, DRM, ML เป็นต้น
Huawei คุยว่าการนำแอพที่มีอยู่แล้วมาเชื่อมต่อกับ HMS นั้นง่ายและใช้เวลาไม่นาน เฉลี่ยแล้วเพียง 3 วันเท่านั้น
นอกจาก HMS Core แล้ว ตัวสโตร์คือ AppGallery ยังมีฟีเจอร์จ่ายเงินเพื่อโฆษณาโปรโมทแอพ (Paid Promotion) เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานด้วย
ในภาพรวมแล้ว HMS Core ถือเป็นความพยายามครั้งใหญ่ในการสร้างระบบทดแทน GMS/Google Play Services ที่ดูจะยิ่งใหญ่กว่า API ของ Amazon Fire OS ด้วยซ้ำ
ตอนนี้ HMS Core อาจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังขาดฟีเจอร์ระดับสูงหลายตัวของ Google Play Services แต่ถ้าให้เวลาอีกสัก 1-2 ปี ความสมบูรณ์น่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก จนแทบจะใช้ทดแทน Google Play Services ได้เกือบหมด
ความท้าทายอีกประการของ HMS Core คงอยู่ที่การดึงดูดนักพัฒนาแอพนอกจีนให้เข้ามาใช้งาน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีปัจจัยที่นักพัฒนาแอพนอกจีน (ที่ GMS ยังใช้งานได้) จะต้องเปลืองแรงมาปรับแก้แอพตัวเองให้รองรับ HMS Core เพิ่มเติมสักเท่าไร
Huawei ไม่มีท่าอื่นนอกจากใช้วิธีด้านการตลาดเชิญชวน หรือใช้วิธีจ้าง/ให้เงินจูงใจ (แบบที่ไมโครซอฟท์เคยทำกับ Windows Phone) ซึ่งก็ทำอยู่แล้ว (ประกาศตั้งกองทุนขนาด 1 พันล้านดอลลาร์) ตรงนี้คงต้องใช้เวลาและความพยายามอีกสักระยะเช่นกัน เพียงแต่บริษัทแบบ Huawei พอตั้งใจทำอะไรจริงๆ จังๆ แล้ว ต้องยอมรับว่าน่ากลัวไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
Comments
ผมสงสัยมานานตั้งแต่เปืดตัวละ การใช้ HMS นี้จะช่วยให้ Dev เข้าถึงลูกค้าจีนได้จริงหรือ ในเมื่อลูกค้าหลักอยู่ในจีน แต่เหมือนนโยบายของรัฐบาลกลับจะกีดกันไปเสียทุกอย่าง
I need healing.
คนอยู่จีน ถ้าไม่ใช้ hms มีอะไรแทน
ต่อให้ hms เกิด
แต่การดึงคนที่ซื้อ app ใน gms ไปเยอะ
ให้มาใช้ hms ได้อย่างไร?
เพราะเท่ากับว่าเค้าต้องซื้อ app นั้นใหม่อีกครั้งใน hms
ซึ่งสาเหตุหลักอันนึงที่คนไม่ย้ายค่าย Apple <--> Android
ขนาดชื่อยังลอกเลย เท่าที่ดูหลายอย่าง ระบบยังไม่พร้อมใช้งานด้วยซ้ำ แต่เข็นออกมาก่อนให้รู้ว่ามี
ใครไม่อยากให้อเมริกาเก็บข้อมูล แต่จีนก็เก็บเหมือนกัน เผลอๆโหดกว่า
ถ้า hms ดึงคนซื้อแอพไปแล้ว โดยไม่ต้องซื้อใหม่ได้ และเซฟเกม เซฟข้อมูลดึงมาได้สมบูรณ์และสามารถเลือกได้ว่า ไม่จำเป็นต้องเซฟกับ hms ได้ก็น่าสนนะ คือเซฟลง gms อย่างเดียว ส่วน subscription ผ่านทาง gms อยู่แล้วถ้าทำแบบย้ายมาก็ยังสามารถ subscription ผ่านทาง gms ได้เหมือนเดิม ก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะเชื่อว่าบางคนอยากเล่นหัวเหว่ยแต่ไม่อยากใช้ hms
ปล บทความนี้ก็อวยเกินไปนะ ยิ่งบรรทัดสุดท้ายยิ่งอวย
ถ้าเคยเห็นวิธีทำงานของคน Huawei จะเข้าใจครับ
ช่วยขยายความหน่อยได้มั้ยครับ ว่าเขาทำงานกันแบบไหน
ถ้าแบบสั้นๆ คือ 996 ครับ
ถ้าพูดถึงการ dev app ชื่อต้องลอกครับ ถ้าชื่อเดียวกันได้ยิ่งดีเลย ไม่งั้นแก้โค้ดกันบาน ก็จะไม่มีใครอยากย้ายไปพัฒนาให้แน่นอน อันนี้แค่แก้ ref จาก G เป็น H
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ต้อง Build ใหม่แตก branch ของ source control อีก บางทีเจ้าใหญ่ๆ หรือ พวกที่จ้าง vendor พัฒนาอาจจะไม่อยากทำกัน
อวยยังไงหว่า ผมอ่านสามรอบยังหาจุดที่อวยไม่ได้เลย
เพียงแต่บริษัทแบบ Huawei พอตั้งใจทำอะไรจริงๆ จังๆ แล้ว ต้องยอมรับว่าน่ากลัวไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
ตรงนี้ครับ ถ้าเป็นแรงโม้อ่ะใช่ ส่วนกล้องยอมรับว่าโหดจริง แต่ก็มีของหลอกลวงเหมือนภาพพระจันทร์ตัดแปะ หรือซูมกี่เท่า ไปลองเล่นดูก็ยังแตกเหมือนเดิม
ไม่แน่ใจว่าอวยมากยังไงนะครับ อย่างเรื่องที่โม้ว่าจะเพิ่มยอดขายอันนี้ก็เห็นว่าแนวโน้มดูจะเป็นจริงอย่างที่โม้ ถ้าไม่โดนเตะตัดขาก่อนก็น่าจะฉุดไม่อยู่ หรือเรื่องกล้องอันนี้ที่โม้ผมว่าโดยรวมก็ทำได้อย่างที่โม้จริง แม้ว่าจะมีโป๊ะแตกบ้าง
โม้ว่าชิพจะแรงกว่าคู่แข่งมากๆ
อันนี้ถือว่าพลาดมากจริง แต่ว่าจากสปีดการวิจัยพัฒนาดูแล้วก็มีพัฒนาการไปในทิศทางบวกอยู่นะครับ ถ้าตัดเรื่องโม้เวอร์วังออกไปภาพลักษณ์ก็อาจจะดีกว่านี้
ก้ดู เป็น แนว ทางที่ดี นะ กับการเริ่ม ต้น สัก 2 - 3 ปี น่าจะเร่ิมคงที api ครบๆ งานลำบาก ก็อยุ่นักพัฒนาละ แค่เขียนดรอยให้มันใช้ได้ดีทุกอุปกรณ์ที่มีอยุ่ ก้ยากแล้ว อันนี้ ต้องเขี้ยนทั้ง hms gms อีก แต่ตอนนี้ ถ้า จะ เริ่ม เขียน แอพ โดยใช้ Hms มันต้องเร่ิมยังไง แหล่งข้อมุลก้ไมมี แล้ว เอาแอพขึ้นเร็ว 3 วัน หัวเว้ย เค้าไ่ม่ตรวจสอบอะไรเลย เหรอ
ไม่มี เพราะที่เห็นคือมีคนโพสว่า แอพ มีแต่ใช้ไม่ได้ เพราะไม่มี gms
คงกะเอาชื่อแอปดังๆ กับยอด เยอะๆ ตามสไตล์เขาอีกตามเคย
ส่วนวิธีเขียน เขาจำลองinterface จาก gms วิธีน่าจะเหมือนเดิม
แล้วก็คงไม่มีใคร ลงทุนเริ่มเขียนแอพให้รองรับมือถือรุ่นเดียว เพราะไม่มี gms เท่าไหร่ด้วย
ฟังดูดีทีเดียวนะครับ ถึงแม้ตอนนี้ผมจะเป็นสาวกแอปเปิลเต็มตัวแล้ว แต่ก็แอบเชียร์ H อยู่ห่าง ๆ เหมือนกัน เพราะการมีเจ้าตลาดอยู่แค่ 2 เจ้า คือ A กับ G มันดูผูกขาด เราแทบไม่มีทางเลือกเลย ถ้ามีเจ้าที่ 3 เข้ามาแข่งแบบนี้ สุดท้ายประโยชน์ก็ตกอยู่ที่ผู้ใช้นี่แหละ
Google แทรกซึมทุกการใช้ชีวิตของเราครับ ถ้าจะไม่ให้ผูกขาด มันต้องเริ่มจากผู้ใช้อย่างเราๆนี่แหละ ถ้าทุกคนสามารถใช้บริการอย่างอื่นแทน Google ได้ Huawei คงไม่ลำบากขนาดนี้
เอาใจช่วยครับ อยากให้มีใครซักคนมาแข่ง a กับ g
พารากราฟท้ายๆอวยเว่อร์มาก
ปล. ความเห็นแนวนี้เห็นมานานมากๆๆๆๆๆ
ความเห็นแบบ อยากให้ซักบริษัทมาแข่งกับเจ้าตลาดด้านนี้ จะได้นู่นนั่นนี่ เอาใจช่วย สู้ๆนะ
เป็นความหวังดีที่เอ่อล้นใจ
โว๊ะะ อิหยังหว่ะ ก่ายขนาด 55555
แหม ทีตัวเองยังไม่เลิกใช้ของเจ้าตลาดเขาเลย
อยากให้เจ้าใหม่เกิดนักล่ะก็ เริ่มเลยนะ เริ่มที่ตัวคุณๆกันเอง
ไม่อย่างนั้น จะให้ใครที่ไหนใช้ก่อนอ่ะ ป้าแก้ว ป้าคำ ลุงมั่น ลุงหมาย ก๊ะ?
ในใจบริษัทเค้าคงจะบอกอ่ะ กำลังใจไม่เอา จะเอาเงินจ้ะ (ซื้อของเรามาใช้จิ 555)
ไม่ต้องรอ ถ้ารอมันก็เกิดช้า และอาจจะไม่ได้เกิดเลยด้วยซ้ำ
ในบทความยังบอกเลย ปี-2ปีนี้ ทดแทนกูเกิ้ลได้เกือบหมดนะ
ถ้าอยากให้เกิดมามากจริงๆ สิ่งที่ควรทำคือไปซื้อมาใช้กันเลย
ให้เขามาเก็บข้อมูลด้วยนะ
แล้วช่วยกันฟีดแบ็คกลับบริษัทไปว่าต้องพัฒนา ปรับปรุงตรงไหน ให้ดีขึ้น
จะได้เอาเงินไปวิจัย พัฒนา ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไป จนทดแทน GMS ได้ในที่สุด
อ้าว เงียบกริ๊บกันหมด
คิดได้เนอะ ใช้ Google Service ไม่ได้แต่มโนจะขายเครื่องละสามหมื่นกว่า คนจีนเองมันยังไม่ซื้อเลย ก็เลยมามุ่งโลกที่สามแถบนี้ หลอกง่ายดี
ผมว่าจุดเดียวที่ Huawei จะดึงดูดผู้พัฒนาได้มีจุดเดียวเลย ใช้วิธีการเมื่อ 40 ปีก่อน คือ ทำให้ API ตัวเองเป็น GMS-compatible เรียกใช้ส่วนไหนก็ bypass ไป API ตัวเอง อันไหนไม่พร้อมก็ return 0,1,"" หรือ null ไปก่อน ถึงจะง่อยบ้าง แต่นักพัฒนาไม่ต้องแก้โค้ด และวิธีนี้ก็เป็นวิธีเดียวกันที่พวกเครื่อง MS-DOS-compatible ประสบความสำเร็จในยุค 40 ปีก่อน
น่าจะโดน google ฟ้องนะครับ ถ้าลอก api ไปขนาดนั้น
ถ้าลอกการทำงาน API แบบเป๊ะๆ ไปนี่น่าจะโดน แต่ถ้าลอกแค่ output ของ API นี่ไม่
น่าจะโดนนะครับGoogle ก็เคยโดน Oracle ฟ้องเพราะทำ api เหมือน Java ของ Oracle ครับ แต่คดีคือ Google ชนะ รอบนี้ HMS ของ Huawei จะทำบ้าง คิดว่าน่าจะไม่มีปัญหาอะไรหรอก
ถ้าเป็นแบบนั้นจริง GNU Project คงไม่เกิด และไม่มี Linux ให้เราใช้...
วิธี wrapper เมื่อก่อนไม่ซับซ้อน ก็ยังพอทำได้อยู่
แต่พอเริ่มเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้น มีการเข้ารหัส/key หรือ ติดต่อเซิฟเวอร์
มันจะต้อง reverse engineer เพิ่อแกะการทำงาน
ซึ่งมันจะผิดข้อตกลง ห้าม reverse engineer ใน EULA
ถ้าทำ น่าจะโดน google ฟ้องได้
อันนี้ไม่ reverse engineer แค่ทำความเข้าใจแบบบ้านๆ ว่ามันทำงานยังไง แล้วสร้างตัวที่มัน compatible ขึ้นมาเฉย ๆ ไม่ได้จะลอกการทำงานมาทั้งกระบวนการ
ถ้าย้อนกลับไปสมัย 40 ปีก่อน จะรู้ว่าไอ้เครื่องที่บอกเป็น MS-DOS-compatible ก็ใช่ว่าจะรองรับไปซะหมด อย่าง BIOS หรือว่าฮาร์ดแวร์หลายตัวจากหลายเจ้าก็เป็น proprietary (เช่น Commodore, Mindset, Tandy) ทำงานร่วมกันไม่ได้ ต้องเขียนส่วนขยายเพิ่มเอง มีแค่ส่วนของลอจิกบอร์ดพื้นฐานกับดอสเท่านั้นที่ compatible กัน
และเคสแบบนี้เคยมีการฟ้องร้องด้วย ระหว่าง IBM และ Compaq (หาว่า Compaq ทำ RE ชิปของตัวเอง) แต่สุดท้าย Compaq รอดตัวไป และค่ายอื่น ๆ ก็ผุดทำตามเป็นดอกเห็ด (ยกเว้นแอปเปิล) แต่เคสที่โด่งดังสุด เพราะดันทำออกมาดีกว่าต้นฉบับ คือ Tandy
ปล. แต่ก็ไม่มั่นใจเหมือนกันนะว่ามันทำโดยไม่ต้อง RE ได้จริงไหม
นั่นคือสมัย DOS/Win95/98 หนะ
พวก VESA BIOS หรือ 3dfx/OpenGL อะไรพวกนั้น
แต่สังเกตได้ว่า พอหลังปี 2000 ต้นๆ ที่เริ่มมีกฎห้าม reverse engineer
เราก็ไม่ได้เห็นแนวคิด wrapper อีกเลย
อีกแง่นึงคือ มันอาจจะเข้ายุคที่ซับซ้อนเกินกว่าจะทำ wrapper ได้??
ตอนนี้ยังมีอยู่นะ หลายโปรเจกต์เลย แต่เพราะเป็น open-source เลยไม่มีใครทำอะไร คือ Wine, Proton และ ReactOS (Open-source NT Kernel) ยิ่ง Wine/Proton นี่ตัวดีเลย ตอนนี้เล่นเกมจาก Windows ได้เกือบทุกเกม ที่ตายรังมีเฉพาะเกมออนไลน์ที่ติด EasyAntiCheat อยู่ (แต่เห็นว่า ทีม EAC กำลังร่วมมือกับ Valve กับ WineHQ ทำให้มันรองรับอยู่)
ข้อสังเกตคือ syscall เลียนแบบ Windows มา แต่ไส้ในไม่เหมือนกันเลย คงเป็นหนึ่งในอีกเหตุผลที่ Oracle ฟ้อง Google ไม่สำเร็จ เพราะภายนอกเหมือนก็จริง แต่ไส้ในต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันก็พอเป็นลูกเล่นเลี่ยงกฎหมายให้กับ Huawei ที่จะเลียนแบบ API ของ Google ได้อยู่นะ
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง .net ไฟล์คนละ build ยังมองกันไม่เจอเลย ถึงจำนวนฟังก์ชั่นจะเหมือนกันก็เถอะ
ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าลูกค้านอกจีนมีความจำเป็นอะไรต้องย้ายไปใช้ค่าย Huawei แทน Google
That is the way things are.
พึ่งนึกออกว่าจะตอบอะไร
รู้สึกว่ามีอยู่ข้อเดียว คือ กำลังซื้อจากจีนที่สูงมาก เงินสะพัดในวงการเทคโนโลยีจีนนี่เรียกได้เอาหลายประเทศมารวมกันยังไม่เท่าจีนซื้อที่เดียว ยิ่งตอนนี้กระแสชาตินิยมในจีนกำลังแรง คนย้ายไปเหว่ยกันเยอะขึ้น
...แต่มันก็ยังไม่ใช่เหตุผลจริง ๆ น่ะแหละ เพราะ ecosystem ของจีนมันกระจัดกระจายมาก เอาจริง ๆ ในมือถือจีนไม่ได้มี API ด้วยซ้ำ เพย์เมนต์ของบริษัทเกมจีนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ IAP แต่เป็น proprietary ของตัวเอง ซื้อบัตรเติม/ท็อปอัปจากบริษัทโดยตรง (จ่ายออนไลน์ได้ผ่านพวก Alipay, WeChat Pay แต่ก็ได้เป็นโค้ดเติมเกม ไม่ใช่ IAP) ก็เลยกลายเป็นว่า ตัวเองจะผลักดัน HMS แต่ว่าคนในชาติตัวเองก็ยังไม่พร้อมเหมือนกัน แล้วจะผลักดันให้ไปใช้ Mobile Services ของตัวเองยังไงหว่า รัฐบาลจีนออกกฎว่ามือถือจีนทุกเครื่องต้องติดตั้ง HMS งี้เหรอ มันจะไปขัดแย้งกับคำว่าเท่าเทียมของคอมมิวนิสต์หรือไม่
ผมชอบ GMS นะ แต่ผมก็เชียร์ให้มี HMS ไว้เป็นทางเลือก
แต่ผมคงไม่เป็นกลุ่มแรกๆที่ใช้ HMS แน่ๆ ถ้ามีคนใช้เยอะ ก็อาจจะใช้
เคยเป็นหน่วยกล้าตายตอน windowphone ซึ่งก็ตายสมความกล้า งานนี้ขอดูอยู่ห่างๆ ไว้อักซักปีสองปีค่อยตัดสินใจอีกทีครับ
Happiness only real when shared.
แล้วเราจะไว้ใจข้อมูลที่ส่งไปได้ไง?
ด้วยจริยธรรมหลายๆด้าน ของ huawei คือสิ่งที่สะท้อนตัว huawei ได้อย่างดีที่สุด
แลดูจะยาก คงต้องใช้เวลากันอีกนาน