IBM ประกาศข่าวในงานสัมมนาด้านการเงิน Sibos ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มใช้งานระบบขายพันธบัตรออมทรัพย์ (government savings bonds issuing) ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนของ IBM แล้ว โดยออกขายพันธบัตรผ่านระบบนี้เป็นวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท (1.6 พันล้านดอลลาร์) ในระยะเวลา 2 สัปดาห์
การนำบล็อกเชนมาใช้งานช่วยให้นักลงทุนได้รับพันธบัตรเร็วขึ้น จากระยะเวลาปกติ 15 วันลดเหลือ 2 วัน เพราะกระบวนการเดิมมีความซับซ้อนสูง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ตั้งแต่ผู้ออกพันธบัตร (issuer), ผู้จัดจำหน่าย (underwriter), นายทะเบียน (registrar) นักลงทุน (investor) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ การย้ายมาใช้ระบบบล็อกเชนที่เป็นระบบเดียวสำหรับทุกคน จึงช่วยลดกระบวนการตรวจสอบที่ซ้ำซ้อนลง ช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนลงโดยปริยาย
ระบบพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน่วยงานทั้งหมด 8 แห่งเข้าร่วมคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และธนาคารตัวแทนจำหน่าย ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยรันอยู่บน IBM Blockchain และ IBM Cloud
ที่มา - IBM
Comments
Blockchain ในที่นี้มันช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไรครับ? มันช่วยลดความซับซ้อนอย่างไร? ต่างจากวิธีการใช้ฐานข้อมูลปกติอย่างไร? อ่าน press release ก็ยังไม่ค่อยเก็ตเท่าไร. แต่ขอชื่นชมที่สุดท้ายแล้วทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นครับ
ไม่ได้ลดความซับซ้อนของกระบวนการ แต่เพิ่มความน่าเชื่อถือบนแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ได้อย่างมาก เพราะตัวบล็อกเชนไม่ได้อ้างอิงถึงใครคนเดียว แต่เป็นการสร้างความเชื่อใจร่วมกันด้วยกระบวนการเข้ารหัส ทุกคนในระบบล้วนเป็นเจ้าของข้อมูล ต่างจากระบบเดิมที่อ้างความเชื่อใจจากคน ๆ เดียว เช่น ธนาคารกับลูกค้า
ส่วนเรื่องความง่าย ความสะดวกนั้น เป็นอานิสงส์ที่ได้จากการย้ายระบบดั้งเดิมมาสู่บล็อกเชน ลดขั้นตอนการดำเนินการลงได้อย่างมาก ยกเว้นสำหรับสกุลเงินบล็อกเชน เพราะมีคนจำนวนมากเกินไป (~10 นาที - 1 ชั่วโมงต่อหนึ่งธุรกรรม)
ผมคิดเหมือนกันเลย
คือถ้าเราทำระบบใหม่โดยไม่ใช้ blockchain ก็น่าจะลดความซับซ้อนและทำให้รวกเร็วได้เหมือนกัน
Blockchain Consensus Protocal
น่าจะคีย์เวิร์ดนี้แหละครับ..
การใช้งานฐานข้อมูลคือ ลูกข่ายต้องเชื่อมต่อไปยังฐานข้อมูล ซึ่งต้องมีสองอย่างคือ การเชื่อมต่อ (ที่เสถียร) และ เซิฟเวอร์ ที่ต้องให้บริการตลอดเวลา ครับ ห้ามล่ม ห้ามหลุด
แต่ blockchain ใช้กระบวนการ hash ที่ยาวมาก และต่อกันเป็นบล็อคๆ ทำให้สามารถหาต้นตอของ เงินที่เราถือ และ คนที่ถือก่อนเราได้ และ จ่ายเงินโดยไม่ต้องเชื่อมกับฐานข้อมูลตลอดเวลาครับ
พูดถึงข้อดีคงจะนึกถึงตอนต้นเดือนที่แอพธนาคารล่มเพราะธนาคารมีฐานข้อมูลตัวเดียว และเป็นส่วนกลาง ล่มทีก็จ่ายเงิน โอนเงินไม่ได้ทั้งประเทศเลย แต่ถ้าใช้ Blockchain ปัญหานี้จะลดลงมาก เพราะมันสามารถโอนเงินให้กันแล้วตรวจสอบผ่าน hash ได้เลย ไม่ต้องเช็คฐานข้อมูลตลอดเวลา (ต้องเชื่อมอยู่ดี แต่ไม่ต้องเชื่อมตอนโอน) หรือ เช็คกับฐานข้อมูลในที่ต่างๆ ที่ hash ตรงกันได้ครับ นั่นหมายถึง การธนาคารล่มแล้วโอนเงินไม่ได้ จะไม่เกิดขึ้นในยุคที่เราไม่ใช้เงินสดกันแล้ว
คงไม่ต้องห่วงเรื่อง password 12345 เนอะ
ขายพันธบัตรแล้ว
next step ขอเป็น Digital Baht
+1