ไม่รู้มีใครสังเกตกันบ้างหรือเปล่า ว่ากำแพง 4GHz ยังไม่มีใครข้ามไปได้เสียที ทั้งๆ ที่เราเหยียบ 2GHz กันมาหลายปีแล้ว และอีกเรื่องคือขนาดของการผลิตที่เหมือนจะคงที่ที่ 90 นาโนเมตรเช่นกัน
สองอย่างข้างต้น (ขนาดในการผลิต และความเร็วสัญญาณนาฬิกา) เหมือนเป็นกำแพงที่โลกซีพียูติดอยู่ แต่ในขณะที่กฎของมัวร์ (ความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์จะดับเบิ้ลทุก 18 เดือน) ยังเป็นจริงอยู่ สิ่งที่ผู้ผลิตเอามาชดเชยก็คือ การเบิ้ลซีพียูเข้าไปอีกตัว ที่เราคุ้นกันดีในชื่อ "ดูอัลคอร์" น่ะเอง
หมายเหตุ: หนึ่งตัวหลายคอร์ กับซีพียูหลายตัว มันคนละเรื่องกันนะครับ
ปัญหามีอยู่ว่า การคูณซีพียูตัวที่สองเข้าไป ไม่ได้แปลว่า ความเร็วในการทำงานจะคูณสองด้วยครับ การมีคอร์หลายตัวไม่ได้ช่วยอะไรเลยถ้าทำงานขนาดใหญ่งานเดียว แต่มันจะช่วยกรณีที่ทำงานที่สองเพิ่ม ในขณะที่งานแรกยังไม่เสร็จต่างหาก
นั่นแปลว่าคนใช้จ่ายเงินเพิ่มซื้อ 2 คอร์ แต่ไม่ได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเสมอไป ขึ้นอยู่กับงานด้วย เพราะโปรแกรมส่วนมาก (จะว่าไปคือเกือบทั้งหมด) เขียนมาสำหรับคอร์เดียว และการปรับโปรแกรมให้ทำงานแบบ multithread หรือ pararell มันไม่ได้ทำกันง่ายๆ (ยากจริงครับ อันนี้ผมเคยเขียน)
Herb Sutter จากไมโครซอฟท์ได้ออกมาพูดเตือนให้นักพัฒนาทั่วโลก เตรียมพร้อมสำหรับมัลติคอร์กันได้แล้ว และไมโครซอฟท์ยินดีจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงนี้ราบรื่น ไมโครซอฟท์มีเอี่ยวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะว่า XBox 360 ที่จะออกวันที่ 22 พย. นี้ ใช้ PowerPC แบบสามคอร์
จาก Ars Technica
Comments
ยังสงสัยอยู่ว่า วินโดวส์มันจัดการกับโปรแกรมที่ทำ multithread ยังไง อย่างในซีพียูที่เป็น hyper threading มันก็ยังใช้แค่ซีพียูเดียวอยู่ดี ต้องเขียนเป็น multiprocess มันถึงจะใช้ประโยชน์ได้.... แล้วพอเป็น dual core มันจะต่างจากเดิมมั้ยเนี่ย :-/
LinkedIn
อืม ถึงตอนนั้น Compiler แต่ละตัวก็ต้องออก version ออกมา support
ผมว่า pg app ทั่วๆไปอย่างผมคงไม่มีอะไร effect มากนัก เพราะ Compiler คงจัดการให้ระดับหนึ่ง(นะ)
ผมเชื่อว่าในการใช้งานทั่วๆ ไป ดูอัลคอร์ให้ผลที่ดีกว่ามากแน่ๆ ครับ เพราะในวันนี้ เราไม่ได้ทำอะไรอย่างเดียว กับคอมพิวเตอร์ในเวลาเดียวมานานแล้ว ยกเว้นเล่นเกม
เราฟังเพลง เล่นเว็บ แชท ไปพร้อมๆ กับพิมพ์งาน ของพวกนี้มันแยกโปรเซสการทำงานกันอยู่แล้ว ดังนั้นหากเราใช้ดูอัลคอร์ การตอบสนองของเครื่องน่าจะดีกว่าวันนี้มาก
lewcpe.com, @wasonliw