สัปดาห์ที่แล้ว รัฐสภายุโรปผ่านกฎหมายดิจิทัลสำคัญฉบับหนึ่งคือ Digital Services Act (ต่อไปจะย่อ DSA) ด้วยคะแนน 530 ต่อ 78 เสียง (งดออกเสียง 80)
กฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซ ที่มีภาระความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ในการนำเนื้อหาหรือสินค้าผิดกฎหมายออกจากแพลตฟอร์มภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเนื้อหาผิดกฎหมาย ข่าวปลอม สินค้าผิดกฎหมาย
ในกรณีที่เป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (very large online platforms หรือ VLOP) ยังมีหน้าที่ต้องนำเนื้อหาที่อันตราย (harmful ซึ่งอาจไม่ผิดกฎหมาย) และข่าวปลอมออกจากแพลตฟอร์ม รวมถึงต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ และเปิดเผยอัลกอริทึมที่ใช้คัดเลือกเนื้อหามาแสดงด้วย
กฎหมาย DSA ยังมีประเด็นเรื่องการโฆษณาแบบเจาะจงบุคคล (targeted advertising) ที่ต้องโปร่งใสและเปิดให้ผู้ใช้เลือกได้โดยง่าย, การชดเชยความเสียหายเป็นตัวเงินหากแพลตฟอร์มไม่ยอมปฏิบัติตาม เป็นต้น
รัฐสภายุโรปยังมีกฎหมายคู่กันอีกฉบับคือ Digital Markets Act (DMA) ที่ควบคุมพฤติกรรมของแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ให้ผูกขาดหรือใช้อิทธิพลไปกลั่นแกล้งคู่แข่ง ตอนนี้ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของสภา
ที่มา - European Parliament, ภาพจาก European Parliament
Comments
หมดกัน คนชอบเสพข่าวปลอมมีเยอะด้วย
อื้อหือ นึกภาพไม่ออกว่า VLOP จะตรวจสอบตัวเองยังไงหว่า อย่างโหด แต่เห็นด้วยนะ ๕๕๕
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เห็นด้วยกับเป้าหมาย พวกผิดกฎหมายก็ไปตามกฎหมายแต่ละประเทศ ส่วนข่าวปลอมจะได้ลดการวนเวียนว่ายหายเปิดประเด็นบ้างเถอะ ...คงมีขั้นตอนตรวจสอบและทบทวนสินะ
เขาคงไม่มีปัญหาแบบบ้านเราสินะ ข่าวจริงที่กลายเป็นปลอม
ส่วนตัวมองว่ายังไงก็น่าห่วง เพราะในเมื่อเปิดช่องแบบนี้แล้วในอนาคตคงมีคนใช้ช่องโหว่แบบนี้รวบอำนาจให้ตัวเองอยู่ไม่มากก็น้อยแน่ ฝรั่งก็ใช่ว่าจะเข้าใจหรือเข้าข้างประชาธิปไตยไปหมดโดยเฉพาะพวกคนเจนหลังๆที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์การเมืองแบบทรราชครองเมืองหรือการรุกรานสิทธิเสรีภาพมาก่อน(คราวก่อนหลงเข้าคอมมูนิตี้อวยลัทธิเหมาในเว็บบางเว็บที่เป็นอิ้งนี่อยากเอาเท้านาบพวกมันมาก)
= ใช้ ML ไม่ได้
หันไปมองข่าว netflix