Tags:
Node Thumbnail

ไมโครซอฟท์ผ่อนคลายเงื่อนไขสัญญาอนุญาตใช้งานซอฟต์แวร์เซิร์ฟเวอร์ฝั่งองค์กร ให้เอื้อต่อการนำไปรันบนเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทเอาท์ซอร์ส หรือผู้ให้บริการคลาวด์รายย่อยมากขึ้น

ทิศทางของไมโครซอฟท์เกิดจากแรงกดดันฝั่งยุโรป ที่มองว่าไมโครซอฟท์เป็นทั้งเจ้าของซอฟต์แวร์ฝั่งเซิร์ฟเวอร์สำคัญ (เช่น Windows Server หรือ SQL Server) ในอีกทางก็เป็นผู้ให้บริการคลาวด์เองด้วย ทำให้ไมโครซอฟท์อาจใช้กลยุทธ์เรื่องสัญญาอนุญาตเพื่อให้คลาวด์ของตัวเองได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งผู้บริหาร AWS เพิ่งออกมาโวยเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม นโยบายใหม่ของไมโครซอฟท์มีผลเฉพาะกับบริษัทรับเอาท์ซอร์ส และผู้ให้บริการคลาวด์รายย่อยเท่านั้น ไม่นับรวมถึงผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ 4 รายคือ Alibaba, AWS, Google และ Azure ของตัวเอง ที่ใช้วิธีคิดไลเซนส์ต่างออกไป

แนวทางที่ไมโครซอฟท์ประกาศมีดังนี้

  • บริษัทเจ้าของไลเซนส์ซอฟต์แวร์ ไม่ว่าผ่าน Software Assurance หรือไลเซนส์แบบอื่นของไมโครซอฟท์ สามารถนำไปรันบนเครื่องของบริษัทเอาท์ซอร์สได้แล้ว (ยกเว้น 4 รายใหญ่)
  • การคิดเงินค่าไลเซนส์ Windows Server เดิมทีนับตามคอร์ซีพียูเชิงกายภาพ (physical core) จะเพิ่มไลเซนส์ที่นับตามคอร์เสมือน (virtual core) ให้สอดคล้องกับวิธีการรันเครื่องเซิร์ฟเวอร์ในปัจจุบัน
  • บริษัทที่มีไลเซนส์ Microsoft 365 (E3, F3, E5) สามารถรัน Windows 10/11 แบบ virtualized บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ตัวเองหรือบริษัทเอาท์ซอร์ส

รายละเอียดของโปรแกรมเหล่านี้จะประกาศเพิ่มเติมต่อไป การเปลี่ยนแปลงชุดนี้มาจากผู้ให้บริการคลาวด์ฝั่งยุโรปรวมตัวกันไปฟ้องหน่วยงานกำกับดูแล แต่ประกาศของไมโครซอฟท์มีผลทั่วโลก

No Description

ที่มา - Microsoft via The Register

Get latest news from Blognone