สหรัฐอเมริกามีกฎหมายความเหมาะสมด้านการสื่อสาร (Communications Decency Act) ที่ออกในปี 1996 เน้นควบคุมเนื้อหาอนาจารในอินเทอร์เน็ต กฎหมายฉบับนี้มีมาตราสำคัญคือมาตรา 230 ที่มีสาระสำคัญว่า ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ผู้ใช้โพสต์ลงบนแพลตฟอร์ม
มาตรา 230 เป็นแกนกลางสำคัญของการถกเถียงเรื่องเนื้อหาของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในช่วงหลัง โดยเฉพาะในยุคข่าวปลอมระบาด เพราะกลายเป็นยกประโยชน์ให้แพลตฟอร์มไม่ต้องรับผิดใด ๆ ในขณะที่มีหลายฝ่ายเริ่มมองว่า แพลตฟอร์มจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ผิด ๆ หรือสร้างความแตกแยกในสังคม
ก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามจะแก้ไขมาตรานี้แล้วแต่ไม่สำเร็จ ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เคยเรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองเยาวชนในทางออนไลน์ และเสนอให้แก้มาตรา 230 ไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด คณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการพาณิชย์ (House Energy and Commerce Commitee) ของสภาผู้แทนราษฏร ได้โหวตผ่านร่างกฎหมาย American Data Privacy and Protection Act (ADPPA) ที่มุ่งคุ้มครองความเป็นส่วนตัวข้อมูลของผู้ใช้มากขึ้นและจำกัดการยกเว้นจากความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่
ในคำแถลงการณ์ของรัฐบาลได้ชมเชยว่าทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างให้ความสนใจกับการผ่านร่างกฎหมาย ADPPA และสนับสนุนให้ยุติ “การคุ้มครองทางกฎหมายเป็นพิเศษสำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่” (special legal protections for large tech platforms) ซึ่งเป็นการจำกัดการยกเว้นความรับผิดชอบของบริษัทเทคโนโลยีตามที่ระบุไว้ในมาตรา 230
อย่างไรก็ตาม Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐและผู้แทนราษฎรจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ต้องการชะลอกฎหมายนี้ไว้ก่อนเพราะเกรงว่ากฎหมายนี้จะขัดต่อ California Privacy Act และ California Privacy Rights Act ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยความกังวลว่ากฎหมายใหม่จะขัดขวางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของแคลิฟอร์เนียจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วในอนาคต
อ่านละเอียดกฎหมาย American Data Privacy and Protection และ ข้อเสนอ 6 ประการจากแถลงการณ์
Comments
กฎหมายคล้ายที่เคยใช้กับบ้านเราในยุคนึงใช่มั้ยครับ
เรื่องข่าวปลอม มันคือการละเมิดเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแบบตรงๆเลย
กลายเป็นว่า เจ้าของแพลตฟอร์ม (ภายใต้การกำกับจากรัฐบาล) มีอำนาจกำหนดว่า ประชาชนควรรับรู้หรือไม่ควรรับรู้ข้อมูลไหนหรือแหล่งไหนบ้าง
คงเห็นชัดๆแล้วว่า ประชากรไม่ได้มีคุณภาพพอจะแยกแยะข่าวสารที่มีคุณภาพออกจากกัน
ทุกวันนี้ยังมีกิจกรรมบ้าๆบอๆอยู่บน TikTok ตลอด และยังมีคนเชื่อทั้งที่มีการศึกษาไม่น้อย
การศึกษาและการคิดวิเคาระห์แยกแยะโคตรสำคัญ
เพราะโซเชียล มันอิสระ ใครอยากโพสอะไรก็ได้ ถ้ามาควบคุมก็จะกลายเป็นต้องมาบังคับห้ามโพสนั้นนี้ นะสิ
ปัญหาคือ ใครจะเป็นคนบอกว่าข่าวไหนจริงหรือปลอม
ถ้าเป็นบริษัททำเอง หรือรัฐบาลทำเอง ก็มีสิทธิ์ที่จะทำให้ข้อมูที่ตนเองไม่สนับสนุน เป็นข่าวปลอมได้
น่าจะสร้างหน่วยงานที่เป็นองค์กรกลาง สามารถตรวจสอบข่าวสารและสร้าง guideline ให้ platform ใช้อ้างอิงหากต้องการลบข้อมูล (และแน่นอน ข้อมูลพวกนั้นต้องมีการระบุรายละเอียด รวมถึงเทียบข้อเท็จจริงที่หน้า website ขององค์กรนั้นๆ
แล้วก็หากลไกยังไงก็ได้ให้องค์กรนี้มันกลางที่สุดเท่าที่จะทำได้ (แต่การ transparent ผลการตรวจสอบก็น่าจะช่วยได้ระดับนึง)
ในทางปฏิบัติคิดว่าปัญหาข่าวปลอมควรแก้ด้วยการบังคับใช้กฏหมายของแต่ละประเทศจะง่ายกว่า เหมือนอย่างจีนที่ออกกฏว่าใครไม่มีใบอนุญาติไม่มีสิทธิ์ให้ความเห็นทางการแพทย์ได้ ใครแชร์มั่วๆก็ผิดฐานแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จ
ไหง pelosi กล้าเบรก federal law เพราะกลัวจะ clash กะ state law หว่า?
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
กฎหมายนี้มันออกจะขัดกับรัฐธรรมนูญข้อแรก ถึงแม้จะบอกว่าเป็น federal law ครับ