เมื่อเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว Competition Commission of India (CCI) คณะกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าของอินเดีย ได้สั่งปรับเงิน Google เป็นจำนวน 133.78 พันล้านรูปี (คิดเป็นเงินไทยราว 6.2 พันล้านบาท) ในประเด็นการผูกขาดทางการค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ Android ล่าสุด CCI ได้มีคำสั่งปรับเงินจากประเด็นเดียวกันเพิ่มอีก 93.64 พันล้านรูปี (ประมาณ 4.2 พันล้านบาท) เท่ากับว่าภายในเดือนเดียว CCI สั่งปรับเงิน Google รวม 10.4 พันล้านบาท
ครั้งก่อนที่สั่งปรับเงิน 6.2 พันล้านบาทนั้นมีประเด็นที่กว้างครอบคลุมทั้งเรื่องการครองตลาดระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟน, ร้านค้าแอปต่างๆ สำหรับอุปกรณ์ที่รัน Android, บริการค้นหาข้อมูลผ่านเว็บ, เว็บเบราว์เซอร์แบบไม่จำกัดระบบปฏิบัติการ และแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ แต่คำสั่งปรับเงินรอบใหม่เจาะจงเรื่องที่ Google บังคับให้ผู้ใช้อุปกรณ์ Android ต้องซื้อแอปร่วมทั้งบริการและไอเทมในแอปผ่านทาง Play Store เท่านั้น
ประเด็นเกี่ยวกับคำสั่งปรับเงินว่าด้วยเรื่องการผูกขาดร้านค้าแอปทั้ง 2 รอบนี้มีแง่มุมที่แตกต่างกันอยู่เล็กน้อย ครั้งก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ CCI มองว่าผู้เสียผลประโยชน์คือเจ้าของแพลตฟอร์มร้านขายแอปเจ้าอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสแข่งขันกับ Google ส่วนการปรับเงินครั้งหลังนี้เป็นมุมมองที่คำนึงถึงการเสียผลประโยชน์ของนักพัฒนาซึ่งไม่มีทางเลือกในการขายซอฟต์แวร์ของตนเองเพราะต้องรับผ่านระบบชำระเงินของ Google ทางเดียวเท่านั้นซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนการแบ่งรายได้ที่นักพัฒนาไม่สามารถต่อรองได้
หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้น เปรียบเสมือน Google เป็นเจ้าของตลาดสดขนาดใหญ่ที่ใช้วิธีการบางอย่างกำหนดให้ชาวบ้านมาจับจ่ายซื้อสินค้าที่ตลาดของตนเองเท่านั้นโดยไม่สามารถไปซื้อของที่ตลาดหรือห้างอื่นได้ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้มีผู้เสียผลประโยชน์ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเจ้าของตลาดแห่งอื่นที่ไม่มีทางปล่อยเช่าแผงได้เพราะไม่มีใครมาขายของ (ไม่ว่าตนเองจะสร้างตลาดได้ดีเพียงใด สะอาดแค่ไหน หรือค่าเช่าแผงถูกอย่างไรก็ตาม) ส่วนคนอีกกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ก็คือบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องไปเช่าแผงในตลาดของ Google เท่านั้นและไม่มีอำนาจต่อรองอัตราค่าเช่าแผงขายของ
ทางด้าน Google ได้แถลงความเห็นต่อคำสั่งปรับเงินทั้ง 2 ครั้งของ CCI ว่าเป็นการเดินถอยหลังสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจในอินเดีย
ภาพ Google Doodle วันประกาศอิสระภาพอินเดียปี 2019
ที่มา - BBC
Comments
ก็เข้าใจเรื่องประเด็นผูกขาดนะ แต่ถ้ามองในแง่ผู้บริโภค Google ก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดจริง ๆ ขนาดอเมริกา Amazon Appstore ยังไม่สามารถทำได้แบบ Google เลย
ถ้าเป็นแบบนี้ ทางเลือกก็ต้องเป็นการที่ไม่ลง GMS ในมือถือที่ขายในอินเดีย แล้วไปหาทางลงกันเอาเอง แค่คิดก็ปวดหัวแล้วอ่ะ
ถ้าปล่อยให้มี Store เจ้าอื่น อันนี้ก็เห็นด้วย แต่ผู้ใช้งานเองก็ต้องรับให้ได้กับผลกระทบที่ตามมาโหลดมาจากแหล่งอื่น โดนไวรัส โดนการเจาะข้อมูลก็ต้องไปร้องเรียนกับเจ้าของ Store นั้นๆเอาเอง
ทำไม Google Apple ไม่บังคับให้ ebay Amazon AliExpress Shopee LZD จ่ายเงินผ่าน play store
เพราะมันทำไม่ได้ไง แล้วทำไม app พวกนี้สามารถจ่ายเงินนอก play store ได้
Opensource - Hackintosh - Graphic Design - Scriptkiddie - Xenlism Project
ไม่มั่นใจว่าผมเข้าใจที่คุณสงสัยถูกไหม แต่เหตุผลที่แอปเหล่านี้ทำได้เพราะมันมีเงื่อนไขและข้อยกเว้นระบุไว้อยู่แล้วครับว่าแบบไหนสามารถจ่ายนอกระบบ IAP ของ Google/Apple ได้
ผมก็จำเงื่อนไขละเอียดไม่ได้ แต่กรณีของแอปที่ว่าคือการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้า physical หรือสินค้าที่สามารถใช้ประโยชน์นอก platform ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อยกเว้นให้สามารถจ่ายนอก IAP ได้ครับ
รู้สึก Shopee กำลังจะโดนเหมือนกันนะ เห็นประกาศ สินค้าดิจิตอล ทั้งหมด จะถูกระงับขายอยู่แว่บๆ
ถ้าจะเรื่องมากขนาดนี้ Google ต้องตัด gms ออกจากอินเดีย แล้วให้ทางอินเดียแก้ไขปัญหาเอาเองเหมือนจีนไปเลย 😏
ปรับรอบก่อนส่วนมากเป็นประเด็นเรื่องระหว่าง Google vs ผู้ผลิตมือถือ ก็พอเข้าใจว่าทำไม Apple ไม่โดน
แต่รอบนี้เป็นประเด็นเรื่อง Google vs นักพัฒนาแอปและผู้ใช้ ซึ่งส่วนตัวผมก็เห็นด้วยกับประเด็น แต่ก็ยังติดใจอยู่ดีว่าทำไม Apple ถึงไม่โดน
งงก็ Google ทำตลาดขึ้นมาเองแต่แรกสร้างเองขายเองเริ่มจากศูนย์วันดีคืนดีๆจู่มีคนมาบอก Google ผูกขาดต้องโดนปรับอันนี้งง เหมือนสร้างบ้านเปิดร้านขายของในบ้านแล้วจะมีคนมาเปิดร้านในบ้านเราอีกทีงี้เหรอเพื่อไม่ให้ผูกขาดคิดแบบนี้ก็แปลกนะ
ในมุมมองการค้าเสรี กฎหมายต่อต้านการผูกขาดมันไม่แฟร์กับรายใหญ่อยู่แล้วครับ
แต่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องประชาชนคนเขา ก็เลยจำเป็นต้องมีกฎหมายพวกนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและตลาดส่วนรวมครับ และที่สำคัญที่สุดก็คือต้องปกป้องอำนาจของรัฐบาลเองด้วย เพราะถ้าเอกชนผูกขาดไปมากๆ ก็อาจจะมีอำนาจเหนือรัฐบาลหรือมีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศไม่มากก็น้อยครับ (เช่น ขู่ว่าจะขึ้นราคาหรือเลิกทำตลาดหากรัฐไม่ทำตามข้อเรียกร้อง)
เห็นด้วยครับ เรื่องผูกขาดบางทีเองมันก็เอกชนไม่ได้ตั้งใจให้ผูกขาด อาจจะเก่งเกินไป มีเทคโนโลยีที่เหนือคนอื่นเกินไป และสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้บริโภค รัฐจะต้องเข้ามาควบคุมครับ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าไม่ทำอะไรเลย ผู้บริโภคจะเป็นผู้เสียประโยชน์ครับ
เจาะจงเรื่องที่ Google บังคับให้ผู้ใช้อุปกรณ์ Android ต้องซื้อแอปร่วมทั้งบริการและไอเทมในแอปผ่านทาง Play Store เท่านั้น
คล้ายๆ กรณีของ เอเปิลที่มีเรื่อง กันอยุ่ ตอนนี้ เลย
อินเดียถังแตกเหรอครับถึงปรับเป็นล่ำเป็นสันขนาดนี้