ไมโครซอฟท์เซ็นสัญญานำเกม Xbox, Bethesda และ Activision Blizzard (เมื่อซื้อกิจการสำเร็จ) ลงแพลตฟอร์มคลาวด์เกมมิ่ง Boosteroid เป็นเวลานาน 10 ปี แบบเดียวที่เซ็นไปแล้วกับ Nintendo และ NVIDIA GeForce Now
ชื่อ Boosteroid อาจไม่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก บริษัท Boosteroid เป็นบริษัทยูเครนที่ก่อตั้งในปี 2017 โดยให้บริการคลาวด์เกมมิ่งในยุโรปเป็นหลัก ปัจจุบันมีผู้เล่นราว 4 ล้านคน ถือเป็นผู้ให้บริการคลาวด์เกมมิ่งอิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองรับการเล่นบนฮาร์ดแวร์ที่หลากหลาย เช่น วินโดวส์ แมค ลินุกซ์ แอนดรอยด์ เบราว์เซอร์ รวมถึงทีวีของ LG ด้วย
รูปแบบธุรกิจของ Boosteroid คล้ายกับ GeForce Now คือเป็นการ "เช่าเครื่องเล่นเกม" โดยผู้เล่นต้องเป็นเจ้าของเกมเองบนร้านขายเกมอื่นๆ เช่น Steam, Epic, Origin ก่อน (ยกเว้นเล่นเกมที่ฟรีอยู่แล้ว) ราคาเริ่มต้นคือ 9.89 ยูโรต่อเดือน สำหรับการสตรีมเกมแบบ 1080p
แนวทางของไมโครซอฟท์นั้นชัดเจนว่าพยายามนำเกมของตัวเองไปลงแพลตฟอร์มคู่แข่งอื่นๆ ทั้ง Nintendo, NVIDIA, Boosteroid เพื่อแสดงให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกเห็นว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้ต้องการผูกขาดเกม (โดยเฉพาะ Call of Duty แบบที่โซนี่กล่าวหา) ผู้เล่นรายอื่นในตลาดยังมี Amazon Luna ที่คาดว่าน่าจะเซ็นสัญญากันได้ในระยะถัดไป
การเซ็นสัญญากับ Boosteroid ยังถือเป็นการสนับสนุนบริษัทยูเครนในช่วงสงคราม (Boosteroid มีสำนักงานในเมือง Kharkiv ที่เสียหายเพราะถูกมิสไซล์รัสเซียถล่มด้วย) ปัจจุบันบริษัทมีศูนย์ข้อมูลกระจายอยู่ทั่วยุโรป รวมถึงในสหรัฐอเมริกา
ที่มา - Microsoft
Boosteroid and Microsoft have signed 10-year agreement to bring Xbox PC games to Boosteroid! It includes Xbox, Bethesda titles, and Activision Blizzard games like Call of Duty after the acquisition is complete. Excited to see these games becoming widely available in the cloud! pic.twitter.com/0i9w09EW9I
— Boosteroid (@Boosteroid_main) March 14, 2023
Comments
logo คือยาน Enterprise ใช่มั้ยครับ
เดี๋ยวสรุปตอนจบ Call of Duty ไม่ถือว่าผูกขาดเพราะมีทุก platform ยกเว้น Sony
สัญญาว่าจะลง ทำสัญญาว่าจะลง แต่สุดท้ายกลับลำไม่ลง ms เคยทำมาแล้วตอนซื้อ Bethesda
จริงๆ ลงให้ PS เหมือนเดิม แต่ย้ายพวก event (โดยเฉพาะ free double XP) หรือ promotion ต่างๆ ไปอยู่ที่ Xbox เป็นหลักก็แย่งจำนวนคนเล่นได้เยอะอยู่ เพราะ PS ไม่มีเกม FPS แบบ first party ที่ยังมีคนเล่นเยอะๆ เลย (เกม FPS แบบ first party ล่าสุดก็ Killzone: Shadow Fall ทีเป็นเกมเปิดตัว PS4) แต่ Xbox ยังมี Halo: Infinite กับ MCC + 5 ที่ยังเล่นกันเยอะอยู่ครับ
ผมสงสัยประโยคที่ว่า "ผู้ให้บริการคลาวด์เกมมิ่งอิสระ" หมายความว่ายังไงครับ อย่าง GeForce Now ไม่อิสระยังไงครับ ผมสงสัยในนิยาม
GeForce Now ผมว่าอิสระนะครับ แค่ platform เหมือนเช่าแต่เครื่องตัวเกมแยกกัน แถมไม่ได้ทำเกมขายอีกด้วย