คนทำงาน Gen Z อยู่ในช่วงที่เทคโนโลยีและกระแส AI ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานมากขึ้น แต่ผลสำรวจกลับพบว่าชาว Gen Z บางส่วนรู้สึกกังวลที่จะต้องบอกกับหัวหน้างานว่ากำลังใช้ AI ในการทำงาน
งานวิจัยนี้ทำโดยแพลตฟอร์มสำหรับการวิจัยและศึกษาข้อมูลเชิงลึกระดับโลกทางออนไลน์ (Cint) และมีการสนับสนุนจาก Advertising Week Europe ได้ทำการสำรวจคนในสหรัฐฯ อายุ 16-79 ปี จำนวน 1,000 คน ตั้งแต่วันที่ 2-4 พฤษภาคม 66 พบว่าหนึ่งในสามของพนักงานทุกวัยกลัวที่จะบอกผู้จัดการว่า ตนกำลังใช้ AI ในที่ทำงาน
และมีเปอร์เซ็นต์มากขึ้นเมื่ออายุน้อยลง Gen Z มี 42% และมิลเลนเนียล 40% ซึ่งสาเหตุอาจเกิดมาจากบริษัทในสหรัฐฯ ไม่มีวิธีการหรือนโยบายที่ชัดเจนสำหรับการใช้ AI ช่วยทำงาน ทำให้พนักงานไม่มั่นใจในการใช้ AI เข้าทำงาน
ผลการสำรวจพบว่า 69% ของคนที่มีประสบการณ์การทำงานถึง 15 ปี ยังไม่เคยใช้ AI เข้ามาช่วยทำงานเลย แต่ในขณะเดียวกัน 62% ของคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่า 15 ปี ล้วนแล้วแต่เคยใช้ AI ช่วยทำงาน
ส่วนมุมมองของนายจ้างในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคฯ และการเงิน พบว่ามีโอกาสสูงที่จะแนะนำให้พนักงานใช้ AI ช่วยทำงาน แต่บางอุตสาหกรรมอย่าง การแพทย์, การศึกษา, ค้าปลีก และการบริการยังไม่ค่อยได้นำ AI ไปใช้ทำงานเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะไม่ได้ติดตามกระแสมากนัก
Ruth Mortimer ผู้บริหาร Advertising Week Europe บอกว่า AI มักมาพร้อมกับความเชื่อว่าจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ มากกว่าการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้คนทำงานอาจจะคิดว่าถ้าขอใช้ AI ในการทำงานแล้วก็เหมือนกับว่าเอา AI มาทำแทนตัวเอง
ดังนั้น ระดับหัวหน้าต้องแสดงให้รู้ว่า เห็นด้วยกับการใช้ AI เข้ามาช่วยทำงาน สร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานกล้าที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก ถ้าไม่มีการพูดคุยบริษัทบางแห่งอาจจะก้าวไม่ทันบริษัทอื่นได้
ที่มา: yahoofinance
Comments
สำหรับผมมองว่ามันเป็นแค่เครื่องมือเครื่องมือหนึ่งเท่านั้นเองครับ ไม่จำเป็นต้องบอกหมดก็ได้ ขอแค่อ้างอิงจากหลักการที่ AI บอกมา หรือเอาไป Reverse engineer แล้ว Present เองเลยว่าการ Project นี้ หลักการนี้มีขั้นตอนยังไงจะดูโปรกว่า เพราะอย่าลืมว่าข้อมูลหลายๆอย่าง AI ก็ไป Search มาอีกที เพียงแค่เราไม่ต้องไปไล่ Search หาเองเพราะ AI หามาให้แล้ว เราก็ Referent จากแหล่งอ้างอิงที่ AI มันไปหามาให้เราแค่นั้นแหละ
โปรดใช้วิจารณญาณ ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากสถิติ
1000 คนอาจจะเป็นตัวแทนของตำบลได้
แต่ถ้าใช้เป็นตัวแทนของคนมากกว่านั้น สถิตินั้นความน่าเชื่อถือจะลดลง
คนกลัวจะไปถึงจุดที่หัวหน้าบอกว่าทำไมผมต้องจ้างคุณแพงๆทำงานในเมื่อ ai ทำหน้าที่แทนคุณได้หมดแถมฟรีด้วย
เอาพนักงานออกครึ่งหนึ่งแล้วใช้aiแทน ถ้าไปได้สวยก็จ้างคนน่อยลงแล้งใช้aiเพิ่ม
winwin มั้งนะ
ในฐานะที่ใช้งาน AI ทำงานมาสักพักใหญ่ๆ
บอกได้เลยว่าอันตรายมาก ถ้าคนที่เอาข้อมูลมาใช้โดยที่ไม่ได้กลั่นกรองหรือรู้น้อยกว่ามัน
คำตอบประมาณ 30% ที่ได้รับเป็นคำตอบที่ถูกให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างแนบเนียน ไม่เว้นแม้กระทั่งตารางการบินของสายการบิน, สนามบินที่ผิดที่ไม่มีสายการบินนั้นๆลงจอด ชื่อสินค้า,ชื่อรุ่นของสินค้าที่สามารถทำงานได้ตามฟังก์ชั่นที่ถามไป
บางครั้งเวลาตอบคำถาม แล้วขอ reference มัน make reference เอาดื้อๆ โดยเป็น reference ที่ไม่มีตัวตนจริงๆ แนบเนียนมากจนกล้า ระบุวารสารวันที่ตีพิมพ์ เดือนที่ตีพิมพ์และหน้า แต่จริงๆแล้วไม่มีเอกสารชิ้นนั้นอยู่จริง เกือบทั้งหมดของเอกสารอ้างอิงที่เคยได้รับมาเป็นของที่ถูก make ล้วนๆ
บางครั้งการสรุปข้อมูลที่มันทำขึ้นมาก็เป็นการสรุปที่ไม่สามารถหาแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนได้ มันจับแพะชนแกะข้อมูลหลายๆอย่าง ขึ้นมาเป็นข้อสรุปที่ดูน่าเชื่อถือ โดยมันคิดของมันเอง ไม่ได้เป็นข้อมูลที่มีแหล่งอ้างอิง ซึ่งแบบนี้เอาไปใช้ต่อไม่ได้ พอขอแหล่งข้อมูลอ้างอิง มันก็เมคเปเปอร์ที่ไม่มีอยู่จริงมาให้
พอจับผิดได้ ย้อนกลับไปว่าใช่เหรอ ก็จะได้คำตอบมาใหม่ ซึ่งหลายครั้งตรงกันข้ามกับคำตอบเดิม และ AI ก็ตอบมาว่าขอโทษ บางครั้งครั้งที่ 2 ที่ตอบมาก็ยังตอบข้อมูลผิดต้องย้ำอีกทีในครั้งที่ 3 ถึงจะได้คำตอบที่ถูกต้องมา แต่ถ้าคุณรู้ขนาดว่ามันผิดคุณจะต้องใช้บริการมันจริงๆหรอ
ดังนั้นการเอา AI มาใช้งาน กฎข้อแรกคือคุณต้องฉลาดกว่ามันในเรื่องที่คุณถาม และใช้มันเป็นผู้ช่วย แต่ถ้าโง่กว่ามันและใช้มันเป็นสมอง เอาข้อมูลทั้งหมดที่มันส่งให้ไปใช้โดยไม่ได้ตรวจสอบ อันนั้นจะถึงจุดหายนะในหน้าที่การงานของคุณได้เลย เพราะวันใดก็ตามมีคนตรวจสอบข้อมูลที่คุณเอาไปใช้แล้วพบว่าผิด วันนั้นคือจุดจบ
ดังนั้นถ้าคุณจะเอามันไปใช้งานแล้วคุณไม่บอกใคร คุณพร้อมจะรับผิดชอบกับข้อมูลผิดๆพวกนั้นแล้วบอกว่าคุณเป็นคนหามาเองแล้วหาผิดหรือเปล่า หรือไม่อย่างนั้นก็บอกทุกคนตั้งแต่ต้นว่าคุณไม่ได้หาเอง AI หามาให้ แล้วทุกคนก็จะรู้ว่าไม่จำเป็นต้องมีคุณงานก็สามารถขับเคลื่อนได้
ถ้าจะใช้งาน AI ณเวลานี้คิดว่ามันเหมาะที่สุดสำหรับหัวข้อเกี่ยวกับพวกปรัชญา จิตวิทยา สังคมศาสตร์ พฤติกรรม เพราะมันไม่มีคำตอบตายตัว ไม่มีข้อเท็จจริง ใช้การอนุมานประมวลผล งานแบบนี้เหมาะกับ AI มากกว่างานทางสายวิทยาศาสตร์
+1 เห็นด้วยทุกข้อ ถ้าไม่รู้ในเรื่องที่ถามคืออย่าใช้เลยโดยเฉพาะการสรุปข้อมูล ทุกวันนี้อย่องน้อยต้องใช้ Bing กับ Bard คู่กันตลอดเป็นอย่างน้อย
ตอนผมใช้ Grammarly ช่วยก็ไม่บอกนะครับ 555
กลัวโดนลงโทษด้วยไหม ช่วงนี้ข้อมูลลับtrade secret หลุดออกไปเพราะไปพิมพ์กับ AI กันหลายเจ้าเลย
ข้อมูลหลายอย่างAIก็สรุปมั่วจริงๆ ดีตรงใช้แค่ช่วยdraft แล้วตรวจสอบอีกที ถ้าเอามาใช้เลยทันทีเจ๊งแน่ๆ
กลัวเรื่อง trade secret น่ะแหละ คือผมไม่เคยต่อต้านการใช้ AI แต่มันมีกับบางคนจริง ๆ ที่กะจะลอกทุกอย่างมาเลยโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องก่อน อยากทำงานกันสบายเกินไป
ล่าสุดถามเรื่อง usb c dock station ที่เอาไว้ชาร์จอุปกรณ์ โดยมีเงื่อนไขคือ type c หมดเลย และ type c มากกว่า 4 ports google bards AI ก็ลิสต์มาให้นะ แต่ตัวที่ให้มาคือ ไม่เก่าไปก็ไม่ตรงเงื่อนไข ที่รู้เพราะเอาชื่อไปหาเพิ่ม สรุปที่มันให้มาคือ usb c 2 ports แต่ AI บอกว่า 4 ports
แล้วก็เคยหาพวก convert หรือ migrate งานต่างๆ มันลิสต์มาให้นะ นอกจากคำสั่ง npm install แล้วก็ใช้คำสั่งอื่นๆที่มันลิสมาไม่ได้เลยซักตัว
ก่อนที่จะใช้ AI คือเราต้องค้นหามาก่อนระดับหนึ่งถึงจะใช้ได้ และเราต้องรู้มากกว่ามันด้วย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่ต้องใช้ก็ได้
มันยังไม่แม่นพอนะ
จริงๆมันก็เป็นแค่อีกแหล่งสำหรับช่วยค้นคว้าข้อมูลมั้ยนะ แต่หยิบคำตอบมาใช้เลยนี่น่าจะไม่ได้นะ เพราะมันทำถูกแค่ไหนเราก็ไม่รู้
..: เรื่อยไป
สำหรับผมแล้ว ความขี้โม้ของมัน ช่วยผมเขียน email ให้ดูน่าอ่านขึ้นได้ครับ เทียบกับที่ผมเขียนเองแล้วห้วนๆ เขียนภาษาอื่นก็ไวยากรณ์ผิดๆตลอด ก็ช่วยได้เยอะเลย แต่เราก็ต้องคอยตรวจตลอดนะครับ บางทีมันก็โม้นอกเรื่อง บางกรณีมันเข้าใจผิดสลับบริบทระหว่างคนเขียนกับคนอ่านได้เลย