กูเกิลเขียนโพสต์ประกาศควบรวมเฟรมเวิร์ค Angular และ Wiz อย่างเป็นทางการ หลังประกาศไปก่อนหน้านี้บนเวทีงาน NG Conf 2024
คนทั่วไปรู้จัก Angular กันอยู่แล้ว แต่ Wiz เป็นเฟรมเวิร์คที่ใช้กันเฉพาะภายในกูเกิลเองเท่านั้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้งาน Wiz อยู่แล้วมีทั้ง Google Search, Google Photos, Google Payments รูปแบบการทำงานของ Wiz คือเรนเดอร์หน้าเพจที่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ (server-side rendering) แล้ว "สตรีม" เพจมายังเครื่องของผู้ใช้ เพื่อลดการเรนเดอร์ JavaScript ที่ฝั่งไคลเอนต์ให้มากที่สุด
แนวทางของกูเกิลคือใช้ Wiz สำหรับแอพที่ต้องการประสิทธิภาพสูง เรนเดอร์หน้าเพจได้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เช่น Search) และใช้ Angular สำหรับงานที่มี UI ซับซ้อน ต้องการความ interactive สูง (เช่น Gemini หรือ Analytics)
อย่างไรก็ตาม กูเกิลพบว่ารูปแบบการใช้งาน Angular และ Wiz มีเส้นแบ่งที่จางลงเรื่อยๆ เพราะเว็บแอพที่ต้องการประสิทธิภาพสูงๆ ก็ต้องการเพิ่มฟีเจอร์ขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน แอพฝั่งฟีเจอร์เยอะๆ ก็เจอปัญหาว่า JavaScript บวมขึ้นเรื่อยๆ (เพิ่มเฉลี่ย 36% ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา) ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ แนวโน้มลักษณะนี้ทำให้วิศวกรของกูเกิลเองก็เจอปัญหาว่าควรเลือกเฟรมเวิร์คตัวไหนดีในการทำงานที่ทับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
เหตุผลข้างต้นทำให้กูเกิลตัดสินใจควบรวม Angular และ Wiz เข้าด้วยกัน โดยกระบวนการควบรวมจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ใช้เวลาอีกหลายปี ในเบืองต้นเฟรมเวิร์คทั้งสองตัวจะยังคงอยู่ กูเกิลจะเปิดซอร์สโค้ดบางส่วนของ Wiz ออกสู่สาธารณะ และจะนำฟีเจอร์ Signals ของ Angular ไปใช้งานกับแอพของตัวเอง (เบื้องต้นคือ YouTube)
ที่มา - Angular