ในโลกของ Android คนที่อยากติดตั้งแอพแบบ sideloading จากไฟล์ APK โดยตรง มักต้องไปหาไฟล์จากเว็บพวก APKMirror อีกทีหนึ่ง ซึ่งเว็บเหล่านี้ได้ไฟล์ APK มาจาก Google Play Store อีกทีหนึ่ง
ในปี 2018 กูเกิลเปิดตัวฟอร์แมต Android App Bundle (AAB) ที่นักพัฒนาแอพสร้างไฟล์ AAB ขนาดใหญ่ไฟล์เดียว มีไบนารีสำหรับหลายสถาปัตยกรรม มีไฟล์รูปภาพหรือ asset สำหรับหน้าจอหลายแบบ แล้ว Google Play Store จะจัดการดึงเฉพาะส่วนที่จำเป็นให้ตอนผู้ใช้ดาวน์โหลดแอพนั้นๆ (เริ่มบังคับใช้ใน Play Store ปี 2021)
หากผู้ใช้ดาวน์โหลดแอพนั้นผ่าน Play Store โดยตรง จะไม่ต้องดาวน์โหลดไฟล์ APK ทั้งก้อน เอาเฉพาะส่วนที่จำเป็น แต่ถ้าใช้วิธี sideloading ก็จำเป็นต้องดาวน์โหลดไฟล์ APK ทั้งก้อน (ที่ Play Store สร้างขึ้นให้อัตโนมัติจาก AAB เรียกกันเล่นๆ ว่า "Fat APK" แล้ว APKMirror ไปดูดมาอีกต่อ) แม้ไฟล์ใหญ่หน่อย แต่ก็การันตีว่าไฟล์นั้นนำไปติดตั้งบนเครื่องไหนก็ได้หมด
ล่าสุดเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ Play Store ไม่สร้างไฟล์ Fat APK จาก AAB ให้แล้ว (เพราะไม่จำเป็นสำหรับผู้ดาวน์โหลดจาก Play Store โดยตรงอีกต่อไป) เหลือแต่ไฟล์ AAB เท่านั้น ซึ่ง Package Installer ของระบบปฏิบัติการ Android ไม่สามารถติดตั้งโดยตรง แบบเดียวกับไฟล์ APK
แต่ชีวิตยังไม่แย่เกินไปนัก เพราะ APKMirror ได้สร้างตัวติดตั้งไฟล์ bundle เหล่านี้มาให้ดาวน์โหลดกัน เท่ากับว่าผู้ที่ต้องการ sideloading ไฟล์จาก APKMirror มีขั้นตอนเพิ่มขึ้น (อีกนิด) คือต้องดาวน์โหลด APKMirror Installer มาไว้ในเครื่องก่อน จึงจะใช้งานได้
ที่มา - 9to5google
FYI since people email @APKMirror about this several times a day... looks like Google stopped generating fat APKs for many apps entirely all of a sudden, and only bundles will be available from now on.To my knowledge, there's nothing we can do about it.https://t.co/OrcKXDA7Kc
— Artem Russakovskii (@ArtemR) August 4, 2024
Comments
ขอสอบถามเป็นความรู้หน่อยครับ apkmirror ถือเป็นเว็บที่น่าเชื่อถือจริงๆ มั้ย
ในการกา .apk แอพต่างๆ
พอดีมีเรื่องจะต้องช่วยเหลือผู้คน อยู่บ้าง แล้วเว็บ APK ที่ให้โหลดก็มีหลายเว็บ เลยไม่มั่นใจว่า เว็บนี้คือเชื่อถือได้จริงๆ ใช่มั้ย หรือมีเว็บอื่นครับ
โอเคอยู่นะ ทั้ง APKMirror และ APKPure เพราะปกติเราโหลดมาติดตั้งจะทำการแสกนหามัลแวร์ก่อนติดตั้ง ซึ่งไม่เคยตรวจพบเลย
ลง apk จากภายนอกยังไงก็มีความเสี่ยงมากกว่าครับ
ถ้าลงใช้เอง รับความเสี่ยงเอง ผมว่าโอเคครับ ถ้ารับได้
แต่การลงให้คนอื่น ต้องแน่ใจว่าเค้ารับความเสี่ยงได้ไหม และถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาเช่น "เครื่องค้างบ่อย" "แบตหมดไวขึ้นนะ" "โดนดูดตังค์หมดบัญชี" ส่วนมากคนลงให้นี่แหละจะโดนโยนความผิดให้ก่อนใคร เพราะเป็นคนใกล้ตัวที่จับต้องได้มากสุด ถึงแม้จะไม่เกี่ยวก็ตาม เรื่องนี้ต้องระวังไว้ครับ
ส่งลิงค์จาก play store ให้เขาโหลดเองไม่ง่ายกว่าเหรอครับ ปลอดภัยด้วย
บาง app มันไม่สามารถโหลดได้จาก play store ของไทยน่ะครับ
เช่น nintendo switch online หรือเกมที่ lock region ครับ
จะเวบไหนก็เชื่อถือยาก เพราะไอ้ไฟล์ข้างในที่ใครก็ไม่รู้อัพมาให้ อาจมันแอบมีของแถมติดมาได้หมด
Epic จ้องจะเล่นคุณแน่นอน
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
เจอข่าวนี้ นึกถึงมือถือที่ลง custom ROM ที่มีปัญหากับ Google Play Store และพวกแอพธนาคารที่ใช้งานกับ Custom ROM ไม่ได้ เพราะไม่ใช้ Official ROM ซึ่งต้องลงเอยที่ sideload APK แอพมาใช้งานแบบนี้
หลายคนอยากยืดอายุเครื่องด้วย ROM ใหม่หลังค่ายมือถือหยุด Update ไปแต่สเป็คเครื่องยังไปได้อยู่หลายปี เช่นเครื่องที่รันได้แค่ Android 9 แต่ตัวเครื่องมันไปได้อีกหลาย Version เป็นต้น
ค่อนข้างปวดหัวเหมือนกันนะที่อยากให้ใช้งานได้นานๆ แต่ไม่มี Update หรือ Upgrade ไม่ได้ แล้วบังคับต้องซื้อเครื่องใหม่เนี่ย ถ้าต้องการใช้พวกแอพธนาคารและบริการของ Google เนี่ย
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ผมโดนทิ้งตั้งแต่ A9 ตอนนี้ใช้รอมของ CrDroid จนถึง A14
ตอนนี้ CPU เริ่มถอดรหัสวีดีโอ AV1 ของ Youtube ไม่ไหวเพราะ CPU ไม่รองรับ AV1
แอปธนาคารหรือแอปที่มี content DRM สมัยนี้ค่อนข้างเคี่ยวมากเลยครับ
ต่อให้เป็น custom ROM ที่ลง Play Store มาให้แต่ต้น (เช่นพวก ROM ที่พยายามทำให้เหมือน Pixel) และไม่ได้ root เลยก็ตาม แต่ก็มีโอกาสจะใช้แอปดังกล่าวไม่ได้อยู่ดี เคยลอง bypass ต่างๆนานาก็ไม่รอด (เดาว่าน่าจะเช็คว่า unlock bootloader ไหมมั้งนะ)
ตัวอย่างแอปที่ผมใช้ไม่ได้ก็เช่นแอปของเครือข่ายโทรศัพท์เจ้าหนึ่ง ที่เพิ่งปรับเปลี่ยนแอปไปแล้วคนด่ากันเต็ม เข้าแล้วเด้งหลุดเลย แถมสมัยนี้ก็ชอบยกเลิกธุรกรรมบนเว็บไปหมดแล้วด้วย ถ้าไม่มีแอปคือต้องไปที่ศูนย์อย่างเดียว
เพราะงั้นจากเดิมที่ผมซื้อมือถือจีนราคาไม่แรง ROM ห่วยลอยแพไม่เป็นไรเดี๋ยวเอามาลงเอง ตอนนี้เลยต้องเลือกยี่ห้อที่ ROM ดีๆมีซัพพอร์ทหน่อยแล้วแทน 🥲
ก็ยังหาทางลง จนได้นะ
ก็คือต่อไป แอนดอยจะติดตั้งแอพเป็น .aab แทน .apk ใช่ไหมครับ
ยังเป็น .apk เหมือนเดิมครับ
แค่ติดตั้งจาก google play เป็น .aab ครับ
ส่วน sideload (โหลดมาลงเอง) ยังเป็น .apk อยู่ เพราะ android ลง .aab ไม่ได้ครับ
บล็อก: nitpum.com
อธิบายแบบเข้าใจง่ายที่สุด
กล่าวคือ Google Play จะเลือกปล่อย APK จาก AAB แบบที่ระบุอุปกรณ์ได้แล้วเท่านั้น จะไม่ปล่อยไฟล์ APK รวมทุกอย่างหรือ Fat/Bulk APK อีกต่อไป
อธิบายเพิ่มเติม AAB ถูกสร้างมาเพื่อเป็นตัวช่วยเหลือ APK อีกทีหนึ่ง เพราะ APK ไม่สามารถถอดเอาองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออกจากแพ็กเกจได้เพราะต้อง Sign แพ็กเกจใหม่ทุกครั้งที่แก้ไขแพ็กเกจ แต่ AAB ใช้กุญแจอิเล็กทรอนิกส์สองตัว หนึ่งไว้ Sign ไฟล์ AAB ที่จะส่งเข้า Publishing Service ต่าง ๆ (อย่างเช่น Play Store, Amazon App Store) และอีกกุญแจไว้ใช้ Sign APK ที่สร้างขึ้นจาก AAB อีกทีหนึ่ง
ถามว่า Google ทำแบบนี้ไปทำไม หนี่งก็ประหยัดพื้นที่ผู้ใช้ได้จึ๋งหนึ่ง แต่สาเหตุสำคัญกว่าที่ Google ไม่พูดถึง คือประหยัดแบนด์วิดท์ Data Center ของตัวเอง
อีกอย่างที่ aab ทำได้เพิ่มคือแยก upload key กับ signing key ได้ครับ
เมื่อก่อนเวลา upload เป็น apk เลยก็ต้อง sign package ให้เรียบร้อยตั้งแต่แรก ถ้า developer ทำ key หายก็จบเห่เลย ต้องขึ้น app ใหม่อย่างเดียว
พอแยกเป็น upload key กับ signing key แล้วให้ Google จัดการ signing key ให้ ทำให้เปลี่ยน upload key ได้โดยที่ยังใช้ signing key เดิมไม่ต้องทิ้ง app เวลาทำ upload key หาย